กลายเป็นปรากฏการณ์ร้อนแรงในสังคมไทย เมื่อยอดสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก “ย้ายประเทศกันเถอะ” เพิ่มขึ้นไม่หยุดทะลุ 5 แสนคนไปแล้ว ทั้งๆ ที่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เพียง 3 วันเท่านั้น ในการแนะนำการใช้ชีวิตในต่างประเทศ ย้ายถิ่นฐาน และขอสัญชาติ แบบละเอียดถี่ยิบ และ#ย้ายประเทศกันเถอะ ยังติดเทรนด์ทวิตเตอร์อีกด้วย

หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนอะไรบางอย่าง? จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองยากจะหาทางออก และโควิดระลอก 3 ระบาดอย่างหนัก มีผู้คนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จนดูเหมือนชีวิตจะหมดความหวัง ต้องหาหนทางใหม่ให้กับอนาคตตัวเอง

หนึ่งในทางเลือก หากหันหลังให้เมืองไทยแล้วย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยาก เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละประเทศเป็นหลัก และขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋า จากความเห็นของ “ทนายณรงค์ศักดิ์ สุขวิบูลย์” ผู้ให้คำปรึกษาด้านขอลี้ภัยและโอนสัญชาติ รวมถึงอีกสิ่งต้องมีความสามารถพิเศษในด้านภาษา เนื่องจากบางประเทศมีการทดสอบภาษาอังกฤษ การมีทักษะด้านอาชีพ และเรื่องการเรียน จะทำให้มีโอกาสได้สัญชาติของประเทศนั้นๆ

...

“การย้ายถิ่นฐานจะง่ายหรือยาก ขึ้นอยู่กับเงินและความสามารถ เช่น เป็นนักกีฬา นักวิทยาศาสตร์ มีความสามารถทักษะในอาชีพ จนเป็นที่ต้องการ มีหลายประเทศส่วนใหญ่รับรองอยู่แล้ว”

ส่วนเรื่องการเงิน เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นฐานโดยการลงทุนในต่างประเทศ จะได้สัญชาติโดยปริยาย ซึ่งแต่ละประเทศมีเงื่อนไขแตกต่างกันในการเปิดให้ชาวต่างชาติมาลงทุน หรือการไปลงทุนในประเทศหมู่เกาะต่างๆ ทำให้ได้รับสัญชาติ โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมในยุโรป จะสามารถเดินทางเข้าประเทศสมาชิกได้อย่างสะดวก

“ปัจจุบันหลายประเทศเปิดให้ลงทุน บางประเทศใช้เงินไม่มาก ขั้นต่ำ 1 หมื่นเหรียญในยุโรปตะวันออก ตามประเทศเล็กๆ และหมู่เกาะ ไม่ได้เรียกว่าซื้อขายสัญชาติ เพราะการใช้เงินลงทุน ไม่ได้เสียเปล่า แต่ได้ผลประโยชน์จากการลงทุน เช่น ไปซื้ออสังหาฯ หากมีเงินก็ไปลงทุนในประเทศพวกเขา ในฐานะนักลงทุน หรือไปซื้อหุ้นในต่างประเทศ”

นอกจากนั้นการย้ายถิ่นฐาน สามารถทำได้โดยการลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นประเทศตะวันตก เพราะให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งจากภัยสงคราม ทางการเมือง ภัยคุกคามทางอาญา เช่น ในภาวะสงครามกลางเมือง ประเทศประสบกับปัญหารัฐล้มเหลว

รวมถึงการย้ายถิ่นฐาน จากการทำงานในต่างประเทศ จนได้รับสัญชาติ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละประเทศ และการแต่งงานกับชาวต่างชาติ จะได้สัญชาติ เมื่ออาศัยในประเทศนั้นจนครบตามเงื่อนไข ซึ่งยอมรับในประเทศที่เจริญแล้วจะค่อนข้างยากมากกว่า

ส่วนอีกกรณีหากอยากจะได้สัญชาติของประเทศนั้นๆ เพื่อแลกกับสวัสดิการที่ดีกว่า เมื่อไม่มีความสามารถใดๆ ต้องเริ่มจากวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศ จนได้วีซ่าการทำงาน กระทั่งหาช่องทางเพื่อให้ได้สัญชาติในที่สุด เช่น การแต่งงานกับคนในประเทศนั้น ซึ่งแล้วแต่ทางเลือกของแต่ละคน

ขณะที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เมื่อช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ประเทศมอนเตเนโกร มีผู้ลงทุนเพื่อถือสัญชาติมากที่สุด เพิ่มขึ้น 142% จากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ตามมาด้วยไซปรัส เพิ่มขึ้น 75% และมอลตา ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศในสหภาพยุโรปโดยอัตโนมัติ ในการเข้าถึงการศึกษา และการบริการด้านสุขภาพที่ดีกว่า

ส่วนสัญชาติออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน จากประสิทธิภาพในการรับมือกับวิกฤติโควิด แต่ต้องแลกด้วยราคาที่สูง โดยออสเตรเลีย ต้องลงทุน 1-3.5 ล้านดอลลาร์ ส่วนนิวซีแลนด์ สูงกว่า อยู่ที่ 1.9-6.5 ล้านดอลลาร์

...

สำหรับการลงทุนแลกสัญชาติ เริ่มจากประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส ในหมู่เกาะแคริบเบียน เมื่อปี 2527 ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะทยอยเปิดโครงการตามมา ซึ่งมีเงื่อนไขแตกต่างกันในการกำหนดเงินลงทุน และขั้นตอนการตรวจสอบประวัติมีที่มาอย่างถูกต้องหรือไม่.