ชำแหละ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี หลังใช้ฉบับเดิมมา 25 ปี มีการถกเถียงว่า “หลักสูตรเสื้อโหล” สร้างคนให้คิดแบบเดียวกัน ทำเหมือนกัน จมอดีต ก้าวไม่ถึงความสร้างสรรค์ในโลกอนาคต ชี้ต้องกระจายอำนาจท้องถิ่น ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์กลาง ส่วนหลักสูตรสถานศึกษาก๊อปส่วนกลาง จนลืมความเป็นตัวเอง

ไทยใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับปี 2542 ที่ใช้มานานกว่า 25 ปี ในปี 2564 กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... มีการเปิดรับฟังความเห็นและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างเกี่ยวกับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว แต่ท้ายที่สุด ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากมีการยุบสภาฯ ไปก่อน ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 ได้ถูกปัดฝุ่นนำมาทบทวน และทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง เพื่อเตรียมเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานคณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค กล่าวบนเวทีเสวนา 7 ปีร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ฉบับใหม่ : ของใคร เพื่อใคร เมื่อไหร่เสร็จ? ว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 มีรายละเอียดจำนวนมาก แต่มีเนื้อหาที่เข้าใจได้ยาก ไม่สามารถสื่อสารกับคนอ่านได้เลย ขณะที่มีมาตราที่เป็นเรื่องของกลไกการบริหารมากถึง 110 มาตรา

...

เนื้อหาของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในหลายประเด็นยังเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในอดีตและปัจจุบัน แต่ไม่ได้พูดถึงอนาคต ทำให้ หาก พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ประกาศ และใช้ไปอีก 20-30 ปี จะทำให้ไม่เท่าทันโลกในอนาคต ซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษา ต้องมีจินตนาการถึงอนาคตอยู่ในนั้นด้วย

“ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีรายละเอียดในการแก้ปัญหาไปทุกอย่าง เช่น สถานะบทบาทผู้บริหารการศึกษา ครูจะทำอย่างไร ทุกคนหวังว่า พ.ร.บ. จะแก้ปัญหาได้ ทำให้ประเด็นต่างๆ ไปผูกไว้ใน พ.ร.บ. หมดเลย ขณะที่ผมลองไปอ่าน พ.ร.บ.การศึกษาของประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น มีแค่ 6 หน้ากระดาษ มีแต่เรื่องหลักๆ นิยามว่าการศึกษาคืออะไร การศึกษาแต่ละแบบมีอะไรบ้าง จะเป็นแม่บทการศึกษาใหญ่ๆ ส่วนตัวรายละเอียดไปออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องทีหลัง”

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ไม่ได้เป็นแม่บทของการศึกษาของชาติ เพราะไม่ได้สะท้อนปรัชญาการศึกษาของประเทศ ซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ขณะที่

พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 มีบางมาตราที่บอกถึงหลักการและเป้าหมาย แต่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 ละเลยการเขียนเรื่องเหล่านี้ แต่มีรายละเอียดเรื่องของการตั้งคณะทำงาน เช่น จะมีซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา จะมีการตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตร ซึ่งเป็นรายละเอียดในเชิงเทคนิคมากกว่า

ลดบทบาทชุมชนจัดการศึกษาท้องถิ่น

นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย มองประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 คือการตัดมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 ออกไป โดยมาตรา 12 ได้ให้สิทธิ รัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชน ครอบครัว เอกชน และสถาบันศาสนา มีสิทธิจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมี 6 กฎกระทรวงฯ ออกมารองรับ ทำให้การศึกษามีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น

“ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่มีการศึกษาภาคประชาสังคมเลย นี่คือหัวใจสำคัญที่หายไป สมาคมฯ ของเราทำงานด้านการศึกษากับชุมชนกับสถานประกอบการมานาน มีศูนย์การเรียนประเภทนี้ 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์การเรียนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ เราหางบประมาณจ้างครูกันเอง นี่คือความเจ็บปวดของภาคประชาสังคม และในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ไม่มีการศึกษาภาคประชาสังคมเลย ประเทศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้วเช่นกัน แต่การศึกษาของเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ยังอยู่ในจินตนาการเดิมเราจะไปสู่จินตนาการใหม่ได้อย่างไร”

การจัดการศึกษาต้องหลากหลาย และต้องมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคประชาสังคม เพราะภาคประชาสังคมคือจุดแข็งของการศึกษาที่หลากหลายและยืดหยุ่น แต่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาปี 2564 ไปเน้นในเชิงกลไก เน้นไปที่แก้ปัญหาครู แต่ในโลกปัจจุบันความรู้อยู่ในอินเทอร์เน็ต ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน เพราะฉะนั้นครูที่เก่งคือครูที่สร้างแรงบันดาลใจที่เด็กจะเรียน

...

ลอกหลักสูตรการศึกษา เป้าหมายไปไม่ถึงฝัน

นายเสถียร พันธ์งาม เครือข่ายครูอีสาน กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องปรับปรุงให้ทันกับสถานการณ์ โดยต้องมีการกระจายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ลดอำนาจกระทรวง ทบวง กรม หรือกระทั่งเขตพื้นที่การศึกษา แต่ควรให้อำนาจกับสถานศึกษา และพื้นที่ในการจัดการศึกษามากขึ้น

“ควรให้อำนาจการจัดการหลักสูตรกับสถานศึกษาในการทำหลักสูตร แต่ความจริงแล้วคำว่าหลักสูตรสถานศึกษาไม่ได้มีอยู่จริง เพราะสถานศึกษาก็ไปลอกเลียนแบบมาจากส่วนกลาง จึงอยากให้เขียนให้ชัดว่าหลักสูตรสถานศึกษาต้องให้โรงเรียน ผู้มีส่วนได้เสียในบริบทชุมชนเหล่านั้นเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรเป็นฐานทุนของตัวเอง หรือชุมชนตัวเอง ว่าเขาต้องการให้ลูกหลานที่ไปเรียนออกมาเป็นแบบไหน”

...

หลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา จึงไม่อยากให้เป็น “หลักสูตรเสื้อโหล” ที่ใช้เหมือนกันทั้งประเทศ ไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนใหม่ให้เหมาะกับผู้เรียนและบริบทของพื้นที่ ส่วนเรื่องของการเรียนรู้ต้องให้ผู้เรียนเป็นความสำคัญ โดยเสนอกระบวนการเรียนรู้ในเชิงรุก และการประเมินผลแบบบูรณาการ คือ เอเอสเคเอ (ASKA) อย่างสมดุล โดย A ตัวแรกคือ Attitube หรือ ทัศนคติ S คือ Skill หรือ กระบวนการ ทักษะ K คือ Knowledge หรือ ความรู้ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ และ A คือ Attribute หรือ คุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งใน พ.ร.บ.การศึกษา ต้องมีสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจน


ด้านความคืบหน้าของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ ขณะนี้ได้จัดรับฟังความคิดเห็นและเสนอคณะรัฐมนตรี ผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้ารับการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร.