คุยกับ 'วรเชษฐ์ บุญปลอด' คนไทยคนแรกและคนเดียว ในภารกิจล่าดาวหางโซโฮ บุคคลซึ่งนาซาต้องจารึก เพราะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เจอดาวหางโซโฮไปแล้วกว่า 850 ดวง!

ห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่สุดคณานับ ยังมีหลายสิ่งให้มนุษย์ค้นหาไม่รู้จบ ความพิศวงหลายเรื่องที่ยังไร้คำตอบ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยปริศนา และซ่อนเรื่องราวน่าตื่นเต้น เพื่อรอวันค้นพบไว้มากมาย

'คุณวรเชษฐ์ บุญปลอด' กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย และกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์และอวกาศ ราชบัณฑิตยสภา คงเป็นหนึ่งในตัวอย่างของมนุษย์ ผู้หลงใหลและมีความสนใจในห้วงพิภพไม่รู้จบนั้นเป็นอย่างมาก เพราะเขาคนนี้คือผู้ค้นพบ 'ดาวหางโซโฮ' มากกว่า 850 ดวง! และดูท่าว่าจะไม่หยุดค้นหาโดยง่าย!!!

แต่เอ๊ะ! ดาวหางโซโฮ คืออะไร แล้วทำไมค้นพบได้มากมายขนาดนี้? ความสงสัยนั้นเกิดขึ้นกับเรา จนนำไปสู่การสนทนาในวันนี้

เอาล่ะครับคุณผู้อ่าน เรามาขึ้นยานอวกาศที่มีกัปตันชื่อ 'วรเชษฐ์' และไปตะลุยท้องฟ้าพร้อมกันดีกว่า! 

ภาพสุริยุปราคา วันที่ 8 เมษายน 2567 และดาวหางโซโฮ-5008 (SOHO-5008) ถ่ายด้วยเทคนิคเอชดีอาร์ (จาก Petr Horálek, Josef Kujal, Milan Hlaváč)
ภาพสุริยุปราคา วันที่ 8 เมษายน 2567 และดาวหางโซโฮ-5008 (SOHO-5008) ถ่ายด้วยเทคนิคเอชดีอาร์ (จาก Petr Horálek, Josef Kujal, Milan Hlaváč)

...

'ภาพโซโฮ' คืออะไร? : 

ก่อนอื่นใด เรามาทำความรู้จักกับคำว่า 'ภาพโซโฮ' กันก่อนดีกว่า… คุณวรเชษฐ์ อธิบายว่า เหตุที่เรียกภาพโซโฮ เพราะภาพที่ส่งมายังพื้นโลก ถูกถ่ายด้วยกล้องบน ยานสำรวจโซโฮ หรือ Solar and Heliospheric Observatory (SOHO) ซึ่งเจ้ายานลำนี้ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศตั้งแต่ พ.ศ. 2538 จากความร่วมมือระหว่าง องค์การนาซา (NASA) และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ซึ่งยานลำนี้มีหน้าที่สำรวจดวงอาทิตย์ บนยานมีกล้องถ่ายภาพหลายแบบ จะถ่ายทั้งภาพดวงอาทิตย์ สิ่งแวดล้อม และบรรยากาศโดยรอบ

คุณวรเชษฐ์ บอกกับเราว่า แม้มีกล้องหลายตัว แต่ภาพที่ใช้หาดาวหางจะมาจากกล้อง 2 ตัว ชื่อ LASCO C2 และ LASCO C3 โดยวิธีที่ถ่ายภาพของกล้อง จะใช้วัตถุมาบังจุดที่เป็นดวงอาทิตย์ เพื่อจะได้เห็นสิ่งที่อยู่รอบๆ เสมือนกับสร้างสุริยุปราคาเทียมขึ้นมา เพราะโดยปกติดวงอาทิตย์จะสว่างมาก ทำให้เราไม่สามารถเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ แต่เมื่อใช้เทคนิคดังกล่าว จะทำให้เห็นสิ่งต่างๆ เช่น ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง หรืออะไรที่ผ่านมาก็จะเห็น 

แล้วภาพถ่ายจากน้องโซโฮจะถูกส่งมาเมื่อไรกันล่ะ!? คำตอบก็คือ… ช่วงเวลาแต่ละรอบไม่แน่ชัด แต่จะมีข้อมูลแจ้งว่าภาพจะส่งมาตอนไหน ผู้รอสังเกตก็เตรียมตัวจดจ่อเพียงช่วงนั้นก็พอ

กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย บอกกับเราว่า ยานโซโฮจะถ่ายภาพตลอดเวลา แต่จะส่งมาพื้นโลกเป็นช่วงๆ ชนิดที่อาจเรียกได้ว่าเรียลไทม์ มันจะถูกส่งเข้าระบบ และถูกอัปโหลดขึ้นอินเทอร์เน็ตให้ทุกคนเข้าถึงได้ ถือเป็นภาพสาธารณะ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นผู้แสวงหาดาวหางดวงน้อยจากภาพถ่ายนี้

COMET HYAKUTAKE ค้นพบโดย ยูจิ เฮียคุทาเกะ เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2539
COMET HYAKUTAKE ค้นพบโดย ยูจิ เฮียคุทาเกะ เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2539

'SOHO-2749' ดาวหางดวงแรกที่เจอด้วยตัวเอง : 

นับตั้งแต่วันที่น้องโซโฮถูกปล่อยสู่อวกาศ ก็มีผู้สนใจเฟ้นหาดาวหางจากภาพถ่ายของยานลำนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ค้นพบดาวหางรวมกันแล้วมากกว่า 5,000 ดวง ซึ่งคุณวรเชษฐ์ในฐานะคนไทยคนแรกและคนเดียวของภารกิจนี้ พบดาวหางโซโฮรวมแล้วไม่น้อยกว่า 850 ดวง!

คุณวรเชษฐ์ กล่าวว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้คนทุกสัญชาติ มีส่วนร่วมในการค้นหาดาวหาง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราเห็นรายงานการค้นพบตลอด แต่ไม่เคยเห็นชื่อคนไทย ทำให้พอจะอนุมานได้ว่า เรายังเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียว 

การเริ่มต้นภารกิจพิชิตดาวหางของคุณวรเชษฐ์ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) โดยเขาค้นพบดวงแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2557 เป็นดาวหางโซโฮลำดับที่ 2,749 หรือ SOHO-2749 แม้จะเป็นปีแรกที่ก้าวสู่วงการ แต่คุณวรเชษฐ์ก็พบดาวหางโซโฮถึง 30 ดวง! ถือเป็นจำนวนที่สูงพอสมควร เพราะปีดังกล่าวปิดยอดการค้นพบจากผู้สนใจรวมกว่า 200 ดวง

"ปี 2558 (ค.ศ. 2015) พบอีกประมาณ 90 ดวง ส่วนปีที่พบมากที่สุด คือ 2560 (ค.ศ. 2017) เจอประมาณ 130 ดวง ถ้าการค้นพบช่วงใกล้ๆ นี้ ก็เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 เจอดาวหางโซโฮลำดับที่ 5,008 (SOHO-5008) ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวหางชนิดดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ มีเส้นทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเป็นพิเศษ และส่วนใหญ่ของดาวหางกลุ่มนี้ จะสลายตัวขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์"

อย่างไรก็ดี ในวันที่เราพูดคุยกับคุณวรเชษฐ์ (23 พฤษภาคม 2567) เขาได้บอกกับเราว่า มีอีกดวงพบวันที่ 30 เมษายน และล่าสุดก็ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม

วรเชษฐ์ บุญปลอด
วรเชษฐ์ บุญปลอด

...

วิธีค้นหา-รายงานการค้นพบดาวหางโซโฮ  : 

การที่คุณวรเชษฐ์เดินทางมาถึงจุดที่เจอดาวหางโซโฮมากกว่า 850 ดวง ไม่ใช่เรื่องของโชคช่วย แต่เขาต้องอาศัยทักษะส่วนตัว ที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์ และองค์ความรู้ 

คุณวรเชษฐ์ เล่าว่า ตอนที่เริ่มล่าดาวหางในภาพโซโฮ แรกๆ จะมองไม่ออกว่าอันไหนเป็นดาวหาง แต่โครงการนี้จะมีภาพตัวอย่างให้ดูว่า ดาวหางที่ถูกต้องควรจะเป็นยังไง เราต้องทำความเข้าใจลักษณะ และวิถีการเคลื่อนไหวของดาวหาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และใช้ประสบการณ์ กว่าจะเจอดวงแรก เราใช้เวลาในการศึกษาอยู่หลายเดือน โดยเรียนรู้จากคนอื่นที่พบก่อนหน้า

สำหรับวิธีการค้นหา คุณวรเชษฐ์ อธิบายว่า เริ่มต้นจากเข้าไปดาวน์โหลดรูปในเว็บไซต์ และมาสังเกตว่ามีอะไรเคลื่อนที่ในภาพหรือไม่ แต่สิ่งที่เคลื่อนที่นั้น จะมีทั้งดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย และดาวหาง ปกติแล้วดาวหางที่พบในภาพโซโฮจะไม่สว่างเท่าไร มักเป็นจุดเล็กๆ ถ้าเรามั่นใจแล้วว่านั่นเป็นดาวหาง ก็ลองเข้าไปตรวจสอบข้อมูล ถ้าไม่มีข้อมูลปรากฏ แสดงว่าเป็นวัตถุใหม่ที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน

ภาพที่ค้นพบ SOHO-5008 เป็นครั้งแรก ดาวหางคือปุยเล็กๆ ระหว่างเส้นนำสีเหลืองทางซ้ายล่างภาพ
ภาพที่ค้นพบ SOHO-5008 เป็นครั้งแรก ดาวหางคือปุยเล็กๆ ระหว่างเส้นนำสีเหลืองทางซ้ายล่างภาพ

...

"ความตื่นเต้น คือ เราไม่รู้หรอกว่ามันจะโผล่มาตรงไหน หรือตอนไหน เราจึงต้องดาวน์โหลดภาพถ่ายหลายภาพมาเรียงกัน แล้วใช้โปรแกรมเลื่อนภาพทีละภาพ เพื่อหาสิ่งที่เคลื่อนที่ในภาพ ถ้าเป็นดาวหางดวงที่ค่อนข้างสว่าง เราจะมองเห็นตั้งแต่ 3 ภาพแรกแล้ว แต่ว่าถ้าเป็นที่จางๆ หน่อย อาจต้องใช้มากกว่า 10 ภาพ ถึงจะแน่ใจว่าใช่"

คุณวรเชษฐ์ บอกว่า การจะรายงานว่าใครเป็นคนค้นพบ มันเหมือนกับการแข่งขัน เพราะไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่ล่าดาวหางโซโฮ ยังมีคนอีกนับไม่ถ้วนกำลังทำภารกิจนี้ ซึ่งเขาจะนับคนที่รายงานเป็นคนแรกเท่านั้น หากมี 2-3 คน ก็ต้องรายงานในเวลาใกล้กันมาก จึงจะยอมให้เครดิต

"ดวงแรกที่เจอตื่นเต้นนะ เพราะเวลาเราค้นพบและรายงานขึ้นไป ระบบจะบันทึกชื่อว่าเราค้นพบ ขั้นต่อไปเขาจะรายงานไปที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union) เพื่อจะบันทึกว่าพบดาวหางดวงใหม่ และบันทึกชื่อเราในฐานะคนแรกที่เจอ"

สำหรับวิธีส่งรายงานการค้นพบ ไม่มีอะไรยุ่งยาก คุณแค่มองภาพตรงหน้าที่มีขนาด 1024 คูณ 1024 พิกเซล แล้วรายงานว่า จุดไหนบนภาพคือดาวหางโซโฮ โดยการระบุค่าแกน X และแกน Y 

อย่างไรก็ตาม คุณวรเชษฐ์ บอกกับเราว่า ดาวหางที่ค้นพบด้วยวิธีนี้จะไม่มีการตั้งชื่อเราลงไป เพราะเราไม่ใช่ผู้ที่ใช้กล้องส่องขึ้นท้องฟ้า แล้วเจอมันด้วยตัวเอง แต่เราอาศัยภาพถ่ายจากยานโซโฮ ทำให้การตั้งชื่อดาวหางนั้นๆ จะเป็น 'ดาวหางโซโฮ-ลำดับที่ค้นพบ' นั่นเอง

TWIN COMETS (SOHO-54 & 55)
TWIN COMETS (SOHO-54 & 55)

...

จุดสังเกต… อย่างไรคือดาวหาง? : 

สืบเนื่องจากหัวข้อสนทนาก่อนหน้า เราสงสัยว่าจะสังเกตได้อย่างไรว่าดวงไหนคือดาวหาง?

คุณวรเชษฐ์ เล่าว่า โดยปกติจะมีดาวหางกลุ่มหนึ่ง ที่เคลื่อนที่เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์บ่อยครั้ง มีการสันนิษฐานกันว่า มันเกิดจากในอดีต อาจจะหลายร้อยหรือหลายพันปีก่อน โดยเป็นส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกออกมาจากดาวหางดวงใหญ่ดวงหนึ่ง แล้วเศษเหล่านั้นก็กระจายทั่วไป อีกทั้งยังมีวงโคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์เหมือนกับดาวหางดวงใหญ่ที่เป็นต้นกำเนิดของมัน

"คราวนี้มันพอจะมีเส้นทางที่ทำให้เราพอจะรู้ได้ว่า 'นั่นคือดาวหาง' โดยมันจะเคลื่อนจากทิศใต้ไปทิศเหนือ ทำให้ช่วงที่มันเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ เราพอจะรู้คร่าวๆ ว่าควรจะมองตรงไหน" กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวกับเรา

เราถามว่า… แล้วทำไมถึงรู้ว่านั่นคือดาวหาง? คุณวรเชษฐ์ จึงบรรยายความน่าสนใจบนห้วงอวกาศต่อไปว่า มันจะมีดาวหางกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนที่ในแนวเดียวกัน เป็นเส้นทางที่เรียกได้ว่าแทบจะไม่ห่างจากแนวนี้ ดาวหางแต่ละดวงที่เข้ามา มันจะเข้ามาเหมือนกับเป็นขบวนในแนวใกล้เคียงกัน อย่างที่บอกว่ามันเกิดจากดาวหางดวงใหญ่ที่แตก เราเลยพอจะสันนิษฐานได้ว่า วัตถุที่เห็นต้องเป็นดาวหางกลุ่มนี้ เป็นวัตถุที่อยู่ในกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้นอกจากเป็นดาวหาง

SOHO COMET 48
SOHO COMET 48

"ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ามันจะมาตอนไหน แต่ใน 1 ปี จะมีดาวหางกลุ่มนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ประมาณ 200 ดวง เพราะฉะนั้น จึงมีการค้นพบดาวหางจากภาพโซโฮค่อนข้างบ่อย ประมาณ 2-3 วันต่อดวง"

"ดาวหางที่เข้ามาไม่ได้สว่างเท่ากัน บางดวงจางมาก บางดวงก็สว่างมากเป็นพิเศษ บางดวงอาจอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ หรือบางดวงถ้าดูจากภาพถ่าย จะเห็นตั้งแต่ขอบภาพ" ความน่าสนใจของโซโฮถูกบรรยายผ่านกรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย

ประเภทของดาวหางที่จะเจอจากภาพโซโฮ มีอยู่ประมาณ 3 กลุ่มหลักๆ เช่น ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ (Sungrazing comet) ซึ่งดาวหางกลุ่มนี้ ส่วนมากพอเข้ามาแล้วจะสลายไป ราวกับว่าเจอแล้วก็จบ หรือดาวหางบางดวงอาจจะเป็น ดาวหางไร้คราบ เป็นดาวหางที่ในอนาคตมันจะวนกลับมาอีก "ถ้าเจอดาวหางกลุ่มนี้ ก็น่าตื่นเต้นนะ เพราะวันที่มันวนกลับมา เราอาจจะยังมีโอกาสได้ดูอีกครั้ง"

นอกจากนั้น ดาวหางบางดวงก็เป็นประเภท Non-group ที่ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มไหนได้เลย!

A FLYBY (SOHO-46)
A FLYBY (SOHO-46)

อนาคตของคุณวรเชษฐ์ กับภารกิจค้นหาดาวหางโซโฮ : 

คุณวรเชษฐ์ บุญปลอด เปิดใจกับทีมข่าวฯ ว่า เรายังมีแพสชันกับตรงนี้อยู่ เพราะมันเป็นความตื่นเต้น และความสนุกเวลาเราได้ค้นพบดาวหางดวงนั้นๆ คนแรก ซึ่งคนที่ล่าดาวหางทุกคนจะตื่นเต้นเมื่อได้เป็นคนแรก แต่ระยะหลังเราอาจห่างไปบ้าง เพราะมีงานและภาระที่มากขึ้น แต่ก็ยังตามอยู่เรื่อยๆ บางครั้งเข้าไปเจอแบบฟลุกๆ 

ดาวหางโซโฮไม่สามารถตั้งชื่อตัวเองได้ แล้วเคยวาดฝันหรือไม่ว่าอยากมีชื่อตัวเองอยู่บนดาวหางสักดวง? เราถามปลายสาย

"เรายังไม่ได้มีความคาดหวังไปถึงขั้นนั้น เพราะมันจะต้องตั้งกล้องและส่องเจอด้วยตัวเอง สำหรับท้องฟ้าเมืองไทยอาจจะยังไม่เอื้อเท่าไร เพราะเราอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ส่งผลให้อากาศบนท้องฟ้าไม่ค่อยใส มีเมฆเยอะเป็นอุปสรรค ต้องใช้ความพยายามสูง แต่ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้เลย แค่ต้องมีโอกาส เวลา และปัจจัยแวดล้อมที่ดี"

SOHO COMET 49
SOHO COMET 49

คุณวรเชษฐ์ ส่งท้ายบทสัมภาษณ์ ด้วยความหวังที่มีต่อวงการดาราศาสตร์ไทยว่า….

"ตอนนี้วงการดาราศาสตร์ไทยพัฒนาจากในอดีตพอสมควร แต่เราอาจจะยังขาดศักยภาพอะไรบางอย่างที่ทำได้ เช่น การค้นพบดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ เรายังไม่เห็นว่ามีคนไทยค้นพบ ในอนาคตอยากเห็นคนไทยมีชื่อในตรงนี้ และอยากเห็นผลงานของคนไทยไปถึงระดับสากล แม้ตอนนี้เราอาจจะยังขาดนักดาราศาสตร์เฉพาะทางอยู่ แต่เชื่อว่าเดี๋ยวก็คงจะเป็นไปได้ เพราะทุกวันนี้มีความพยายามที่จะยกระดับวงการให้ก้าวหน้าอยู่แล้ว"


อ่านบทความที่น่าสนใจ :