คุยเปิดใจกับ "ดล ปิ่นเฉลียว" ในวันที่ ต่วย'ตูน โบกมือลานักอ่านและแฟนานุแฟน ปิดตำนาน 54 ปี ของเรื่องราวที่ทั้งหรรษาและมีสาระ

.

"ถึงเวลาอันสมควรที่พวกเราจะหยุดพักและกล่าวคำอำลา
กราบขออภัยอย่างยิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดสาระและหรรษา
สร้างความสุขให้ทุกท่านได้อีกต่อไป"

.

ข้อความบางตอนที่ถูกโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ต่วย'ตูน พิเศษ และ ต่วย'ตูน พอกเก็ตแมกาซีน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 เวลาประมาณ 20.20 น. เป็นสัญญาณว่าการเดินทางอันยาวนานกว่า 5 ทศวรรษของนิตยสารที่นิยามตัวเองว่าเป็น "หนังสือประจำครอบครัว" ต้องอำลาแฟนานุแฟน ด้วยเหตุผลจากภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยอีกหลายประการ

...

แม้ว่าหนังสือต้องปิดตัวลง แต่เราเชื่อว่าความทรงจำและประสบการณ์ดี ๆ จะคงอยู่ในใจนักอ่านไม่จางหาย เราถือโอกาสนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกตำนาน ต่อสายตรงขอนัดหมายสนทนากับ 'คุณดล ปิ่นเฉลียว' บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ พี.วาทิน พับลิเคชั่น และทายาทของ 'ลุงต่วย-วาทิน ปิ่นเฉลียว' ผู้เป็นจุดเริ่มต้นของ ต่วย'ตูน

เวลาประมาณ 16.00 น. ของวันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 เราและคุณดลพบกัน ณ ร้านกาแฟในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ครั้งนี้ยังมีโอกาสได้พบกับ 'คุณดาว ปิ่นเฉลียว' ลูกสาวลุงต่วยอีกด้วย ท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลาของเขาทั้งคู่ ทำให้เราแอบคิดในใจว่า "สมแล้วที่เป็นทายาทเจ้าของนิตยสารสร้างอารมณ์ขัน"

"ผมเลือกปิดตัวในตอนที่คนยังนิยมดีกว่า" :

แม้ว่าหน้าแฟนเพจจะระบุสาเหตุปิดตัวไปบางส่วน แต่คุณดลเปิดใจกับเราเพิ่มเติมว่า การจะตัดสินใจแบบนั้นเราคิดมาสักพักแล้ว มันถึงทางเลือกที่ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ เพราะตั้งแต่รับช่วงต่อเข้าทำงานมากว่า 30 ปี เราก็ปรับไปหลายหน พยายามเปลี่ยนตามเจเนอเรชันของผู้อ่าน

"ตอนแรกตัดสินใจไม่ยากเลย เพราะว่าตัวเองไม่มีทายาททำต่อ แต่เมื่อมีกระแสตอบกลับจากแฟนหนังสือ เช่น "ปิดทำไม" "ทำไมไม่ทำต่อ" "โตมากับ ต่วย'ตูน ไม่อยากให้ปิดเลย" ก็ทำให้รู้สึกไม่สบายใจเล็กน้อย"

ทีมข่าวฯ ถามต่อไปว่า หากผ่านไปสักระยะยังคงมีแฟนานุแฟนเรียกร้องอยู่ เราจะมีโอกาสได้เห็น ต่วย'ตูน กลับมาอีกครั้งหรือไม่?

บ.ก.อำนวยการ ถอนหายใจเฮือกใหญ่ ก่อนเอ่ยลากเสียง "โอ้…" พร้อมส่ายหัวเหมือนครุ่นคิดอะไรบางอย่าง แต่เพียงแว๊บเดียวเขาก็ตอบกลับว่า "ต้องดูว่าจะกลับมาในรูปแบบไหน แต่คงไม่ใช่การเปลี่ยนหนังสือเป็นอีบุ๊ค ผมมองว่าต้องปรับคอนเทนต์ และเปลี่ยนรูปแบบอย่างสิ้นเชิง ให้เข้ากับคนเสพยุคปัจจุบันมากขึ้น อาจจะต้องมุ่งไปทางยูทูบ ติ๊กต่อก หรืออื่นๆ"

พ่อผมพูดเสมอว่า "เรื่องเล่าไม่มีวันตาย ตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่" การเล่ามันผ่านกระบวนการวิธีต่างๆ ตั้งแต่การวาด สลัก พัฒนามาถึงการพิมพ์ลงกระดาษ แม้บางวิธีจะเลือนหายไป แต่เรื่องเล่าก็ไม่เคยตาย เพียงแต่มันเปลี่ยนวิธีเล่าและเครื่องมือ

...

อย่างปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่เขามีวิธีการเล่าที่ต่างออกไป สนุกและชวนติดตามมากกว่า ผมเลยคิดว่าถ้าเลือกไปต่อผมต้องเข้าสู่ออนไลน์ แต่ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ตลอดการทำตรงนี้มากว่า 30 ปี ผมไม่ถนัดออนไลน์ "ผมเลยเลือกที่จะปิดตัวในตอนที่คนยังนิยมดีกว่า"

โอกาสมุ่งสู่โลกออนไลน์ :

เราถามว่าเมื่อประกาศยุติการผลิต ต่วย'ตูน มีใครเสนอยื่นมือเข้ามาสานต่อธุรกิจหรือไม่ "มีหลายรายเลยครับ เรารับโทรศัพท์กันสายแทบไหม้ แต่ยังไม่ได้คุยอะไรกันมาก รู้ประมาณว่าเขามีข้อเสนอต่าง ๆ มาให้" คุณดลตอบ ก่อนกล่าวต่อว่า

แต่ถ้าให้ผมลงไปบริหารหรือเป็นคนนำอีกแบบนี้คงทำไม่ได้ เพราะอย่างที่ได้บอกไปผมไม่ถนัดโลกออนไลน์จริงๆ ข้อเสนอที่น่าสนใจสำหรับผมจะเกี่ยวกับคนเสพมากกว่า หมายความว่า ถ้าให้ผมเป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ ช่วยหาข้อมูลหรือประสานแหล่งข้อมูลดี ๆ เชิงลึกให้ แบบนี้น่าสนใจและมีโอกาสจะร่วมงานกันได้สูง

"มันคงจะเป็นวิธีที่เรียกว่าการคอลแลบ เพราะเห็นว่าคนรุ่นใหม่เก่งเรื่องดิจิทัล หรือการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ทางเราเก่งในเรื่องหาข้อมูล การเขียน การเล่าเรื่อง ดังนั้น ถ้าคอลแลบกันมันก็น่าจะดีกว่า ช่วยกันพัฒนาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพให้คนไทยได้ดู"

...

หนังสือประจำครอบครัว :

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะยังมีบางคนสงสัยถึงความต่างของ ต่วย'ตูน 2 ประเภท คุณดลจึงได้อธิบายให้ฟังว่า ต่วย'ตูน พิเศษ มีกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่นสมัยนั้น เนื้อหามีความหลากหลาย เช่น อียิปต์ กรีก อารยธรรมตะวันตก-ตะวันออก หรือ UFO เป็นต้น คุณพ่อมองว่าเรื่องเหล่านี้น่าสนใจ แต่ถ้าต้องไปนั่งอ่านตำราเองคงจะรู้สึกยากเหมือนกินยาขม เลยชวนนักเขียนมาย่อยเรื่องให้เข้าถึงง่าย

ส่วน ต่วย'ตูน พอกเก็ตแมกาซีน กลุ่มเป้าหมายจะเป็นคนอ่านที่มีอายุ เนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรม อาชีพ หรือประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแบบมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ เนื้อหาต้องสนุก เข้าถึงง่าย ทั้งชวนหัวและมีสาระในคราวเดียวกัน

"ในอดีตมีสื่อน้อย คุณพ่อเลยเปิดกว้างในการรับนักเขียน เพื่อจะได้มีเรื่องราวที่หลากหลายลง ต่วย'ตูน ทำให้เรามีนักเขียนนับร้อยคน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงชาวบ้านภารโรง เพราะบางเรื่องเราไม่มีทางรู้หรือเขียนได้เอง ต้องอาศัยคนที่ผ่านประสบการณ์โดยตรง"

...

บรรณาธิการอำนวยการ เล่าด้วยรอยยิ้มต่อว่า ผมนิยาม ต่วย'ตูน ว่าเป็นหนังสือประจำครอบครัว ถ้าอยากให้ผู้สูงอายุไม่เหงา ต่วย'ตูน จะเป็นเพื่อนให้ ถ้าอยากให้เด็กในบ้านมีจินตนาการ ต่วย'ตูน จะเป็นหนังสือมีสาระที่ต่างจากตำราเรียน

แม้ว่า ต่วย'ตูน ฉบับเดือนกันยายน 2567 จะเป็นเล่มสุดท้ายที่วางขาย แต่คุณดลขอเป็นตัวแทนของเหล่านักเขียน และทีมงานสำนักพิมพ์ พี.วาทิน พับลิเคชั่น ฝากข้อความถึงแฟนานุแฟนก่อนบทสนทนาจะจบลงว่า

"อยากฝากความรู้สึกดี ๆ ถ้าเราจะกลับมาเราคงมีรูปแบบที่ต่างจากเดิม แม้ยังอยากทำเรื่องสนุกให้ทุกคน แต่ยังไม่ขอสัญญานะครับ เพราะยังบอกอะไรไม่ได้จริง ๆ บอกได้เพียงว่าที่หยุดทำไม่ใช่ไม่รักหนังสือ เพราะถ้าไม่รักคงไปทำอย่างอื่นนานแล้ว"

.........

- ดล ปิ่นเฉลียว -

บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ พี.วาทิน พับลิเคชั่น