ชุบชีวิตคุณปู่ “รถจักรไอน้ำ” รุ่นที่ผลิตในญี่ปุ่น “มิกาโด 353” สมัยหลังสงครามโลก ครั้งที่ 1 มี 2 คันสุดท้ายในไทย หลังถูกเก็บไว้ในโกดังกว่า 40 ปี เจ้าของเดิมซื้อต่อจากการรถไฟ เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงสีข้าว เมื่อครั้งอดีต ก่อนทำการปลดระวาง เตรียมบูรณะอวดโฉมอีกครั้ง
กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล เมื่อผู้ใช้ติ๊กต่อกชื่อ maxjang926 ขายอุปกรณ์ทหารสระบุรีมวกเหล็ก และเพจเฟซบุ๊ก ขายอุปกรณ์ทหารสระบุรีมวกเหล็ก ได้โพสต์ภาพการขนย้าย รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นมิกาโด ที่ผลิตโดยสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1936 โดยรถจักรไอน้ำรุ่นนี้มีทั้งหมด 98 คัน ทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดตามเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นหัวรถจักรที่หาชมยาก และควรอนุรักษ์ไว้ โดยหัวรถจักรดังกล่าว การรถไฟได้ขายต่อให้กับเอกชน ซึ่งในอดีตทำโรงสีข้าว ใช้พลังงานจากหัวรถจักรไอน้ำในการผลิต ก่อนปลดระวางเก็บไว้กว่า 40 ปี เจ้าของเดิม ขายต่อให้กับคนรุ่นใหม่ ที่เหมาะสมและอนุรักษ์ “มิกาโด 353” ให้ประชาชนได้ชม
...
“แม็ก สระบุรี” เจ้าของเพจ ร้านขายอุปกรณ์ทหารสระบุรีมวกเหล็ก ผู้รับช่วงต่อการดูแลหัวรถจักรไอน้ำ โบราณ เล่าว่า ที่ผ่านมาพยายามขอซื้อต่อจากท่านเชษฐ์ ตันสกุล เจ้าของเก่ามาหลายสิบปี แต่ท่านก็อยากเก็บไว้ เพราะรถจักรไอน้ำญี่ปุ่นมิกาโด ได้ซื้อต่อมาจากการรถไฟ เพราะสมัยอดีตต้องใช้พลังงานจากหัวรถจักรไอน้ำในการปั่นไฟฟ้าในโรงสีข้าว จ.ปทุมธานี ซึ่งประมาณ 40 ปี ที่ผ่านต้องทำการปลดระวางหัวรถจักร เพราะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย ท่านเลยเก็บหัวรถจักรไอน้ำไว้ในโกดังมาตลอด
“ด้วยความที่ท่านเจ้าของเก่าอายุมากแล้ว การเก็บรักษาหัวรถจักรไอน้ำไว้ที่เดิม คนทั่วไปก็ไม่มีโอกาสได้เห็น ท่านเลยอยากให้คนที่มารับไปดูแลต่อ ได้ทำการอนุรักษ์ ให้ประชาชนทั่วไปได้ชม ท่านเจ้าของเก่าไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่วัตถุประสงค์หลักคือ อยากให้คนรุ่นหลังได้เห็น โดยท่านก็เก็บรักษาไว้ในพื้นที่อย่างดี ทำให้มีสภาพที่สมบูรณ์”
รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นมิกาโด ที่เจ้าของเดิมเก็บไว้ มีอยู่ 2 หัว คือ หมายเลข 351 และ 353 โดยได้ขนย้ายออกมาทั้งสองคัน ซึ่งในการขนย้ายก็ต้องทุบอาคารเดิม เพื่อนำออกมา เพราะเจ้าของเก่าท่านยึดล้อไว้กับพื้นแน่นหนา เพราะในอดีตมีแผ่นดินไหว เกรงว่าจะเกิดความเสียหาย
ตามประวัติ รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นมิกาโด ส่วนใหญ่เรียกรถจักรนี้ว่า รถจักรไอน้ำมิกาโด เป็นชุดรถจักรไอน้ำสุดท้ายของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ใช้ในไทย สร้างโดยสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1936 จุดประสงค์หลักของรถจักรไอน้ำที่ถูกออกแบบ สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการลากจูงขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า ขบวนรถที่วิ่งบนเส้นทางภูเขา รวมถึงขบวนรถที่มีน้ำหนักมากบนเส้นทางตอนราบในไทยโดยเฉพาะ มีสมรรถนะแตกต่างจาก รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นแปซิฟิก ที่ใช้ลากจูงขบวนรถโดยสารบนเส้นทางตอนราบ
หัวรถจักรไอน้ำมิกาโด ที่ผลิตในญี่ปุ่น เหลือเพียง 2 คันนี้ในไทย เพราะรุ่นนี้ มีการผลิตในหลายประเทศ รวมแล้วมีทั้งหมดในไทย 7 คัน
...
“ที่ผ่านมาคนงานในโกดังที่เก็บหัวรถจักร เคยมีขโมยเอาทองแดงที่เป็นส่วนประกอบไป แต่ไม่นานก็เหมือนมีคนไปตามทวงคืน จนสุดท้ายหัวขโมยต้องเอาชิ้นส่วนทองแดงนั้นมาคืน ซึ่งช่วงขนย้ายมีการไหว้เพื่อบวงสรวงตามความเชื่อ”
ตอนนี้หลังขนย้ายมา เตรียมทำการบูรณะ ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด และทำหลังคาและสถานที่จัดแสดง ภายในพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งช่วงเวลาที่จะเปิดต้องรอความพร้อมอีกครั้ง แต่ถ้าท่านใดสนใจชม สามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ขายอุปกรณ์ทหารสระบุรีมวกเหล็ก
จากข้อมูลระบุว่า รถจักรหมายเลข 351 - 378 นำเข้ามาระหว่าง พ.ศ. 2479 - พ.ศ. 2488 เป็นช่วงที่การรถไฟฯ สั่งนำเข้ามาใช้ ชุดแรก ผลิตล็อตก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หมายเลข 351, 352, 363 และ 364 โดยบริษัท นิปปอน ชาเรียว เซโซะ ไกรชะ จำกัด โรงงานตั้งอยู่ที่นครนาโงยะ, จังหวัดไอจิ, ประเทศญี่ปุ่น
สั่งนำเข้ามาใช้โดยคำแนะนำจากเอช ฟูรูซาวา (3 มกราคม พ.ศ. 2432 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2517) ข้าราชการกรมรถไฟหลวง ตำแหน่งนายช่างฝ่ายกองช่างกล โรงไฟฟ้าที่โรงงานมักกะสัน ชาวญี่ปุ่นในขณะนั้น เพราะสมัยนั้นซึ่งเป็นหัวรถจักรไอน้ำที่ประเทศญี่ปุ่นผลิตขึ้นใหม่ในช่วงเวลานั้น มีคุณภาพประหยัด กำลังฉุดลากดี ความเร็วดี มีความเหมาะสมกับความต้องการใช้ของเมืองไทยและราคาถูกมาก เมื่อกรมรถไฟพิจารณารายละเอียดต่างๆ แล้วอนุมัติให้สั่งเข้านำมาทดลองใช้รุ่นแรกจำนวน 10 คันก่อน ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ต่อมาได้สั่งเข้ามาใช้งานอีกหลาย 10 คัน
...
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ขายอุปกรณ์ทหารสระบุรีมวกเหล็ก