จากเด็กยากจนสู่ครูจิตอาสา โครงการครูข้างถนน ผู้มุ่งเปิดโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือ กว่า 36 ปีบนเส้นทางแห่งแม่พิมพ์ ในการใช้หนึ่งสมองสองมือ และปณิธานอันแรงกล้าเพื่อสร้างเยาวชน ของ "ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี"

"หน้าที่ของเราคือเปิดโอกาส และสร้างโอกาสให้เด็กต่อไป"

ประโยคดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งจากบทสนทนาระหว่างทีมข่าวฯ กับ 'ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี' ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และนั่นถือเป็นปณิธานอันแรงกล้า ที่แม่พิมพ์คนแกร่งคนนี้ ยึดถือมากว่า 36 ปี ตลอดอายุของการทำงาน

ครูข้างถนนรุ่นแรก : 

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2531 ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ต้องการหาอาสาสมัครเข้าไปสอนหนังสือในแหล่งก่อสร้าง ครูจิ๋วจึงตัดสินใจทำงานตรงนี้ ทำให้เธอกลายเป็นครูรุ่นแรกของโครงการ

ครูจิ๋ว เล่าว่า ตอนนั้นมีแค่กระเป๋าสองใบ กับใจที่ต้องสู้ในการเดินเข้าไปตามแหล่งก่อสร้าง เพื่อขอสอนหนังสือให้กับลูกหลานกรรมกรที่อยู่ในนั้น ในช่วงปี 2531 เขตที่มีแหล่งก่อสร้างเยอะที่สุดคือแถวมีนบุรี 

...

"ตอนนั้นเราเริ่มสอนหนังสือได้แล้วประมาณ 2 อาทิตย์ แต่อยากจะลองเปิดแหล่งสอนใหม่ๆ จึงตัดสินใจเริ่มต้นที่หมู่บ้านปรีชา เขตมีนบุรี แต่ตอนนั้นที่เข้าไปในไซต์งานก่อสร้าง หัวหน้าเขาไม่อนุญาตให้เราสอนหนังสือ เขาจะตั้งข้อสงสัยว่าพวกเราเป็นครูจริงหรือเปล่า เพราะเขากลัวว่าจะหลอกคนงานของเขาให้ไปทำงานด้วย"

จนกระทั่งวันหนึ่ง ที่เราสอนหนังสือเด็กๆ อยู่อีกที่หนึ่ง ลูกสาวของผู้รับเหมาหมู่บ้านปรีชาเดินไปเหยียบตะปู 3 ตัว คนงานคงไม่รู้ว่าจะทำยังไง รีบวิ่งมาขอร้องให้เรามาช่วย ซึ่งเขาก็วิ่งมาไกลพอสมควร เราเลยฝากให้ครูผู้ชายช่วยดูแลเด็ก ส่วนเรารีบวิ่งตามคนงานไป

"พอไปถึงก็รีบคว้าตัวเด็ก แล้วตะโกนหาคนที่มีรถจักรยานยนต์ ให้พาที่ศูนย์สาธารณสุขมีนบุรี พร้อมบอกว่าถ้าพ่อแม่เด็กมาให้ตามไปที่ศูนย์ฯ เมื่อไปถึงก็มีการล้างแผลและฉีดวัคซีน  และดึงตะปูออก"

"เจ้าหน้าที่ศูนย์เขาถามว่า ทำไมเด็กเป็นอย่างนี้ เราเลยบอกว่าเด็กอยู่ในแหล่งก่อสร้าง เลยสามารถเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ได้ เจ้าหน้าที่เลยถามกลับว่าเราไปทำอะไรในนั้น ครูจิ๋วตอบไปว่าจะไปสอนหนังสือเด็กที่นั่น แต่ว่าผู้รับเหมายังไม่ให้เราไปสอน"

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่ครูจิ๋วช่วยเหลือเด็กไว้ ทำให้เรื่องนี้รู้ไปถึงเจ้าของโครงการหมู่บ้านปรีชา เมื่อยามอรุณมาเยือนเป็นสัญญาณเริ่มต้นวันใหม่ เจ้าของโครงการจึงเชิญครูจิ๋วเข้าพบ พร้อมพูดคุยถึงเจตนารมณ์ในการเข้ามาทำตรงนี้ ด้วยความมุ่งมั่นและใจที่ประสงค์ดี ทำให้เจ้าของโครงการเอ่ยบอกครูทองพูลว่า 

"ครูใช้ตึกแถวในการสอนหนังสือได้เลย ส่วนถ้าครูอยากจะนอนพักที่นี่ก็สามารถนอนได้" ด้วยเหตุนั้นเอง จึงทำให้ครูจิ๋วมีห้องสอนหนังสือที่ดีขึ้น จากที่ตอนแรกต้องอาศัยเพิงพักของคนงาน ที่ยังไม่มีคนเข้ามาอยู่ เป็นสถานที่บ่มเพาะเยาวชนในแหล่งก่อสร้าง 

"การได้ช่วยเด็กวันนั้นเราทำโดยไม่ได้หวังอะไร เขาคงจะเห็นแล้วว่าเรามาดี มันก็เหมือนใจแลกใจ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้รับการยอมรับจากบริษัทรับเหมามากขึ้น" ครูจิ๋วกล่าวกับเรา

กิจวัตรของครูข้างถนน : 

อันที่จริงแล้ว นโยบายของโครงการนี้ มีจุดมุ่งหมายให้ครูนอนตามแหล่งก่อสร้าง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้เนื้อเชื่อใจ ระหว่างครู ผู้ปกครอง และเด็ก แต่ต้องยอมรับว่าในระยะแรก ทางโครงการและครูอาจจะยังไม่ได้รับความไว้ใจเท่าไรนัก ทำให้ผู้สอนต้องเดินทางไปกลับ ระหว่างบ้านกับที่เรียน

...

กิจวัตรประจำวันของครูอาสาสอนนามว่า ทองพูล บัวศรี จะเริ่มต้นตั้งแต่อรุณยังไม่รุ่ง ก่อนเวลา 06.00 น. ครูจิ๋วจะเดินซื้อของในตลาด แบกหิ้วของอย่างพะรุงพะรัง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นคือวัตถุดิบสำหรับทำอาหารให้นักเรียนของเธอ 

หลังจากนั้นครูจิ๋วจะขึ้นรถเมล์สาย 206 จากตลาดบางกะปิ มาลงแถวเขตมีนบุรี เมื่อถึงยังจุดหมายเธอจะเตรียมต้มนม และเตรียมอาหารไว้ให้เด็กๆ หลังจากนั้นช่วง 07.30-08.00 น. ผู้ปกครองจะเริ่มนำบุตรหลานมาส่ง ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางไปทำงาน

"ประมาณ 08.30 น. เราจะพาเด็กๆ เคารพธงชาติ พอถึง 09.00 น. ก็จะพากินนมและขนมที่เตรียมไว้ ขนมที่ให้กินเป็นของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนมปี๊บ หลังจากนั้นก็จัดการเรียนการสอน ให้กับเด็กตั้งแต่สามขวบถึงหกขวบ สอนร้องเพลงบ้าง สอนอ่านพยัญชนะบ้าง เล่านิทานให้ฟังบ้าง ช่วงเที่ยงก็จะพาเขาไปกินอาหารที่เตรียมไว้ ซึ่งแต่ละวันจะไม่เหมือนกัน แต่เราพยายามที่จะหาอาหารที่มีคุณค่าให้เด็กๆ"

ครูจิ๋ว เล่าต่อว่า เมื่อพากินข้าวกลางวันเสร็จ เด็กเล็กจะนอน ส่วนเด็กโตหน่อยเราจะสอนหนังสือให้ถึงประมาณ 15.00 น. แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะมารับกลับช่วง 17.00 น. เพราะเขาเลิกงานกันช่วงนั้น หรือบางทีเราก็จะเป็นคนเดินไปส่งเด็กๆ ตามบ้านด้วยตัวเอง

...

"ในระหว่างทางที่เดินไปส่งเด็กๆ เวลาเราเจอผักอะไรที่สามารถกินได้ เราก็จะเก็บมาด้วย ไว้ทำอาหารให้พวกเขากิน เช่น ผักบุ้ง ดอกโสน หรือบางทีก็ได้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับปลากระป๋องมาจากที่วัด เพราะว่าตอนที่เราทำงานใหม่ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เพิ่งเริ่มตั้งเลยยังไม่มีงบประมาณมาก เราจึงต้องประหยัดทุกอย่าง"

บุกเปิดแหล่งเรียนรู้ใหม่ :

ประมาณปี 2532 หลังจากสอนหนังสือแถวหมู่บ้านปรีชาได้ประมาณ 8 เดือน ครูจิ๋วย้ายไปเปิดศูนย์เด็กอีกที่หนึ่งบริเวณพุทธมณฑล ณ ละแวกหมู่บ้านชวนชื่นบางเขน ในขณะนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นการก่อสร้างหมูบ้าน มีโครงการผุดขึ้นหลายโครงการ ครูจิ๋วจึงมีหน้าที่ไปเป็นผู้บุกเบิก ส่วนหมู่บ้านปรีชามีครูคนอื่นเข้าไปทำหน้าที่แทน 

"หน้าที่เราเลยกลายเป็นคนไปเริ่มเปิดโครงการใหม่ๆ ถ้าจะไปเปิดโรงเรียนใหม่ตามแหล่งก่อสร้าง เขาจะส่งเราไป เพราะว่าต้องไปทำให้เขาเห็นว่า เราทำงานจริง ทุกคนจะได้เชื่อใจและมั่นใจ" ครูจิ๋วกล่าวกับเรา

เริ่มต้นที่ใหม่ ด้วยความท้าทายใหม่ ครูจิ๋วถึงกับเอ่ยปากว่า "แหล่งก่อสร้างแถวชวนชื่นหนักกว่าที่ปรีชาอีก" ก่อนจะอธิบายสาเหตุว่า เนื่องจากมีการก่อสร้างหลายหมู่บ้าน จึงมีผู้รับเหมาต่างกันออกไป ทำให้เราต้องเข้าหาคนหลายคน ซึ่งตรงนั้นมีเด็กอยู่ประมาณ 100 คน ส่วนเจ้าหน้าที่โครงการมีเพียงครูจิ๋ว กับผู้ช่วยอีกท่านหนึ่ง จึงทำให้การทำงานหินมากยิ่งขึ้น!

...

ครูจิ๋วบรรยายช่วงเวลาหนึ่งที่ต้องยากลำบากให้เราฟังว่า "เราเข้าไปทำงานในแห่งก่อสร้างได้แล้ว แต่เขาไม่มีน้ำให้เราใช้ ทำให้ช่วงกลางคืนเราต้องคอยหาบน้ำจากอีกที่หนึ่งมาไว้ใช้ไว้อาบ จนประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2532 ขณะที่ครูจิ๋วกำลังหาบน้ำกับเด็กๆ บังเอิญว่า 'คุณประทีป ตั้งมติธรรม' ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าของโครงการขณะนั้น เขามาเห็นเข้าพอดี พอรู้ว่าเรายังไม่มีน้ำใช้ รุ่งเช้าก็เลยเชิญเราเข้าพบ"

"เขาบอกว่าจะสั่งแท็งก์น้ำมาไว้ให้ใช้ และให้เงินเดือนละ 3,000 บาท เพื่อเป็นค่าอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งตรงนั้นเองกลายเป็นจุดเริ่มต้นว่า หากแหล่งก่อสร้างไหน ต้องการให้เราไปสอนหนังสือ จะรบกวนช่วยสนับสนุนค่าเงินเดือนครู กับค่าอาหารกลางวันเด็ก รวมแล้วประมาณ 15,000 บาท โดยการจ่ายให้กับมูลนิธิ"

ความยากในการทำงาน : 

เมื่อถามว่าความยากของการทำงานตรงนี้คืออะไร ครูจิ๋ว ตอบว่า "การทำให้พวกเขาไว้ใจเรา"

อย่างในช่วงแรกจะไม่มีใครเชื่อว่าเราเป็นครู หน้าที่ของเราคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และหากทำได้ เราจะทำงานกับพวกเขาได้สนุกมาก อย่างแรกที่เราต้องทำคือ ‘ประพฤติตัวดี’ หมายถึงว่า  ต้องไม่ยุ่งลูกใคร ไม่ยุ่งผัวใครเมียใคร เราโชคดีที่จบเอกประถม เรื่องของการเล่นกับเด็ก หรือสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้เป็นเรื่องที่สบายมาก

"ส่วนที่สองคือเรื่องการวางตัว ห้ามกินเหล้าห้ามสูบบุหรี่เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ถ้าเราวางตัวได้ดีเราก็จะทำงานในไซต์งานก่อสร้างได้  เพราะพ่อแม่เด็กในแหล่งก่อสร้างเขาก็เฝ้ามอง ว่าเราทำงานจริงหรือเปล่า"

ครูจิ๋ว เล่าต่อว่า ตลอดวลาของการทำงาน เราจะทำงานกับเด็ก 2 กลุ่ม คือ ลูกคนงานไซต์ก่อสร้าง กับเด็กเร่ร่อน ซึ่งความยากของเด็ก 2 กลุ่มนี้จะต่างกันออกไป เด็กเร่ร่อนเราต้องสร้างความไว้วางใจให้เขาอย่างมาก กว่าที่เขาไว้วางใจเราและบอกว่าต้องการอะไร ส่วนการทำงานกับไซต์ก่อสร้าง เราต้องทำให้ผู้รับเหมาเห็น ทำให้ผู้ปกครองเด็ก ว่าความสำคัญของการศึกษาคืออะไร เขาถึงจะให้เด็กเหล่านี้ไปโรงเรียนได้

เพราะเคยลำบากมาก่อน :

สิ่งที่ทำให้หญิงคนนี้เลือกส่งต่อโอกาสให้เด็กยากไร้ บนเส้นทางที่ขนานนามเธอว่า 'ครูจิ๋ว' มากว่า 36 ปี คือ "เคยผ่านความลำบากมาก่อน" หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังเล็ก ครอบครัวของทองพูลแตกแยก พ่อมีบ้านใหม่ ทำให้เธอต้องอยู่กับแม่และน้องๆ อีก 7 คน  

"ตอนที่พ่อเขาไปมีครอบครัวใหม่ เรารู้สึกอยากเรียนหนังสือ ยายเลยตัดสินใจขายของที่มี เช่น ขันเงิน ขันทอง พานทองเหลือง แล้วนำเงินที่ได้จากตรงนั้น มาส่งเราเรียนหนังสือ"

อย่างไรก็ตาม ครูจิ๋วในขณะนั้นต้องเรียนหนังสือไปด้วยและทำงานไปด้วย ซึ่งงานหลักๆ ของเธอคือการรับจ้างสอนพิเศษ "เราสอนพิเศษตั้งแต่ตอนอยู่ ม.4 ทำอย่างนั้นอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่งเราได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยครู เอกประถมศึกษา โดยได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน"

ทองพูล บัวศรี ย้อนความทรงจำให้ฟังว่า ตอนที่เรียนวิทยาลัยครู มูลนิธิอยากให้เราทำงานจิตอาสา เช่น สอนหนังสือเด็กบนดอย หรือตามพื้นที่ห่างไกล ในช่วงเปิดเทอมเราก็ยังรับสอนพิเศษอยู่ แต่ช่วงปิดเทอมจะไปสอนเด็กเล็กตามโรงเรียนต่างจังหวัด เคยไปสอนโรงเรียนหนึ่งอยู่ไกลมาก แถว อ.บางบาล ต้องไปอยู่ที่โน่นประมาณ 1 ปี หลังจากตรงนั้นก็กลับมาเรียนปริญญาตรีต่อให้จบ

"เราเรียนจบและได้เกียรตินิยม ใจจริงๆ ตอนแรกอยากขึ้นดอย แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลแม่และน้องๆ แม่เลยขอให้ทำงานที่กรุงเทพฯ แม่พูดกับเราว่า "เธอจะทิ้งน้องได้ยังไง เพราะแม่ก็อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้" เราจึงตัดสินใจทำงานที่นี่ และได้เจอกับโครงการนี้เข้า"

"เราเห็นว่าแนวคิดของโครงการนี้ดี บวกกับความรู้สึกของเราที่อยากส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่เด็กๆ เรารู้ว่าความยากจนมันเป็นยังไง เพราะเราเคยลำบากมาก่อน กว่าจะหาเงินมาได้ กว่าจะซื้อข้าวกินได้ มันต้องใช้ความพยายามมาก ในเมื่อเราเคยได้รับโอกาส เราจึงอยากส่งต่อโอกาส" ครูจิ๋วกล่าวกับทีมข่าวฯ 

ขอบคุณภาพจาก เพจ สถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
ขอบคุณภาพจาก เพจ สถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

'ความสุข' และ 'ความภูมิใจ' ตลอด 36 ปีของครู : 

เมื่อถามว่า ความสุขของการเป็นครูคืออะไร? ครูจิ๋วตอบว่า "เราแค่คิดว่าเราได้ทำประโยชน์สูงสุด เพราะว่าเราเป็นคนที่ได้โอกาสมาก่อน หน้าที่ของเราคือเปิดโอกาส และสร้างโอกาสให้เด็กต่อไป ชีวิตมีแค่นี้ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ"

เด็กทุกคนที่เราสอน คือความภูมิใจของเราทั้งนั้น เรามีหน้าที่เปิดโอกาสให้เขา ส่วนแต่ละคนจะไปได้ไกลแค่ไหน อยู่ที่ว่าในอนาคตเขาว่าจะเลือกเส้นทางแบบไหนให้ตัวเอง บางคนอาจจะเรียนจบ ม.3 แล้วกลับมาทำงานก่อสร้าง บางคนอาจได้ทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อ หรือบางคนกลับมาช่วยงานในโครงการนี้ต่อไป

ครูจิ๋ว บอกว่า ทุกวันนี้ เราก็ยังอยู่กับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง และเด็กเร่ร่อน ครูยังคงมีความสุขกับการทำงานแม้เวลาจะผ่านมาแล้ว 36 ปี ความสนุกในงานของครูตอนนี้ คือ การที่โครงการมอบหมายงานมาให้ชิ้นหนึ่ง เรามีหน้าที่คิดวิธีการและกระบวนการในการทำงาน

มหาวิทยาลัยรังสิต มอบโล่เกียรติคุณ จิตอาสาต้นแบบ RSU VOLUNTEER 2024 ประจำปี 2567 ให้แก่
มหาวิทยาลัยรังสิต มอบโล่เกียรติคุณ จิตอาสาต้นแบบ RSU VOLUNTEER 2024 ประจำปี 2567 ให้แก่ "นางสาวทองพูล บัวศรี" หรือ คุณครูจิ๋ว ครูผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่ // ขอบคุณภาพจาก เพจ สถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

"ตรงนี้แหละที่ท้าทายความสามารถ มันสนุกที่ทำให้เราได้คิดอยู่ตลอด มันเป็นการพิสูจน์ตัวเองไปในตัวด้วย ว่าเราสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดเราได้มาน้อยแค่ไหน ยิ่งเราทำได้ดี เราจะดึงดูดให้เด็กเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น มันทำให้เรามีความศรัทธาในงานที่ทำด้วย"

"เราสอนหนังสือเด็กๆ อย่างนี้เรื่อยมาจนปี 2540 ก็ยังคงทำงานอยู่กับมูลนิธิแต่ย้ายโครงการมาดูแลส่วนบ้านอุปถัมภ์เด็ก ประมาณปี 2545 เราไปเป็นเลขาคณะกรรมการสิทธิ์ และทำโครงการไปด้วย ส่วนปี 2555 เราก็ได้มาดูแลโครงการครูข้างถนน สรุปได้ว่า ตั้งแต่เริ่มต้นงานมาก็อยู่กับมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กมาโดยตลอด แต่มีเปลี่ยนเนื้องานอยู่บ้างเล็กน้อย"

เมื่อถามว่าจะทำงานตรงนี้ไปอีกนานแค่ไหน ครูจิ๋ว ทองพูล กล่าวว่า ตอนเริ่มต้นทำงานตั้งใจไว้ว่าจะทำจนกว่าจะเกษียณ แต่เมื่อปีที่แล้วทางมูลนิธิคุยกันว่า เราจะไม่มีวันเกษียณจนกว่าเราไม่มีแรงจะทำ อย่างตัวเราเองก็ทำจนกว่าจะรู้สึกว่าพอแล้ว ไม่ไหวแล้ว ส่งต่อองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่มาสานงานต่อได้แล้ว

"ความภูมิใจของเรา คือการได้ทำตามในสิ่งที่เราปรารถนา นั่นก็คือส่งต่อโอกาสให้เด็ก มีแค่นี้เลยไม่มีอะไรมากมาย" ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี กล่าวส่งท้ายการสนทนา

ภาพ : ทองพูล บัวศรี

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :