"ได้ดี ได้คิด เพราะติดคุก" เปิดชีวิตเจ้าของเพจ 'ขี้คุกเขียนรูป' อดีตพ่อค้ายาเสพติด ที่เข้าสู่วงจรค้ายาตั้งแต่อายุ 14 ปี โดนจองจำอิสรภาพ 2 ครั้ง ก่อนเข้าสู่วงการวาดภาพ ใช้โอกาสและแรงศรัทธา จนได้เป็นจิตรกรมากฝีมือรวยน้ำใจ ที่ไม่ขอกลับไปยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดอีกตลอดชีวิต!

ในช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์ทุกคน เราเชื่อว่าไม่เคยมีใครไม่ทำผิดพลาด อยู่ที่ว่าจะได้เรียนรู้และนำมาปรับปรุงตนเองหรือไม่ 'บอมม์-วรรณวัฒน์ หาญรุ่งเรืองกิจ' คือหนึ่งบุคคลตัวอย่างที่เคยก้าวพลาด จากการเข้าสู่วงการค้ายาเสพติด จนต้องถูกจองจำอิสรภาพในเรือนจำรวมกว่าทศวรรษ แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตก็ฉุกคิดขึ้นได้ เขาเลือกที่จะหันหลัง และไม่กลับไปสู่วงจรนั้นอีก

นับจากนี้ คือ เรื่องราวแห่งชีวิตจริง จากอดีต 'คนขี้คุก' ที่ใช้แรงศรัทธาและโอกาส ผลักดันตัวเองขึ้นมาจากพ่อค้ายาเสพติด จนได้เป็นจิตรกรผู้รวยน้ำใจ!

เริ่มใช้ยาเสพติดเมื่ออายุ 14 ปี : 

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก บอมม์ เผยว่า เขาเกิดในครอบครัวที่อบอุ่น มีพี่น้อง 4 คน ทั้งหมดเป็นผู้ชาย ตัวเขาเป็นบุตรคนที่ 2 แห่งบ้านหาญรุ่งเรืองกิจ แม้ครอบครัวจะดูรักใคร่และอบอุ่น แต่สภาพแวดล้อมของแหล่งพักพิงกายเป็นชุมชนที่มียาเสพติดระบาด บอมม์ในวัย 14 ปี เห็นเพื่อนใช้ยาเสพติด จึงเริ่มอยากรู้อยากลอง เมื่อร่างกายได้รับสารกระตุ้นเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บอมม์กลายเป็นเด็กติดยา

...

จากผู้เสพกลายเป็นคน 'เดินยอด' คอยส่งยาให้ผู้ที่โหยหาสารเหล่านั้น บอมม์บอกว่าตอนนั้นแค่คิดว่าอยากหารายได้เล็กๆ น้อยๆ ไว้ใช้ซื้อของที่ตนต้องการ และทำเช่นนั้นต่อเนื่องจนกระทั่งอายุ 17 ปี "ที่ตอนนั้นตัดสินใจเดินยอด เพราะวุฒิภาวะเราต่ำ เรายังตัดสินใจอะไรในชีวิตไม่ค่อยได้ อายุน้อย ประสบการณ์น้อย"

ชายคนหนึ่งที่ใช้สารเสพติดและหารายได้จากตรงนั้น 3 ปีเต็ม! เขาเริ่มเสพติดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีความคิดที่ใหญ่ขึ้น "อยากได้รถมอเตอร์ไซค์ อยากแต่งรถ อยากมีเงินใช้" เมื่อภาพฝันใหญ่กว่าที่ตัวมี บอมม์จึงตัดสินใจติดต่อเพื่อนที่ค้ายาเสพติดด้วยกัน เพื่อรับสินค้ามาขายเอง ส่งผลให้นายบอมม์เริ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มากเสียกว่าวัยรุ่นในยุคเดียวกัน เขาขับรถยนต์ BMW 2 ประตู มีบ้านเป็นของตัวเอง และมีสร้อยคอทองคำ น้ำหนักรวม 14 บาท!!! 

"ผมใช้ชีวิตแบบนี้มาถึงอายุ 24 ปี ไม่เคยโดนจับเลยสักครั้ง เพราะหว่างที่ขายผมไปหาเจ้าหน้าที่เพื่อคุยข้อตกลงกัน ผมจะขายยาให้ตำรวจแลกกับการไม่จับผม" แผนอันแยบยลที่ถูกใช้มาราว 10 ปี ทำให้ชายคนนี้กลายเป็นผู้มั่งคั่ง แต่แล้วโชคชะตาก็ไม่ได้เข้าข้างเขาเสมอไป เพราะมีเจ้าหน้าที่บางคน "ไม่ชอบขี้หน้าผม!"

"ผมถูกยัดคดีชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำ 2 บาท แต่ผมถามหน่อยว่าผมจะทำไปทำไม ในเมื่อผมมีทองติดตัวอยู่ 14 บาท ผมจึงมอบตัวและสู้คดีแต่สุดท้ายก็แพ้ ศาลตัดสินจำคุก 18 ปี 3 เดือน" วรรณวัฒน์ ย้อนอดีตฝังใจให้ทีมข่าวฯ ฟัง

ติดคุกครั้งแรก และติดเฮโรอีนในเรือนจำ : 

พ.ศ. 2549 เป็นครั้งแรกที่ นายวรรณวัฒน์ ได้ย่างเท้าเข้าสู่เรือนจำกลางคลองเปรม บอมม์เผยว่าเมื่อเข้าไปอยู่สถานที่แห่งนั้น เงินทองที่เคยมีก็เริ่มหมดไปกับการสู้คดี และการใช้จ่ายเพื่อมาเยี่ยมตัวเขาเอง 

บอมม์ยังคงไม่ได้ห่างหายไปจากวงการสารเสพติด เพราะเขาไปเจอการใช้เฮโรอีนในเรือนจำ วรรณวัฒน์จึงขอดูสักครั้ง เขาเสพเฮโรอีนค่อนข้างหนัก จนถึงกับเอ่ยปากต่อเราว่า "เป็นปีที่สาหัสที่สุดสำหรับผม เพราะผมติดผงเฮโรอีน" บอมม์พัฒนาการใช้สารตัวนี้จากการดมสู่การฉีดเข้าเส้นเลือด!

แม่ของวรรณวัฒน์เลือกที่จะย้ายบ้านมาอยู่ใกล้เรือนจำ ทำให้เธอมีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมลูกชายอยู่บ่อยครั้ง บอมม์ที่ยังมีจิตใจห่วงมารดาและเห็นความยากลำบากนั้น จึงตัดสินใจสารภาพกับแม่ว่า "ผมติดเฮโรอีน" แม่ของเขาเงียบไปสักพัก น้ำตาเริ่มเอ่อคล้ายคนกำลังจะร้องไห้ ก่อนจะเอ่ยปากตอบกลับวรรณวัฒน์ว่า "เรารักแม่ไหม ถ้ารักต้องเลิกนะ" คำพูดเชิงขอร้องปนอ้อนวอนของผู้ให้กำเนิด คล้ายกับคำประกาศิต บอมม์ตัดสินใจเลิกเฮโรอีนแบบหักดิบ เพราะไม่อยากเห็นแม่ทุกข์ใจ

...

วันเวลาในเรือนจำล่วงไปแล้ว 4 ปี บอมม์เห็นลูกโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความปรารถนาที่อยากออกจากสถานจองจำไปใช้ชีวิตกับครอบครัวแรงขึ้นเรื่อยๆ "ผมจึงยื่นอุทธรณ์สู้คดี แต่ผลอุทธรณ์ยังคงตามศาลชั้นต้น ทำให้ผมเครียดมาก เพราะเป็นคดีที่ผมไม่ได้ทำ ตอนนั้นผมก็เลยเกเรในเรือนจำด้วย จนต้องใส่ตรวนไว้"

เมื่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นไปตามศาลชั้นต้น นายวรรณวัฒน์ถึงกับเอ่ยปากว่า "ผมก็เริ่มถอดใจไม่อยากจะสู้แล้ว ตอนแรกว่าจะไม่สู้และยอมแพ้" แต่แล้วก็มีนักโทษคนหนึ่งเสนอตัวว่า จะเป็นคนเขียนอุทธรณ์ให้ ขอเงินเป็นค่าตอบแทนเพียง 2,000 บาทก็พอแล้ว

"ก่อนหน้านั้นผมเคยเสียค่าทนายชั้นต้นไปแสนกว่า อุทธรณ์อีก 50,000 บาท พอนักโทษคนนั้นมาขอแบบนั้น ผมเลยคิดว่าถ้าจะสู้แล้วก็ต้องสู้ให้สุดก็เลยลองดู เพราะผมไม่ได้เป็นคนผิด หากผมยอมรับผมจะกลายเป็นจำเลยของสังคม ผมจะมีตราบาปก็เคยชิงทรัพย์คนอื่น เลยให้นักโทษคนนั้นเขียนฎีกาสู้คดี ในที่สุดศาลฎีกาเรียกออกไปฟังคำตัดสิน และมีผลว่ายกฟ้อง"

วรรณวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ. 2555 รวมเวลาในการติดคุกครั้งนี้ทั้งสิ้น 6 ปี!

...

กลับสู่วงจรค้ายา และโดนจับเพราะถูกล่อซื้อ : 

ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ชายผู้นี้รู้สึกสลดใจ เพราะระหว่างที่อาศัยอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรม เขาได้เครือข่ายยาเสพติดออกมาอีกด้วย "ต้องบอกก่อนว่ายุคนั้นยาเสพติดระบาดในเรือนจำ พอเราออกมาเราก็โทรกลับเข้าไปในเรือนจำ เพื่อที่จะเอายาเสพติดออกมาขาย"

เราถามบอมม์ว่า เหตุใดจึงเลือกที่จะเดินเส้นทางสายนี้อีกครั้ง วรรณวัฒน์ ตอบว่า ผมทำเหมือนประชดชีวิต เพราะผมเคยมีมาก่อนทุกอย่าง จู่ๆ วันนึงมาหมดไปกับคดีที่เราไม่ได้ทำ มันรู้สึกเจ็บใจ ผมเลยเริ่มขายยาอีกครั้งตอนปี 2556 ทำให้ตัวเองเริ่มกลับมามีทรัพย์สินในที่สุด

ความสำราญและเงินจากการค้ายา ทำให้บอมม์มีชีวิตที่สุขสบายอีกครั้ง แต่เขาก็อยู่อย่างนั้นได้เพียง 3 ปี เมื่อเวลาล่วงเข้าสู่ พ.ศ. 2559 อดีตรุ่นน้องคนสนิทของบอมม์เป็นสายให้กับตำรวจ ล่อซื้อยาเสพติดกับเจ้าตัว ทำให้โดนจับเป็นครั้งที่ 2 

กล้าทำก็กล้ารับ! ครั้งนี้วรรณวัฒน์โดนจับด้วยคดีค้ายาเสพติด เขาจึงยอมรับสารภาพทั้งหมดต่อหน้าศาลผู้ธำรงซึ่งกฎหมาย ศาลจึงตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา 4 ปี 6 เดือน ณ เรือนจำกลางพิเศษธนบุรี!

...

พยายามเข้าสู่งานช่าง 10 หมู่ เพราะไม่อยากทำงานหนัก : 

บอมม์เผยกับเราตั้งแต่เข้าสู่การสนทนาช่วงนี้ว่า "นี่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตผม"

วรรณวัฒน์ เล่าว่า ณ เรือนจำพิเศษแห่งนี้ มีกองงานที่ชื่อว่า "กองงานช่าง 10 หมู่" ซึ่งถูกตั้งขึ้นตามพระราชดำรัสของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ 'สมเด็จพระเทพ' ที่ชาวไทยเรียกพระองค์กันอย่างคุ้นชิน 

"ช่วงนั้นผมรักสบาย ไม่ค่อยอยากทำงานในเรือนจำ เช่น งานเย็บรองเท้า เลยลองไปสมัครเรียนวิชาช่างสิบหมู่ ผมโดนปฏิเสธอยู่ทั้งหมด 4 ครั้ง เนื่องจากรอยสักบนตัวออกนอกร่มผ้ามากเกินไป ช่วงนั้นที่โดนปฏิเสธก็ยังไม่ได้รู้สึกอะไรมาก เพราะกองงานนั้นเขาไม่ค่อยรับคนที่มีรอยสักเยอะ เพราะมักจะได้ต้อนรับบุคลากรภายนอกอยู่บ่อยครั้งซึ่งเข้ามาดูงานในเรือนจำ เลยมองว่าไม่ได้ไปก็ไม่เป็นไร"

แม้ไม่มีองค์ความรู้ด้านงานศิลป์เลยสักนิด แต่บอมม์มีพรสวรรค์ด้านการเขียนตัวหนังสือ เขาเป็นคนที่เขียนหนังสือได้สวยงามจนต้องตาผู้คุมเรือนจำ ทำให้เขาได้รับหน้าที่ใช้ความสามารถนั้น บรรจงบรรยายปรัชญาชีวิต และกฎของเรือนจำลงบนกำแพงตามจุดต่างๆ 

ฝั่งของกองงานช่าง 10 หมู่ เมื่อมีการพระราชทานอภัยโทษ นักโทษที่เป็นนักเรียนของกองงานนี้มักจะได้รับการปล่อยตัว ทำให้กองงานต้องเฟ้นหานักเรียนใหม่อยู่เป็นระยะ วันหนึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งให้บอมม์เขียนกำแพง ได้แนะนำเจ้าหน้าที่ในกองงานช่าง 10 หมู่ว่า "มีคนนึงที่เขียนกำแพงให้แล้วทำได้ดี น่าจะต่อยอดงานศิลป์ได้" วรรณวัฒน์จึงถูกเรียกเข้าไปยังกองงาน 

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ในกองงานได้เห็นบอมม์ ถึงกับเอ่ยปากว่า "กูไม่รับมึง มึงมาสมัครตั้ง 4 รอบแล้ว มึงกลับไปเลย" วรรณรัฒน์ตอบกลับอย่างห้าวหาญว่า "ผมไม่ได้อยากมาเหมือนกัน แต่เจ้าหน้าที่ให้มา เลยต้องมา" ด้วยใจกล้าและฝีปากไม่เป็นรองใคร เจ้าหน้าที่ประจำกองงาน จึงตอบกลับว่า "งั้นไปลองเขียนชื่อและนามสกุลของกูมาให้ดูหน่อย" บอมม์รู้สึกได้ว่านี่คือโอกาสพิสูจน์ข้อครหา จึงพยายามบรรจงเขียนตัวอักษรให้ดีที่สุดในชีวิต เวลาผ่านไป 3 วันหลังส่งผลงานชิ้นนั้น บอมม์ก็ถูกเรียกตัวเข้าสู่กองงานช่าง 10 หมู่ทันที!

"วาดแบบนี้ มึงกลับไปอยู่แดนเดิมเถอะ!" : 

เจ้าหน้าที่ที่เคยไล่บอมม์กลับไปแดนของตัวเอง ต่อมาก็ได้กลายเป็นหนึ่งในอาจารย์ของบอมม์ ซึ่งต่อจากนี้ เราจะขอเรียกแทนเจ้าหน้าที่ผู้นั้นว่า "อาจารย์"

ทีมข่าวฯ ถามว่าอาจารย์ได้ให้เหตุผลหรือไม่ว่าทำไมถึงตัดสินใจรับเข้ากองงาน บอมม์เผยคำตอบให้ฟังว่า "เขาบอกว่ามาลองคิดดูแล้ว นักโทษทุกคนควรได้รับการแก้ไขและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยิ่งคนที่มีรอยสักยิ่งต้องได้รับการแก้ไขพฤติกรรม ทำให้ตอนแรกที่ผมได้เรียนผมรู้สึกดีใจที่ได้ไป เพราะเราก็เบื่อการเขียนกำแพงแล้ว"

แต่ด้วยความไม่มีองค์ความรู้ใดๆ เกี่ยวกับศาสตร์แห่งศิลป์ ทำให้วรรณวัฒน์ตั้งคำถามตั้งแต่วันแรกที่ได้เรียนในกองงานช่าง 10 หมู่ว่า "กูมาทำอะไรที่นี่" เพราะเขาทำอะไรไม่เป็นเลยสักอย่างไงล่ะ! การได้อยู่ท่ามกลางคนที่ตนเองรู้สึกว่าเก่ง ทำให้ยิ่งรู้สึกท้อในใจ จนหวนคิดเข้ามาในหัวว่า "คงไม่ได้อะไรจากการเรียนตรงนี้ คงไม่มีอาชีพติดตัวกลับออกไป อาชีพที่เหมาะสมกับเราที่สุดก็คงจะเป็นการขายยา ผมเชื่อในใจแบบนั้น"

ความท้อและความกลัวรวมตัวขึ้นในใจนายวรรณวัฒน์ ทำให้เขาพยายามวิ่งหนีความรู้และการเข้าเรียนตลอด "ถ้าวิทยากรอยู่ข้างบนผมจะอยู่ข้างล่าง ถ้าเขาอยู่ข้างล่างผมจะอยู่ข้างบน ผมหนีอยู่ประมาณ 2-3 อาทิตย์" แต่เมื่อหนีไปเรื่อยๆ อาจารย์ผู้รับบอมม์เข้ามาก็จับตาดูอยู่ บอมม์จึงถูกเรียกตัวเข้าพบ และอาจารย์เอ่ยปากว่า "ถ้ามึงไม่เรียนก็กลับไปอยู่แดนมึง กลับไปเย็บรองเท้าเหมือนเดิม"

เมื่อได้ยินแบบนั้น ตัวเขาที่ไม่อยากกลับไปจึงตัดสินใจลงเรียน 'วิชาจิตรกรรมไทย' เรียนทั้งหมด 8 เดือน จำนวน 800 ชั่วโมง "ผมเรียนจนจบก็ไม่เข้าใจ ไอ้อันที่เข้าใจก็รู้สึกไม่กระจ่าง" บอมม์เล่าปนขำ เมื่อมองย้อนเห็นตัวเองวันนั้น

"ผมทำงานขึ้นมาชิ้นหนึ่ง พออาจารย์เดินมาเห็นเขาถามว่าใครเป็นคนวาด ผมนึกในใจว่าเขาต้องชมแน่ๆ เลยบอกว่าผมเป็นคนวาดครับ เขาตอบกลับทันทีว่า เดี๋ยวออกไปเอาตังค์กับพี่ เดี๋ยวพี่ให้ 3,000 บาท ผมก็งงว่าเอาไปทำอะไรครับ เขาตอบว่า มึงเอาเงินนี้ไปซื้อลูกชิ้นขายหน้าโรงเรียน ถ้าวาดแล้วเป็นแบบนี้ มึงไม่ต้องวาดดีกว่า"

จากคาดหวังคำชมกลับกลายเป็นคำดูหมิ่น บอมม์ยอมรับว่า "ผมรู้สึกหดหู่ เพราะเป็นภาพแรกในชีวิตที่วาดขึ้นมา มันรู้สึกเฟลมากๆ" บอมม์ไขว้เขวเพราะคำพูดของผู้เป็นครู เขาไม่ทำอะไรเลยตลอด 3 วันนับจากนั้น จนอาจารย์ถึงกับเอ่ยปากอีกครั้งว่า "ถ้าไม่ทำอะไรก็กลับแดนมึงไปเถอะ" ทำให้เขารู้สึกกดดันอีกครั้ง!

ท้าทาย 'พระพิฆเนศ' มีจริงหรือแค่อุปโลกน์! : 

บอมม์งงและเขวกับชีวิตไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จึงตัดสินใจเดินไปตรงหน้า 'พระพิฆเนศ' ที่ประดิษถานอยู่หน้ากองงานช่าง 10 หมู่ ตัวเขาผู้ซึ่งไหว้แต่พระ ไม่เคยเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งอื่น จึงท้าทายอำนาจแห่งศรัทธา ด้วยฝีปากและวาจาอันแรงกล้าว่า…

"พระพิฆเนศที่นอนอยู่ตรงนี้มีจริงไหม หรือว่าอุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาให้ผู้คนเขากราบไหว้เฉยๆ ถ้ามีอยู่จริงบนโลกมนุษย์ ช่วยทำให้ผมประสบความสำเร็จในชีวิตหน่อย ไม่ว่าจะข้างนอกหรือข้างในผมไม่เคยได้เจอกับเส้นทางที่ดีเลยในชีวิต ถ้าพระองค์นำทางให้ผมประสบความสำเร็จในชีวิต ผมจะสวดมนต์ถึงพระองค์ทุกวัน ต่อจากนี้ไม่ว่าจะอยู่ข้างนอกหรือในเรือนจำ"

หลังจากท้าทายสิ่งที่มองไม่เห็นเพียง 1 วัน วรรณวัฒน์ได้เจอกับไม้กระดานเก่าๆ เขาหยิบขึ้นมาโดยไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไร แต่แล้วในใจก็นึกถึงพระพิฆเนศ จึงเริ่มบรรจงวาดรูปพระองค์ที่เป็นแบบเดียวกับหน้ากองงาน เขาวาดรูปนั้นอยู่ประมาณ 6 เดือน 

วันหนึ่งที่วาดจวนเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ระบุชื่อตนลงไป มีนักศึกษาเข้ามาดูงานในเรือนจำ นักศึกษาหญิงคนหนึ่งเอ่ยถามต่อบอมม์ท่ามกลางเพื่อนของเธอที่อยู่ตรงนั้นประมาณ 20 คนว่า "ภาพพระพิฆเนศนี้ขายไหม" ยังไม่ทันจะได้เอ่ยปากตอบกลับ เพราะตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าขายได้หรือไม่ อาจารย์ก็เดินมาเห็นแล้วตอบกลับแทนทันทีว่า "อ๋อ…ภาพนี้ขาย แต่ต้องเอาไปโชว์ที่งานอุ่นไอรักก่อน"

เมื่อนักศึกษาเดินทางกลับ นายวรรณวัฒน์ ถูกอาจารย์เรียกเข้าพบ ตนคิดว่าต้องถูกตำหนิอย่างแน่นอน เพราะที่แห่งนั้นมีกฎว่าห้ามสนทนากับนักศึกษา "อาจารย์พูดว่า มึงรู้ไหม ผมเลยชิงตอบว่า รู้ครับว่าไม่ให้คุยกับนักศึกษา แกก็เลยตอบว่า เปล่า… มึงรู้ไหมว่าความสำเร็จของการวาดรูปคืออะไร ผมเลยบอกว่า 'ไม่รู้ครับ รู้แค่ว่ามาวาดรูปทุกๆ วันให้อาจารย์ว่าผม' อาจารย์ตอบกลับว่า 'ไม่ใช่… วันไหนที่มึงวาดรูปแล้วมีคนมาขอซื้อรูปมึง นั่นแหละคือมึงประสบความสำเร็จในการวาดรูป' พอได้ฟังผมก็รู้สึกใจฟูเลยว่าผมทำได้"

ภาพพระพิฆเนศชิ้นดังกล่าว ถูกนำไปโชว์และประกวดกับทุกเรือนจำ ผลงานชิ้นโบแดงนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศกลับมา ไม่เพียงเท่านั้น เศรษฐีคนหนึ่งซื้อภาพจิตรกรรมนี้ไป และอยากเจอผู้รังสรรค์ผลงาน จึงขอทางเรือนจำเข้ามาในกองงาน หลังจากชายเศรษฐีพบกับบอมม์ เขาจึงขอร้องเรื่องที่เปลี่ยนความคิดบอมม์ไปตลอดกาล

"เศรษฐีขอให้ผมวาดรูปพระพิฆเนศอีก 10 รูป เอาตามสไตล์ที่เราวาดได้เลยเดี๋ยวเขาซื้อหมด และถ้าน้องออกไปไม่มีงานทำก็วาดรูปพวกนี้มาขายพี่ พี่ซื้อหมด ใจผมก็เลยฟูยิ่งกว่าเดิม มันเลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมคิดว่าผมจะนำอาชีพนี้ไปทำหลังพ้นโทษ"

"มึงจะวาดรูปขายได้ยังไง ชื่อเสียงก็ไม่มี ใครจะซื้อมึง!" : 

ปี 2563 ครบกำหนดโทษ 4 ปี 6 เดือน นายวรรณวัฒน์ได้รับอิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง เขาเผยกับเราว่า "หลังจากออกมาจากเรือนจำ ใครก็บอกว่าชีวิตจะได้เริ่มต้นนับหนึ่ง แต่ผมติดลบไป 2 เพราะว่าบ้านที่เคยอยู่กับครอบครัวขายไปแล้ว ส่วนอีกข้อนึงคือพ่อไม่มีตังค์ให้ผมซื้ออุปกรณ์เลยสักบาท"

บอมม์เร่ร่อนพักอาศัยตามบ้านเพื่อนและน้องชายอยู่ประมาณ 1 เดือน พร้อมกับความรู้สึกที่อยากจะหาเงินจำนวนหนึ่งซื้ออุปกรณ์วาดรูป จนกระทั่งเขาตัดสินใจเดินทางไปหาเพื่อนที่เคยค้ายาเสพติดด้วยกัน หวังเพียงจะขอยืมเงินมาใช้เป็นทุนก่อร่างสร้างตัว

"กูยืมเงิน 20,000 ดิเพื่อน" บอมม์เอ่ย "มึงจะเอาไปทำอะไรตั้ง 20,000 วะ" เพื่อนถามกลับด้วยความสงสัย เขาจึงกล่าวตอบว่า "จะเอาเงินไปซื้ออุปกรณ์วาดรูป จะมาทำเป็นอาชีพหารายได้" เมื่อเพื่อนผู้เปรียบเสมือนความหวังสุดท้ายได้ยินคำตอบ จึงตอบกลับด้วยคำพูดที่วรรณวัฒน์มองว่า ไม่ต้องหวังสังคมให้โอกาส เพื่อนยังไม่ให้โอกาสเราเลย

"มึงบ้าหรือเปล่าไอ้บอมม์ มึงเพ้อเจ้อเหรอ ใครจะซื้อรูปมึง ขนาดเด็กที่เขาจบจากสายศิลปะ เขายังตกงานกันเลย แล้วมึงเป็นใครมึงจะไปขายได้ยังไง ชื่อเสียงมึงก็ไม่มี" เพื่อนชายของวรรณวัฒน์เอ่ยจบ ก่อนจะยื่น 'ยาเสพติด' จำนวนมากให้ เขาให้บอมม์นำไปขายหาเงินตั้งตัว พร้อมย้ำว่าไม่ต้องวาดรูปหรอก! 

แม้วรรณวัฒน์จะรู้อยู่เต็มอกว่านั่นเป็นความหวังดี แต่เขาก็ยืนชั่งใจไปชั่วครู่ว่า "เอาไงดีวะ จะขายได้เงินก่อน หรือจะเกมก่อน" เมื่อรู้ตัวว่าถ้าขายคงโดนจับแน่ๆ จึงตัดสินใจปฏิเสธ เลือกเดินทางไปขอยืมเงินลูกสาว 7,000 บาท เพื่อนำไปซื้อโทรศัพท์ไว้ใช้งาน

หลังจากมีเครื่องมือสื่อสารส่วนตัว วรรณวัฒน์เริ่มเรียนรู้การทำเพจและใช้เฟซบุ๊ก พร้อมกับตัดสินใจเดินทางไปยังกองงานช่าง 10 หมู่ ณ เรือนจำที่เคยขังอิสรภาพเขาไว้ พร้อมกับขออาจารย์ถ่ายรูปที่ตนเคยรังสรรค์ขึ้นมา "ผมถ่ายภาพแล้วเอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ผมเป็นอดีตนักโทษค้ายาเสพติด วันนี้อยากวาดรูปขาย ไม่อยากขายยาแล้ว"

ทุน 30,000 บาท และการวัดใจ จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางศิลปิน : 

หลังจากโพสต์เรื่องราวชีวิตลงไป สังคมเริ่มเห็นและอยากให้โอกาสอดีตนักโทษชายคนนี้ มีคนทักมาว่า "สั่งรูปหน่อย" วรรณวัฒน์จึงตอบกลับไปตรงๆ ว่า "ผมไม่มีอุปกรณ์วาดรูป ผมขอเบิกเงินเป็นทุนก่อนได้ไหม" เรียกได้ว่าคำถามที่ส่งไป และคำตอบที่ได้รับ คือ "ใช้ใจวัดใจ" บอมม์ได้รับเงินทุนรวม 30,000 บาท ทำให้เขามีเงินไปซื้ออุปกรณ์ และได้วาดรูปส่งให้ผู้มอบโอกาสเหล่านั้นตามสัญญาใจ

เราถามว่า "เพราะอะไรชีวิตครั้งนี้จึงไม่เลือกกลับสู่วังวนการค้ายาอีกครั้ง?"

วรรณวัฒน์ ตอบกลับว่า ตอนนั้นที่ผมยังเลือกค้ายา เพราะผมคิดว่าผมทำมันได้ดีที่สุด และเป็นสิ่งเดียวที่ผมทำได้ เพราะผมไม่มีอาชีพอื่น แต่เมื่อผมมีอาชีพแล้วเลยอยากไปให้สุดในเส้นทางนี้ ผมเชื่อสุดใจนะว่า ไม่มีใครอยากกลับไปทำผิดซ้ำหรอก แต่มันก็อยู่ที่สภาพแวดล้อมของเขา และอยู่ที่ว่าเขามีอาชีพพอที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเองได้ไหม ในเมื่อผมมีโอกาสแล้วผมเลยเลือกที่จะทำมัน 

ราคาภาพวาดที่บอมม์เคยขาย ต่ำสุดอยู่ที่ประมาณหนึ่งพันบาท และสุงสุดที่เขาเคยขายได้อยู่ที่ราคาประมาณ 200,000 บาท และภาพวาดกว่า 90% เป็นภาพของ 'พระพิฆเนศ' "เคยมีสื่อบางสำนักมาทำเรื่องราวของผม จนวันนึงมันไปถึงต่างประเทศ ชาวต่างชาติเขาสนใจชีวิตผม เขาเลยนำเรื่องราวของชีวิตผมไปเขียนลงในนิตยสารต่างประเทศ 3 ฉบับ และสั่งงานจากผมประมาณ 30 รูป"

วรรณวัฒน์ เผยกับทีมข่าวฯ ว่า แม้รายได้จะลดมามากพอสมควรถ้าเทียบกับตอนขายยา แต่ผมดีใจนะที่ผมได้ทำอาชีพสุจริตนี้ ตอนขายยาอาทิตย์นึงผมมีกำไร 300,000 กว่าบาท ส่วนกำไรจากการวาดรูปต่ำสุดที่เคยได้ก็ 60,000 บาท ช่วงไหนที่พีกหน่อยก็ได้ถึง 150,000-170,000 บาท 

หากอ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่สนใจจะวาดรูปกับบอมม์ เราบอกได้เลยว่าคุณต้องรีบจ้องทันที เพราะตอนนี้บอมม์วาดภาพเดือนนึงประมาณ 15 ชิ้น และคิวของเขายาวไปถึง 2 ปีแล้ว ถ้าคุณยังรีรอคิวอาจจะยาวไปมากกว่านี้ก็เป็นได้!

เมื่อถามว่า ความยากง่ายของการวาดรูปคืออะไร? บอมม์นึกสักครู่ก่อนตอบกลับว่า ผมมองว่าไม่มีนิยามของคำเหล่านั้น แต่ความยากสำหรับผมคือ "คนมาสั่งแล้วไม่รับรูป นี่เป็นความเจ็บปวดที่สุด เพราะต้นทุนก็เข้าตัวผมด้วย และบางรุปผมไม่รู้จะเอาไปขายใคร เพราะบางภาพเป็นภาพเหมือน และทุกวันนี้ผมก็ยังเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้อยู่เรื่อยๆ วาดเสร็จแล้วก็ไม่เอา"

เดินหน้าทำงานจิตอาสา ส่งต่อโอกาสให้อดีตนักโทษ : 

ชีวิตขณะนี้นอกจากเป็นจิตรกรแล้ว เขายังทำงานจิตอาสา เดินทางพูดสร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ตามเรือนจำ บ้านพักคนชรา และบ้านเด็กกำพร้า บอมม์มักจะบริจาคข้าวกล่องให้ผู้ยากไร้และเด็กกำพร้า อีกทั้งบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์เป็นระยะ นอกจากนั้นยังทำงานเกี่ยวข้องกับในวังอีกด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่บอมม์เลือกทำคือ "ให้ทุนแก่อดีตนักโทษที่พ้นโทษออกมาแต่ไม่มีเงินประกอบอาชีพ" อย่างไรก็ตามเขาเผยว่า "การจะมอบเงินให้ใครสักคน ต้องอยู่ในเงื่อนไขของผม เพราะผมเจ็บตัวมาเยอะเหมือนกัน" หากจะถามว่าเจ็บตัวอย่างไรแล้วล่ะก็ พร้อมตอบว่า "บางคนทักมาไม่ได้จริงจัง แค่อยากหลอกเงินเราเอาไปใช้ ผมเสียเปล่าไปกับตรงนี้ประมาณ 3-4 แสนบาท"

"ที่ผมช่วยเหลือพวกเขาเพราะผมคิดว่าครั้งหนึ่งผมเคยได้รับโอกาสเหล่านั้น วันนึงผมมีโอกาสได้เป็นผู้ให้ผมก็เลยอยากจะคืนให้กับสังคมบ้าง ผมช่วยคนที่พ้นโทษแบบนี้ไปเป็นร้อยคนแล้ว แต่ประสบความสำเร็จอยู่ไม่กี่คน แต่ผมก็ยังถือว่าประสบความสำเร็จ"

"ผมตั้งชื่อเพจว่า 'ขี้คุกเขียนรูป' เพราะผมไม่อยากให้คำว่าขี้คุก จำกัดอยู่แค่ว่าเป็นพวกที่ค้ายาหรือพวกกระทำความผิด คนขี้คุกมีโอกาสที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ได้เสมอถ้าเขาได้รับโอกาส และก็อยากให้สังคมได้เห็นว่าขี้คุกไม่ได้เหมือนกันทุกคน"

"ผมเดินมาไกลจนไม่เห็นรอยเท้าเดิมของตัวเอง" : 

แม้จะไม่ใช่นักโทษหรือคนค้ายาเสพติดแล้ว แต่บอมม์ก็ยอมรับกับเราว่า บางทียังถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ดีอยู่บ้าง "ผมยกตัวอย่างนะ ทางกรมราชทัณฑ์มีวิชาสอนในเรือนจำเยอะมาก แต่ถ้าผมเรียนจบวิชาทำขนม ด้วยรูปลักษณ์ที่ผมเป็นอยู่ จะให้ไปยืนทำขนมขาย อันดับแรกที่ผมจะเจอจากสังคมก็คือสายตาที่เหยียดหยามถูกไหมครับพี่" เขาตอบพร้อมตั้งคำถามกลับกับเรา

"ความอดทนคนเรามันก็ไม่เท่ากัน อย่างผมอดทนได้ แต่ถ้าคนที่เขาอดทนไม่ได้ก็เจอสายตาถูกเหยียดหยามเหล่านั้น เขาก็คงจะท้อไปเลย แล้วถ้าเขาท้อจนรู้สึกหมดหวัง วันนึงก็อาจจะกลับไปสู่จุดเดิม เพื่อหลบจากคำดูถูกเหล่านั้น แต่ผมเลือกที่จะอดทน และวางใจให้เป็นอุเบกขา ผมเลยผ่านเรื่องต่างๆ มาได้ ด้วยความอดทนนี้ผมเลยประสบความสำเร็จได้อย่างสวยงาม"

เราถาม วรรณวัฒน์ หาญรุ่งเรืองกิจ ว่า มีอะไรที่อยากจะฝากเป็นข้อความไปถึงสังคมไทยหรือไม่?

เจ้าของเพจ ขี้คุกเขียนรูป ตอบว่า คำที่เปลี่ยนชีวิตอดีตนักโทษในเรือนจำได้คือคำว่า 'โอกาส' ไม่ใช่โอกาสที่จะได้รับการหยิบยื่นเงิน แต่เป็นโอกาสในการมองเขาให้เหมือนคนปกติทั่วไป โดยไม่ใช้สายตาที่เหยียดหยาม โอกาสเป็นสิ่งสำคัญมาก… ผมขอแค่นี้ 

"ทุกวันนี้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจกับผมมาก ที่ผ่านมาคนแถวบ้านไม่มีใครเชื่อว่าผมจะเลิกยาได้ ทุกวันนี้ผมไม่ยุ่งกับยาเสพติดทุกชนิด แอลกอฮอล์ก็ไม่ดื่ม แต่อาจจะมีสูบบุหรี่อยู่บ้าง ตอนนี้ผมคิดว่าผมมาไกลมาก ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาไกลขนาดนี้ ผมหันหลังไปไม่เห็นรอยเท้าเดิมตัวเองแล้ว"

ภาพ : แฟนเพจ ขี้คุกเขียนรูป

อ่านบทความที่น่าสนใจ :