สถานการณ์ความยากลำบากของผู้ใช้แรงงานทั่วโลกและไทย ยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องอีกหลายปี และน่าจะยังไม่ฟื้นตัวโดยเร็วหลังวิกฤติโควิดคลี่คลายลง แต่วิกฤติการเลิกจ้าง อัตราการว่างงานสูงจะยังดำรงอยู่ โดยเฉพาะบางประเทศที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจล่าช้าและต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

"ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ" อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า นอกจากปัญหาวิกฤติเลิกจ้างจากผลกระทบโควิดแล้ว ระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ยังเผชิญการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานและเทคโนโลยี (Disruptive Technology) และพฤติกรรมของผู้บริโภค งานวิจัยขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อหลายปีก่อน เคยคาดการณ์ว่าในสองทศวรรษข้างหน้า ตำแหน่งงานและการจ้างงานในไทยไม่ต่ำกว่า 44% หรือกว่า 17 ล้านตำแหน่ง มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ

สำหรับกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานขายตามร้าน หรือพนักงานบริการตามเครือข่ายสาขา พนักงานบริการอาหาร ภาคเกษตรกรรม แรงงานทักษะต่ำที่ทำงานซ้ำๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้า อาจได้รับผลกระทบสูงถึง 70-80% ขณะเดียวกันจะมีอาชีพใหม่ๆ และการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นชดเชยตำแหน่งงานที่หายไปบางส่วน

...

“หากระบบเศรษฐกิจใดเกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำให้การจ้างงานลดลงอย่างมาก แต่ผลิตภาพและผลกำไรของธุรกิจไม่ได้ลดลง รัฐอาจจะจัดให้มีระบบประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับกำลังแรงงานทุกคนโดยให้เอกชนร่วมรับผิดชอบ”

กรณีของไทยก็เข้าข่ายสภาพดังกล่าว และเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จึงควรพัฒนาระบบประกันรายได้ขั้นต่ำ เพราะกิจการในไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ไทยเป็น “ผู้ซื้อ” และ “ผู้รับ” เทคโนโลยี มากกว่าเป็น “ผู้ขาย” และ “ผู้สร้าง” เทคโนโลยี กิจการธุรกิจต่างๆ ไม่ได้ลงทุนทางด้านการวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากนัก อุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อย ยังหวังพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งก็ร่อยหรอลง 

ปัจจุบันแรงงานไทยมีประมาณ 39 ล้านคน โดย 45% เป็นเพศหญิง และ 55% เป็นเพศชาย จากจำนวนทั้งหมดนี้ 67% จบการศึกษาชั้นประถม สะท้อนค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาของแรงงานไทยยังคงต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างสูง และจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้

“คนงานทักษะต่ำและมีระดับการศึกษาน้อย เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแลด้วยมาตรการต่างๆ เป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเลิกจ้าง จากเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่า”

จากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกสาม กำลังทำให้เศรษฐกิจของประชาชนระดับฐานรากและผู้ใช้แรงงาน ได้รับผลกระทบรุนแรง คาดว่าจะมีการเลิกจ้างระลอกใหม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์บางส่วน แม้ภาคส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่การฟื้นตัวของภาคส่งออกยังไม่สามารถชดเชยการหดตัวของเศรษฐกิจโดยรวมได้ สถานการณ์ตลาดแรงงานในกลุ่มลูกจ้างรายวัน ประกอบอาชีพอิสระ และกลุ่มกิจการขนาดย่อม ยังอยู่ในสภาพวิกฤติ จึงขอเสนอนโยบายแรงงานและข้อเสนอเพื่อการดำเนินการ 5 ข้อต่อรัฐบาล

นโยบายข้อที่ 1 ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณปี 2565 จัดให้มีโครงการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งระบบทั่วประเทศ รวมทั้งจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อนำผู้ว่างงานมาทำหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข และผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้แรงงานทักษะต่ำจำนวนมาก ต้องออกจากงานในระบบตอนอายุ 45 ปี สัดส่วนการจ้างงานนอกระบบของแรงงานในวัย 45-59 ปี จึงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 61-69% และแรงงานในวัย 45-60 ปี จะถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และต้องออกมาทำงานนอกระบบโดยไม่สมัครใจจำนวนไม่น้อย เนื่องจากไม่มีเงินออมมากพอที่จะดำรงชีพได้ จึงต้องทำงานเพื่อหารายได้ต่อไป

...

ขณะที่นักศึกษาจบใหม่จะว่างงานมากขึ้น หรือทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียน เป็นผลจากความอ่อนแอของการเชื่อมโยงกันระหว่างภาคการผลิตกับภาคการศึกษา นโยบายแรงงานต้องมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ได้แก่ ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ห้ามการบังคับใช้แรงงาน คุ้มครองแรงงานเด็ก การห้ามเลือกปฏิบัติ ให้สิทธิรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม และต้องขยายความคุ้มครองทางสังคม

นโยบายข้อที่ 2 ให้มีการจัดสรรงบประมาณและนำเงินจากกองทุนประกันสังคมบางส่วนมาจัดสร้างโรงพยาบาลของผู้ประกันตนที่เป็นโรงพยาบาลที่สามารถให้บริการทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุขทางไกลได้อย่างน้อย 8 แห่งทั่วประเทศ

นโยบายข้อที่ 3 ขอให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจัดตั้งธนาคารแรงงาน หรือธนาคารผู้ประกันตน ให้สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการออมเงินให้กับผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งเป็นแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ และควรจัดตั้งธนาคารแรงงานให้เสร็จสิ้นภายในปี 2566

นโยบายข้อที่ 4 ขอให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ไม่ให้ถูกกีดกันทางการค้าครั้งใหม่ และส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก เนื่องจากการตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา ได้จุดประเด็นให้ไทยต้องพิจารณาอย่างจริงจังในการลงนามอนุสัญญาดังกล่าว และโจ ไบเดน จะให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น เพราะถือเป็นสิทธิแรงงานและเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่สำคัญ

นโยบายข้อที่ 5 รัฐบาลควรปฏิรูปโครงสร้างการบริหารสำนักงานประกันสังคม จากอยู่ภายใต้ระบบราชการ เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์ โดยมีระบบและกลไกให้เกิดการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาลและป้องกันการแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจรัฐ.