ปริศนา 2 ศพ เสียชีวิตในรถยนต์ ขณะจอดนอนบริเวณปากซอยพัฒนาการ 12 ตำรวจไม่พบร่องรอยการต่อสู้ คาดทั้งคู่สูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่รั่วเข้ามาในรถ จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ทำให้หมดสติ แม้ยังสตาร์ตรถอยู่ ประกอบกับการดื่มสุรา ยิ่งกระตุ้นทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น เผยเคล็ดลับ หากจำเป็นต้องนอนในรถ ต้องดับเครื่อง เปิดกระจก
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 67 พบผู้เสียชีวิต 2 ราย ภายในรถยนต์ที่จอดไว้บริเวณปากซอยพัฒนาการ 12 เจ้าหน้าที่มายังจุดเกิดเหตุ ได้งัดประตูรถออก พบชาย-หญิงเสียชีวิตบนเบาะคนขับและที่นั่งข้างกัน จากการสอบถามพยานแวดล้อม พบทั้งคู่น่าจะสตาร์ตรถนอน แล้วขาดอากาศหายใจ เนื่องจากตรวจสอบพบว่ารถน้ำมันหมด แต่ไม่พบบาดแผลบนตัวของทั้งคู่ ขณะข้อมูลอีกบางส่วนระบุผู้เสียชีวิตฝ่ายชายมีการดื่มสุรามาก่อนเสียชีวิต
รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เสียชีวิตว่า กรณีการเสียชีวิตของทั้งคู่ที่เกิดขึ้น มีการระบุว่า ผู้ตายมีการดื่มสุราก่อนมาสตาร์ตรถนอนเสียชีวิต โดยสาเหตุการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง
...
ปกติรถยนต์ที่ซื้อมาใหม่ ตัวซีนยาง ระบบโครงสร้างเหล็กภายในรถยังไม่สึกกร่อน จะไม่มีปัญหานี้ แต่เมื่อรถยนต์ที่ใช้ไปนาน มีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ รั่วไหลเข้ามาในห้องโดยสาร คดีที่เกิดขึ้นมีโอกาสมากที่ก๊าซจะรั่วไหลเข้ามาในรถ ประกอบกับผู้ตายดื่มสุรา ที่มีฤทธิ์กดประสาททำให้เกิดอาการง่วงซึม
เมื่อผู้ตายเข้าไปนอนในรถ ด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ และการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่รั่วไหลภายในรถ จะยิ่งทำให้มีอาการง่วงซึม โดยปกติถ้าคนได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ในปริมาณไม่มากในช่วงแรก ทำให้เกิดอาการง่วงซึม หมดสติ แต่ยังไม่เสียชีวิต หากผ่านไปสักพักใหญ่ คนที่หมดสติยังสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ต่อเนื่อง จะทำให้เสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุเสียชีวิตจากการรับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปแย่งจับกับออกซิเจน เพราะปกติเวลามนุษย์หายใจ เอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย เลือดจะไปจับกับออกซิเจน และไปเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆ เมื่อมีปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เข้าไปในร่างกายจำนวนมาก จะแย่งจับกับเลือดได้ดีกว่าออกซิเจนถึง 200 เท่า เมื่อเลือดส่งไปเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆ จะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน
สมองเป็นอวัยวะแรก ที่ไวต่อก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อรับเข้าไปจะเกิดอาการหมดสติ ถ้าสมองขาดออกซิเจนนานกว่า 4 ชั่วโมง ทำให้เสียชีวิต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าต้องได้รับนานเท่าไรในรถถึงเสียชีวิต เพราะขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่รั่วไหลเข้ามาในรถ
ทางรอด หากต้องนอนในรถไม่ให้เสียชีวิต
สำหรับทางรอดคนที่ต้องนอนในรถ รศ.นพ.วีระศักดิ์ มองว่า ทางที่ดีไม่ควรนอนในรถ เพราะมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องนอน ต้องแง้มกระจก ให้มีการถ่ายเทของอากาศ โดยจะทำให้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่รั่วไหลไม่ฟุ้งจนเกินไป และทำให้ก๊าซมีพิษต่อร่างกายน้อยลง
“คนที่รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ จะสังเกตตัวเองได้ยาก เพราะก๊าซไม่มีสีและกลิ่น ประกอบกับเมื่อรับเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ง่วงซึม ซึ่งในคนที่ดื่มเหล้า หรือพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะหลับได้ง่ายขึ้น ทำให้สังเกตตัวเองได้ยาก ดังนั้น ทางรอดเดียวที่ทำได้คือ ต้องดับเครื่อง เปิดกระจกแง้มเอาไว้ การสตาร์ตรถไว้ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ก๊าซเข้ามา เนื่องจากมีการเผาไหม้ของเครื่องยนต์”
...
การจอดรถในที่โล่งหรือภายในอาคาร มีความเสี่ยงเท่ากัน เพราะก๊าซที่เกิดขึ้นมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ที่รั่วไหลเข้ามาในห้องคนขับ
สาเหตุการเสียชีวิตในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้กับคนที่มีร่างกายแข็งแรง และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงมาก เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว เมื่อสูดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เข้าไปในปริมาณมาก.