• แรงงานลำบาก แนวโน้มตกงานนาน ยังไม่รู้ได้กลับมาตอนไหน วิกฤติหนักกว่ายุคธุรกิจพังสมัยเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

  • แม้รัฐฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ แต่ก็ยังมีคนตกงาน 2.7 ล้านคน นานจนไปถึงสิ้นปี 2565

  • นักศึกษาจบใหม่อีกกว่า 5 แสนปีนี้สาหัส ยังมีรุ่นพี่ปีที่แล้วเตะฝุ่นอยู่อีกกว่า 2 แสนคน

เจ้าของโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งอายุ 60 กว่าแล้ว เขาน้ำตาไหลเลย เพราะแบกรับธุรกิจที่ไม่มีลูกค้า แต่ยังต้องดูแลลูกจ้างมานานเป็นปี พอมาเดือนเมษายนเริ่มมีความหวังว่าท่องเที่ยวในประเทศจะเริ่มคึกคัก แต่สถานการณ์กลับเลวร้าย และตอนนี้ไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไรบ้างแล้ว เพราะเจอโควิดระลอกใหม่ตอนนี้ และไม่รู้ว่าจะฟื้นได้ตอนไหน


นี่คือสภาพของนักธุรกิจคนหนึ่งที่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังเจ็บสาหัส ที่ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ได้พบและพูดคุยด้วย ซึ่งไม่เพียงธุรกิจท่องเที่ยว แต่ยังมีอีกหลายธุรกิจที่เจอสภาพย่ำแย่จนต้องปลดพนักงาน เพราะหลายธุรกิจไม่มีเงินทุนไปต่อ การกู้เงินจากธนาคารไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าของธุรกิจไม่สามารถทำแผนธุรกิจไปเสนอได้ เพราะไม่รู้ว่าธุรกิจจะฟื้นตัวได้เมื่อไร และในมุมของธนาคารแล้ว ความเสี่ยงปล่อยกู้เพื่อใช้จ่าย จ่ายเงินลูกจ้าง จึงเป็นไปไม่ได้


การว่างงานจากพิษโควิดระลอก 3 ในเดือนเมษายนนี้จึงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยยังมีสัญญาณอันตราย ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เตือนมาล่าสุดว่า อาจเกิด scarring effects ที่แรงขึ้น คือ แรงงานบางกลุ่มจะว่างงานนานขึ้น หรืออีกนานกว่าจะได้กลับมาทำงาน แม้การระบาดจะสิ้นสุดลง ทำให้บางกลุ่มต้องออกจากการเป็นกำลังแรงงาน เพราะหางานทำไม่ได้ นานจนสูญเสียทักษะฝีมือ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาว

...


ดร.ธนิต เปิดเผยว่า มีการประเมินจำนวนผู้ตกงานระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี 2565 ว่าจะมีตัวเลขคนว่างงานไม่ต่ำกว่า 2.7-2.9 ล้านคน โดยนับทั้งผู้ที่มาลงทะเบียนเป็นคนว่างงาน จากการลาออก และถูกปลดออกเพราะธุรกิจเลิกกิจการในระบบประกันสังคม กับคนที่เสมือนคนว่างงาน หรือว่างงานแฝง เพราะถูกลดเวลาการทำงาน เพียงสัปดาห์ละ 1-19 ชั่วโมง จากปกติทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง และที่น่าห่วงยังมีนักศึกษาจบใหม่ในเดือนสองเดือนนี้อีกกว่า 5 แสนคนที่เตรียมหางาน โดยยังมีนักศึกษาที่จบตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มีเพียงครึ่งเดียวจากกว่า 5 แสนคนที่มีงานทำแล้ว


ความเห็นนี้อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ประเมินจำนวนคนว่างงาน ที่สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำนวนนักท่องเที่ยว หากรัฐสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ดังนี้

กรณีสามารถฉีดได้ 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 ทำให้ในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน แต่ยังมีผู้ว่างงาน 2.7 ล้านคน แต่หากยิ่งฉีดวัคซีนได้ช้า คือกรณีสามารถฉีดได้ 64.6 ล้านโดส ภายในปี 2564 ทำให้ในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยว 12 ล้านคน และมีผู้ว่างงาน 2.8 ล้านคน และยิ่งช้าลงไปอีก ในกรณีฉีดได้น้อยกว่า 64.6 ล้านโดส ภายในปี 2564 ทำให้ในปี 2565 จะมีผู้ว่างงานสูงถึ 2.9 ล้านคน

ดร.ธนิต ระบุว่า รัฐต้องยอมรับว่ายังมีผู้ว่างงานแฝงอีกจำนวนมาก และต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด ในส่วนการให้เงินประชาชนในขณะนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็เป็นเพียงการประทังไปเรื่อยๆ รัฐต้องเร่งหาทางแก้ปัญหาระยะยาว เพราะแม้จะฉีดวัคซีนได้ทั่วถึง แต่การจ้างงานยังกลับมาได้ช้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้เลยว่าจะกลับมาเมื่อไร

สภาพนี้ต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่หลายธุรกิจล้มละลาย แต่ภายใน 6 เดือน แรงงานก็เริ่มกลับมา และหลายธุรกิจโรงงาน ก็กลับมาฟื้นตัว ภายใน 1-2 ปี เพราะมีกองทุนต่างๆ มาช่วยฟื้นฟูธุรกิจ แต่ตอนนี้โควิด-19 ผ่านไปแล้วประมาณ 1 ปี และขณะนี้มีการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง โดยมีความหวังเดียวในเวลานี้ อยู่ที่การฉีดวัคซีนได้เร็วและทั่วถึงที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ สามารถเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติ และคนไทยมั่นใจกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นเดิม