จากการเฝ้ารอชมถ่ายทอดสดดาวเทียมไทยคมทะยานฟ้า จนเกิดปณิธานอันแรงกล้าตั้งแต่วัยเยาว์ เรื่องราวการตามฝันอันมุ่งมั่น ของ 'ดร.พงศธร สายสุจริต' ผู้สร้างดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรก ที่คิด ออกแบบ และประดิษฐ์ โดยคนไทย 100%

"ผมจะเรียนสร้างดาวเทียมให้เป็น ไม่งั้นผมจะไม่กลับประเทศไทย และถ้าผมกลับประเทศไทยไปแล้ว ผมจะสร้างดาวเทียมของประเทศไทยให้ได้"

ข้อความข้างต้น คือ ปณิธานอันแรงกล้าที่ 'ดร.พงศธร สายสุจริต' อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เขียนติดไว้ที่โต๊ะอ่านหนังสือ ตั้งแต่ครั้งยังเรียน ม.ปลาย อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น

ภาพฝันที่ชัดเจนในใจตั้งแต่ยังเล็ก เกิดเป็นแรงมุ่งมั่นอันแน่วแน่ ผลักดันให้เขาคนนี้ กลายเป็นผู้ริเริ่มสร้างดาวเทียมดวงแรกของไทย ที่ชื่อว่า KNACKSAT ซึ่งถูกคิด ออกแบบ และประดิษฐ์ โดยคนไทย 100%

...

'อยากสร้างดาวเทียม' :

เด็กชายพงศธร เติบโตที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ชอบอ่านหนังสือ ดูการ์ตูน และเล่นเกม คล้ายเด็กทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่าง คือ ชอบรื้อโทรทัศน์และวิทยุ "ตอนนั้นผมทำเพราะอยากเป็น 'ช่างซ่อมทีวี' ผมรู้สึกว่าของพวกนี้เป็นอะไรที่ Amazing มาก ทำไมมีเสียง ทำไมมีคนไปอยู่ในนั้น"

แต่แล้ว พ.ศ. 2536 ความฝันใหม่ของ ด.ช.ปอม ได้กำเนิดขึ้น เนื่องจากวันที่ 18 ธันวาคม ปีนั้นเอง มีการถ่ายทอดสดส่งดาวเทียมไทยคม (THAICOM 1) ดาวเทียมดวงแรกของไทยขึ้นสู่อวกาศ เขาจึงได้มานั่งเฝ้าหน้าจอ รอดูภาพประวัติศาสตร์นี้ด้วยตัวเอง "ตอนเด็กๆ ผมชอบอ่านพวกการ์ตูนดราก้อนบอล เขามีตัวละครขึ้นยานอวกาศไปดาวดวงนั้นดวงนี้ ผมเลยสนใจการถ่ายทอดสดนั้นมากๆ"

ดร.พงศธร เผยความรู้สึกในอดีตว่า ตอนที่นั่งดูถ่ายทอดสด มันรู้สึกว้าวและตื่นเต้นมาก มันเหมือนกับผมกำลังนั่งดูหนัง ทุกอย่างดูเจ๋งและล้ำไปหมด ผมลุ้นไปกับทุกวินาทีที่เขานับถอยหลัง ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร แถมยังเข้าใจว่าจรวดที่ปล่อยจากฐานคือดาวเทียม มันเหมือนการ์ตูนในโลกความเป็นจริง

ชีวิตนับจากนั้น เมื่อมีใครมาเอ่ยปากถาม ด.ช.ปอมว่า 'โตขึ้นอยากเป็นอะไร' เขาจะตอบอย่างไม่ลังเลว่า "อยากสร้างดาวเทียมครับ" แต่ตำตสร้างความตลกขบขันแก่ผู้ถาม “พวกเขาจะบอกว่า ไปซ่อมทีวีกับวิทยุให้เป็นก่อน เพราะตอนนั้นผมรื้อออกมาเป็นอย่างเดียว ซ่อมก็ไม่ได้ ประกอบของกลับเข้าไป ชิ้นส่วนเหลือบานเลย"

ยุคนี้มันต้องคิดแบบนี้สิ! :

เมื่อเข้าสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ดร.พงศธร ในวัยเด็ก ต้องย้ายที่พักอาศัยมาอยู่กับคุณลุง ณ ศูนย์สงครามพิเศษ จ.ลพบุรี เขาได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนพระนารายณ์ ณ จุดนี้เอง อาจารย์ปอมเล่าย้อนความทรงจำว่า ตอนนั้นโรงเรียนยังไม่มีอะไรเลย เป็นโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนเยอะ แต่อาคารเรียนไม่พอ ต้องดัดแปลงเล้ามาเป็นเพิงเรียนหนังสือ อดีต ด.ช.ปอมจึงได้นั่งเรียนกับพื้นไม้กระดานเก่าๆ ร่วมกับเพื่อนของเขา

"อยากสร้างดาวเทียมครับ!" ความฝันของ ด.ช.ปอมยังคงดำเนินต่อไปแม้ตัวจะห่างไกลจากถิ่นเดิม เขาไปห้องสมุดทุกวันเพื่ออ่านหนังสือโซนอวกาศ ไปซ้ำเช่นนั้นทั้งที่มีหนังสืออยู่เพียง 2 เล่ม แถมรูปที่อยู่ในตำรา ก็ไม่ใช่ภาพถ่ายจริงแต่เป็นภาพวาดในจินตนาการ

ความฝันที่อยากจะใช้สองมือน้อยๆ สร้างดาวเทียม ไม่ได้ถูกเมินจากผู้ใหญ่ทั้งหมดเสียทีเดียว ครูวิชัย ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ชื่นชมความฝันของ ด.ช.ปอมว่า "ต้องคิดอย่างนี้สิดีแล้ว ในอนาคตมันเป็นเรื่องของดาวเทียม" ดร.พงศธร ถึงกับเอ่ยปากว่า "ก็มีแกคนเดียวนี่แหละครับ ที่เออออห่อหมกกับผม เพราะคนอื่นมองว่าทำไมไม่เรียนวิศวะ หรือหมอ อวกาศเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ"

...

เดินทางศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น :

หลังจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ความฝันที่มียังคงชัดเจนอยู่เสมอ แต่ด้วยไม่มีคนคอยชี้ทางว่าการศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศต้องไปทางไหน อาจารย์ปอมจึงสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จนกระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนของเขาชักชวนไปสอบชิงทุนไปต่างประเทศ เป็นการตัดสินใจที่ฉับพลันทันที เพราะเป็นวันสุดท้ายของการสมัครสอบ ผลออกมาว่าเพื่อนของเขาไม่ติด! แต่นายปอมติด 1 ใน 3 ที่มีสิทธิ์ได้ทุนศึกษาต่อต่างประเทศ และประเทศที่เขาเลือกไปก็คือ ญี่ปุ่น

"ตอนนั้นผมมโนไปแล้วว่า ไปอยู่ญี่ปุ่นน่าจะช่วยทำให้ฝันสร้างดาวเทียมเป็นจริง เพราะเวลาเราอ่านการ์ตูนจะเห็นเรื่องเทคโนโลยีมากมาย มีหุ่นยนต์กันดั้มด้วย ผมเลยตัดสินใจไปเรียน และคิดว่านี่คือจุดเปลี่ยนจริงๆ"

3 ตุลาคม 2539 นายพงศธรเดินทางไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ในช่วงที่เขารู้สึกว่าประเทศญี่ปุ่นเจริญถึงขีดสุด "อะไรที่คนไทยเห็นอยู่รอบๆ ตัว ตอนนั้นที่ญี่ปุ่นมีมาก่อนแล้ว" แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไร ประเด็นอยู่ที่ว่า นักเรียนทุนคนนี้ พยายามค้นหาทุกวิถีทางว่า ต้องทำอย่างไรตัวเขาถึงจะได้เรียนในสายวิชาที่ทำให้เขาได้สร้างดาวเทียม

แต่ก่อนอื่นใด อาจารย์ปอมต้องลงเรียนภาษาญี่ปุ่นถึง 2 ปี เพราะการเรียนที่นั่นจำเป็นต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด และหลังจากค้นหาข้อมูลสักระยะ ทำให้เขาพบว่า ถ้าต้องการเรียนด้านอวกาศ มีแค่ 2 มหาวิทยาลัยเท่านั้น ที่จะสามารถช่วยให้ฝันของเขาเป็นจริงได้ คือ มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Tech)

หลังจากนั้นได้สอบวัดระดับ เข้าเรียนที่โรงเรียนสาธิตกักคุเก โรงเรียนรัฐบาลอันดับ 1 ของญี่ปุ่น จากที่เคยเป็นอันดับ 1 ที่ไทย เขากลับมาสอบได้ตำแหน่งบ๊วยที่ญี่ปุ่น เพราะยังไม่แตกฉานในภาษาของประเทศนี้ ทำให้การทำข้อสอบที่ต้องตอบเป็นอัตนัยแทบ 100% กลายเป็นเรื่องที่ยาก

...

เขาเริ่มตั้งสติกับตัวเองครั้งใหญ่ เพราะสาขาวิศวกรรมการบินอวกาศ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว มีเพียงผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 50 อันดับแรก จากผู้สอบกว่า 3,000 กว่าคน ที่จะได้เข้าเรียนและหากสอบเข้าได้แล้ว นักศึกษาทั้ง 50 คนนั้น จะต้องแข่งกันสอบเข้าแล็บที่ตนต้องการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 10 แล็บ แยกเป็นแล็บละ 5 คน โดยแล็บที่เป็นความปรารถนาของอาจารย์ปอม คือ แล็บที่สร้างยานอวกาศ

เมื่อภาพฝันชัดเจนเช่นนั้น ดร.พงศธร ในวัยนักเรียนมอปลาย จึงอ่านหนังสือชนิดที่เรียกว่าเอาเป็นเอาตาย ถ้าคนญี่ปุ่นอ่าน 1 รอบ เขาต้องอ่าน 10 รอบ เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาทุกบรรทัด ความมุ่งมั่นนั้นไม่เคยสูญเปล่า ผลคะแนนออกมาว่าเขาได้เป็นที่ 1

"ผมจะเรียนสร้างดาวเทียมให้เป็น ไม่งั้นผมจะไม่กลับประเทศไทย และถ้าผมกลับประเทศไทยไปแล้ว ผมจะสร้างดาวเทียมของประเทศไทยให้ได้" นี่คือข้อความที่ นายพงศธร เขียนติดไว้ที่โต๊ะในหอพักของเขา เพื่อเป็นเครื่องย้ำเตือนฝันของตน

และในที่สุดอาจารย์ปอมก็ได้เข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว ตลอดเวลาที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 อาจารย์ปอมเรียนหนังสือค่อนข้างหนัก เพื่อจะได้มีโอกาสเลือกเรียน ‘วิศวกรรมอวกาศ’ อย่างใจหวัง และก็เป็นอีกครั้งที่เขาทำได้ แต่แล้วก็ต้องมาสะดุดตรงที่ทุน กพ. ของรัฐบาลไทย ไม่อนุญาตให้เรียนสาขาดังกล่าว

...

"ผมพยายามมาขนาดนี้แล้ว จะทิ้งโอกาสก็เสียดาย เลยเขียนหนังสือถึงเลขาธิการ กพ. ขณะนั้นว่า ขออนุญาตเรียนสาขานี้ เนื่องจากในอนาคตเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก สุดท้ายทางหน่วยงานของไทยก็อนุญาตให้เข้าเรียน"

ทำให้ นายพงศธร สายสุจริต ได้เข้าศึกษาต่อ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมการบินอวกาศ และได้อยู่ห้องแล็บสร้างยานอวกาศดั่งใจหวัง ซึ่งห้องแล็บนี้เปิดสอนมาแล้วกว่า 200 ปี และเขาเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าเรียน

มีส่วนร่วมทำดาวเทียม CubeSat ดวงแรกของโลก :

อาจารย์ปอมเข้าเรียนในแล็บช่วงที่อาจารย์นากาซึกะ (อาจารย์ประจำแล็บ) มีโครงการให้กลุ่มนักศึกษาช่วยกันสร้างดาวเทียมดวงเล็ก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นดาวเทียม CubeSat ดวงแรกของโลก ครั้งนั้นพี่ๆ ระดับปริญญาเอกเป็นผู้ออกแบบ และนักศึกษาทุกคนจะช่วยกันประกอบสร้างขึ้นมา แน่นอนว่าอาจารย์ปอมเป็นหนึ่งในผู้ได้มีโอกาสสร้างหน้าประวัติศาสตร์นี้

"ปัญหาก็คือว่าเด็กทุกคนในแล็บไม่เคยมีใครสร้างดาวเทียม เราเลยไปขอความช่วยเหลือจาก Space Agency ของญี่ปุ่นที่เขาส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ เพราะเขาทำกันมานานแล้ว เพียงแต่ในภาคการศึกษา ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนเคยทำมาก่อน แต่เราโดนหัวเราะกลับมา พวกวิศวกรบอกว่า ของที่จะใช้สร้างมันไม่มีคุณภาพ เพราะเราซื้อมาจากแถวอากีคาบาร่า หรือบ้านหม้อของไทย เขามองว่าไม่มีทางทำได้หรอก นอกจากไม่ช่วยเหลือยังทับถมเราอีก"

อาจารย์ปอม กล่าวเสริมว่า ตอนนั้นเราคิดว่า มันก็อาจจะจริงอย่างที่เขาพูด เพราะผมคิดในใจว่ามันอยู่ได้สักเดือนนึงก็เก่งแล้ว แต่ปรากฏว่า เราส่งไปตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2546 ปัจจุบัน 2567 มันก็ยังอยู่และทำงานได้ปกติ

แต่อุปสรรคไม่หมดเท่านั้น เพราะสร้างเสร็จแล้วไม่รู้ว่าจะส่งสู่อวกาศได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีดาวเทียมดวงเล็กขนาดนี้ได้ขึ้นสู่อวกาศมาก่อน ทำให้แม้ว่าอาจารย์นากาซึกะจะวิ่งโร่ไปทั่วโลก ก็ไม่มีใครยินยอมส่งให้

จนกระทั่งอาจารย์นากาซึกะได้รับคำแนะนำจากเพื่อนให้ไปที่รัสเซีย เพื่อติดต่อบริษัทรับส่งจรวดแห่งหนึ่ง แม้จะพยายามอ้อนวอนว่านี่คือดาวเทียมดวงแรกจากฝีมือของนักศึกษา แต่ก็ยังถูกยืนกรานปฏิเสธ อาจารย์นากาซึกะตัดสินใจบินกลับญี่ปุ่น พร้อมกับควักเงินของตนเองซื้อตั๋วพารุ่นพี่ของอาจารย์ปอม ไปยืนเรียงแถวต่อหน้า CEO พร้อมกล่าวว่า

"จำหน้าเด็กเหล่านี้ไว้ อีกไม่กี่สิบปี พวกเขาจะกำหนดทิศทางกิจการอวกาศของประเทศญี่ปุ่น ช่วยเขาหน่อยได้ไหม อนาคตเขาจะมีส่วนช่วยกำหนดเส้นทางของญี่ปุ่น” ผลออกมาว่าได้ผล เจ้าของบริษัทยอมช่วยเหลือ ทุกอย่างจึงสำเร็จไปได้ด้วยดี

"ความ Amezing ก็คือ วันนี้ 5 คนที่ไปวันนั้น เป็นจริงอย่างที่โปรเฟสเซอร์บอกเลย คนนึงทำยานอวกาศไปลงดาวอังคารอยู่ที่นาซ่า คนนึงเป็นเจ้าของบริษัท Axelspace เป็นสตาร์ทอัพอวกาศเบอร์ 1 ของญี่ปุ่น อีกคนนึงเป็นนักบินอวกาศ อีกคนเป็นเจ้าของบริษัทเกี่ยวกับดาวเทียม ส่วนอีกคนเป็นคนทำยาน Hayabusa 2 ที่ไปลงดาวเคราะห์น้อย ถือเป็น Project Manager ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของ JAXA (องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น)"

พานักศึกษาสร้างดาวเทียมโดยคนไทยดวงแรก :

หลังจากนั้นอาจารย์ปอมได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านดาวเทียมอยู่เสมอ และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียวในระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aeronautics and Astronautics หลังจากนั้นไปศึกษาต่อในปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aerospace Engineering มหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku) และกลับมาศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aeronautics and Astronautics จากมหาวิทยาลัยโตเกียว

ปี 2555 ดร.พงศธร สายสุจริต เดินทางกลับสู่มาตุภูมิ ด้วยความตั้งใจอันเต็มเปี่ยมว่า อยากถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีให้แก่นักศึกษาในประเทศบ้านเกิด และในที่สุดก็ได้รับโอกาสจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา ผู้ก่อตั้งภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รับอาจารย์ปอมเข้าเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศของมหาวิทยาลัย

ดร.พงศธร พยายามใช้โมเดลจากอาจารย์นากาซึกะ โดยการตั้งห้องปฏิบัติการดาวเทียม ให้นักศึกษาของเขาได้เรียนรู้และฝึกสร้างดาวเทียม โดยควักเงินส่วนตัวซื้ออุปกรณ์มือสองจากบ้านหม้อ ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างพากันออกแบบ และประกอบร่างดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นมา 1 ตัว เพื่อเป็นต้นแบบในการขอทุนสร้างดาวเทียมที่จะส่งขึ้นอวกาศ ในครั้งนี้พวกเขาได้รับการสนับสนุนเงินจำนวนหนึ่ง จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ปอมยังเดินหน้าขอทุนสร้างดาวเทียมต่อไป เพราะเขาหวังถึงขั้นมันจะกลายเป็นดาวเทียมดวงแรกของไทย ที่สร้างโดยคนไทย และมีโอกาสโลดแล่นในห้วงอวกาศ มาถึงตรงนี้เราถามอาจารย์ปอมว่า 'ไทยคม' ไม่ใช่ดาวเทียมดวงแรกของไทยหรือ "หากจะบอกว่าดาวเทียมไทยคมเป็นดาวเทียมดวงแรกของไทยก็ไม่ผิด แต่เราไม่ได้สร้างเอง เพียงแต่เราไปซื้อให้เขาสร้างให้ ฉะนั้น เราเป็นเจ้าของแต่เราไม่ใช่ผู้ผลิต"

ความมุ่งมั่นในการเดินทางยื่นขอสปอนเซอร์ทำดาวเทียมผ่านไปถึง 2 ปี ทำให้ปี 2558 อาจารย์ปอมได้รับการตอบกลับความพยายามนี้ จากสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยให้ทุนสนับสนุน 9,600,000 บาท พวกเขาจึงมีทุนในการตามฝันและสร้างดาวเทียมที่มีชื่อว่า KNACKSAT (แนคแซท) ย่อมาจาก King Mongkut University of North Bangkok Academic Challenge of Knowledge SATellite

ดาวเทียม KNACKSAT :

KNACKSAT เป็นดาวเทียมรูปแบบ CubeSat มีขนาด 10x10x11.4 เซนติเมตร และหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ถือเป็นดาวเทียมไทยดวงแรกที่ออกแบบและพัฒนาโดยคนไทยทั้งหมด! เจ้า KNACKSAT ถูกส่งสู่อวกาศครั้งแรก เมื่อ 4 ธันวาคม 2561 ด้วยจรวดชื่อ SpaceX Falcon 9

"แต่ครั้งนั้นมันยังไม่เวิร์ก 100 เปอร์เซ็นต์ครับ มันใช้งานได้ก็จริง แต่ถือว่าไม่สมบูรณ์ เพราะภาคพื้นไม่สามารถส่งสัญญาณกลับไปดาวเทียมได้" ด้วยปัญหาข้อนี้เอง ทำให้อาจารย์ปอมไม่สามารถขอทุนได้อีก นำมาซึ่งความกดดันแก่ตัวเขาเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่เวลาที่จะมาก้มหน้ายอมแพ้ อาจารย์ปอมและนักศึกษา พยายามค้นหาต่อไปว่าบกพร่องตรงไหน

เวลาล่วงผ่านไปถึง 1 ปี อาจารย์ปอมและทีมงาน ได้รับเชิญจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ไปสอนเรื่องการสร้างดาวเทียม อยู่มาวันหนึ่ง ดร.พงศธร รู้ถึงปัญหาที่ทำให้ KNACKSAT ไม่เสถียรแล้ว จึงได้นำปัญหานั้นเล่าให้นักเรียนฟัง จนนำมาสู่การต่อยอดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ที่ชื่อว่า BCCSAT-1 ซึ่งเป็นฝีมือของนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โดยถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 เจ้า BCCSAT-1 สามารถสื่อสาร ถ่ายและดาวน์โหลดรูปได้ อีกทั้งยังทำงานปกติ นักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกสามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้อีกด้วย

ดาวเทียมเพื่อการศึกษา และสร้างทรัพยากรมนุษย์ :

เราถามอาจารย์ปอมว่า เจ้า KNACKSAT ที่ส่งขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศช่วยสร้างประโยชน์ด้านไหนให้แก่ประเทศ ปลายสายตอบว่า "จุดประสงค์ของดาวเทียมนี้ ไม่ได้จะเอาไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นถ่ายรูป หรือดูภัยธรรมชาติ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย" เดี๋ยวนะ…. คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งทำหน้านิ่วคิ้วขมวด ตั้งแง่ว่า KNACKSAT ไร้ประโยชน์ เพราะจุดประสงค์แท้จริงของดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกนี้ มีเพื่อการศึกษา

ดร.พงศธร เผยว่า เราเขียนจุดประสงค์ของ KNACKSAT ไว้ตั้งแต่แรกว่า เราจะสอนให้เด็กไทยสร้างดาวเทียมให้เป็น อย่างข้างในจะมีกล้อง แต่ก็เป็นกล้อง iPhone 4 เหมือนกับเราเอามือถือขึ้นไปในอวกาศ ฉะนั้น รูปที่ส่งมาจะเห็นเป็นแค่รูปโลก แต่ไม่เห็นสิ่งอื่นๆ เพราะรายละเอียดมันต่ำมาก

"เป้าหมายของเราไม่ใช่ดาวเทียม แต่คือคนที่สร้างดาวเทียมเป็น เพราะถ้าเขาสร้างดาวเทียมดวงนี้ได้แล้ว แม้วันนี้มันจะถ่ายรูปละเอียดไม่ได้ แต่ในอนาคตพวกเขาอาจจะสร้าง แต่เป้าหมายของเรามันไม่ใช่ดาวเทียมแต่มันคือคนที่สร้างดาวเทียมเป็น"

"เพราะถ้าเขาสร้างดาวเทียมไปแล้ว ต่อไปคุณอาจจะได้ ดาวเทียมที่มองเห็นรถ มองเห็นภัยธรรมชาติได้ ดังนั้น จึงเป็นที่มาว่าเราต้องเริ่มสร้างคนก่อน ดาวเทียมลงนี้มันเลยมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษา เพราะเราต้องการสร้างคนที่มีประสบการณ์และได้ทำกับมือ มันอาจจะสำเร็จบ้างหรือไม่สำเร็จบ้างแต่เขามีประสบการณ์"

KNACKSAT สร้างเงินบาทแรกให้กับไทย :

ดร.พงศธร ได้ยกตัวอย่างหนึ่งในข้อผิดพลาด ที่กลายเป็นบทเรียนของการทำดาวเทียม คือ “ทุกวันนี้ดาวเทียมยังอยู่ ก็ถ่ายรูปไม่ได้” ปัญหานี้สืบเนื่องจากระบบไฟฟ้าเกิด Noise จนทำให้มันรบกวนระบบสื่อสาร ทั้งระบบที่จะส่งลงมาและระบบภาคพื้นดิน

ดาวเทียม KNACKSAT จึงไม่สามารถอ่านสัญญาณคำสั่งได้ ส่งกลับมาได้เพียงสัญญาณอ่อนๆ ที่เป็นรหัสมอส ซึ่งจะถูกนำมาแปลเป็นข้อความทำให้ทราบสถานะของดาวเทียม เช่น แบตเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ "ดังนั้น ระบบสื่อสารเราไม่ได้พัง แต่มันเกินที่จะใช้งานได้"

ความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดกับ KNACKSAT ทำให้อาจารย์ปอม โดนนักวิชาการในประเทศบางคนก่นด่าว่า ส่งไปก็ไม่มีประโยชน์ เสียดายภาษีประชาชน มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง แม้จะโดนคำครหา แต่ความแน่วแน่ที่ตั้งมั่นในใจ ก็ไม่เคยโอนไหวตามแรงเหล่านั้น อ.ปอม ยืนยันว่า "ถ้าเราไม่ทำ เราจะไม่รู้"

"สิ่งที่ผมประทับใจกับผลงานชิ้นนี้ คือ เด็กที่ทำระบบสื่อสารเจ๊งในวันนั้น เขาคือ NBSPACE ในปัจจุบัน ทุกวันนี้ระบบสื่อสารที่เราเคยทำเจ๊ง เราแก้ไขหมดเรียบร้อยแล้ว มันกลายเป็น Main Product ส่งให้กับ Space Agency ของมาเลเซีย และอีกหลายๆ ประเทศ"

หมายเหตุ : NBSPACE เป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการทางเทคโนโลยี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

ความไม่รู้และจุดบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีต ดร.พงศธรถึงกับเอ่ยปากว่า ต้องขอบคุณที่มันมีปัญหาในวันนั้น เพราะมันทำให้ได้รู้ว่าตรงไหนที่ไม่เวิร์ก อีกทั้ง จุดบกพร่องในวันนั้น กลายมาเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ ที่ช่วยสร้างเงินบาทแรกจากการขายเทคโนโลยีอวกาศให้กับประเทศไทย

"ผมเลยมองว่ามันคุ้มมากเลยที่เราสร้างคนในวันนั้น" ดร.พงศธร กล่าวกับเรา

มุมมองต่ออนาคตวงการอวกาศไทย :

"ผมว่าวงการอวกาศไทยดีขึ้นกว่า 10 ปีที่แล้ว เพราะตอนนั้นที่เอาดาวเทียมจำลองไปเดินเร่ขอทุน มีแต่คนหัวเราะและหาว่าผมบ้า กลับกันตอนนี้ มีบริษัทด้านอวกาศเกิดขึ้นหลายที่ในประเทศ ส่วนของภาครัฐเอง ก็มีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ที่สร้างดาวเทียมของตัวเอง แถม กระทรวง อว. ยังมีดาวเทียมด้วย กลายเป็นว่ามันไม่ใช่เรื่องประหลาดอีกต่อไป" อาจารย์ปอมกล่าวกับเรา หลังจากถามว่า ขณะนี้วงการอวกาศไทยเป็นอย่างไร

ในส่วนของหนทางแห่งอนาคต ดร.พงศธร สายสุจริต มองว่า สำหรับประเทศไทยโดยปกติแล้วเราจะมองกันว่า อุตสาหกรรมนั้นๆ สร้างรายได้ให้กับประเทศหรือเปล่า อะไรที่ทำแล้วสร้างรายได้รัฐบาลและประเทศจะสนับสนุน แต่ปัญหาของเทคโนโลยีอวกาศ คือ ช่วงแรกจะขาดทุน เพราะต้องทุ่มเงินลงไปกับการวิจัยและพัฒนาค่อนข้างสูง จนกระทั่งช่วงหนึ่งกราฟถึงจะขึ้นแบบ exponential

"เมื่อถึงจุดนั้นเราจะเริ่มหารายได้จากมันได้ เพราะสินค้าเกี่ยวกับอวกาศ เป็นเทคโนโลยีมูลค่าสูง เพราะฉะนั้น มันจะเป็นการลงทุนแบบระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่ค่อยถนัด เพราะเราไม่รู้ว่าจะลงทุนไปอีกนานแค่ไหนถึงจะได้กำไร ภาพมันไม่ชัดคนตัดสินใจก็เลยตัดสินใจได้ลำบาก"

อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลการบินและอวกาศ แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับประเทศ ต้องดูว่าผู้นำจะมีวิสัยทัศน์มากแค่ไหน เพราะตอนนี้โลกกำลังให้ความสำคัญ และทุ่มงบประมาณเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ ส่วนไทยเรายังลังเลที่จะทุ่มเงินลงไป เพราะยังมีข้อสงสัยว่ามันจะเวิร์กจริงเหรอ

แต่ผมแค่อยากสื่อสารว่า นี่คืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตต ถ้าเราไม่ทำวันนี้อนาคตจะไม่มา และอวกาศ ‘มันทำเงินได้’ จริงๆ ถ้าคิดจะเริ่มต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เพราะพูดกันตามตรงว่า เรื่องอวกาศลูกค้าก็คือรัฐ ถ้ารัฐไม่เป็นลูกค้าอุตสาหกรรมก็จะไม่เกิด

คิดว่าเรื่องอวกาศเปลืองภาษีก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด :

มาถึงจุดนี้เราต้องยอมรับว่า ยังมีคนในชาติอีกจำนวนมากที่อาจจะมองว่า การทุ่มงบประมาณไปกับเทคโนโลยีอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว และเปลืองภาษี อย่างไรก็ดี อาจารย์ผู้คลั่งไคล้อวกาศปลายสายมองเรื่องนี้ว่า "คนคิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลยครับ"

"ด้วยเหตุที่สังคมไทย อาจจะยังมีสวัสดิการพื้นฐานที่ยังไม่ตอบโจทย์ และเศรษฐกิจไม่ค่อยดีในมุมของพวกเขา ดังนั้น ในฐานะประชาชนของประเทศผู้เสียภาษี เขาจึงมองว่าแค่เสียภาษีก็แย่อยู่แล้ว จึงอยากไม่อยากคิดไปถึงการมีเทคโนโลยีอวกาศ มองไม่เห็นว่าจะเอาเงินไปทุ่มทำไม การมีความรู้สึกแบบนี้จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่น่าแปลกใจ เราไปเบลมเขาไม่ได้ว่าเขาคิดผิด"

ส่วนตัวผมเอง เพียงแค่อยากเสนอมุมมองอีกฝั่งหนึ่งก็เท่านั้น… ถ้าเราอยากให้ไทยหลุดจากประเทศรายได้ปานกลาง แต่ทำแบบเดิมๆ เราก็จะเหมือนเดิม ที่ผ่านมาเมืองไทยลืมตาอ้าปากได้ด้วยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ เรามีรายได้จากการจ้างงานเพื่อผลิตสินค้าให้กับโรงงานต่างๆ ของโลก ทำให้ไทยก้าวพ้นจากประเทศรายได้ต่ำสู่ปานกลาง ดังนั้น ถ้าเราทำแบบเดิมเราจะไม่จน… แต่เราไม่รวย คนที่จะรวยต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยี

"ผมมองว่าเราสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ไปพร้อมๆ กับลงทุนเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ อาจจะทีละเล็กละน้อยแต่สม่ำเสมอ ทำควบคู่กันไป เพราะถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ เราจะไม่มีวันข้างหน้า” อาจารย์ปอมกล่าวกับเรา

ดร.พงศธร สายสุจริต ทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่ผมเคยเป็นเด็ก ผมรู้สึกว่าอวกาศมันทำให้มองโลกและสังคมในภาพรวมได้ดี อวกาศมันเปิดความรู้และประสบการณ์หลายอย่าง ไม่ใช่ว่าคนที่ทำเรื่องอวกาศ จะต้องทำดาวเทียมขาย แต่เทคโนโลยีที่เราได้มาระหว่างทาง มันจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก อวกาศจึงเป็นสิ่งน่าส่งเสริมครับ

ภาพ : ดร.พงศธร สายสุจริต

อ่านบทความที่น่าสนใจ :