โจ ไบเดน ประกาศถอนตัวศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และผลักดันให้ คามาลา แฮร์ริส เป็นตัวแทนชิงชัยกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตอนนี้มีการประเมินว่าได้รับคะแนนนิยมสูง ขณะที่ไทย ศึกเลือกตั้งชาติมหาอำนาจ อาจมีผลทำให้ปลดล็อกในเชิงเศรษฐกิจ แต่ก็มีตัวแปรสงครามที่ระอุอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไทยจะรักษาความสัมพันธ์ของชาติมหาอำนาจ ซึ่งรายล้อมอยู่กับแหล่งทุนใหญ่
21 ก.ค. 2567 ประธานาธิบดี "โจ ไบเดน" ของสหรัฐอเมริกา ประกาศถอนตัวศึกเลือกตั้ง ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย โดยสนับสนุนให้ "คามาลา แฮร์ริส" เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ชิงชัยกับ "โดนัลด์ ทรัมป์" แห่งพรรครีพับลิกัน แทนในเดือนพฤศจิกายน
แม้มีการตั้งข้อสังเกตว่า "โดนัลด์ ทรัมป์" กำลังได้รับการสนับสนุนจากคนอเมริกันจำนวนมาก และอาจไม่ใช่เรื่องดีในภาวะที่กำลังหาเสียง ที่พรรคเดโมแครต ต้องเปลี่ยนตัวผู้ลงชิงชัยจาก "โจ ไบเดน" เป็น "คามาลา แฮร์ริส" ขณะที่ประเทศไทย หากจับสัญญาณการเลือกตั้งใหญ่ของอเมริกา จะมีผลดีหรือผลเสียในเชิงเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน
"รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า ศึงชิงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มว่า "โดนัลด์ ทรัมป์" จะได้กลับมาครองตำแหน่งสูงสุดอีกครั้ง ซึ่งมีผลทำให้สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจชะลอตัว โดยถ้ามีแนวโน้มเป็นเช่นนี้ ไทยจะสามารถวางท่าทีกับชาติมหาอำนาจได้ง่ายขึ้น ในการกระตุ้นทางเศรษฐกิจการนำเข้าและส่งออกกับสหรัฐอเมริกา
...
"ในเชิงลึกของการเมืองอเมริกา ไม่ว่าใครเป็นประธานาธิบดี ก็ต้องมองถึงตัวแปรคือ CFR องค์กรที่ก่อตั้งขึ้น และเป็นขบวนการทรงอิทธิพลทางการเมือง มีอำนาจในรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินให้สงครามยุติหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องประเมินว่า ถ้าประธานาธิบดีคนต่อไปของอเมริการับตำแหน่ง จะสามารถต่อรองกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้สงครามเบาบางลง และทำให้เศรษฐกิจของโลกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง"
ถ้า "โดนัลด์ ทรัมป์" กลับเข้ามาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย มีโอกาสสูงที่จะลดความช่วยเหลือกับยูเครน ซึ่งอาจขัดกับกลุ่มที่สนับสนุนองค์กร CFR
แต่ถ้าหันมามองพลังสนับสนุนของพรรคเดโมแครต ในภาวะที่ "โจ ไบเดน" ประกาศไม่ลงเลือกตั้ง แต่ผลักดันให้ "คามาลา แฮร์ริส" เป็นตัวแทน ต้องยอมรับว่า ในช่วงเวลานี้คะแนนสนับสนุนยังน้อยกว่า "โดนัลด์ ทรัมป์"
ไทยควรวางตัวอย่างไร หากการเมืองอเมริกาเข้าสู่จุดเปลี่ยน
"รศ.ดร.ณรงค์" มองว่า ที่ผ่านมาไทยมีท่าทีที่อยากค้าขายกับชาติมหาอำนาจตะวันตกและจีน เหมือนกับอินเดีย ที่สร้างการต่อรองกับชาติมหาอำนาจได้ แต่อย่าลืมว่าประชากรอินเดียมีมากกว่าไทยหลายเท่า ทำให้มีการนำเข้าจำนวนมาก และเป็นผลทำให้ชาติมหาอำนาจเกรงใจ เพราะถือเป็นตลาดใหญ่ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้มีประชากรมากขนาดนั้น
ต้องยอมรับว่าจีนเดินเกมทางธุรกิจเข้ามาในไทยได้ลึกกว่าอเมริกา จึงต้องจับตาว่า หากการเมืองอเมริกามีการเปลี่ยนแปลง จะมีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างไร แต่อีกด้านนึงก็ต้องยอมรับว่า ไทยเองก็ต้องพยายามสร้างสมดุลทางการค้ากับจีนด้วยเช่นกัน
ในเชิงการวางยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับอเมริกา จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์กร CFR ที่มีอิทธิพล แม้บางครั้งประธานาธิบดีอาจไม่เดินตามแผนที่วางไว้ ก็อาจถูกโค่นลงจากตำแหน่ง ซึ่งแนวคิดนี้ถือเป็นทฤษฎีสมคบคิด ที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายผู้นำ ดังนั้น ไม่ว่าใครเป็นประธานาธิบดีอเมริกาคนใหม่ ไทยก็อาจต้องลำบากเหมือนเดิม เพราะองค์กร CFR มีการประเมินว่า ทุนขนาดใหญ่ของไทย ส่วนใหญ่อยู่กับชาติมหาอำนาจประเทศอื่น.
...