ศึกเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 พิษณุโลก เดิมพันฐานเสียงขุนพลการเมือง นักวิชาการมอง พรรคประชาชน มีแต่ "เจ๊า" กับ "เจ๊ง" ส่วนพรรคเพื่อไทย มีโอกาส "เจ๊า" กับ "เจี๊ยะ"

หลังจากที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ หมออ๋อง พ้นจากตำแหน่ง สส. เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล พร้อมตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ส่งผลให้ กกต. ออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง สส.เขต 1 พิษณุโลก แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยการเลือกตั้งซ่อมจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2567 เวลา 08.00 - 17.00 น.

การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีผู้สมัคร 2 คน ได้แก่ หมายเลข 1 นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือ โฟล์ค จากพรรคประชาชน และหมายเลข 2 นายจเด็ศ จันทรา หรือ บู้ จากพรรคเพื่อไทย ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งซ่อม มีรายงานข่าวอยู่เป็นระยะว่า ทั้ง 2 พรรคการเมืองต่างส่งคนลงพื้นที่หาเสียงดุเดือด ชนิดที่ว่าไม่มีใครยอมใคร!

ขอบคุณภาพจากเพจ
ขอบคุณภาพจากเพจ "โฟล์ค ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ - Natachanon Chanaburanasak"

...

2 พรรคสูสี ใครชนะก็ไม่ทิ้งห่าง :

โค้งสุดท้ายก่อนถึงวันตัดสิน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์วิเคราะห์สถานการณ์กับทีมข่าวฯ ว่า ปัจจัยสำคัญของการเลือกตั้งซ่อมที่พิษณุโลก ผมมองว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องบ้านใหญ่ แต่เกี่ยวกับ พรรคการเมือง และ กระแสการเมืองระดับชาติ

ต้องบอกว่า 'พรรคประชาชน' มีความได้เปรียบอยู่ เพราะพิษณุโลกเป็นพื้นที่เดิมของเขา และหมออ๋องก็เป็น สส. มาแล้ว 2 สมัย ในขณะเดียวกันคนพื้นที่ที่เคยลงคะแนนเสียงให้ อาจลงให้พรรคประชาชนอีกครั้ง และทำให้มีโอกาสชนะก็เป็นได้

"แต่ถ้าชนะก็เป็นไปได้ว่าคะแนนเสียงไม่ต่างกันมากนัก และคงไม่ได้ชนะขาดลอย ซึ่งถ้าหากผลออกมาเป็นแบบนั้น อาจเป็นภาพสะท้อนภาพให้พรรคประชาชนต้องทบทวนอะไรบางอย่าง เพราะหากชนะก็แค่เสมอตัว แต่ถ้าชนะไม่มากก็ขาดทุน หรือถ้าแพ้จะถือว่าขาดทุนหนักเลย"

ขอบคุณภาพจากเพจ
ขอบคุณภาพจากเพจ "โฟล์ค ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ - Natachanon Chanaburanasak"

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ 'พรรคเพื่อไทย' ไม่มีอะไรจะเสีย ถ้าชนะก็เป็นกำไรอย่างมากต่อภาพลักษณ์รัฐบาล แต่ถ้าแพ้ก็แค่เสมอตัว สนามพิษณุโลกจึงเป็นเหมือนเดิมพันระหว่าง 2 พรรคนี้

แม้ว่าพรรคประชาชนอาจดูได้เปรียบ แต่พรรคเพื่อไทยก็มีโอกาสด้วยปัจจัยหลายอย่าง หนึ่ง การรวมกันของเครือข่ายคะแนนเสียงต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ สอง การลงพื้นที่อย่างเข้มข้นของบรรดาแกนนำพรรค และสาม อย่าลืมว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบาย ซึ่งจะจบลงในวันศุกร์ที่ 13 กันยายน

"ถ้านโยบายของรัฐบาลสามารถเรียกคะแนนนิยม หรือสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ ก็เป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะคว้าชัย แต่ถ้าชนะผมคิดว่าก็คงไม่ชนะขาดลอยเช่นเดียวกัน ฉะนั้น เวทีนี้เป็นไปได้สูงที่จะเบียดกันชนะ"

ขอบคุณภาพจากเพจ
ขอบคุณภาพจากเพจ "บู้ จเด็ศ จันทรา"

...

สนามพิษณุโลกต่างจากสนามท้องถิ่น :

ก่อนจะถึงการเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 พิษณุโลก อาจเห็นข่าวมาบ้างว่าคณะก้าวหน้า หรือในนามพรรคประชาชน อาจไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เราจึงถามต่อไปว่าวันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้มีแนวโน้มจะเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ อย่างไร?

รศ.ดร.ยุทธพร ระบุว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมีปัจจัยแตกต่างจากการเลือกตั้ง สส. ประเด็นแรก ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นมีไม่มาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60% ประเด็นที่สอง กติกาไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการให้ประชาชนไปเลือกตั้ง เพราะไม่มีการเลือกตั้งนอกเขต ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ประเด็นที่สาม มุมมองของผู้ใช้สิทธิ เขาต้องการเลือกคนมาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ทางไม่ดี

แต่การเลือกตั้งระดับชาติจะมีปัจจัยจากกระแสการเมืองระดับชาติ ปัจจัยเรื่องพรรค หรือถ้าเป็นการเลือกตั้งทั่วไป รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่กล่าวมานี้ก็คือความแตกต่าง ที่ผมมองว่าการเลือกตั้งแต่ละอย่างคงไม่สามารถทาบทับกันได้พอดี

"สนามเลือกตั้งท้องถิ่นส่วนใหญ่ทางคณะก้าวหน้า หรือในนามพรรคประชาชน อาจจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำให้สนามพิษณุโลกแพ้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามผมยังเชื่อว่าโอกาสสูสีของสองพรรคนี้มีสูง"

ขอบคุณภาพจากเพจ
ขอบคุณภาพจากเพจ "โฟล์ค ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ - Natachanon Chanaburanasak"

...

ภาพรวมคะแนนความนิยมลดลง :

เมื่อถามว่าช่วงนี้ความนิยมของประชาชนคนพิษณุโลก ที่มีต่อพรรคประชาชนเป็นอย่างไรบ้าง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ แสดงทรรศนะว่า ผมว่าภาพรวมทั้งประเทศลดลง เนื่องจากการถูกยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมืองบรรดาแกนนำพรรค ซึ่งต้องยอมรับว่าแกนนำเหล่านั้นเปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงคะแนนเสียงให้พรรค

โดยเฉพาะการพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง นายก อบจ. ราชบุรี จริงอยู่ว่าสนามนั้นอาจเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่เนื่องด้วยขณะนั้นพรรคประชาชนได้ทุ่มสรรพกำลังมากมาย เช่น การลงพื้นที่ของสี่หัวหน้าพรรค คุณธนาธร, คุณพิธา, คุณชัยธวัช และคุณณัฐพงษ์ พวกเขาลงไปหมดเลย อีกทั้งแกนนำพรรคที่เหลืออีกจำนวนมากก็ลงพื้นที่ แต่สุดท้ายก็พ่ายไป จึงทำให้ภาพของพรรคออกมาในเชิงลบ

"หรือในสภาทุกวันนี้บทบาทของหลายคนก็หายไป เช่น การอภิปรายการแถลงนโยบาย เราแทบจะเห็นบทบาทของคุณณัฐพงษ์คนเดียว คนอื่นน้อยมากเกือบหายไปเลย เช่น รังสิมันต์ โรม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ากระแสของพรรคลดลง ทำให้โอกาสที่จะใช้กระแสเป็นแรงส่งน้อยลงกว่าเดิม"

ขอบคุณภาพจากเพจ
ขอบคุณภาพจากเพจ "บู้ จเด็ศ จันทรา"

...

เพื่อไทยไม่มีอะไรจะเสีย :

ทีมข่าวฯ ถามว่า จากที่มีกระแสกังวลเรื่องบัตรเขย่ง อาจารย์คิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

"ผมว่าคงไม่เกิดขึ้นสักเท่าไร เพราะการเลือกตั้งซ่อมไม่ได้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่มีการเลือกตั้งนอกเขต ไม่เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้น ปัญหาบัตรเขย่ง จำนวนบัตรไม่เท่าผู้ใช้สิทธิ ถือว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากหรือน้อยลงหรืออาจไม่มีเลย" รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว ก่อนจะเสริมส่งท้ายการวิเคราะห์ว่า

"สนามที่พิษณุโลกคงเป็นตัวชี้วัดถึงกระแสความนิยมของรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ระดับหนึ่งในระยะเวลาอันใกล้ แต่ภาพใหญ่ยังคงตัดสินไม่ได้ว่าจะมีผลต่อการเลือกตั้งปี 2570 หรือไม่ แต่ตอนนี้เป็นความได้เปรียบของรัฐบาล เพราะพรรคเพื่อไทยไม่มีอะไรจะเสีย"

"ส่วนพรรคประชาชนผมคิดว่าอาจไม่ได้เปรียบมากนัก เหมือนที่หลายคนคิดว่าจะชนะขาดลอย สนามนี้เป็นสนามเดิมพันที่พรรคประชาชนมีแต่ 'เจ๊า' กับ 'เจ๊ง' ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีแต่ 'เจ๊า' กับ 'เจี๊ยะ' เสมอตัวหรือได้เปรียบแค่นั้นเอง"

ขอบคุณภาพจากเพจ
ขอบคุณภาพจากเพจ "บู้ จเด็ศ จันทรา"

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :