สิทธิการทำแท้ง ถกเถียงกันมานานมากๆ ในสังคมไทย ในแง่สิทธิมนุษยชนของผู้หญิง มีความจำเป็นต้องทำแท้ง และต้องไม่ผิดกฎหมาย ขณะฝ่ายต่อต้าน มองว่าสังคมไทยเป็นเมืองพุทธ การทำแท้งคือการฆ่าคน เป็นบาป

  • ที่ผ่านมาแม้สภาฯ ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 ว่าด้วยความผิดฐานทำให้แท้งลูก แต่ดูเหมือนไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้หญิง โดยเฉพาะเงื่อนไขอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย นั้นดูสั้นไป

  • ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ กำหนดไว้ว่าหญิงที่ทำแท้ง ต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ ไม่ใช่การ "เปิดทำแท้งเสรี" และกรณีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 ถึง 20 สัปดาห์ ไม่สามารถทำแท้งตามกฎหมายนี้ได้ ต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น

  • หรืออายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป ทางการแพทย์ถือว่าเด็กมีสภาพเป็นตัวบุคคล สามารถกระดิกมือ กระดิกเท้าได้แล้ว ยกเว้นแพทย์วินิจฉัยจะเป็นอันตรายต่อมารดา หรือต่อเด็กที่จะคลอดออกมา หรือพิสูจน์แล้วเป็นการตั้งครรภ์จากการกระทำความผิดทางเพศ หรือการข่มขืน ไม่ว่าจะมีอายุครรภ์กี่สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้

  • ในส่วนการกำหนดโทษ หญิงอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ยอมให้ผู้อื่นทำแท้งลูก ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ มีการลดโทษจากไม่เกิน 6 เดือน เป็น 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

  • การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 กำหนดความผิดหญิงทำแท้ง เป็นความผิดอาญานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และสมควรปรับปรุงกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

...

"สุพีชา เบาทิพย์" ผู้ก่อตั้งและประสานงาน "กลุ่มทำทาง" ซึ่งรณรงค์การ "ทำแท้ง" ปลอดภัย และเคยทำแท้งมาแล้ว กล่าวกับ "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ว่า การทำแท้งไม่จำเป็นต้องนำกฎหมายอาญา มากำหนดโทษว่าเป็นความผิด ควรเป็นบริการสุขภาพ ดังนั้นที่บอกว่าอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ไม่ผิดกฎหมาย และมีการระบุความผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง ในกรณีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ เป็นหลักคิดที่อำนาจการตัดสินใจไม่ได้เป็นของผู้หญิง ที่เป็นเจ้าของร่างกายของตัวเอง

“ผู้หญิงควรมีสิทธิ์ เพราะเป็นมนุษย์ มีความเป็นคน ซึ่งการถกเถียงในสภาฯ เรื่องสิทธิ์ของตัวอ่อน และสิทธิ์ในครรภ์ ก็ต้องบอกว่าสิทธิ์นี้ไม่มีในกติการะหว่างประเทศ”

สุพีชา ยกตัวอย่างประเทศไอร์แลนด์ เคยกำหนดรัฐธรรมนูญว่าตัวอ่อนมีสิทธิ์เทียบเท่าคนคนหนึ่ง แต่ก็ดีที่สุพีชา ยกตัวอย่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เคยกำหนดรัฐธรรมนูญ ให้ตัวอ่อนมีสิทธิเทียบเท่าคนคนหนึ่ง แต่ก็ดีเป็นการพิทักษ์สิทธิ์เด็ก แต่ควรพิทักษ์มารดา เช่นกรณีของสาวิตา ฮาลาปันนาวา หมอฟันชาวอินเดียในเมืองกัลเวย์ เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ เมื่อปี 2555 จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่หัวใจเด็กยังเต้นอยู่ ทำให้เกิดการตกเลือด และเธอได้บอกให้หมอ "ทำแท้ง" ให้ ซึ่งหมอบอกไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายจึงไม่ทำให้ ต้องรอให้เด็กคลอด จนในที่สุดสาวิตาเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างไม่ได้ช่วยผู้หญิง

“ถามว่าใครพิจารณาด้วยเหตุผลอะไรในการอนุมัติให้ทำแท้ง ต้องผ่านหลายหน่วยงานในการรับรอง และเห็นชอบ ยิ่งทำให้ยากขึ้น ต้องผ่านการปรึกษา ผ่านกระบวนการต่างๆ ถามว่าตั้งใจให้เร็ว หรือตั้งใจให้ช้า หากอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เกินไป 1 วัน จะทำอย่างไร ก็ทำไม่ได้ เอาอะไรมาคิด ยิ่งให้เกิดความลำบาก”

สุพีชา ยอมรับสมาชิกในกลุ่มทำทาง เคยผ่านการทำแท้งมาแล้ว ได้ให้คำปรึกษา ซึ่งแปลว่าในทุกๆ วันต้องนั่งคุยกับผู้หญิงที่จะยุติการตั้งครรภ์ พวกเราช่วยได้ในกระบวนการนี้ให้ผู้หญิงเข้ารับบริการทำแท้งอย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ในกรณีผู้หญิงไม่สามารถทำแท้งได้ และเลี้ยงลูกไม่ไหว ทางกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ควรเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือลดภาระในเรื่องนี้ อย่างพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการให้กับวัยรุ่นที่มีลูก แต่ไม่สามารถทำได้เพราะกลไกไม่เอื้อ และคิดว่าจะเอาภาระไปให้รัฐ แค่เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดก็น่าจะเพียงพอแล้ว ซึ่งไม่สมเหตุสมผลกับค่าครองชีพในขณะนี้ที่ทุกอย่างราคาแพงขึ้น

...

ขณะที่การเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “มองการทำแท้งด้วยสิทธิมนุษยชน” จัดโดยกลุ่มทำทาง “รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ร่วมแก้ไขกฎหมาย กล่าวว่า เป็นคนเดียวที่เสนอให้ยกเลิกกฎหมาย มาตรา 301 และมีผู้เสนอให้สามารถทำแท้งได้ หากอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ แต่ถูกโหวตแพ้หมด มีการหยิบยกเรื่องสิทธิตัวอ่อน มาเป็นข้ออ้าง จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ดูความสมดุลของสิทธิของทารกและสิทธิของผู้หญิง

"สิทธิทารก ไม่มีจริง อ้างอิงตามความเชื่อศาสนา ซึ่งสิทธิจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนเราเกิดขึ้นมาแล้ว และการอ้างว่าต้องดูแลเด็กก่อนคลอดจนกระทั่งหลังคลอด จึงได้บอกไปว่าการดูแลก่อนคลอดต้องดูแลแม่ เพื่อให้เด็กแข็งแรง".