กรมปศุสัตว์ พบหมาเร่ร่อน 50% ถูกปล่อยทิ้งตามป่าและแหล่งที่ทิ้งขยะสาธารณะ อีก 30% ปล่อยวัด เป็นภาระให้กับหลวงพ่อ ขณะที่การนำมาทำหมันมีความยากลำบาก เนื่องจากหมาเร่ร่อนมีความละเอียดอ่อนด้านสุขภาพ ทำให้บางครั้งเกิดความไม่เข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ ทางออกควรมีการขึ้นทะเบียนสุนัข ฝังไมโครชิพ ยืนยันสถานะความเป็นเจ้าของ ไม่ให้ผู้เลี้ยงปัดความรับผิดชอบอย่างที่ผ่านมา

นายพงษ์เทพ เอกอุดมชัย นายสัตวแพทย์ ชำนาญการพิเศษ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สถานการณ์สุนัขเร่ร่อนในกรุงเทพฯ จากการสำรวจปี 2566 มีจำนวนสุนัขที่มีเจ้าของ 600,068 ตัว ส่วนแมวมีเจ้าของ 114,522 ตัว ขณะที่สุนัขจรจัดมี 10,902 ตัว แมวจรจัดมี 19,046 ตัว

สุนัขมีเจ้าของส่วนใหญ่ดูแลอยู่ในพื้นที่บ้าน น่าสนใจว่าสุนัขที่มีเจ้าของจะเป็นสายพันธุ์ต่างประเทศ ส่วนสายพันธุ์ไทยมีลดลง ด้านสุนัขเร่ร่อนจะอยู่กันรวมเป็นกลุ่ม ส่วนหนึ่งมาจากผู้ที่ให้อาหารวางไว้ตามจุดที่สุนัขอยู่ โดยสุนัขเหล่านี้รู้เวลาที่มีคนมาให้อาหาร สุนัขเร่ร่อนพบมากตามวัด ในพื้นที่ชุมชน ส่วนอีกกลุ่มที่ค่อนข้างเป็นปัญหา อาศัยอยู่ตามป่า พื้นที่รกร้างแถบพื้นที่ชานเมือง

...

“สุนัขเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ตามป่าและกองขยะ ส่วนที่อาศัยอยู่ตามวัดประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ในชุมชน 20 เปอร์เซ็นต์ โดยสุนัขเร่ร่อนที่อยู่ในป่าและกองขยะค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า และเมื่อไม่มีอาหารจะเข้าไปในชุมชนเพื่อหาอาหาร พอไปกัดกับสุนัขในชุมชนทำให้ติดเชื้อพิษสุนับบ้าได้”

พื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีสุนัขและแมวจรจัดมาก ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชานเมือง เช่น หนองจอก ลาดกระบัง พื้นที่โซนนี้มีพื้นที่ป่ารกร้างมากกว่าพื้นที่อื่น ต่างจากพื้นที่ในเมืองที่ไม่ค่อยมีพื้นที่รกร้างให้สุนัขเร่ร่อนได้อยู่อาศัย

ต้นเหตุที่ทำให้มีสุนัขเร่ร่อนในพื้นที่มาก เนื่องจากเจ้าของเดิมไม่มีความรับผิดชอบ บางคนเลี้ยงสุนัขเป็นพันธุ์ต่างประเทศ แต่พอมีอาการติดสัดแล้วไปผสมพันธุ์กับหมาพันทาง ทำให้ลูกที่ออกมาไม่เหมือนกับสุนัขที่เลี้ยงไว้ เลยเอาลูกสุนัขที่คลอดออกมาไปปล่อยวัด หรือทิ้งตามป่ารกร้างจนกลายเป็นสุนัขเร่ร่อน

ประกอบกับผู้เลี้ยงไม่มีความรู้ เพราะการเลี้ยงสุนัข 1 ตัว ต้องดูแลรับผิดชอบประมาณ 20 ปี แต่พอเลี้ยงไปสักพักก็ไม่มีเงินเพียงพอในการดูแลและซื้ออาหาร เลยนำมาปล่อยในพื้นที่สาธารณะ

“หมาเร่ร่อนนำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้ หากถูกกัด โดยไม่ได้ฉีดยาป้องกันทันเวลา ซึ่งปี 2566 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศประมาณ 6 คน แต่ไม่มีเหตุเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ พื้นที่ที่มีคนเสียชีวิตจะเป็นพื้นที่ต่างจัดหวัด ที่ชาวบ้านไม่มีความรู้ว่าเมื่อถูกหมากัดต้องรีบไปหาหมอ แต่ปล่อยไว้จนโรคลุกลาม และเสียชีวิต”

ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ พยายามลดจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยการทำหมันเพื่อควบคุมประชากร แต่สุนัขเร่ร่อนที่ยังมีอยู่มาจากคนเลี้ยงที่ไม่รับผิดชอบ ยังมีการนำสุนัขมาปล่อยอยู่ อีกส่วนมาจาก การที่เราจับสุนัขเร่ร่อนไม่ได้ เพราะค่อนข้างจับได้ยาก เช่น ออกไปยิงยาสลบได้สุนัข 1 ตัว แต่ตัวอื่นก็เริ่มรู้แล้ว ทำให้สุนัขที่เหลือหลบหนี หลังจากนั้นจะไม่เห็นสุนัขที่หลบหนีไปประมาณ 2-3 อาทิตย์ ซึ่งในช่วงที่เว้นว่างไปก็อาจมีการผสมพันธุ์ทำให้เกิดลูกครอกใหม่เพิ่มขึ้น

...

การออกไปทำหมันแต่ละครั้ง มีหมาจรจัดมาทำประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ ประกอบกับการทำหมันมีขั้นตอนละเอียดอ่อน โดยเฉพาะหมาจรจัดต้องขังไว้ก่อน 6-8 ชั่วโมง เพื่ออดอาหาร ไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ชาวบ้านบางที่ไม่เข้าใจ ก็แอบไปเปิดกรงให้สุนัขหนี รุ่งเช้ามาหมอจะไปทำหมันให้ ไปดูที่กรงก็ถูกปล่อยออกไปหมดแล้ว

แนวทางการขึ้นทะเบียนสุนัขในอนาคต ควรมีการฝังไมโครชิพ เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ สามารถทราบได้ว่าสุนัขเร่ร่อนตัวดังกล่าวใครเป็นเจ้าของ ที่ผ่านมาเคยมีแนวคิดนี้ แต่ปัจจุบันต้นทุนไมโครชิพอยู่ที่ชิ้นละ 20 บาท ซึ่งถูกลงกว่าแต่ก่อนมาก จึงเป็นอีกทางเลือกที่อนาคตอาจมีนโยบายขึ้นทะเบียนสุนัข เพื่อป้องกันหมาแมวเร่ร่อน.