เจาะเบื้องหลังเกม ไทย-สิงคโปร์ ชนะ แต่ตกรอบฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก กับคำวิพากษ์กองหน้า ใช้โอกาสเปลือง “โค้ชเฮง” วิเคราะห์ทุกปมปัญหา ... 

ต้องยอมรับว่าคนไทยที่รักฟุตบอลทั้งประเทศรู้สึกผิดหวัง เมื่อผลการแข่งขัน “ฟุตบอลทีมชาติไทย” สามารถชนะสิงคโปร์ได้เพียง 3-1 ไม่เพียงพอเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ในรอบที่ 3 หรือ 18 ทีมสุดท้ายโซนเอเชีย 

“อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ของแฟนบอลไทยเวลานี้คล้ายกัน คือ มีคำถามว่า ทำไม “กองหน้า” หรือที่เรียกว่า “striker” มีโอกาสมากมาย แต่จบสกอร์ไม่ได้ 

เมื่อลงลึกในสถิติหลังเกม พบว่าไทยมีโอกาสทำประตูถึง 35 ครั้ง ยิงเข้ากรอบ 13 ครั้ง 

เมื่อลงลึกไปอีก... การยิง 35 ครั้ง หากคำนวณจากประตู 3 ลูก แปลว่า โอกาสยิงเข้ามีเพียง 8.5%  

หากคำนวณจากการยิงเข้ากรอบ 13 ครั้ง แปลว่า การยิงเข้ากรอบและมีโอกาสได้ประตูเพียง 23% คือ ต้องยิงเกือบ 5 ครั้ง ถึงจะได้ประตู 

นี่เองคือคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการใช้โอกาสเปลือง 

อย่างแน่นอน แม้ฟุตบอลไทยจะได้ผลลัพธ์อย่างไร บอลไทยก็อยู่ในสายเลือด คนไทยย่อมเชียร์บอลไทยต่อ แต่...เราต้องหันกลับมามองว่ามีโอกาสพัฒนา แก้ปัญหาจุดด้อย ให้ดีขึ้น ซึ่งวันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับ โค้ชเฮง หรือ วิทยา เลาหกุล วิเคราะห์หลายประเด็นที่น่าสนใจ 

...

ตัวเลือกน้อย..และปัญหาการเตรียมทีมระดับเยาวชน : 

โค้ชเฮง ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ จะกล่าวโทษโค้ชที่เป็นคนไทย หรือต่างชาติก็ไม่ได้ เพราะสิ่งสำคัญ เราต้องดูว่าเราเตรียมทีม, เตรียมนักฟุตบอล ไว้พร้อมกับเกมในระดับอินเตอร์เนชันแนลขนาดไหน 

เตรียมทีมที่ว่า นายวิทยา อธิบายว่า เรามีระบบแบบแผนแค่ไหน ใครเข้ามาเป็นโค้ชแล้ว สามารถ “เลือก” จากนักเตะฝีเท้าดีมีจำนวนมาก ดังเช่น ทีมเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น โดยมีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เราต้องทำตาม 

ยกตัวอย่าง FIFA AFC ประกาศให้มีฟุตบอลโลก สำหรับเด็กอายุ 17 ปี ทุกปี เราได้ “จเด็จ มีลาภ” มาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน แปลว่า การเตรียมทีม U17 ต้องเริ่มตั้งแต่นักฟุตบอลอายุ 12-13 ปี เพื่อเป็นการวางรากฐาน เพื่ออีก 4-5 ปี แต่ปัญหาคือ “เราไม่มีตรงนั้น” 

กลับมาที่ชุดใหญ่ หากเรามีการเตรียมตัวตรงนั้น ใครมาเป็นโค้ชก็ได้... ดังนั้น ปัญหาของทีมฟุตบอลไทย คือ เราไม่ใส่ใจพัฒนาโครงสร้างฟุตบอล ส่วนตัวได้ทำงานกับ AFC มีโอกาสได้ไปตรวจสอบทีมระดับนานาชาติ เช่น ซาอุฯ ออสเตรเลีย เวียดนาม หรือแม้กระทั่งทีมในตะวันออกกลาง และเกาหลีใต้ก็ตาม เราพบว่าทีมเหล่านี้เขามีมาตรฐาน 2 ดาว ซึ่งถือเป็นมาตรฐานของสากล ซึ่งเราอยากเห็นทุกๆ สโมสรในลีกไทยมีมาตรฐานตรงนี้ แต่ส่วนใหญ่เขาจะไปให้ความสำคัญกับชุดใหญ่มากกว่า 

ไทยลีก และ “กองหน้าต่างชาติ” : 

เมื่อถามว่า ในไทยลีกนั้น เราเห็นกองหน้าต่างชาติเยอะ ส่งผลต่อเด็กไทยหรือไม่ นายวิทยา มองว่าไม่น่าเกี่ยว ประเด็นอยู่ที่ว่า เรามีกองหน้าเก่งๆ หรือไม่ 

นายวิทยา อธิบายว่า ลีกในเกาหลีหรือญี่ปุ่น กองหน้าต่างชาติบางทีมก็เป็นแค่สำรอง เพราะเขามีกองหน้าที่เก่งกว่าในทีม ข้อดีของการมีนักเตะต่างชาติเก่งๆ เข้ามาเล่น คือ การทำให้เด็กไทยรู้สึกถึงการแข่งขันและเรียนรู้ ในทีมมี “คนเก่ง” คนภายในทีมจะพยายามเก่งให้ทัดเทียมด้วย ซึ่งมันต้องมีสักวัน ที่คนเก่งที่เป็นคนต่างชาติคนนั้น มีอาการบาดเจ็บ และได้โอกาสลงไปเล่นแทน เด็กที่พยายามพัฒนาตัวเอง ก็สามารถฉวยโอกาสตรงนี้ได้ 

“การสร้างผู้เล่นที่มีคุณภาพ ต้องเริ่มตั้งแต่ 7-8 ขวบ ที่ผ่านมา เราหาเด็กลักษณะนี้ยาก แม้กระทั่งศูนย์ฝึกของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ยังไม่มี...ซึ่งเรื่องนี้มันแก้ได้ เพียงแต่ต้องใช้คนที่มีความรู้เข้ามาทำ เราอาจจะตั้งเป้าจากบอลโลก U17 ก่อนก็ได้ การที่จะไปได้ต้องใช้เวลาเตรียมทีมหลายปี เริ่มตั้งแต่อายุ 12-13 ปี อย่างเร็วที่สุด ก็ปี 2570 กับทีม U17 เชื่อว่าทำได้ แต่จะมีคนทำหรือเปล่า หรืออย่ามาบอกว่าเราไม่มีเงิน”

...

ฟุตบอลไทย ขาดแคลนกองหน้า : 

โค้ชเฮง วิทยา ยอมรับว่า ปัจจุบันเราไม่มีกองหน้าแบบ ซิโก้ หรือ ตุ๊ก ปิยะพงษ์ เลย กว่าจะเป็นนักเตะระดับนี้ เขาถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นมี “คากาวะ” ประมาณ 300 คน และ มิโตมะ ที่เล่นปีก อีก 200-300 คน แต่ในไทยนี่มี “ปิยะพงษ์ 2” หรือ “ซิโก้ 2” ไหม 

ทำไมสมัยก่อนเรามี แต่สมัยนี้วิทยาศาสตร์การกีฬาพัฒนา แต่หาไม่ได้? โค้ชวิทยา ตอบว่า ทุกอย่างมันอยู่ที่โครงสร้างการฝึก เพราะในระบบฝึกนั้น จะมีช่วงฝึกพิเศษเฉพาะตำแหน่ง เพียงแต่รุ่นใหม่ๆ เขาไม่ค่อยใส่ใจ 

“เรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงโค้ชเฉพาะตำแหน่ง แต่มันคือ การฝึกพิเศษ เนื่องจากในโครงสร้างการฝึกเด็กเยาวชน จะมีการฝึกอยู่หลายแบบ ฝึกเกมรุก เกมรับ ยิงประตู เล่นเกมเพื่อกดดัน แต่ในหมวดหมู่การฝึกเหล่านั้น จะมีช่วงการฝึกอีกอย่าง ที่เรียกว่า  Special Training คือ การฝึกพิเศษในตำแหน่งนั้นๆ ไม่ใช่ฝึกเสร็จแล้วกลับบ้าน แต่...จะใช้เวลาหลังฝึกเสร็จ ฝึกเพิ่มสัก 10 นาที เช่น ฝึกเลี้ยงทะลุทะลวง ริมเส้น, ฝึก Cross, ฝึกยิงประตู นอกกรอบเขตโทษ, ยิงในกรอบเขตโทษ เป็นต้น การฝึกพิเศษนี้ มันจำเป็นต้องฝึกให้มีประสิทธิภาพ 80-90 เปอร์เซ็นต์ คำถามคือ เราฝึกได้ถึง 70% หรือไม่” 

...

คำถามคือ หากเป็นการฝึกพิเศษเพิ่มเพียง 10 นาที แล้วเหตุใดถึงไม่มีการฝึก? นายวิทยา ตอบสั้นๆ ว่า ขาดความใส่ใจ จะตัวผู้ฝึกสอน หรือตัวนักเตะ ยกตัวอย่างง่ายๆ ไมเคิล จอร์แดน เคยชูต 3 แต้ม ในมุมทแยงไม่เข้า หลังจากเกมวันนั้น เขาไปฝึกชูตในจุดเดิม มุมเดิม วันละ 300 ลูก เรื่องนี้เขาไม่ต้องรอให้โค้ชไปบอก แต่เป็นสิ่งที่เขาเลือกจะทำเอง 

“ผมเห็นหลายคน เวลาเปิดบอล โยนไปเสา 3-4 คำถามคือ เด็กมันจะกลับมาฝึกเองไหม ถ้าตัวเด็กไม่ฝึก โค้ชก็ต้องจับให้ฝึก ดังนั้น หากเรามีโค้ช และวิเคราะห์ให้ ถ้าไม่ใช้เขา..เราจะมีโค้ชไว้ทำไม” 

เมื่อถามว่า จากเกมเมื่อวาน (11 มิ.ย.) ไทย-สิงคโปร์ มีหลายลูกมากที่หลุด เข้าดวล 50:50 กับผู้รักษาประตู แต่จบสกอร์ไม่ได้ และช่วงท้ายเกม จังหวัดจะๆ ในกรอบเขตโทษ ตรงกลางประตู ก็ยิงออก เรื่องแบบนี้ถือว่าต้องฝึกแบบเข้มข้นใช่หรือไม่...

โค้ชเฮง ตอบว่า ใช่เลย...เรื่องนี้เป็นมานานเกือบ 10 ปี เมื่อทีมชาติไทยเล่นกับทีมอ่อนๆ หรือทีมในอาเซียนด้วยกัน ยกตัวอย่างกับสิงคโปร์ เราใช้โอกาส “เปลืองมาก” เป็นมาสิบปีแล้ว 

ต้องถามว่า การฝึกยิงนอกกรอบ หรือในกรอบเขตโทษ เราฝึกกี่เปอร์เซ็นต์ เท่าที่ทราบ คือเปอร์เซ็นต์การฝึกมันต่ำมาก เราเจอทีมอ่อน เรายิง 10 ครั้ง เข้าลูกเดียว แต่หากเราไปเจอทีมเก่งๆ เรามีโอกาสยิงถึง 10 ครั้งไหม 

แต่เมื่อวานจากสถิติโอกาสยิง 35 ครั้ง? “ก็นี่ไงเหตุผล ถ้าเป็นระดับมาตรฐานโลก หากมีโอกาสได้ยิง 3 ครั้ง ต้องได้ 1 ลูก แต่เมื่อกลับมาเมืองไทย นั่งนับ 6 7 8 บางครั้งก็รู้สึกปวดหัว หากลงไปเล่นจริงๆ คนคนหนึ่งจะมีโอกาสยิง 6-7 ครั้งแค่ไหน นี่คือ ปัญหาการฝึกรายบุคคล, ฝึกพิเศษ, ฝึกเป็นกลุ่ม, ฝึกใน-นอกกรอบ

...

ทีมชาติไทย กับปัญหาเจอเกมที่มีแรงกดดัน :  

เมื่อถามว่า ปัจจุบันมี “กองหน้า” ที่เข้าตาบ้างไหม อุปนายก ส.บอลไทย กล่าวว่า ตัวที่เล่นทีมชาติหลายๆ คนล้วนเป็นคนที่มีความสามารถ เพียงแต่ขาดการฝึกพิเศษ และ “ความเด็ดขาด” ความแตกต่างของฟุตบอลที่จะชนะหรือแพ้ ก็ขึ้นอยู่ที่ตรงนี้ 

หลักการของฟุตบอล มันเหมือนกันทั่วโลก ที่แต่ละทีมควรจะมี “กองหน้า” เก่งๆ 2 คน มีปีกซ้าย-ขวา ที่รวดเร็ว มีกองหลังที่ใจเย็น ขึ้นเกมอย่างฉลาด ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนรู้  

เมื่อถามว่า หากเกมเมื่อวานเป็นฝีเท้าระดับ พี่ตุ๊ก ปิยะพงษ์ หรือ ซิโก้ จะมีโอกาสได้กี่ลูก นายวิทยา บอกว่า ไม่ใช่แค่เกมเมื่อวาน แต่ที่เจอกับเกาหลีด้วยซ้ำ มีโอกาสดีๆ หลายครั้ง แต่ทำไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้สุดท้ายก็โทษนักเตะไม่ได้ แต่เราต้องกลับมาดูการฝึกในสถานการณ์นั้นๆ มากน้อยแค่ไหน เพราะ “สนามฟุตบอล” ทุกที่เท่ากันหมด บริเวณทุกจุดเท่ากันหมด มันอยู่ที่การฝึกแต่ละพื้นที่มากน้อยแค่ไหน 

เมื่อถามว่า ทีมชาติไทยมักเล่นภายใต้บรรยากาศกดดันไม่ดีนัก โค้ชเฮง ตอบว่า ไม่ใช่แค่ทีมชาติไทย แต่เป็นทุกทีม ซึ่งเรื่อง “หัวจิตหัวใจ” หรือ Competitive mentality มันจะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อผู้เล่นคนนั้นมีประสบการณ์การเล่นที่เยอะ โดยเฉพาะการเจอกับนักเตะต่างชาติ หรือเล่นระดับนานาชาติ ยกตัวอย่าง “กฤษดา กาแมน” จะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อไปเจอการเล่นฟุตบอลที่มีคุณภาพสูง 

เรื่องแบบนี้ คงต้องถามสมาคมฟุตบอลฯ โดยเฉพาะฝ่ายเทคนิค และที่สำคัญ ปัญหานี้เป็นแทบทุกทีมอาเซียน ถ้าระดับเอเชียก็มีเพียงเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเท่านั้น ที่เด็กของเขาสามารถเล่นกับอิตาลี อาร์เจนตินาได้ โดยมีหลักของ Winning mentality    

ส่วนตัวรู้สึกเห็นใจ คือ ทีมชลบุรี มีการตัดงบตรงนี้ออก ทำให้เด็กอายุ 14-15 ปี ขาดโอกาสไปเล่นในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน เราได้เห็นเด็กอายุ 11-12 ขวบ จากทีมบุรีรัมย์ ไปแข่งขันฟุตบอลที่มาเลเซีย ญี่ปุ่น ตอนนี้ขึ้นมา U15 เรียกว่าเก่งมาก 

หากดูในทีมชาติ เราจะเห็นทีมบุรีรัมย์ ติดทีมชาติตัวจริง 4-5 คน ก็เพราะว่าไปแข่งขันระดับนานาชาติกันมา ซึ่งการพัฒนา Emotion mentality เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ทีมฟุตบอลทั่วโลกให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้เล่น 

สู้ต่อไป ทีมชาติไทย แม้ไม่ได้ไปบอลโลก (ครั้งนี้) : 

“การลงทุนกับสภาพจิตใจของนักฟุตบอล มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงิน แต่หากใช้ไปแล้ว เชื่อว่ามันจะคุ้มค่า แค่การแข่งขันในไทยลีก มันยังไม่เพียงพอ เพราะเกมคุณภาพในระดับนานาชาติ จะทำให้เด็กไทยสามารถพัฒนาด้านจิตใจได้” 

เมื่อถามว่า มีโอกาสฟุตบอลทีมชาติไทย จะได้ไปบอลโลกไหม... โค้ชเฮง บอกว่า มีทางเดียว คือ เราต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะรุ่น 17 ปี สำคัญ คือ สมาคมควรจะช่วยเขาวางโครงสร้างตั้งแต่เด็กอย่างจริงจัง

อ่านบทความที่น่าสนใจ