"ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน หนูเอาอะไรออกมาไม่ได้เลย" เปิดใจผู้สูญเสียชุมชนตรอกโพธิ์ เยาวราช ในวันที่บ้านเรือน อาชีพ และความหวังวอดหายไปพร้อมแสงเพลิง

'อุบัติภัย' ไม่ใช่สิ่งที่ใครปรารถนาให้เกิด เช่นเดียวกับผู้คนชุมชนตรอกโพธิ์ ย่านเยาวราช ในยามวิกาลของวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ซึ่งควรเป็นเวลาพักผ่อนจากความเหนื่อยล้า แต่ผู้อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวกลับต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอดจาก 'เพลิงไหม้' ที่ลุกโชน เหตุไม่คาดฝันนั้นนำมาซึ่งความเสียหายทั้งต่อทรัพย์สิน และสภาพจิตใจของผู้อยู่ในเหตุการณ์ 

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2567 ทีมข่าวฯ เดินทางลงพื้นที่เกิดเหตุ หน้าซอยชุมชนตรอกโพธิ์ ป้ายสีเขียวเด่นตระหง่านยังคงสวยสมบูรณ์ ผิดกับภาพเบื้องหลังที่ทอดยาวเข้าไป เราเห็นแต่ซากปรักหักพังสีดำปนน้ำตาล ซึ่งเป็นหลักฐานของความสูญเสีย

เราเดินเท้าเข้าไปในซอย มีหมุดหมายอยู่ที่ วัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งใช้เป็นจุดลงทะเบียนและพื้นที่รับรองผู้ประสบภัย บรรยากาศภายในวุ่นวายแต่ไม่ชุลมุน ผู้คนจำนวนมากต่างถือเอกสารสีขาวในมือ เพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ

...

"ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน หนูเอาอะไรออกมาไม่ได้เลย" : 

ระหว่างนั่งสังเกตการณ์ เราสังเกตเห็นหญิงคนหนึ่งนั่งร้องไห้คล้ายสิ้นหวัง คราบน้ำตาบนใบหน้าของเธอเป็นเครื่องยืนยันว่าความเสียใจนั้นถูกระบายออกมาสักพักแล้ว แม้จะยังเสียขวัญต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เธอเองก็เข้มแข็ง และให้โอกาสเราได้สนทนาด้วย 

หญิงคนดังกล่าวมีนามว่า 'เตียว' สาวชาวลาว อายุ 18 ปี เดินทางมาทำงานที่เมืองไทย ณ ร้านอาหารตามสั่งได้ประมาณ 1 ปี เตียวเล่าว่า หนูทำงานไม่ไกลจากบ้านเช่า ตอนที่ไฟไหม้หนูกำลังเก็บของปิดร้าน ได้ยินคนวิ่งบอกกันว่าไฟไหม้ หนูเลยรีบกลับบ้านเพื่อจะไปดู 

ตอนนั้นคนวิ่งกันออกมาจากซอยศาลเจ้า หนูเห็นว่าไฟยังไม่แรง เลยพยายามวิ่งกลับเข้าไปข้างใน ว่าจะเข้าไปเอาของที่อยู่ในห้อง แต่ก็เข้าไม่ได้เพราะประตูล็อกอยู่ เนื่องจากแฟนหนูออกไปข้างนอก เหตุการณ์เริ่มวุ่นวายขึ้นเรื่อยๆ คนวิ่งชนกันไปมา

ขณะที่เตียวกำลังรำลึกภาพวันนั้นให้เราฟัง เสียงของเธอเริ่มสั่นเครือขึ้นอีกครั้ง ก่อนจะเอ่ยต่อว่า "หนูเอาอะไรออกมาไม่ได้เลย เอกสารต่างๆ ไม่มีสักชิ้น แม้กระทั่งบัตรทำงานก็เอาออกมาไม่ได้" เราถามว่า ตอนนี้รู้สึกต้องการอะไรมากที่สุด 

เธอตอบว่า หนูอยากได้พวกผ้า ต้องการพวกผ้า หนูไม่มี อยากไปเช่าห้องอยู่ ตอนนี้รอทำเอกสารอะไรให้เสร็จ หนูอยากจะออกไปข้างนอก อยากได้ของใช้ในห้อง ของใช้ไฟฟ้า พวกผ้าและหมอน มีค่าใช้จ่ายมีติดตัวอยู่ไม่เยอะ เพราะเอากระเป๋าออกมาได้ใบเดียว 

ตอนนี้กังวลเรื่องไหนมากที่สุด? สิ้นคำถามดังกล่าว เตียวร้องไห้ออกมาอย่างหนักอีกครั้ง เธอกล่าวพร้อมน้ำตาว่า "ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ห้องก็ยังหาเช่าไม่ได้ ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ"

"ไม่เหลืออุปกรณ์ทำกิน" : 

'นางทองมาก นาแซง' อายุ 56 ปี และ 'นายเพชร นาแซง' อายุ 54 ปี สองสามีภรรยาจากจังหวัดร้อยเอ็ด ที่เข้ามาอาศัยในชุมชนตรอกโพธิ์ไม่ต่ำกว่า 20 ปี กำลังนั่งพักจากการดำเนินเอกสารขอความช่วยเหลือเรียบร้อย ร่างกายของทั้งคู่ดูอิดโรย ไม่ต่างจากผู้คนที่พวกเขากำลังนั่งชะแง้ดู

คุณลุงเพชร เล่าให้เราฟังว่า วันนั้นป้ากับลุงนอนกันก่อน ส่วนลูกสาวขอนั่งเล่นคอมพิวเตอร์ สักพักลูกเริ่มได้กลิ่นไหม้ พร้อมเสียงไฟฟ้าช็อตตามดังตู้ม! พอเปิดหน้าต่างดูเห็นไฟเริ่มลุก เลยรีบปลุกพ่อกับแม่ให้ออกมา โชคดีที่เกิดช่วงนั้น ถ้าเกิดสักสี่ทุ่มทั้งบ้านคงนอนกันหมดแล้ว อาจจะมีคนตายก็ได้

...

"ตอนแรกลูกปลุกป้าไม่ตื่น พอเขาบอกไฟไหม้เท่านั้น เราลุกเด้งขึ้นเลย ตกใจจนเป็นลมไปหลายรอบ ต้องใช้ยาดมช่วยไม่รู้กี่ครั้ง" คุณป้าทองมาก กล่าวกับทีมข่าวฯ

เมื่อถามว่าวันนั้นนำอะไรออกมาได้บ้าง ทั้งสองคนชี้กระเป๋าที่สะพายอยู่คนละใบ ก่อนที่คุณลุงเพชร จะเล่าว่า เอาออกมาได้แค่กระเป๋าคนละใบ กับเอกสารอีก 3 อย่าง คือ บัตรประชาชน สมุดบัญชี และทะเบียนบ้าน ส่วนเสื้อผ้าที่ใส่อยู่ก็เป็นเสื้อผ้าที่เขาเอามาบริจาค ของเราที่ใส่หนีไฟวันนั้น เปลี่ยนเก็บไว้แล้ว

ป้าทองมากเสริมว่า เอกสารที่หยิบออกมาได้ มาจากกระเป๋าของป้า เพราะป้าเตรียมตัวไว้ ป้าคิดว่าเราอยู่บ้านไม้แบบนี้ วันหนึ่งมันอาจจะมีเหตุการณ์ และก็มีจริงๆ ส่วนรองเท้าที่ป้าใส่อยู่ ก็ไม่รู้ว่าของใคร ไปเจอคนทิ้งไว้ตรงต้นไม้ เลยเก็บมาใส่ก่อน เพราะตอนแรกไม่มีรองเท้าเลย

โดยปกติแล้ว สองสามีภรรยาบ้านนาแซง เปิดร้านอาหารอีสานอยู่บริเวณลาดจอดรถข้างวัดสัมพันธวงศ์ แต่นับจากนี้ก็ไม่รู้อีกเมื่อไร ที่ผู้คนระแวกนั้นจะได้ลิ้มรสเด็ดอีก เนื่องจากอุปกรณ์ทำมาหากินที่เข็นเก็บไปไว้ในบ้าน คงจะวอดไปกับกองเพลิงเสียหมดแล้ว

...

"ตอนนี้ลุงกับป้าหวังแค่อยากได้เงินสักจำนวนหนึ่ง มาตั้งตัวกันใหม่ เพราะอุปกรณ์ทำกินไม่มีแล้ว หรือจะมีอยู่ก็ยังไม่รู้เลย เพราะยังไม่ได้เข้าไปดู แต่ถึงมีของเหลือก็ไม่น่าใช้ได้หรอก เพราะไฟไหม้หมด อีกอย่างที่เราเสียดายคือบ้านเช่า เพราะถึงเราจะเช่าที่เขาอยู่ แต่ตัวบ้านต่างๆ เราก็ต่อเติม ตกแต่งด้วยเงินและแรงของเรา มันอยู่จนผูกพัน" คุณลุงเพชรกล่าวถ้อยคำที่ฟังแล้วชวนเศร้าใจ แต่ใบหน้าของเขาก็ยังมีรอยยิ้ม แสดงถึงเลือดนักสู้ที่ยังคงไหลเวียนในหัวร่างกาย!

"อยู่ที่นี่มา 20 ปี ไม่เคยพบเคยเห็น" : 

'ริน' ชาวลาว อายุ 48 ปี เป็นลูกจ้างของร้านอาหารแห่งหนึ่งบนถนนแปลงนาม ย่านเยาวราช เธอบอกกับเราว่า คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนตรอกโพธิ์ ส่วนใหญ่เป็นคนลาว มีชาวกัมพูชาและเมียนมาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เยอะเท่าไร ยิ่งคนไทยยิ่งถือว่าน้อย

เหตุการณ์เพลิงไหม้วันนั้น พี่รินถึงกับเอ่ยปากว่า ไฟลุกท่วมจนมองไม่เห็นบ้าน มันน่ากลัวมาก ทุกคนสั่นกันหมด เราอยู่ที่นี่มา 20 ปี ไม่เคยพบเคยเห็น ยังดีที่ไม่มีคนเสียชีวิต วันนั้นคนกระโดดหน้าต่างหนีตายกันเต็มไปหมด โชคดีที่วันเกิดเหตุไม่ใช่วันจันทร์ เพราะถ้าเป็นวันจันทร์อาจมีคนตาย เนื่องจากเป็นวันหยุดคนมักจะนอนอยู่ห้องกันไม่ค่อยไปไหน 

...

"วันนั้นเราพยายามจะเข้าไปเอาของแล้ว แต่ไฟลุกท่วมปิดทางเข้าหมดเลยเอาอะไรออกมาไม่ได้ เราก็เลยต้องออกมาอยู่ที่วัดนี่แหละ เสื้อผ้าที่ใส่อยู่ใส่มา 2  วันแล้ว ยังไม่ได้เปลี่ยนเลย เอกสารสำคัญต่างๆ อยู่ห้องหมดเลย"

คุณริน กล่าวต่อว่า เรื่องเอกสารต่างๆ ต้องรอเขาแจ้งอีกทีว่าจะดำเนินการอย่างไร เรามาแบบถูกกฎหมาย เลยเชื่อว่าพวกในระบบต้องมีข้อมูลอยู่ ในโทรศัพท์ก็ยังมีพาสปอร์ตอยู่ ต้องรอฟังไปก่อน แต่ตอนนี้เราได้รับการช่วยเหลือพอสมควร คนไทยมีน้ำใจมาก ช่วยเหลือดีมาก

"ตอนนี้ขาดแค่ที่อยู่อาศัย ต้องรอหาห้องก่อน แผนต่อจากนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะทำยังไงต่อ ใจเรามันยังรู้สึกกลัวอยู่เลย เพราะนี่เป็นครั้งแรกเหมือนกัน เราอยู่กับสองคนกับแฟน เดือดร้อนทั้งคู่ ส่วนงานตอนนี้เถ้าแก่เขาให้หยุดก่อน รอจัดการตรงนี้ให้เรียบร้อย แล้วเดี๋ยวค่อยเข้าไปทำ แต่พรุ่งนี้คงจะได้เริ่มกลับไปทำงาน"

นักท่องเที่ยวลดลงอย่างชัดเจน : 

'วิไลรัตน์ แซ่เตี๋ย' อายุ 50 ปี ผู้ประกอบการร้านเกาเหลาเลือดหมู บนถนนแปลงนาม เป็นหนึ่งในผู้ประสบเหตุที่ขนของหนีออกได้อย่างหวุดหวิด เพราะบ้านของเธออยู่ใกล้กับโรงแรม ซึ่งวันเกิดเหตุโรงแรมฉีดน้ำช่วยดับไฟ ทำให้เธอสามารถขนของหนีอัคคีภัยได้ทัน! 

วิไลรัตน์ เปิดใจว่า เรายังนับว่าโชคดี แต่ก็ไม่ได้รู้สึกสบายใจ เพราะสภาพจิตใจคนที่เคยอยู่ในชุมชนตรอกโพธิ์ตอนนี้ ทุกคนเหนื่อยและยังตกใจกันอยู่ ไม่เคยมีใครต้องมาเจอกับสถานการณ์เสี่ยงภัยที่กะทันหันแบบนี้ พวกเราอยู่กันมานานมาก ต่อจากนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีชุมชนต่ออีกไหม 

"ตอนนี้อยากได้หมอนหรือพวกผ้าห่ม เพราะยังมีหลายคนที่เดือดร้อน บางคนเขาเอาของออกมาแค่เสื้อตัวเดียว ทรัพย์สินอื่นๆ ก็แทบไม่ได้หยิบออกมา 20 นาทีที่เกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่เร็วมาก"

เนื่องจาก คุณวิไลรัตน์ เป็นหนึ่งในผู้ค้าขายย่านเยาวราช เธอเผยกับเราว่า ตอนนี้คนมาเยาวราชน้อยลงอย่างชัดเจน ก่อนเกิดเหตุเราขายของดีมาก คนกำลังเยอะเลย แต่หลังจากไฟไหม้ 30 นาที คนเงียบหายหมดเลย 

"คนคงตกใจกันด้วย ตอนนั้นทั้งเสียงรถตำรวจ เสียงรถดับเพลิงตีกันระงมไปหมด คนต่างชาติ คนมาเที่ยวเลยหนีกลับ แต่เราเชื่อว่าไม่กี่วันคนก็คงกลับมากันเหมือนเดิม"

อีกหนึ่งผู้ประกอบการที่เรามีโอกาสได้สนทนา คือ 'สุนาถ ภู่สินธุ์' อายุ 57 เจ้าของร้านนวดแผนไทย ใกล้กับร้านเท็กซัสสุกี้ เธอเผยว่า ก่อนเกิดเหตุคนมานวดเยอะมาก แขกกำลังกลับมาเที่ยวกันเลย แต่หลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมง คนหายเกลี้ยง นักท่องเที่ยวหนีหมดเลย ตอนนี้ไม่มีลูกค้า เรียกว่าซบเซายังได้ ปกติวันนึงเราจะมีลูกค้าประมาณร้อยคน ตอนนี้ได้แค่ 20-30 คน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

การดูแลด้านไฟฟ้าก่อนเกิดเหตุ : 

จากคำบอกเล่าของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบอกกับเราว่า "วันเกิดเหตุได้ยินเหมือนเสียงไฟระเบิด" ทีมข่าวฯ จึงถือโอกาสสอบถาม 'นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล' ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ ที่ได้มาช่วยเหลือประชาชนว่า "ตลอดระยะเวลาก่อนเกิดเหตุ ทาง กทม. หรือ สำนักงานเขต ได้เข้ามาดูแลหรือดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้าในชุมชนอย่างไรบ้าง"

นายวัลภล ตอบว่า โดยปกติเราจะเข้าไปดูอยู่แล้วว่าอะไรไม่เรียบร้อย อะไรที่เราทำได้เราก็จะทำ แต่สายไฟส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นสายสื่อสาร เราจะไปตัดไม่ได้ เพราะมีทั้งของการไฟฟ้า และของหน่วยงานเอกชน ถ้าเราไปตัดก็เดี๋ยวโดนฐานะละเมิดทำให้เสียทรัพย์ ที่เห็นระโยงระยางไปหมดเพราะเราทำอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นอำนาจของเรา เรารื้อไปแล้ว 

เราได้ถามคำถามเดียวกันนั้นต่อ 'นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์' ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับคำตอบว่า สายไฟตามอาคารหลายแห่งน่าจะเป็นสายไฟที่เก่า ส่วนสายไฟที่รุงรังตามเสาเป็นสายสื่อสาร ที่จริงเรามีโครงการจะเอาทางวิทยาลัยช่างเข้ามาช่วยดู แต่มันเยอะมากก็ค่อยดำเนินการไป สุดท้ายแล้วผมว่าต้องช่วยกันดูแลตัวเองด้วย ดูแลบ้านใครบ้านมันก่อน ตอนนี้ยังไม่ได้เปิดจ่ายไฟให้บางอาคาร เพราะต้องดูเรื่องความปลอดภัย

ทีมข่าวฯ ถามประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ว่า หน่วยงานได้เข้ามาดูแลเรื่องไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน?

คุณลุงเพชร ตอบว่า "ไม่ค่อยมีใครเข้ามานะ คุณต้องมาเห็นก่อนเกิดเหตุ สายไฟยั้วเยี้ยเต็มไปหมด" ส่วนคุณวิไลรัตน์ ให้คำตอบว่า "ไม่เยอะนะ ไฟฟ้ามีมาบ้างแต่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยเซฟตี้ที่เข้ามา และก็มีตำรวจเข้ามาดูแลชุมชนตลอด เช่น จัดการยาเสพติด ติดไฟ ติดกล้องวงจรปิด เราก็ต้องขอบคุณทางโรงพักด้วย"

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :