อร สู้โว้ย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2004 ชื่นชม 2 ฮีโร่ ฟ่าง ออย 2 ฮีโร่โอลิมปิก เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ยกน้ำหนัก เล่าเบื้องหลังการฝึก เสียเหงื่อเป็นปี๊บ น้ำตาเป็นถัง ชี้ทุกวันนี้ยังมีอาการบาดเจ็บอยู่ หลังผ่าน 20 ปี

ได้มาแล้ว 2 เหรียญ สำหรับ กีฬายกน้ำหนักของทีมชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดย เหรียญเงิน ได้จาก ฟ่าง ธีรพงศ์ ศิลาชัย ในการแข่งขัน รุ่นน้ำหนัก 61 กิโลกรัม และ เหรียญทองแดง จาก ออย สุรจนา คำเบ้า ประเภทหญิง รุ่นน้ำหนัก 49 กิโลกรัม ซึ่งทำให้แฟนๆ กีฬาคนไทยถึงกับยิ้มกว้าง

เกี่ยวกับเบื้องหลังในการแข่งขันยกน้ำหนักนี้ คนที่รู้ดีคนหนึ่งได้แก่ พ.ท.หญิง อุดมพร พลศักดิ์ ช่วยราชการ กองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี หรือ “น้องอร สู้โว้ย” ซึ่งถึงเวลานี้เธออายุ 43 ปีแล้ว และเหรียญรางวัลที่เธอได้มาจากการแข่งขันโอลิมปิก ที่กรุงเอเธนส์ เมื่อปี 2004 หรือ 20 ปีพอดิบพอดี 

...

การคว้า 2 เหรียญ เงิน และทองแดง   

สำหรับฟ่างนั้น พ.ท.หญิง อุดมพร กล่าวว่า อรรู้สึกว่าเขาเป็นเด็กที่มีวินัย ตั้งใจฝึกซ้อม ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง สามารถใช้งานได้ ยาวนาน ขณะที่ “ออย” นั้นหากมีการรักษาตัวที่ดี สมาคมฯ ให้การสนับสนุนก็จะไปได้อีกยาว 

“การที่เราจะไปแข่งยกน้ำหนัก มันมีกฎกติกาใหม่ๆ มากขึ้น และที่ผ่านมาได้มีการผลักดันให้น้องๆ แต่ละคนได้เก็บคะแนนของตัวเองมากขึ้น และทุกคนทำได้อย่างดี เพราะทุกคนที่เข้าไปแข่งโอลิมปิกได้คือสุดยอดนักยกน้ำหนัก 1 ใน 10 ของโลก” 

นักยกน้ำหนักหญิง เหรียญทองโอลิมปิก เจ้าของวลี “สู้โวย” บอกว่า เท่าที่ดูการแข่งขันทั้ง 2 คน ถือว่ามีความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มีวอกแวก เสียสมาธิ  

ถือได้ว่าตอนที่ชิงชัยกันนั้นการวางแผนถือว่าสำคัญมากในการเรียกน้ำหนักเหล็ก เรียกว่าการทำงานของทุกคนมีแข็งแกร่ง จนนำมาสู่ เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง โอลิมปิก 

เบื้องหลังการฝึกซ้อม กีฬายกน้ำหนัก

พ.ท.หญิง อุดมพร เล่าเบื้องหลังการฝึกซ้อมของทีมกีฬายกน้ำหนักว่า มีการซ้อมค่อนข้างหนักหน่วงมาก 6 วันเต็ม ไปไหนไม่ได้ ต้องเก็บตัว 

“ทุกคนต้องแบ่งเวลาเรียน ซ้อม โค้ชต้องทุ่มเท สมาคมต้องทุ่มเท ถามว่า เบื่อไหม...เบื่อ เพราะมันไม่ได้เหมือนกีฬาฟุตบอล ที่มีการเล่นกัน แย่งบอลกัน แต่นี่คือการ “ทำซ้ำๆ เดิมๆ ทุกวัน จนประสบความสำเร็จ แต่นี่คือส่วนหนึ่งในชีวิต คือหน้าที่ จะต้องทำเพื่อคนไทย...” 

จิตใจของการแข่งขัน “ยกน้ำหนัก คือ การต่อสู้กับตัวเอง เพราะนักยกน้ำหนักเป็นกีฬาประเภทบุคคล แต่อยู่รวมกันเป็นทีม ซึ่งนี่คือข้อดีที่เราสามารถแชร์ความคิดเห็น แชร์ในเรื่องการฝึกซ้อม และชีวิต 

อาการบาดเจ็บ ส่งผลทั้งชีวิต 

น้องเทนนิสพูดถึงนักกีฬาทีมชาติต้องเสียสละร่างกาย และอาจมีการบาดเจ็บในระยะยาว ฮีโร่โอลิมปิก เอเธนส์ 2004 บอกว่า ทุกวันนี้ เธอยังต้องหาหมอ เจอการผ่าตัด สำหรับนักกีฬายกน้ำหนัก คือ การใช้ร่างกายในการรับน้ำหนัก ฉะนั้นการบาดเจ็บของนักกีฬาทุกคน เป็นเรื่องปกติ ทุกคนเจ็บ อยู่ที่ว่าเจ็บมากเจ็บน้อย สิ่งสำคัญคือมีการรักษาและดูแลอย่างไร 

“พูดตรงๆ คือ เจ็บตลอดชีวิต ถึงแม้ว่าเลิกเล่นกีฬายกน้ำหนักก็ยังเจ็บ ยังต้องดูแลตัวเอง เพราะนักยกน้ำหนักมีโอกาสร่างกายแหลก ต้องเจอการผ่าตัดและการรักษา นี่คือการเสียสละของนักกีฬาทุกคน นอกจากร่างกายแล้วยังมีเรื่องอื่นๆ ที่แตกต่างกัน เช่น บางคนไกลบ้าน การเรียน การใช้ชีวิตวัยเด็ก บางคนไม่มีวัยเด็ก นักกีฬาทุกคนต้องสูญเสียอะไรบางอย่างเพื่อแลกความสำเร็จมา เพื่อเป็นความภาคภูมิใจของไทย”

...

ความกดดันของนักกีฬา

พ.ท.หญิง อุดมพร กล่าวในประเด็นที่ น้องเทนนิส ให้สัมภาษณ์เรื่อง การงดสัมภาษณ์สื่อก่อนแข่งว่า อันนี้เข้าใจเธอเป็นอย่างดีเลย เพราะ นักกีฬาจะมีความกดดันเป็นอย่างมาก ยิ่งคนที่เคยได้เหรียญทองมา 

ขณะเดียวกันนักกีฬายกน้ำหนักก็เช่นกัน คนทั่วไปจะไม่ค่อยรู้ว่านักกีฬายกน้ำหนักไปแข่งโอลิมปิกหรือไม่ ทำไมถึงไม่ให้ข่าว เพราะการให้ข่าวจะยิ่งความกดดันให้กับนักกีฬา ฉะนั้นยิ่งเป็นคนดังก็จะยิ่งไม่ให้ข่าว เพราะเชื่อว่าเขาจะเครียดมาก 

“ตอนที่อรแข่ง เราไม่ได้รับความกดดันอะไร ไม่ได้หวังเหรียญทอง เพราะไม่ได้หวังถึงเหรียญทอง คิดแค่ว่าเราเป็นคนไทย และจะทำให้ดีที่สุดที่จะทำได้ แต่เมื่อมีข่าวว่าเราหวังนะ เราหวังถึงเหรียญทองนะ นี่แหละคือการสร้างแรงกดดันให้กับนักกีฬา ซึ่งคนที่สร้างแรงกดดันเหล่านี้อาจจะไม่ทราบว่าสิ่งที่ทำคือการสร้างแรงกดดันให้กับนักกีฬา”

การต่อสู้กับคนอื่น วันซ้อมกับวันจริงไม่เหมือนกัน วันซ้อมทำอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าวันแข่งจริง มันจะไม่เหมือนกัน เพราะสิ่งที่จะต้องเผชิญจากหลายปัจจัย 

...

1.คู่แข่ง

2.สภาพอากาศ 

3.สภาพจิตใจ

4.สภาพร่างกาย

5.การวางแผนของโค้ช 

ทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัยในการสร้างแรงกดดัน ซึ่งนี่คือแรงกดดันจากภายในที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังต้องเจอแรงกดดันจากภายนอกด้วย 

จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ส่งกำลังใจเชียร์ “วีรพล วิชุมา” นักยกน้ำหนัก ชาย 73 กิโลกรัม ที่จะแข่งเวลา 00.30 น. คืนนี้ (9 สิงหาคม เวลาไทย) และ “ดวงอักษร ใจดี” นักยกน้ำหนักหญิง น้ำหนัก 81 กิโลกรัม เวลา 16.30 น. วันที่ 11 ส.ค. ว่า อยากให้น้องทำให้เต็มที่ เพราะทุกอย่างที่เรา “เสียเหงื่อเป็นปี๊บ น้ำตาเป็นถัง เสียโอกาสในวัยเด็ก ที่เราต้องทุ่มกับตรงนี้ เวลา 6 นาที ขอให้สู้เต็มที่ จะได้หรือไม่ได้เหรียญโอลิมปิก นั่นคือคุณเป็นตัวแทน และความภาคภูมิใจของคนไทยแล้ว. 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...