จากขยะพลาสติก สู่น้ำมันทางเลือก เรื่องราวของนักคิดหัวใจรักษ์โลก "เอก-ยุทธการ มากพันธุ์" ผู้ทุ่มวิจัย สร้างสรรค์ และพัฒนานับทศวรรษ เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม 

'ขยะพลาสติก' ถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับตัวท็อป ที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง เพราะกว่ามันจะย่อยสลายก็ต้องใช้เวลานับร้อยปี และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะไม่หมดโดยง่าย เพราะอย่างไรมนุษย์ยังคงผลิตขยะออกมาทุกวัน

อย่างไรก็ตาม มนุษย์พยายามหาวิธีลดขยะพลาสติก จนเกิดแนวทางที่หลากหลาย แต่มีอยู่วิธีหนึ่งที่ 'เอก-ยุทธการ มากพันธุ์' ทุ่มเทพัฒนา ซึ่งนอกจากจะลดขยะพลาสติกได้แล้ว ยังสามารถต่อยอดเป็นพลังงานทางเลือกได้อีกด้วย วิธีนั้นก็คือการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน โดยใช้กระบวนการ Pyrolysis (ไพโรไลซิส) 

แนวคิด  Zero waste : 

ยุทธการเผยว่า แนวคิดนำขยะพลาสติกมาทำเป็นน้ำมัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่เขายังเป็นลูกจ้างของ คำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท "ตอนนั้นผมทำเกี่ยวกับ Zero waste สร้างระบบแยกขยะอย่างจริงจัง คราวนี้มีปัญหาเรื่องพลาสติก ด้วยความที่มันมีไม่เยอะมาก จะขนไปขายก็ไม่คุ้ม อยู่ดีๆ มันแวบเข้ามาในหัวว่า ขยะพลาสติกน่าจะสร้างประโยชน์ได้ จึงเริ่มเกิดแนวคิดอยากทำน้ำมัน"

...

หลังจากเริ่มมีแนวคิดและไอเดียที่พลุ่งพล่าน เอกหันมาเริ่มศึกษาการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกอย่างจริงจัง โดยใช้พื้นที่ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ท่ามะขาม เป็นทั้งห้องเรียนและห้องแล็บ 

เอกบอกกับเราว่า ตอนนั้นพอรู้อยู่แล้วบ้างว่า พลาสติกสามารถนำมาทำน้ำมันได้ แต่ยังไม่มีเครื่องหรืออุปกรณ์ที่ไหนทำได้ มีเพียงทฤษฎีและแนวคิด จึงลองคิดออกแบบเอง ทำเอง ประกอบเอง จนในที่สุดทำออกมาเป็นเครื่องเล็กๆ ได้

ยุทธการเผยกับเราว่า ตนเรียนจบ กศน. แต่มีชื่นชอบและสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จึงพยายามศึกษาด้วยตัวเอง เพราะอยากทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ

"การศึกษาข้อมูลสมัยนั้นยากกว่าตอนนี้มาก เพราะไม่มีอินเทอร์เน็ต องค์ความรู้ต่างๆ ต้องหาอ่านจากหนังสือ ผมเลยต้องไปหาซื้อหนังสือ และมานั่งเปิดอ่านเอา เช่น หนังสือวิทยาศาสตร์ ม.4 เป็นต้น ศึกษาด้วยตัวเองหลายเรื่อง เช่น ห่วงโซ่คาร์บอน มิวเทน และอื่นๆ อีกเยอะมาก"

พัฒนากว่า 10 ปี : 

แม้ว่าช่วงแรก อุปกรณ์ที่เอกสรรสร้าง จะสามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมันได้ แต่มันเป็นน้ำมันที่เอกถึงกับเอ่ยปากว่า "คล้ายกับน้ำมันขี้โล้ ทั้งดำ เหนียว หนืด และเหม็นติดตัว มันใช้เผาได้อย่างเดียว ขนาดเผายังเหม็นเลย"

แต่ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จ นั่นก็เป็นก้าวแรกที่น่าประทับใจ ในความทรงจำของชายคนนี้ "สมัยนั้นจำได้ว่า ดีใจที่ทำขยะให้เป็นน้ำมันได้ จุดไฟติดก็ดีใจแล้ว ช่วงนั้นผมก็ยังทำงานอย่างอื่นไปด้วยนะ ทำงานที่โรงแรม ทำเรื่องไบโอแก๊ส แต่ชอบเรื่องนี้มากที่สุด เลยลงทุนทำเครื่องหลายรุ่น มีตังค์ก็ทำไปเรื่อยๆ" ยุทธการกล่าวกับเรา 

"บางทีผมก็ท้อนะ พยายามถามใครหลายคน เขาก็ยังตอบเราไม่ได้ เพราะยังไม่มีใครทำ เหล่าอาจารย์เขาก็พยายามช่วย แต่ตอนนั้นองค์ความรู้เรื่องนี้ยังไม่มากพอ ผมเลยต้องพาตัวเองกลับมาศึกษาเพิ่มเติม และมุ่งมั่นให้เป็นเรื่องเป็นราวกว่าที่ผ่านมา"

ยุทธการ เปิดใจว่า กว่าน้ำมันจะใสอย่างทุกวันนี้ ผมใช้เวลาศึกษาและพัฒนาจริงจังกว่า 10 ปี และมันก็เริ่มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิด-19 

ไอเดียทำน้ำมันใส จากการทอดปลาสลิด : 

เราถามเอกว่า อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้น้ำมันดำหนืด กลายเป็นน้ำมันใสได้แบบที่ต้องการ?

"นักวิจัยมักจะมุ่งเริ่มต้นทำให้มันเป็นของเหลว ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ แต่ผมได้ทริคจากการทอดปลาสลิด" เขาตอบ

...

ตอนแรกผมก็มุ่งทำแบบนั้น แต่วันหนึ่งที่กำลังทอดปลาสลิด เพื่อทำกับข้าวใส่บาตร มันมีข้อสังเกตจุดหนึ่ง คือ ผมสงสัยว่าทำไมน้ำมันที่ทอดปลามันถึงใส แถมปลายังกรอบและหอม เลยคิดได้ว่า อ๋อ… ที่เป็นอย่างนั้นเพราะกระบวนการความร้อน พอคิดได้แบบนั้น ผมเลยออกแบบเครื่องใหม่ทันที

"พูดง่ายๆ ว่า ความร้อนที่เราจะนำไปใช้กับพลาสติก ก็เหมือนกับความร้อนที่เราใช้ทำอาหาร ถ้าร้อนมากเกินไปน้ำมันทำอาหารก็ไหม้ ถ้าร้อนต่ำเกินไปมันก็เหม็นหืน ดังนั้น ความร้อนต้องพอดี ผมเองก็สงสัยมาตั้งแต่แรกว่า ทำไมน้ำมันที่ได้ออกมาตอนแรกถึงเหม็น เพราะถ้าศึกษาจริงๆ น้ำมันที่ออกมามันน่าจะไม่เหม็น มีกลิ่นหอม เพราะเป็นกลุ่มอโรมาติก ออยล์ (Aromatic Oil)"

ยุทธการ เล่าต่อไปว่า เมื่อก่อนผมพยายามออกแบบเครื่องให้มันกลายเป็นน้ำมันดีๆ แต่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ผมมาพบว่ามันต้องกลับกระบวนการแรกก่อน คือ ให้กลายเป็นน้ำมันดิบใส เป็นน้ำมันที่คุณภาพดีก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยมาเปลี่ยนเป็นน้ำใส เรียกได้ว่าต้องทำสองกระบวนการ 

กระบวนการเปลี่ยนขยะเป็นน้ำมัน : 

...

เมื่อมีขยะพลาสติกอยู่ในมือแล้ว เอกบอกว่า สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนนำขยะเข้าเตาอบ คือ ล้างเศษอาหารออกให้หมด "ไม่ต้องล้างด้วยน้ำยาอะไรเลย แค่ล้างน้ำเปล่า แล้วตากไว้ให้แห้งก็ได้แล้ว"

ขยะพลาสติกเกือบทุกประเภท สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำมันได้ ยกเว้น PVC เช่น ท่อ เคสคอมพิวเตอร์ แผ่นอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นต้น "เพราะมันเป็น Thermosetting plastic หรือพลาสติกไม่ลามไฟ" ยุทธการบอกเหตุผลกับเรา

"หลังจากเตรียมขยะพร้อมแล้ว ก็นำไปใส่ในเครื่องอบที่สร้างขึ้นมาเอง มันจะผ่านความร้อนที่เราตั้งไว้ แล้วแยกออกมาเป็นน้ำมันเองเลย"

"แค่อบก็ได้น้ำมันเลยเหรอครับ" เราถามด้วยความสงสัย 

ปลายสายตอบกลับสั้นๆ ว่า "ใช่ครับ"

แต่เขาก็ไม่รอช้า อธิบายเสริมไขข้อสงสัยต่อไปทันที "พลาสติกเริ่มต้นเดิมทีมันมาจากพวกโพรเพน บิวเทน และแก๊สต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนน้ำมันเบา ทีนี้เราต้องย้อนกลับกระบวนการ โดยการตัดมันด้วยความร้อน"

"แต่อย่างที่ผมบอกจากทริกทอดปลาสลิด ความร้อนต้องพอดี เพื่อให้พวกเขากลับสู่กระบวนการเริ่มต้นที่เขามาได้ก็เท่านั้น แต่น้ำมันที่ได้จะไม่ใช่พวก LPG นะครับ จะได้ต่ำลงกว่านั้น เป็นน้ำมันก๊าด เบนซิน หรือดีเซล"

...

เมื่อถามว่าค้องใช้อุณหภูมิความร้อนเท่าไร เอกบอกว่า ใช้ความร้อนไม่เกิน 400 องศาเซลเซียส แต่ระยะเวลาในการอบจะไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นต้องรู้คุณสมบัติของพลาสติก ต้องคุมอุณหภูมิเป็นระยะ เช่น ช่วงแรกต้องใช้เท่าไร ช่วงที่สองหรือสามค่อยมาเพิ่มอีกที

"ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นพลาสติกที่หลอมละลายง่าย ประเภท PP หรือ PE ต้องการความร้อนต่ำ ประมาณ 200-300 องศาเซลเซียสก็ละลายแล้ว ถ้าความร้อนสูงจะไหม้ก่อน แต่หากเป็นพลาสติกประเภททำโต๊ะเก้าอี้ก็จะใช้ความร้อนสูงขึ้น"

"แต่เวลาใส่ในเครื่องมันต้องใส่รวม เราไม่สามารถแยกประเภทพลาสติกได้ทั้งหมด การทำงานจึงจะยากกว่าในห้องแล็บ เพราะห้องแล็บใช้พลาสติกชนิดเดียว แต่ชีวิตจริงมันคือพลาสติกรวม อย่างพลาสติกถุงนึงมันฉาบหลายชั้น ดังนั้น การควบคุมความร้อนของเตาปฏิกรณ์ ต้องคอยดูเป็นระยะ"

ยุทธการ เผยขั้นตอนต่อไปว่า เมื่อเราอบเสร็จจะได้ น้ำมันดิบดี หลังจากนั้นจะนำไปเข้าเครื่องให้ความร้อนเพื่อแยกเกรดน้ำมัน ผ่านความร้อนต่ำที่อุณหภูมิประมาณ 80-170 องศาเซลเซียส เครื่องจะแยกออกมาให้เองเลยว่า อันไหนน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล ขยะพลาสติก 1 ตัน จะได้น้ำมันประมาณ 800 ลิตร ถือว่าเยอะพอสมควร

แพสชันที่อยากทำให้เสร็จ : 

เราถามเอกว่าลงเม็ดเงินกับการประดิษฐ์ไปเยอะหรือไม่… "เครื่องต่างๆ ที่พูดถึงมาผมสร้างและประดิษฐ์เองทั้งหมด ทั้งชีวิตไม่ได้เที่ยวเล่น ไม่มีของเล่น เอาเงินมาสร้างพวกนี้ทั้งนั้น" นี่คือคำตอบที่เราได้รับ

สิ่งที่เราสงสัยต่อไป คือ ทำไมถึงมีแพสชันกับการทำน้ำมันขยะพลาสติกมากถึงขนาดนี้ ชนิดที่ว่ายอมใช้เวลาไม่ต่ำกว่าทศวรรษ เพื่อทุ่มเทให้การสร้างสรรค์ความยั่งยืนนี้?

"มันเป็นโปรเจกต์สุดท้ายที่ผมอยากทำให้สำเร็จ เพราะผมทำ Zero waste สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทำไบโอแก๊ส ทำแก๊สชีวมวลมามากมาย แต่พวกนั้นสำเร็จหมดแล้ว เหลือแต่เรื่องนี้ที่ยังทำไม่สำเร็จ แต่ตอนนี้ทำได้สำเร็จแล้ว ผมกำลังเดินหน้าสู่ขั้นตอนการทำเป็นธุรกิจ และเผยแพร่ Khow-how ต่อไป"

เอกเผยว่า ผมทำวิจัยเสร็จหมดแล้ว เพียงแต่ว่าสิ่งที่ทำมันเป็นวิจัยชาวบ้าน ยังไม่ได้ผ่านการรับรอง แต่ตอนนี้ขอทุนนวัตกรรมแห่งชาติ เดี๋ยวจะมีการเชิญมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาช่วยตรวจสอบ เข้าแล็บมาตรฐานเพื่อรับรอง การได้ทุนจากรัฐจะช่วยเราได้มากขึ้น

"ที่ผ่านมามีคนมาเรียนรู้อยู่บ้าง แต่ความคิดผมคืออยากทำให้มันเป็น 'สห' คือการร่วมกันทำทั้ง 3 องค์ประกอบ ได้แก่ หน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย และชุมชน หน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์ เพราะราคาค่อนข้างสูง มหาวิทยาลัยช่วยในเชิงเทคนิค ส่วนชุมชนช่วยในเรื่องขยะ ถ้า 3 องค์ประกอบนี้รวมเข้ากันได้ เราจะมีเชื้อเพลิง และลดขยะได้ด้วย"

"ทุกคนเป็นฮีโร่ได้" : 

ยุทธการ เผยว่า หากลองคิดราคาออกมาโดยการหักค่าแรงและค่าเครื่อง ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 7-10 บาทต่อลิตร "ผมทดลองใช้เองมาหลายปีแล้ว เช่น ใส่รถจักรยานยนต์ รถยนต์ เพราะมันเป็นน้ำมันแท้ๆ ไม่ได้ผสมอะไรเลย ค่าออกเทนสูง ค่าซัลเฟอร์ก็ต่ำกว่าทั่วไป แต่ด้วยกฎบางอย่างที่ยังทำไม่ได้ ผมเลยใช้คำว่าสยามออยล์ 123 สำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร ไม่ใช่คำว่าน้ำมันดีเซล หรือเบนซิน"

ตอนนี้ผมเปิดโรงงานอยู่ที่สมุทรสาคร เพื่อผลิตน้ำมันโดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์แรกที่ออกมาคือน้ำมันเผาศพ มันก็คือน้ำมันก๊าดนั่นแหละ ช่วงนี้มีคำสั่งซื้อวันหนึ่งหลายร้อยหลายพันลิตร ที่เปิดด้วยน้ำมันเผาศพเพราะมันไม่ต้องชิงตลาดคนอื่น และเราเปลี่ยนโลกทั้งหมดทีเดียวไม่ได้ แต่เราค่อยๆ เปลี่ยนได้ 

ยุทธการ มากพันธุ์ เปิดใจช่วงสุดท้ายว่า แผนผมตอนนี้ ถ้าขั้นตอนทำทุนวิจัยเสร็จ จะกระจายตามหมู่บ้านก่อน ทำ Khow-how แบบฟรีๆ เพราะผมมองว่าพลังงานกับอาหารไม่ควรมีใครเป็นเจ้าของ

"ตอนนี้อาชีพหลักขายน้ำแข็ง กับทำน้ำมันเผาศพขาย เริ่มจาก 2-3 วัดก็พอแล้ว ทำเล็กๆ ไปก่อน ความตั้งใจของผมยังคงเหมือนเดิม คือการอยากลดขยะ จริงๆ แล้วรุ่นผมเป็นรุ่นที่สร้างขยะเยอะ อย่างน้อยเราได้จัดการอะไรบางอย่าง รุ่นต่อไปจะได้ไม่ว่าเอาได้ นี่คือสิ่งที่ผมบอกลูกเสมอ"

"ผมมองว่าเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องร่ำรวยได้จากเรื่องพวกนี้ ตอนนี้เราต้องมาเริ่มเรียนรู้ใหม่ทั้งองคาพยพ ไม่จำเป็นต้องมีฮีโร่คนเดียว แต่ทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ได้"

หากใครสนใจเรียนรู้ สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

ขอบคุณภาพจาก ยุทธการ มากพันธุ์ 

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :