“ภูพระบาท” จ.อุดรธานี ประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากยูเนสโก แห่งที่ 5 ของไทย ถือเป็นแหล่งโบราณคดี สมัยทวารวดี ยุคพุทธศตวรรษที่ 11 มีใบเสมาหินโบราณ บ่งบอกการใช้พื้นที่ประกอบพิธีกรรม ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคสมัย และเป็นพื้นที่สำคัญของประเพณี “พระป่า” ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน จะเปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.–12 ส.ค. 67

ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) ถือเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21–31 ก.ค. 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย

...

ในเชิงโบราณคดี ภูพระบาท เป็นแหล่งวัฒนธรรมทวารวดี ของภาคอีสาน เป็นช่วงที่แผ่ขยายวัฒนธรรมหลังจากรุ่งเรืองในพื้นที่ภาคใต้ของไทย “ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์” นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี มองว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ ภูพระบาท ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญด้านโบราณคดีตั้งแต่สมัยทวารวดี มีการใช้พื้นที่สืบต่อกันมา จนมีการเรียกว่า “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์”

วัฒนธรรมทวารวดี มีความโดดเด่น แตกต่างกว่าในภาคกลางและภาคใต้ เนื่องจากมีใบเสมาหินหลายยุคหลายสมัยในพื้นที่เดียวกัน โดยศิลปะบนใบเสมาจะเริ่มตั้งแต่การได้รับอิทธิพลจากทวารวดี มาจนถึงวัฒนธรรมขอม ซึ่งเรื่องราวที่สลักบนหินใบเสมา จะเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นหลัก

“หากมองถึงความเก่าแก่ของวัฒนธรรมทวารวดี ในพื้นที่อีสาน จะเก่าไม่เท่ากับภาคใต้ ที่เริ่มต้นจากอาณาจักรศรีวิชัย แล้วแผ่อิทธิพลมาถึงภาคกลาง ก่อนไปถึงอีสาน โดยพบหลักฐานด้านโบราณคดีของอาณาจักรทวารวดีในไทย ทางภาคใต้เก่าแก่ที่สุด ราวพุทธศตวรรษที่ 6”

วัฒนธรรมทวารวดี ที่แผ่ขยายมาในพื้นที่ ภูพระบาท ยังไม่สามารถตีความอายุได้ชัดเจนจากใบเสมาหินที่พบ มีเพียงการคาดว่า อยู่ในยุคพุทธศตวรรษที่ 11 ช่วงเวลาดังกล่าววัฒนธรรมทวารวดีทางภาคกลางของไทย มีความเจริญรุ่งเรืองสุดขีด จนสามารถแผ่ขยายวัฒนธรรมไปยังพื้นที่ภาคอื่นได้

น่าสนใจว่า วัฒนธรรมทวารวดี ในพื้นที่อื่นไม่ค่อยพบการแกะสลักบนใบเสมา ทำให้นักโบราณคดีมีการสันนิษฐานว่า วัฒนธรรมใบเสมาที่ ภูพระบาท อาจพัฒนามาจากหลักหินในยุคก่อนประวัติศาสตร์คือ ยุคหินตั้ง ซึ่งการพบใบเสมาในพื้นที่ ถือเป็นข้อโดดเด่นของวัฒนธรรมทวารวดี ที่ไม่ค่อยพบในพื้นที่อื่น

ใบเสมาที่ภูพระบาท มีความโดดเด่น แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องในแต่ละยุค ตั้งแต่ยุคหิน ยุคทวารวดี และยุคที่ได้รับอิทธิพลขอม โดยใบเสมาในพื้นที่ทำให้เห็นถึง อาณาเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการทำพิธีทางศาสนา เป็นความเชื่อของคนโบราณ ที่เลือกสถานที่แห่งนี้ และส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ในแต่ละยุคสมัย เห็นได้จากใบเสมาและพระพุทธรูปแกะสลัก

ภูพระบาท แหล่งวัฒนธรรมพุทธศาสนา เชื่อมโยงพระสายป่า

...

ภูพระบาท ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม นอกจากสะท้อนด้านโบราณคดีแล้ว ยังเกี่ยวโยงกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญวาสี หรือ พระป่า “ดร.ทนงศักดิ์” ให้ข้อมูลว่า กรณีของวัฒนธรรมของพระป่า ที่ปรากฏในพื้นที่ จะเป็นรอยต่อของวัฒนธรรมในช่วงหลังๆ ซึ่งพื้นที่นี้จะเริ่มจากวัฒนธรรมทวารวดี ต่อมาขอมเข้ามามีอิทธิพล จนสุดท้ายเป็นวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายอรัญวาสี ที่เรียกกันว่า พระป่า ที่แผ่อิทธิพลมาจากฝั่งประเทศลาว

โดยช่วงที่พุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด ในพื้นที่นี้จะอยู่ในยุคสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ผู้สถาปนากรุงเวียงจันทน์ หรือประเทศลาวปัจจุบัน เลยทำให้อิทธิพลพุทธศาสนาเกี่ยวกับพระป่า แผ่ขยายมาถึงภาคอีสานของไทย

ภูพระบาท เป็นพื้นที่มีความหลากหลายด้านธรรมชาติ เป็นอุทยานสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งมีหินที่มนุษย์โบราณดัดแปลงเป็นพื้นที่ใช้งานประกอบพิธีกรรม รวมถึงมีภาพเขียนสีโบราณ ทำให้เห็นลำดับพัฒนาการของคนในแต่ละยุคเข้ามาใช้พื้นที่นี้ได้อย่างชัดเจน เพราะมีความเชื่อที่สืบต่อมาว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ถ้าคนที่เข้าไปเยี่ยมชม มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ จะสามารถไล่ลำดับและความหมายที่ซ่อนอยู่ในแต่ละยุคได้ และทำให้นักท่องเที่ยวมีความสนุกมากขึ้น

...

ภูพระบาท คุณค่าสำคัญที่ทำให้ได้รับมรดกโลก แหล่งวัฒนธรรม

ข้อมูลจากกรมศิลปากร ระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) โดดเด่นที่สุดของโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นความเป็นสากล ข้อที่ 3 คือ สามารถอนุรักษ์กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมาก และเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์ ยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม

...

แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และเกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญวาสี (พระป่า) ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน


ภูพระบาท ฉลองมรดกโลก เปิดให้เข้าชมฟรีถึง 12 ส.ค. 67

“สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ได้รับประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ได้รับการประกาศในปีที่ผ่านมา

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกภายใต้คุณค่าโดดเด่นเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ

โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสีในเวลาต่อมา จึงขอเชิญชวนให้ชาวไทยทั่วประเทศร่วมแสดงความยินดี และเฉลิมฉลองในโอกาสที่ภูพระบาทได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะพยายามผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 ก.ค.–12 ส.ค. 67 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน ภูพระบาท เป็นมรดกโลกในครั้งนี้