• ยอดผู้ป่วยโควิด-19 วันนี้วิกฤติ (14 เมษายน 2564) พบผู้ติดเชื้อใหม่ทำสถิติพุ่งทะลุหลักพันภายในวันเดียว

  • ความหวังที่ต้องรอคือ โรงพยาบาลเอกชนยังนำเข้าวัคซีนเองไม่ได้ ต้องลุ้นอีก 1 เดือนให้รัฐเคาะแผนนำเข้าวัคซีนทางเลือก

  • รัฐ เอกชน เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เสริมเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มโรงพยาบาลสนาม และหอพักผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่พอ


ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยวันนี้ ได้รับการยืนยันจากการแถลงของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,335 คน สูงสุดของการระบาดระลอกใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับ 2 ระลอกที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าหนักหนาสาหัส เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีวันไหนเกินหลักพัน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 35,910 คน รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 7,491 คน มีอาการหนัก 9 คน

สิ่งที่ย้ำคือ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ 90% มีอาการน้อยและไม่มีอาการ แต่ทั้งหมดผู้ที่พบการติดเชื้อจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษา

สิ่งที่ภาครัฐย้ำว่าผู้ป่วยติดเชื้อต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อดูแลรักษา หรือกักตัวนั้น ยังมีปัญหาขณะนี้คือโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยโควิด ต้องมีการเสริมโรงพยาบาลสนาม ส่วนโรงพยาบาลเอกชนต้องประสานกับโรงแรม เพื่อปรับให้เป็นห้องพักผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) แต่ก็ยังประสบปัญหาคือเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาดูแลไม่เพียงพอกับปริมาณผู้ป่วย

...

นั่นคือปัญหาที่กำลังเผชิญกันอย่างหนัก ขณะที่ความหวังว่าในระยะยาวสถานการณ์จะดีขึ้นได้ หากมีการฉีดวัคซีนได้เร็ว

แต่จากการสำรวจตัวเลขล่าสุด ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อกำลังพุ่งทะลุหลักพันคนต่อวัน อีกด้านหนึ่งคือการดำเนินการฉีดวัคซีน ที่เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 ฉีดได้ 733 โดส รวมฉีดแล้ว 579,305 โดส แบ่งเป็นการฉีด 1 โดส 595,744 ราย และฉีดครบ 2 โดสแล้ว 73,561 ราย

เมื่อยอดการฉีดวัคซีนยังไม่สูงนัก หลายคนจึงตั้งความหวังกับแผนการนำเข้าวัคซีนของโรงพยาบาลเอกชน หลังจากที่เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 549 ราย ในวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน และแต่งตั้ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อเป็นคณะทำงานจัดหาวัคซีน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลเอกชน

แต่ความคืบหน้าล่าสุดของการจัดวัคซีนโดยเอกชนนั้นยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที และหวังว่าภายใน 1 เดือน หรือกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีแผนนำเข้าที่ชัดเจนทั้งเรื่องของยี่ห้อ และกำหนดเวลาการฉีด นี่คือคำชี้แจงล่าสุดจาก ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานจัดหาวัคซีนด้วย

ศ.ดร.นพ.เฉลิม อธิบายกับไทยรัฐออนไลน์เพิ่มเติมว่า ขณะนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย เพราะมีความต้องการในโลกสูงมากและคณะทำงานจะต้องเร่งสรุปและเจรจา เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้การฉีดวัคซีนในไทยช้าลงอีก และจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต

ส่วนสาเหตุที่โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าตรงจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนประเทศต้นทางไม่ได้ เพราะการใช้วัคซีนของโลกยังอยู่ในเฟส 3 คือ เป็นช่วงโรคระบาดที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน จึงต้องมีเอกสารแสดงเจตจำนง (Letter of intent) จากหน่วยงานรัฐบาลผู้ซื้อ เพื่อยืนยันซื้อวัคซีน ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่สามารถออกเอกสารในนามรัฐบาลไทยได้ คือ องค์การเภสัชกรรม เพื่อนำมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนเอกชนผู้ผลิตวัคซีนรายใด มีใบอนุญาตขายเวชภัณฑ์อยู่แล้ว เช่น จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็สามารถส่งขึ้นทะเบียนกับอย.ได้ แต่การจัดซื้อโดยโรงพยาบาลเอกชนเองก็ยังไม่สามารถซื้อโดยตรงเองได้

เมื่อองค์การเภสัชกรรมประสานงานแล้ว หรือจัดซื้อเข้ามาเองแล้วสามารถให้เอกชนมาดำเนินการฉีด โดยกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน จะคิดค่าฉีดที่คำนวณจาก 3 ส่วนคือ ต้นทุนวัคซีน ค่าบริการ และค่าประกัน ที่รัฐกำหนดให้คิดค่าประกันคนละ 100 บาทสำหรับความเสี่ยงกรณีฉีดแล้วเสียชีวิต หรือเจ็บป่วย ซึ่งในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนต้องกำหนดราคาไม่แพง และไม่ต่างกันเกินไป เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกนอกจากวัคซีนของรัฐ และสามารถฉีดวัคซีนได้เร็ว ครอบคลุมประชากรเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เร็วที่สุด ซึ่งควรจะอยู่ในอัตราส่วนการฉีดให้ได้ 70-90% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 40 ล้านคน ที่ยังไม่นับรวมเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยคาดว่าจะใช้เวลาถึงปลายปีหน้า

...

ต้องยอมรับว่าวัคซีนที่รัฐบาลตกลงจัดซื้อแล้ว คือแอสตราเซเนกามีจำนวน 61 ล้านโดส และซิโนแวค 2 ล้านโดส รวม 63 ล้านโดสนั้น สามารถฉีดให้คนไทยได้เพียง 31.5 ล้านคน ดังนั้นโรงพยาบาลเอกชนจึงเสนอว่าวัคซีนที่จะนำมาให้บริการประชาชนเพิ่มเติม จึงควรเป็นวัคซีนทางเลือก คือซื้อยี่ห้ออื่นนอกเหนือจาก 2 บริษัทดังกล่าว


ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีโรงพยาบาลไหนได้ซื้อวัคซีนโดยตรง ส่วนกรณีที่มีบางโรงพยาบาลเปิดให้ลงทะเบียนนั้น เป็นความเข้าใจผิด โดยโรงพยาบาลดังกล่าวได้ปิดระบบการลงทะเบียนแล้ว ในเบื้องต้นที่จะนำเข้าได้เร็ว อาจเป็นของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งอย.อนุมัติขึ้นทะเบียนแล้ว และโมเดอร์นา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อย.

ขณะนี้สถานการณ์ค่อนข้างวิกฤติแต่ต้องช่วยกัน เมื่อเตียงในโรงพยาบาลไม่พอรองรับ วัคซีนยังฉีดได้ช้า ทุกคนจึงต้องดูแลตัวเองอย่างดีก่อน ย้ำว่าเรื่องการปฏิบัติตัวพื้นฐานคือ การเว้นระยะห่าง หน้ากากอนามัย และการล้างมือบ่อย คือการดูแลตัวเองเพื่อช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดโรคในขณะนี้

ผู้เขียน : สุกรี แมนชัยนิมิต

กราฟิก : Sriwon Singha