เปิดใจเจ้าของกิจการร้านทอง จากเด็กพิการไม่ได้เรียนและบ้านจน ดิ้นรนสู้ชีวิตทุกทางให้พ้นความอัตคัด สู่เถ้าแก่ห้างทองเมืองสุพรรณมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

'คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้' ประโยคสุดแสนจะคลาสสิกที่เราเชื่อว่า คุณผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินสักครั้งในชีวิต ประโยคนี้แวบเข้ามาในหัวหลังจากเราสัมภาษณ์ 'คุณนัท-สิวนัส แสงสำราญ' เจ้าของกิจการห้างทองเมืองสุพรรณฯ เรียบร้อยไปแล้วสักครู่หนึ่ง

ใครจะไปคิดว่าเด็กที่พิการตั้งแต่กำเนิด กว่าตัวเองจะเดินได้ก็ปาเข้าไปปีที่ 8 ของชีวิต จะพยายามต่อสู้ เรียนรู้ ฝักใฝ่ ขวนขวายความสำเร็จ ทำงานสุจริตทุกอย่างที่พอทำได้ จนวันหนึ่งสามารถเปลี่ยนตัวเองจาก 'เด็กบ้านจน' สู่ 'เถ้าแก่ร้านทองมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท'

เอาเป็นว่า… อย่ารอช้าดีกว่า เราอยากให้ทุกคนเปิดใจ ค่อยๆ เลื่อนลงด้านล่างอ่านเรื่องราวชีวิตของเขาคนนี้ เผื่อจะช่วยเป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้ทุกคนมีพลังใช้ชีวิตต่อท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

...

ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะฐานะทางบ้านและความพิการ : 

ปี พ.ศ. 2531 ณ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เด็กชายสิวนัส ได้ลืมตาดูโลกพร้อมภาวะพิการตั้งแต่กำเนิด เขาเกิดในครอบครัวฐานะยากจน พ่อกับแม่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เรียกได้ว่า 'หาเช้ากินค่ำ'

คุณนัท เล่าว่า เมื่อก่อนผมเดินไม่ได้ เนื่องจากขางอคล้ายคนขาแข็ง ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ พ่อกับแม่พยายามช่วยทำกายภาพตลอด โดยการให้ใช้ไม้เท้าพยุงเดิน แต่ก็ยังใช้ชีวิตได้ไม่อิสระอยู่ดี ผมต้องเดินแบบโยกตัวไปมา ค่อนข้างลำบากเหมือนกัน แต่ผมก็ไม่เคยรู้สึกอยากยอมแพ้ เพราะพ่อกับแม่ก็บอกให้ผมสู้ พวกเขาจะพูดเสมอว่า "เดี๋ยวก็เดินได้นะลูก"

"ช่วงที่เดินไม่ได้ ผมไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป แต่ก่อนบริเวณบ้านจะอยู่รวมกัน เห็นเด็กหลายคนวิ่งเล่น ก็พยายามจะเดินให้ได้เพื่อไปเล่นกับเขา แต่สุดท้ายก็เดินไม่ได้สักที จริงๆ รู้สึกเสียใจ แต่ด้วยความเป็นเด็กก็ไม่ได้ติดอะไรมาก เพราะชินกับสภาพที่เป็นอยู่ แต่ในใจยังมีความหวังตลอดเพราะพ่อแม่บอกให้สู้ เลยทำให้มีความคิดและความเชื่อว่าวันหนึ่งจะเดินได้จริงๆ"

เด็กชายสิวนัสพยายามฝึกกายภาพมาโดยตลอด จนเมื่ออายุ 8 ขวบ เขาก็เริ่มได้เดินด้วยตัวเอง แต่ด้วยความดีใจยังไม่ทันจะเคลื่อนไหวได้แข็งแรง วันแรกเขาเดินโดยไม่ใช้ไม้เท้า ทำให้ตัวเองล้มหัวฟาดเตียงพ่อแก่-แม่แก่ (คุณตา-คุณยาย) เย็บไป 4 เข็ม กลายเป็นรอยแผลเป็นที่เป็นเสมือนหลักฐานการเดินได้วันแรก ติดตัวอยู่จนถึงทุกวันนี้

คุณนัท เปิดใจว่า แรกๆ ผมเคยโดนล้อรู้สึกโมโห และเสียใจว่าทำไมเขาต้องล้อเรา บางทีมีคนเดินเลียนแบบ ใช้คำเรียกที่ไม่ดี ทำให้เรามีความรู้สึกไม่อยากออกจากบ้าน แต่สุดท้ายก็ก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านั้นมาได้ เพราะมานั่งคิดว่า เราเปลี่ยนความคิดคนอื่นไม่ได้ พวกเขาต่างมีความสงสัยและอยากรู้ ดังนั้น เราต้องไม่สนใจ เพราะถ้ามัวแต่ฟังคำคนอื่นแล้วเก็บตัวอยู่แต่ที่บ้าน คงไม่ได้ออกไปใช้ชีวิต

คุณนัท บอกกับเราว่า ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเพราะบ้านจนและพิการ กว่าจะเดินได้ก็เลยช่วงวัยเข้าเรียนไปแล้ว ตอนนั้นมีพี่แมน (พี่ชายคนโต) ที่ได้เรียนหนังสือ เวลาพี่ชายไปโรงเรียนแม่แก่จะพายเรือไปส่งแล้วเอาผมไปด้วย ผมบ่นกับพี่ชายว่าอยากเรียนแต่ไม่ได้เรียน พี่ชายเลยบอกว่าถ้าพี่รู้อะไรมาจะมาสอน

"หลังจากนั้นพี่ชายรู้อะไรก็จะมาสอนผมหมด ทุกวันนี้ที่อ่านออกเขียนได้ก็เป็นเพราะพี่ ผมอ่านทุกเล่มที่เขาหยิบให้ พี่ชายได้เรียนอะไรผมก็ได้เรียนอันนั้น แม้ว่าพี่ชายจะเรียนจบแล้วเขาก็ยังสอนผมไม่เลิก พี่ไม่เคยทอดทิ้งผมเลย ที่จริงผมมีน้องชายด้วยอีกคนหนึ่งชื่อมอส แต่เขาห่างกับผมถึง 7 ปี"

...

เริ่มทำงานแรก รายได้ 20 บาท : 

ในอดีตคนบางปลาม้านิยมเจียระไนพลอยเป็นอาชีพ ทำให้คุณนัทได้เริ่มต้นหารายได้จากอาชีพนี้เมื่ออายุได้ 12 ปี เขาบอกกับเราว่า ผมเรียนรู้วิชาจากคนรอบตัว ที่เริ่มหันมาเจียพลอยเพราะว่าไม่ได้เรียนหนังสือ ทำให้รู้สึกว่าอยากทำงาน จะได้มีเงินไปซื้อของที่อยากได้ ตอนนั้นได้เงินวันละ 20 บาท ก็ดีใจมากๆ แล้ว

ช่วงนั้นประมาณ พ.ศ. 2543 ผมยังไม่ได้คิดเรื่องช่วยเหลือครอบครัว คิดแค่ว่าอยากมีเงินไปซื้อขนมหรือของเล่นแบบที่คนอื่นเขามีกัน เพราะเพื่อนคนอื่นที่บ้านมีอาชีพทำนา เวลาพ่อแม่เก็บเกี่ยวข้าวได้คนอื่นเขาก็จะมีของเล่นใหม่ นั่นเลยถือเป็นแรงบันดาลใจแรกๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าอยากทำงาน

"แต่จังหวะที่ผมเริ่มโต ก็เริ่มรับรู้ฐานะทางบ้านและเข้าใจมันขึ้นเรื่อยๆ เรามีเรื่องที่ต้องใช้เงินกันเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน พี่ชายเองก็ต้องเรียนระดับชั้นสูงขึ้น ทำให้ผมเริ่มคิดว่า เราจะอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องหาเงินให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม"

คุณนัทเป็นช่างเจียพลอยได้ประมาณ 2 ปี ก็เริ่มมีความคิดว่า "เดี๋ยวมันก็เจ๊ง" เขาให้เหตุผลว่า ตอนที่ผมเจียระไนพลอยสังเกตเห็นว่า พลอยมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เล็กจนเท่ากับไม้ขีด หรือบางชิ้นต้องใช้กล้องส่องด้วยซ้ำ ทำให้คิดว่าถ้าอายุเราเพิ่มขึ้น วันหนึ่งก็คงทำงานตรงนี้ไม่ได้ 

"ผมไปบอกพ่อให้หยุดทำอาชีพนี้ แต่ก็เกือบทะเลาะเพราะความเห็นไม่ตรงกัน พ่อคิดว่าเป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงครอบครัวมา ทำไมจะไปต่อไม่ได้ ส่วนผมเป็นประเภทชอบคิดอะไรล่วงหน้า เลยมั่นใจว่าวันหนึ่งมันจะไปต่อไม่ได้จริงๆ สุดท้ายพ่อผมทำต่อ แต่ผมเลิกทำพลอยแม้ว่าตอนนั้นค่าแรงจะถึงหลักร้อยแล้ว"

...

หลังจากนั้นคุณนัทกลายเป็นคนว่างงานอยู่เกือบปี ก่อนจะตัดสินใจเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ ในบริษัทรับซื้อของเก่าตามคำแนะนำของญาติ คุณนัท เล่าว่า ผมไม่ได้ทำหน้าที่เก็บของเก่าเพราะร่างกายไม่พร้อม แต่อยู่ในส่วนซ่อมของประกอบขาย บริษัทที่ทำงานมักจะรับซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามสำนักงานต่างๆ ผมก็มีหน้าที่ซ่อมของเหล่านั้น 

เราถามคุณนัทว่าความรู้ในการเป็นช่างซ่อมได้มาจากไหน เขาตอบอย่างติดตลกว่า ถ้าเรียกภาษาบ้านๆ ผมเป็นคนชอบเสือก (หัวเราะ) พี่ข้างบ้านเขาจบด้านอิเล็กทรอนิกส์ เวลาผมเห็นเขาซ่อมของจะชอบไปถามจนได้ความรู้ติดตัวมา ทำให้ผมได้มีความรู้ในการซ่อมทีวี พัดลม หรือสิ่งต่างๆ แต่ผมทำงานตรงนั้นได้ประมาณปีนึง รู้สึกว่าไม่เวิร์ก เลยตัดสินใจกลับมาขายหมูปิ้งแถวบ้าน แม้ว่าจะขายดีแต่รู้สึกว่ากำไรเหลือน้อยนิด จนสุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการอีกครั้ง

แม้ว่าจะล้มแล้วล้มอีกแต่คุณนัทยังไม่ยอมแพ้ เพราะเขาเห็นครอบครัวลำบากขึ้นเรื่อยๆ ในใจคิดเพียงว่า "ต้องหาเงินให้ได้มากที่สุด" ทำให้เขาหันไปรับจ้างเย็บผ้าโหล แม้ว่าค่าแรงจะน้อยมากเริ่มต้นวันละ 50 บาท แต่ก็ยอมทำเพราะเหมือนมีงานประจำ 

"ผมลงทุนกู้เงินซื้อจักรเย็บผ้า เพราะถ้าทำมากเราก็ได้มาก เนื่องจากเขานับเป็นกิโลเย็บเสร็จก็เอาไปชั่งน้ำหนัก ผมตื่นตั้งแต่ตีห้า สุดท้ายทำได้มากสุดยังไม่ถึง 100 บาท ตอนนั้นอยากเลิกทำเพราะรู้สึกไม่คุ้ม แต่จะเปลี่ยนใจไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ ต้องทำงานหาเงินผ่อนจักรเย็บผ้า ดังนั้น พอผ่อนจักรได้หมดผมหยุดทำเลย"

คุณนัทบอกว่าหลังจากนั้นก็พยายามทำงานอื่นๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ชนิดที่ว่าทำงานหลากหลายมาก แต่สุดท้ายก็ยังไม่เห็นหนทางช่วยเหลือครอบครัวให้พ้นความยากลำบากได้ เคยไปต่อชั้นไม้ขาย อาศัยความรู้จากพ่อแม่ แม้จะได้เงินถึงหลักพันในบางครั้ง แต่สุดท้ายก็ขายไม่ดีจนกระทั่งต้องล้มเลิก

...

เริ่มต้นเป็นช่างเงิน : 

เมื่ออายุได้ประมาณ 18 ปี พ่อของคุณนัทลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ได้รับเลือกเป็นสมาชิกเทศบาล (ส.ท.) ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มมาประมาณหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่พอกับรายจ่ายที่ครอบครัวมี พี่ชายที่กำลังจะเรียนมหาวิทยาลัยก็ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น คุณนัทเลยต้องกลับมามองอีกครั้งว่า "จะทำอะไรที่ได้เงินเยอะ"

คุณสิวนัส บอกว่า สมัยนั้นเริ่มมีการให้เงินคนพิการเดือนละ 500 บาท แต่ใช่ว่าคนพิการจะได้ทุกคน อย่างในหมู่บ้านสมมติว่ามีคนพิการ 100 คน เขาก็จะให้แค่ 50 คน แต่ผมได้รับเพราะความพิการอยู่ในระดับ 5 ซึ่งพิการมากกว่าคนอื่น แต่เนื่องจากคนพิการมีจำนวนมาก ท้องถิ่นเลยมีนโยบายแบ่งเงินออกครึ่งหนึ่ง จากที่ต้องได้ 500 บาท ก็ได้ 250 บาท เพื่อการกระจายอย่างทั่วถึง ทำให้ปีนึงผมมีเงิน 3,000 บาท จากโครงการนั้น

"เงิน 3,000 บาท ตอนนั้นเยอะมากสำหรับผม มันจุดประกายให้ผมอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อครอบครัว ผมก็ไปปรึกษาพี่ช่างตัดผมข้างบ้านว่าจะทำอะไรดี เขาเลยบอกว่าเดี๋ยวจะสอนตัดผมให้ จะได้ทำงานอยู่แถวบ้าน ผมตอบตกลงแล้วก็หาเวลาเดินทางไปซื้ออุปกรณ์ตัดผม"

วันที่เดินทางเข้าเมืองไปซื้ออุปกรณ์ ผมเจอช่างเลี่ยมพระนั่งข้างร้านทอง ด้วยความที่ผมชอบคิดไกล เลยคิดไปว่าถ้าเป็นช่างตัดผมก็ต้องทำงานวันต่อวัน ดูไม่มีความมั่นคง แต่ถ้าเป็นช่างเลี่ยมพระน่าจะมั่นคง หรือถ้าผมสะสมพระไปด้วยก็ยังทำได้

"ความคิดแวบเข้ามาในหัวทันที ผมตัดสินใจว่าจะไม่ซื้ออุปกรณ์ตัดผมแล้ว เลือกเดินเข้าเลี่ยมพระไปขอความรู้เขา แต่โดนปฏิเสธและไล่ออกมา" คุณนัทเล่า เราถามต่อไป ถ้าเช่นนั้นเลือกทำอย่างไรต่อ เขาเล่าปนหัวเราะว่า ผมก็เลยเอาพระไปให้เขาเลี่ยม เพราะจะได้ดูวิธีการทำด้วย (หัวเราะ) เอาไปเลี่ยมประมาณ 3 องค์ หมดเงินประมาณ 100 บาท เขาก็คงสงสัยผมนั่นแหละ แต่ยังไงเขาก็อยากมีรายได้

ผมพยายามสังเกตอุปกรณ์ แล้วคิดว่ายังไงเขาก็ต้องซื้อในสุพรรณบุรีนี่แหละ แต่ถามเขาเท่าไรเขาก็ตอบว่าไม่รู้ ผมเลยคิดว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวตามหาเอง อาทิตย์นึงผมจะมีโอกาสติดรถเพื่อนเข้าเมือง 1 ครั้ง ผมเดินหาอุปกรณ์ทุกอาทิตย์ ผ่านไปเดือนกว่าๆ ก็ตามหาจนเจอ ทางร้านขายอุปกรณ์ พอมีความรู้เลยแนะนำได้เบื้องต้น ผมตัดสินใจลงทุนซื้ออุปกรณ์ 2,000 กว่าบาท เอามาหัดเลี่ยมพระที่บ้าน 

"ตอนหัดเลี่ยมพระใหม่ๆ ผมเริ่มจากการเลี่ยมเงินและเลี่ยมพลาสติก มีคนมาพูดถากถางว่าทำไม่สำเร็จหรอก ได้ยินคำว่าเจ๊งอยู่เต็มรอบข้าง แต่ตอนนั้นผมคิดแค่ว่าพี่ชายผมจะเข้ามหาวิทยาลัย และรู้ว่าพี่ชายจะติดวิศวะเพราะเขาอยากไปทางนั้น ผมเลยทำต่อไปโดยไม่สนใจใคร"

คุณนัทมีรายได้จากการเลี่ยมพระจากวันละ 100 บาท สู่ 200 บาท สู่ 300 บาท และขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็มีรายได้เกือบวันละ 1,000 บาท พร้อมกันนั้นเป็นช่วงที่พี่ชายสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ อาคารวิชาการ 1 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

เริ่มสนใจและศึกษาการเลี่ยมทอง : 

ชีวิตของคุณนัทเดินทางเข้าสู่ปีที่ 19 เขาสนใจเริ่มการทำทอง แต่ด้วยต้นทุนที่ยังมีไม่มาก จึงเริ่มจากการทยอยซื้ออุปกรณ์เลี่ยมทองสะสมไว้ แล้วตระเวนไปตามร้านทองในสุพรรณบุรี เพื่อสังเกตการทำงานของช่างทองคนอื่นๆ 

"ช่วงนั้นผมเริ่มมีชื่อจากการเลี่ยมเงินและเลี่ยมพลาสติก ผมได้มีโอกาสไปเจอกับร้านหนึ่งที่เขาขาดช่างพลาสติกพอดี เลยอาสาทำงานให้ฟรี ทำให้ผมได้เห็นอุปกรณ์และวิธีการทำของช่างทองในร้าน ก็เลยเมมโมรีเก็บไว้ในหัว"

เรื่องราวความพยายามของคุณนัท ถูกถ่ายทอดผ่านการเล่าต่อไปว่า จนกระทั่งผมไปเล่นเปียแชร์ได้เงินประมาณ 70,000 บาท ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปซื้อเครื่องรีดทองไฟฟ้าตัวละประมาณ 65,000 บาท กลับมาบ้าน ระหว่างนั้นก็ยังทำแค่เงินอยู่ไม่ได้ทำทอง แต่ซื้ออุปกรณ์เตรียมไว้จนเกือบครบขาดแค่ทอง เพราะผมยังไม่มีเงินลงทุน 

เวลาเดินต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง คุณนัทอายุ 22 ปี พี่ชายจบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่จังหวะนั้นเป็นช่วงที่เขาต้องเริ่มดูแลตัวเองก่อน ยังไม่สามารถมาจุนเจือครอบครัวได้ คุณนัทเล่าว่า ช่วงที่พี่ชายจบก็เหมือนช่วงที่ผมได้พักเพราะว่ายังไม่ต้องใช้เงินเยอะแล้ว ส่วนพี่ชายไม่ได้พักเลยพอเรียนจบเขาก็หางานทำให้มีเงินเลี้ยงตัวเองได้ 

"พอพี่ชายเรียนจบผมอยากจริงจังกับการทำทองมากขึ้น แต่ยังไม่มีเงินลงทุน แต่แล้วผมก็เปียแชร์ได้เงินมาอีกแสนกว่าบาท เลยนำเงินนั้นมาซื้อทองและอุปกรณ์เพิ่มเติม แต่พอมีทองเราก็มีปัญหาเพิ่มอีก เพราะไม่รู้ว่าจะใช้น้ำอะไรประสานทอง ผมเลยปรึกษากับพี่ชายว่ามันต้องทำยังไง เพราะเราเดินมาไกลจะมาตายตรงนี้ไม่ได้ เราสู้มาตั้งแต่เล็กจนวันนี้เรามีทองอยู่ในมือ ถ้าเราทำไม่ได้ผมคงยอมรับไม่ได้"

ผมไปถามใครเขาก็ไม่บอก แต่เนื่องจากพี่ชายจบวิศวะเขาถามว่าผมต้องการให้ทองเป็นแบบไหน พี่ชายลองผสมสูตรให้ผลสรุปออกมาว่ามันใช้ได้ เมื่อกุญแจดอกนี้ไขออกได้ผมก็วิ่งจู๊ดเลย ผมก็มุ่งหน้ากับการทำทองจนเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา คุณนัทเล่าความสำเร็จขั้นต้นอย่างภาคภูมิ

ชวนพี่ชาย-น้องชายลาออก ช่วยกันทำร้านทอง : 

เวลาผ่านไปหลายปี มอสผู้เป็นน้องชายเรียนจบมัธยมปลาย และสอบติดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร คุณนัท เอ่ยว่า แม้ว่าตอนนั้นจะต้องใช้เงินเยอะ ผมก็สู้ไม่ถอยเพราะเราเริ่มมีเงินแล้ว ระหว่างนั้นผมสอนพ่อเลี่ยมพระด้วย ส่วนพี่ชายก็เงินเดือนแตะ 45,000 บาท เขาก็ส่งช่วยเหลือครอบครัว

เหมือนทุกอย่างกำลังจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่คุณนัทก็ได้ทราบความจริงว่า ครอบครัวเป็นหนี้ต่างๆ รวมแล้วประมาณ 7 แสนบาท เนื่องจากช่วงที่ก่อร่างสร้างตัว มีการก่อหนี้อยู่เป็นระยะ เช่น หนี้กองทุนหมู่บ้าน ดอกเบี้ยจากการนำทองพ่อแก่-แม่แก่ไปจำนำ และอื่นๆ ซึ่งหนี้สินต่างๆ นั้น เกิดจากการนำเงินมาใช้ภายในและส่งพี่ชายเรียน

"ตอนแรกผมไม่รู้ว่ามีหนี้อะไรบ้าง เพราะเงินที่ผมทำได้ผมว่าผมทำได้เยอะ แต่ผมไม่ได้เป็นคนถือเองผมให้พ่อถือเงินไว้ ผมบอกพ่อว่าผมรู้ว่าเงินเข้ามาเยอะแต่ทำไมมันไม่เหลือ พ่อต้องเปิดอกกับผมแล้ว เราต้องทำบัญชี ตอนแรกพ่อก็ไม่ยอมบอก เพราะแกรู้สึกว่าสิ่งนี้แกเป็นคนสร้างแกต้องเป็นคนรับผิดชอบ ผมเลยบอกว่าอย่าทำแบบนั้นเลยเราต้องคุยกัน"

คุณนัท เล่าต่อว่า สุดท้ายพ่อยอมบอกผม เขาเอาบิลมาวางข้างหน้า ผมก็อึ้งเลยเพราะหนี้ 7 แสนบาท ผมก็เลยบอกพ่อว่าเดี๋ยวผมจะรับผิดชอบเอง แต่บอกไม่ได้ว่ามันจะหมดตอนไหนเพราะเยอะมาก ผมเลือกที่จะใช้หนี้ที่เสี่ยงจะโดนฟ้องร้องก่อน ส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นกับพวกญาติก็ขอผ่อนผันเขา 

"พวกหนี้จำนำผมฉีกใบจำนำทิ้งเลย ตัดสินใจปล่อยทองไป ไปคุยกับพ่อแก่แม่แก่เขาก็ร้องไห้เพราะเขาเก็บทองมานาน ผมก็เลยบอกเขาว่าไม่ต้องร้องไห้เดี๋ยวผมจะให้มากกว่าเดิมด้วย ผมก็เร่งทำงานหาเงินกัน จนซื้อทองให้พ่อแก่แม่แก่ได้ปีละบาทสองบาทกระทั่งใช้คืนเขาหมด"

ชีวิตของคุณนัทและครอบครัวยังคงดำเนินต่อไป เขาสามารถใช้หนี้ได้หมด พร้อมกับมองเห็นหนทางการทำเงินที่มากขึ้นจากการทำงานใช้หนี้อย่างหนักหน่วง คุณนัท เล่าว่า ประมาณปี 2559 ผมตัดสินใจชวนพี่แมนลาออกจากงานประจำที่มั่นคงมาทำร้านทองด้วยกัน ช่วงแรกพี่แมนเกิดความลังเล ขอไปทำงานที่ญี่ปุ่นก่อน 1 ปี 

"พี่แมนกลับมาที่เมืองไทย ส่วนน้องชายก็อยู่ประมาณปี 3 ผมชวนพวกเขามาปรึกษากันโดยไม่บอกพ่อแม่ ผมบอกพี่กับน้องว่า ตอนนี้มองเห็นเงินล้านแล้ว มีวิธีหาเงินล้านได้แต่พี่ต้องมาทำกับผม ส่วนน้องชายก็บอกให้ลาออกเลยไม่ต้องเรียนแล้ว พี่หาเงินล้านได้แน่ๆ แค่ต้องมีคนมาช่วยกัน ผมบอกว่าถ้าไปไม่รอดพี่ไม่ต้องกลัว พี่ยังกลับไปทำงานได้เพราะพี่มีความรู้ สุดท้ายแล้วพี่และน้องก็ตัดสินใจลาออกจากงานและมหาวิทยาลัย"

จากร้านทองสู่ห้างทองมูลค่าหลักสิบล้าน : 

พี่น้องรวม 3 ชีวิต ก้าวเข้าสู่การเป็นหุ้นส่วนทางใจกันอย่างเต็มตัว น้องชายทำการตลาดได้ดี มีความรู้เรื่องไอทีและทำเพจเก่ง พี่ชายช่วยซัพพอร์ตการทำงานนั้น ส่วนคุณนัทในฐานะผู้ริเริ่มโปรเจกต์ก็ทำทองต่อไป

คุณสิวนัส บอกว่า ตอนแรกพวกผมทำธุรกิจที่บ้าน ปรับปรุงห้องกันเองเพราะไม่มีเงินซื้อตึกข้างนอก จนกระทั่งนับจากวันที่ให้พี่น้องลาออกประมาณ 2 ปี ผมเริ่มมีเงินเก็บหลักล้าน และเริ่มทำร้านทองเล็กๆ ได้ มีทองแขวนไม่ถึง 100 บาท แต่หลังจากนั้นเราก็สะสมเงิน และดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จนวันนึงเรามีเงินมาซื้อตึกในตัวเมืองสุพรรณฯ เราพยายามทุกวันที่จะทำเป็นห้างทอง จนวันหนึ่งมันก็สำเร็จตามเป้าหมาย

"คำว่าห้างทองอย่างน้อยต้องมีทุน 20 ล้าน และตอนนี้ผมทำห้างเต็มตัวมูลค่า 40-50 ล้านได้แล้ว สเตปต่อไปวางไว้ก็อีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า อยากจะมีทุนห้างให้ได้สัก 100 ล้าน แล้วก็ขยายห้างให้กับลูกหลาน ถ้าทำได้ก็คงจะหมดหน้าที่ของพวกผมแล้ว"

คุณนัท กล่าวว่า จากวันนั้นจนวันนี้ จากไม่มีสู่เงินล้าน ผมรู้สึกภูมิใจนะ เป็นความภูมิใจในความรู้สึกว่า เราเชื่อมาตลอดว่าวันนึงมันจะเกิดขึ้น เพราะเราค่อยๆ วางแผนมาทีละสเตป อย่างที่ผมได้บอกไปว่า ผมเป็นคนชอบคิดอะไรไปไกล ตอนนั้นก็เคยบอกพี่น้องว่าจะหาเงินล้านให้ได้ จะให้มีบ้านคนละหลัง ผมก็ทำสำเร็จก่อนที่จะเป็นห้างทองอีก วันนี้พวกเรามาไกลกันมากๆ 

ถ้าไม่สู้ก็เท่ากับยอมแพ้ : 

ปัจจุบันนี้คุณนัทมีลูกน้องคอยช่วยเหลือ ซึ่งเป็นคนที่เขาปลุกปั้นมาด้วยตัวเอง สอนจากคนที่ไม่รู้จนมีวิชาชีพติดตัว แต่คุณนัทก็ยังลงมือทำด้วยตัวเองเสมอ เขามีความสามารถในการทำทองทั้ง 5 แขนง คือ ตัวเรือน กรอบพระ ลงยา แกะลาย และขัดชุบ "ผมอยากเป็นเถ้าแก่ ผมมองว่าถ้าวันหนึ่งลูกน้องจากไปเดี๋ยวผมจะเจ๊ง ผมเลยต้องทำเป็นทั้งหมด และผมก็พยายามฝึกมาโดยตลอด"

เจ้าของกิจการห้างทองเมืองสุพรรณฯ สรุปชีวิตที่ผ่านมาให้เราฟังว่า สิ่งที่ทำให้ผมมีทุกวันนี้ เพราะผมมีความรักและห่วงคนที่รัก ผมไม่อยากให้พวกเขาลำบาก ผมผ่านช่วงที่พ่อแม่ลำบากต้องขยำข้าวกับพริกน้ำปลา มันเป็นช่วงที่ทำให้ผมรู้สึกเสียใจที่สุด

"เวลาเราหิวเราไม่รู้สึกเสียใจนะ แต่เวลาเห็นคนที่เรารักหิว แล้วไม่มีอะไรจะกินมันเจ็บที่สุดแล้ว ก่อนจะมีวันนี้ผมคิดตลอดว่า ทำไมผมดูแลพ่อแม่ไม่ได้ทำไมต้องทำให้เขาลำบาก ผมเลยพยายามสู้มาถึงจุดนี้ ตอนนี้พ่อแม่ไม่ต้องทำงานไม่ต้องลำบาก ผมเลี้ยงดูเขาเต็มที่อย่างภูมิใจ ส่วนอนาคตก็พยายามสร้างต่อไป"

คุณสิวนัส แสงสำราญ ฝากถึงผู้อ่านทุกคนว่า ผมอยากให้ทุกคนสู้และอย่ายอมแพ้ ไม่อยากให้คิดว่าเราทำไม่ได้ เพราะไม่ว่าเราจะเกิดมาเป็นแบบไหน มันจะมีช่องทางให้เราเลือกเดินเสมอ ถ้าเราไม่สู้เท่ากับยอมรับความพ่ายแพ้อย่างแท้จริง แต่ถ้าเราสู้และตั้งมั่นกับมัน ผมเชื่อว่าทุกคนทำได้ อยากให้ทุกคนเข้าใจชีวิตว่ามันต้องทำและต้องสู้ 

ภาพ : สิวนัส แสงสำราญ

อ่านบทความที่น่าสนใจ :