ส่งออกดี-บริโภคโต ดัน GDP ไทยไตรมาส 3/2567 ขยายตัว 3% กูรูชี้ไตรมาสที่เหลือควรกระตุ้นการบริโภคในประเทศ มองขณะนี้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ต้องเร่งทำงานเชิงรุกสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชน พร้อมแนะความเสี่ยงปี 2568 ผลกระทบจากนโยบายสหรัฐฯ โจทย์ท้าทายที่รัฐบาลต้องหาทางป้องกัน!

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย. 2567) 'ดนุชา พิชยนันท์' เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ออกมาเปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยขยายตัว 3% ขยายตัวขึ้นจาก 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% ซึ่งสูงกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญและตลาดเคยประเมินไว้ว่าจะโตราว 2.6%

ภาพ : iStock
ภาพ : iStock

'รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์' อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ กล่าวสรุปกับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์อย่างกระชับเข้าใจง่ายว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ GDP โต คือ การส่งออกไตรมาสที่ 3 ของไทยทำได้ค่อนข้างดี เพราะโตกว่า 10% ซึ่งนี่เป็นตัวแปรที่สำคัญ นอกจากนั้นการบริโภคของภาคเอกชนก็โตค่อนข้างดี 2 ตัวแปรนี้จึงเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ GDP โตได้มากกว่าช่วงที่ผ่านมา

...

"ภาพรวมถือว่าโอเคเพราะ 3 ไตรมาสแรกโตได้ 2.3% ส่วนที่ตั้งเป้าว่าปีนี้จะให้ได้ 2.6% ก็ยังมีโอกาสทำได้อยู่ เพราะขณะนี้ยังเป็นไปตามเป้าเดิม ตามที่สภาพัฒน์หรือแบงก์ชาติเคยพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจะโต 2.5-2.7%"

กูรูเศรษฐกิจวิเคราะห์ต่อไปว่า อย่างไรก็ตามช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ เรื่องการค้ากับต่างประเทศยังมีงานเฉลิมฉลอง เช่น คริสต์มาส หรือปีใหม่ เป็นแรงส่งอยู่ น่าจะทำให้โอกาสการส่งออกของไทยมีมากขึ้นตามไปด้วย

ภาพ : iStock
ภาพ : iStock

ผลักดันการบริโภคในประเทศ :

สืบเนื่องจากประเด็นแรงส่งช่วงท้ายปี รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า การบริโภคนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายที่รัฐบาลใช้กระตุ้น รัฐจะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น มาตรการตัวอย่าง เช่น ช่วงก่อนปีใหม่มีโครงการช็อปดีมีคืน อันนั้นก็ช่วยกระตุ้นการบริโภคให้เพิ่มขึ้น

เพราะว่าการบริโภคในประเทศมีสัดส่วนค่อนข้างสูง ส่วนการส่งออกช่วยไม่ได้มากเท่าไร เนื่องจากไทยนำเข้ามากด้วย เราส่งออกไปสัก 10% เราก็นำเข้าร่วม 10% ซึ่ง GDP จะขยายตัวได้มาจากส่งออกลบนำเข้าแล้วดูค่าสุทธิ

"ล่าสุดเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแค่ประมาณ 2,000 ล้านเหรียญซึ่งถือว่าไม่เยอะ ฉะนั้นแล้วการค้าต่างประเทศไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ ที่จะนำไปสู่การกระตุ้น GDP ในไตรมาสสุดท้ายที่เหลืออยู่ แต่การบริโภคในประเทศสำคัญกว่า"

"อีกข้อสำคัญคือต้องรีบกอบกู้การลงทุนของภาครัฐให้เพิ่มมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เศรษฐกิจติดลบมาตลอด เนื่องจากความไม่แน่นอนของรัฐบาล หากภาครัฐดึงให้มีการลงทุนมากขึ้น มีแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเกิดการบริโภคมากขึ้น โดยใช้โอกาสช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ผมว่าตัวแปรพวกนี้คงทำให้ GDP ของเราบรรลุเป้าที่ตั้งไว้ ประมาณ 2.6% ได้"

ภาพ : Getty
ภาพ : Getty

การบ้านรัฐบาลไทย :

รศ.ดร.สมภพ มองว่า ภาพลักษณ์ของรัฐบาลมีเสถียรภาพมากกว่าช่วงที่ผ่านมา เมื่ออยู่ในภาวะการณ์อย่างนี้รัฐบาลควรเร่งผลักดันและทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น โดยมีทั้งหมด 2 ประการ ได้แก่ (1) ภาครัฐทำงานเชิงรุกในแง่ของการบริโภค และการลงทุนของภาครัฐ และ (2) สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น

...

"ประการแรก คือ งานเชิงรุกที่เกี่ยวกับรัฐบาล เรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐที่ค่อนข้างแผ่วในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายที่เกี่ยวพันกับการลงทุน เพราะถ้ามีการลงทุนที่ถูกต้อง ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ฉะนั้น รัฐบาลต้องให้ความสนใจในด้านนั้นมากขึ้น"

"ประการที่สอง ในแง่ภาคเอกชนก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่ามีความเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย ตอนนี้ภาคเอกชนเลยใส่เกียร์ว่างค่อนข้างมาก เพราะยังไม่แน่ใจว่าทรัมป์จะเอายังไง"

ภาพ : Getty
ภาพ : Getty

ความเสี่ยงปี 2568 :

เมื่อถามถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทย 'ที่อาจจะ' เกิดขึ้นในปี 2568 รศ.ดร.สมภพ แสดงความคิดเห็นว่า "ผมคิดว่าจะเป็นปีที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก" เราจะไปใช้ตัวแปรนอกประเทศ เป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจคงทำได้ยาก และต้องยอมรับว่าตัวแปรนอกประเทศที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว

...

สำหรับปีหน้าเราอาจจะคาดหวังเรื่องการค้ากับต่างประเทศได้ไม่เท่าไรนัก เพราะทรัมป์อาจจะดำเนินนโยบายขึ้นภาษีตามที่กล่าวไว้ และหากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าจะขึ้นภาษีกับจีนสูงถึง 60% แต่นั่นก็อาจจะทำให้ไทยหรืออาเซียนได้อานิสงส์ในระยะสั้น เพราะสหรัฐฯ ต้องหาแหล่งนำเข้าจากที่อื่นนอกจากจีน

"ของไทยอาจจะถูกเก็บภาษีสัก 10-20% เพราะทรัมป์ประกาศไว้ว่า ชาติไหนก็ตามที่เดินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาก ๆ เช่น 20 ชาติแรกก็จะเป็นเป้าหมายก่อน ซึ่งไทยเราอยู่อันดับที่ 12 แต่ก็จะยังเก็บภาษีนำเข้าไม่มากเท่าที่เก็บจากจีน"

กูรูเศรษฐกิจมองว่า ภาพรวมความเสี่ยงนั้นมี 2 ประการ คือ 'ระยะสั้น' อาจได้อานิสงส์ต่อการปรับเปลี่ยนทิศทางการค้าต่างประเทศ ส่วน 'ระยะยาว' ถ้าทรัมป์ดำเนินนโยบายอย่างจริงจังในเรื่องที่หาเสียงไว้ จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานรวนไปทั้งโลก เพราะต้องปรับเปลี่ยนทิศทางของห่วงโซ่อุปทานใหม่ เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Reshoring* และ Offshoring

ภาพ : iStock
ภาพ : iStock

...

"Offshoring คืออเมริกาต้องการให้ชาติอื่นเข้าไปลงทุนในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ในระยะยาว อเมริกาก็คงพึ่งพาการค้าต่างประเทศน้อยลงเพราะผลิตได้มากขึ้น จุดนี้ทำให้เราต้องระวังเพราะไทยเป็นชาติที่พึ่งพาการค้ากับต่างประเทศมากกว่ามูลค่า GDP"

รศ.ดร.สมภพ อธิบายเสริมว่า การนำเข้าและการส่งออกของไทยใหญ่กว่า GDP ร่วม 10-20% ส่งออกปีนี้ที่เราตั้งเป้าไว้อยู่ที่ประมาณ 290,000 ล้านเหรียญ ซึ่งนำเข้าก็ใกล้เคียงกันแต่อาจจะน้อยกว่าเล็กน้อย "ฉะนั้น นำเข้าส่งออกเราก็คงไม่หนีกันนัก ใกล้ ๆ 6 แสนล้านเหรียญ แต่ GDP เราประมาณ 5 แสนล้านเหรียญบวกลบ"

"ฉะนั้น ตอนนี้เราพึ่งพาการนำเข้าและส่งออกเยอะมาก จึงต้องหาแนวทางใหม่ในการพัฒนา ที่ไม่ต้องพึ่งเพียงนำเข้าหรือส่งออก จุดนี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องหาทาง" รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ กล่าวทิ้งท้าย

ภาพ : iStock
ภาพ : iStock

............

* Reshoring หมายถึง การที่บรรษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิตที่เคยไปตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ (Offshoring) กลับมาตั้งฐานการผลิตในประเทศแม่ของบรรษัท เนื่องจากต้นทุนผลิตในต่างประเทศสูงขึ้น หรือไม่ได้เกิดความได้เปรียบอีกต่อไป