"กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ" เสนอแนวทางรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย ต้องกล้าตัดสินใจ และดำเนินการทันที ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่เรื่องง่าย แนะแจกเงินสด พร้อมเร่งหานโยบายสำรอง

หลังจากวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้โหวตเลือก "แพทองธาร ชินวัตร" นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 319 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง งดออกเสียง 27 คน

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งครั้งนี้ "ปัญหาเศรษฐกิจ" ถือเป็นหนึ่งความท้าทายของนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของไทย ที่ประชาชนกำลังจับตาดูว่าจะแก้ไขด้วยวิธีการใด

ทีมข่าวฯ มีโอกาสสนทนากับ "กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ" อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เราจะพาไปดูกันว่า นายกอร์ปศักดิ์มีแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร ที่อยากเสนอถึงรัฐบาลแพทองธาร

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

...

เทียบนโยบายแก้ปัญหาครั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ : 

เมื่อถามว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นขณะนี้ควรแก้ไขอย่างไรดี นายกอร์ปศักดิ์ ตอบว่า วิกฤติวันนี้เปรียบเทียบได้กับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ลองมองว่าสมัยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไร และแก้ได้ไหม ถ้าได้ผลเอาแนวทางแก้ปัญหามาใช้ครั้งนี้ได้ดีไหม เพราะมันทดลองไปแล้วว่าได้ผล นี่คือประเด็นสำคัญ

ช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ พอดีผมเป็นรองนายกฯ คุมเรื่องเศรษฐกิจ ในรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ ถามว่าเหมือนตอนนี้ไหม ก็อาจจะเหมือน แต่ถามว่าคนไทยมีผลกระทบหนี้สินเยอะไหม อันนี้อาจจะไม่เหมือน 

เพราะปัจจุบันวิกฤติเรื่องหนี้สินของเรา มีมากกว่าสมัยแฮมเบอร์เกอร์ เพราะมันลากทับถมมาหลายปี ฉะนั้น ความแตกต่างมันมีอยู่ แต่การแก้ไขปัญหาก็หนีไม่พ้นที่รัฐบาลจะต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่เข้ามาแก้ไข 

"สมัยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ตอนนั้นติดลบประมาณ 8% รัฐบาลขณะนั้นใช้การแก้โดยออกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ระยะ คือ SP1 กับ SP2 (SP = Stimulus Package) SP1 ออกทันที เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ SP2 ใช้เวลาวางแผนประมาณ 3 เดือนแล้วก็ออกตามมา"

"มาตรการแรกเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อพยุงไม่ให้ตกเหว แจกเงิน 2,000 บาท แต่ว่าการแจกเงินไม่ยั่งยืน เพราะอย่าง 2,000 ก็อยู่ได้ไม่นาน แต่เรามี SP2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวรองรับมาสวมรอยทันทีที่ SP1 หมดแรง"

อดีตรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ สรุปให้ฟังว่า SP1 คือการเอาเงินไปถึงชาวบ้าน ตอนนั้นมีอยู่ 2 กลุ่ม หนึ่งคือเกษตรกร เราให้เป็นโครงการประกันรายได้ สองคือมนุษย์เงินเดือน ใครได้เงินเดือนน้อยกว่า 15,000 บาท ได้รับทุกคน และได้เป็นเงินสด

แจกทันที : 

จากนโยบายที่ถูกนำเสนอข้างต้น กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมคิดว่าถ้าใช้สูตรนี้ ไส้ในอาจจะมีความต่างแต่ยังพอไปได้ ตอนนี้รัฐบาลมีเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่เตรียมไว้ ก็ไม่ต้องใช้หมด แต่ใช้ทันทีก่อนบางส่วน

"สมมติใช้เลย 10,000 บาท แจกทุกคนที่มีรายได้น้อย กับคนที่อยู่ในระบบว่าฐานะไม่ดี จะกี่คนก็แล้วแต่ แจกทันทีเลยเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องเป็นดิจิทัลวอลเล็ต แต่เป็นเงินสดไปเลย จะเอาไปซื้อของที่ไหนก็ตามสบาย"

...

ส่วนนี้ถ้าทำไปแล้ว ก็มาวางแผนระยะยาวต่อว่า จะรองรับอย่างไรเมื่อเงินตรงนี้หมดแรง แนวทางใหม่จะเป็นอะไร ก็ต้องดูว่าใช้ตรงไหนที่ได้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เพราะถ้ารายได้ดีขึ้น หนี้เขาก็หมด 

นายกอร์ปศักดิ์ มองว่า การแก้ปัญหาหนี้สินโดยตรึงดอกเบี้ย ให้ดอกเบี้ยน้อย หรืออะไรก็แล้วแต่ไม่ได้ผล การทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มจะดีกว่า "ถ้ารัฐบาลอยากขึ้นค่าแรง ก็ต้องกล้าขึ้นค่าแรง แต่ต้องไปช่วยธุรกิจที่เขาไปไม่ไหวด้วย เช่น อาจมีส่วนลดอะไรให้เขาบ้าง"

"ผมคิดเร็วๆ เพราะห่างการเมืองมานาน ไม่แน่ใจว่าตัวเลขเป็นยังไง สมมติรัฐบาลบอกว่า SME หรืออุตสาหกรรมใหญ่ๆ อยากปรับกระบวนการผลิต ใช้เครื่องจักรทันสมัย มาเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถ เพื่อให้การส่งออกสู้กับเขาได้ ถ้ารัฐบาลเก็บภาษีเครื่องจักรอยู่ ก็เลิกเก็บซะ แบบนี้ เป็นต้น ผมก็ไม่รู้ว่าทำได้ไหม นี่แค่คิดแบบเร็วๆ"

รัฐบาลที่แล้วจะแจกเงินห้าแสนกว่าล้าน รัฐบาลนี้ไม่ต้องแจกเยอะขนาดนั้นก็ได้ แจกประมาณสองแสนล้าน เหลืออีกสามแสนล้านก็เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น แล้วก็เลิกพูดเรื่องอภิมหาโปรเจกต์ เรื่องบ่อนกาสิโน เรื่องแลนด์บริดจ์ ถ้ามองอย่างนี้แล้วทำให้ดี ผมว่าเรียกความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลได้ เพราะไม่หวือหวามากเกินไป แต่รู้และเข้าใจปัญหา พร้อมแก้ทันที

...

แนะให้เงินสด ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่เรื่องง่าย : 

ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ง่าย และวิธีการที่รัฐบาลจะทำประชาชนก็ลังเล ดังนั้น การจัดลำดับความสำคัญเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเรามีเงินที่จำกัด

"ผมมองว่าตอนนี้ต้องรีบทำ และต้องทำให้เร็ว มันไม่มีอะไรดีกว่า เร็วกว่า และเงินไม่ตกหล่นเท่ากับการแจกเงินสดถึงมือประชาชน เขาไปใช้ทำอะไรก็ปล่อยเขา เขาจะซื้อของที่ไหนก็ไม่เป็นไร ใครเห็นเงินสดเขาก็อยากได้อยู่แล้ว"

นายกอร์ปศักดิ์ แสดงความคิดเห็นว่า เอาเวลาคิดมากไปคิดการแก้ปัญหาระยะยาว เนื่องจากถ้าปล่อยเงินตอนนี้ มันจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ล่มสลายได้พอสมควร อาจจะมากกว่า 3 เดือนก็ได้ มีเวลาพอให้รัฐบาลเตรียมตัวสำหรับระยะที่ 2

ผมมองว่าการเพิ่มรายได้ เป็นวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาเรื่องหนี้ ไม่มีวิธีอื่นหรอกครับ หลักคิดคือต้องเพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นที่มาของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ผมไม่เคยโต้เถียงเรื่องนี้ เพียงแต่ว่ารัฐอาจจะต้องเข้าช่วยในบาง อาจจะช่วยออกค่าแรงบ้าง แต่เป็นการจ่ายผ่านผู้ประกอบการ ในรูปแบบของการคืนภาษี ไม่เก็บภาษี 

...

"ถ้าอยู่ดีๆ จะไปขึ้นค่าแรง 400-500 บาท แล้วปล่อยให้ธุรกิจอยู่ด้วยตัวเอง หรือบอกไปว่าเก็บภาษีกำไรนิติบุคคลน้อยลงก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเขาไม่มีกำไรแล้ว"

ทำทันที = เรียกความเชื่อมั่นได้ : 

ทีมข่าวฯ ถามว่า นายกฯ หน้าใหม่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้หรือไม่?

นายกอร์ปศักดิ์ ตอบเชิงถามกลับแทบทันทีว่า "กล้าทำนโยบายแบบที่ผมเสนอไหมล่ะ?"

"แล้วต้องทำไม่ช้าด้วย รีบทำรีบตัดสินใจเลย หลักคิดนี้มันเวิร์ก มันได้ผลมาแล้ว ตอนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์มันหลุดได้ ส่วนอันนี้จะหลุดได้ไหมคงไม่มีใครกล้ารับประกัน แต่ถ้าจะหวังไปแจกเงิน 5 แสนล้านให้เศรษฐกิจหมุน ถ้าเกิดไม่หมุนหรือหมุนรอบเดียวแล้วเงินหมด ถ้าต้องไปกู้เพิ่มอีกมันก็แย่นะ"

ปัญหาที่สำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องเข้าใจในการบริหารงาน คือจะต้องรู้และเข้าใจระบบราชการว่ามันช้า ผมคิดว่าต้องลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ตรงนี้ต้องอาศัยความกล้าใช้มติ ครม.เป็นหลักในการบริหารประเทศ เพราะมันทำได้เร็วกว่า

"ถ้าจะเริ่มแก้ ผมมองว่าต้องเริ่มทันทีแถลงนโยบายเสร็จก็ลุยเลย มันมีดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้นที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบหน่อย เหตุผลคือตอนนี้กับตอนนั้นไม่เหมือนกัน ทุกคนพร้อมจะรับฟังถ้ามันไปในทางที่ดีกว่า"

ห่วงการเมืองทำนโยบายไม่เป็นรูปธรรม : 

เมื่อถามว่าตอนนี้เป็นห่วงอะไรมากที่สุด นายกอร์ปศักดิ์ ตอบว่า ห่วงการเมือง แต่จริงๆ ห่วงเกือบทุกเรื่อง เพราะ 1 ปีที่ผ่านมา เกิดรัฐบาลผสมระหว่างสองฝ่ายที่เคยสู้กัน ส่วนตัวยังไม่ค่อยเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม

"ผมไม่มองว่าตัวเองเป็นคนที่รู้หรือเข้าใจทุกเรื่อง เพียงแต่เอาตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น 10 ปีที่แล้วมาให้ดูว่า ถ้าเกิดปัญหาอย่างนี้ มันน่าจะแก้แบบนี้ได้ เพราะปัญหาคล้ายคลึงกัน ส่วนสุดท้ายจะแก้แบบไหนก็เป็นเรื่องของรัฐบาล"

"ผมคงไม่ออกมาตำหนิ ผมคิดว่าหน้าที่ของผม คือคนมีประสบการณ์แก้ปัญหา หน้าที่คือบอกคนที่ทำงานว่า เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นในสมัยผม คุณลองไปย้อนดูไหม จะทำหรือไม่ทำไม่เป็นไร เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอกกัน เท่านั้นเอง"

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :