พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เล่าวิวัฒนาการ การเลือกตั้ง สว. จาก 3 รัฐธรรมนูญ อะไรแตกต่างกัน ข้อดี ข้อเสีย และความเป็นห่วง...
ตอนนี้เข้าสู่หมวดการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. จำนวน 200 คน และวันนี้ (20 พ.ค. 2567) ถือเป็นวันรับสมัครวันแรก โดยให้ผู้สนใจ จาก 20 กลุ่มอาชีพ มาหย่อนใบสมัคร และเปิดโอกาสให้สมัครจนถึงวันที่ 24 พ.ค. 2567 ไม่เว้นวันหยุดราชการ
จากรายงานเบื้องต้น พบว่า มีคนดัง และอดีตคนในวงการทางการเมืองเข้าร่วมสมัครบ้างแล้ว โดยจากการเปิดเผยจาก นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พบว่า มีผู้มาขอเอกสารการรับสมัครแล้ว ประมาณ 34,000 ใบ และคาดว่า เมื่อปิดการรับสมัคร คาดว่าจะมีผู้สนใจลงสมัคร สว. มากกว่านี้..
กำหนดวันเลือก สว.
วันที่ 9 มิถุนายน 2567 เลือกระดับอำเภอ
วันที่ 16 มิถุนายน 2567 เลือกระดับจังหวัด
...
วันที่ 26 มิถุนายน 2567 เลือกระดับประเทศ
คำถามคือ การเลือก สว. ครั้งนี้แตกต่างจากในอดีตอย่างไร วันนี้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา มองวิวัฒนาการในการเลือก สว. ว่า ความแตกต่างของการเลือก สว. ใน 3 รัฐธรรมนูญ นั้น ถูกพัฒนามาบนพื้นฐาน แนวคิดของผู้ร่างว่า “ของเก่า” ไม่ดีอย่างไร
รัฐธรรมนูญ 2540 : เป็นการเลือกตั้ง สว. จำนวน 200 คน เลือกตั้งตามสัดส่วนของจังหวัด ก็มี สว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกตัวอย่าง กรุงเทพฯ มี 10 กว่าคน
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า หลังจากเกิดการรัฐประหาร ปี 2549 จึงมีการร่าง รธน.ใหม่ในปี 2550 และมองว่า สว.ที่ได้จากการเลือกตั้ง มีฐานมาจาก สส. จังหวัดไหน พรรคไหนคุม สส. ได้ ก็คุม สว. ได้ เขาก็มองว่า “ยังไม่ดี” แต่ก็มีการถอยแค่ครึ่งทาง
รัฐธรรมนูญ 2550 : ให้เลือก สว. จังหวัดละ 1 คน ได้มา 77 คน ที่เหลืออีก 73 คน มีการสรรหา โดยมี คณะกรรมการขึ้นมา 5 คน โดยตำแหน่งจากประธานสำคัญๆ มา และคัดเลือกจาก 5 กลุ่ม
“เมื่อเป็นแบบนี้ จึงมีการตั้งคำถามเกิดขึ้น ว่า ยุติธรรมหรือไม่ มีการลำเอียงหรือไม่ เพราะอำนาจของคณะกรรมการ 5 คน มาคัดเลือก สว. จากคนนับพันคน” พล.อ.เลิศรัตน์ เล่าย้อนการเลือกตั้ง สว. 2 ครั้งในอดีต
พล.อ.เลิศรัตน์ ให้ความเห็นว่า เมื่อถึง รัฐธรรมนูญ 2560 : คณะที่คิดร่าง รธน. มองว่า ระบบการสรรหา แบบปี 2550 นั้น ยากที่จะยุติธรรม จึงไปคิดมาแบบใหม่ เพื่อป้องกันการฮั้ว หรือ ใช้เงิน
ด้วยแนวคิดลักษณะนี้ จึงออกแบบระบบการเลือกตั้ง สว. ที่ซับซ้อน ด้วยการเลือกกัน 3 ระดับ อำเภอ จังหวัด ประเทศ โดยให้ความสำคัญว่า สว. ควรมาจากอาชีพที่หลากหลาย จึงถูกแบ่งออกเป็น 20 กลุ่มอาชีพ อาชีพ ละ 10 คน จนได้จำนวน 200 คน อย่างน้อยเราก็จะได้ สว.จากกลุ่มคนหลากหลายอาชีพ นี่คือแนวคิด....
“แนวคิดนี้ ผมมองว่า ก็ดี เพราะเราจะได้ คนหลากหลายอาชีพมา เพราะ สว. นั้น จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่...จะทำยังไงให้ ฮั้ว หรือ ซื้อไม่ได้ เขาจึงออกแบบให้ “ยาก” กว่าจะได้เป็น สว.”
พล.อ.เลิศรัตน์ อธิบายเพิ่มถึงความ “ยาก” ว่า ระบบนั้นไม่ได้ยาก แต่จะเป็นได้นั้น “ยากมาก” ระบบที่ออกแบบมาเหมือนต้องขึ้นอยู่กับดวงสัก 95% ที่หน้าตา อีก 5%
...
“ผมมีประสบการณ์ในการสมัครระบบนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก จะโดนสอยร่วงตั้งแต่ระดับอำเภอ เพราะหากเอาเข้ามาได้ จะกลายเป็นคู่แข่ง จึงต้องสกัดไว้ตั้งแต่แรก คนที่เคยเป็นอดีต สว. ปี 2540 แต่พอมาสมัครระบบนี้ มีคนสมัคร ไม่กี่คน ก็ตกตั้งแต่แรก...”
พล.อ.เลิศรัตน์ คาดการณ์ว่า จากข่าวช่วงแรก ที่คาดว่าจะมีคนสมัครนับแสนคน เรื่องนี้มองว่าไม่น่าจะถึง ส่วนตัวประเมินไว้ น่าจะมีคนสมัครราว 4 หมื่นคน และจากข่าวที่ได้ล่าสุด มีคนสนใจสมัครประมาณ 3 หมื่นกว่าคนเท่านั้น
หลังจากนี้ อาจจะมีคนสมัครเพิ่มเติมอีก แต่...มันจะค่อนข้างยาก เพราะกว่าจะกรอกรายละเอียด หาคนเซ็นรับรอง ฉะนั้น จึงคาดว่า สุดท้ายน่าจะมีคนสมัครราว 4 หมื่นเศษๆ
“ตรงนี้ ถือเป็นจุดอ่อนในการคัดสรรคนเข้ามาทำงาน โอกาสที่จะได้คนที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจด้านกฎหมาย บางคนที่เข้ามา อาจจะอาศัยการเกาะกลุ่ม ซึ่งก็เชื่อว่าจะเข้ามาได้น้อย บางคนที่มีความรู้ ความสามารถ เขาจึงไม่เลือกลงสมัคร เพราะรู้อยู่แล้วว่า การโหวตให้กันนั้น เขาไม่ได้โหวตที่ความดี ความเก่ง หรือ หน้าตาของเรา...”
จากกฎ กติกา ที่แก้ปัญหาในอดีต กลับกลายเป็นการสร้าง “ปัญหาใหม่” คือ เราอาจจะได้ใครก็ไม่รู้มาเป็น สว. เพราะในความเป็นจริงของโลก เวลาโหวตแข่งขันกันเอง วิธีคิด ก็คือ
1. เป็นพวกของเราหรือไม่...
2. จะเป็นคู่แข่งเราหรือไม่...
...
“กรอบความคิดในกติกา บอกว่า หากเป็นคนที่เด่น คนที่ดี คนเขาจะเลือกเอง แต่ในความเป็นจริง จากปี 2562 ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นแบบนั้น...”
พล.อ.เลิศรัตน์ ให้ความเห็นว่า จากผู้สมัคร 30,000-40,000 คนดังกล่าว ประเมินว่า ผู้สมัคร 60-70% ลงสมัครเพื่อมาเลือกคนอื่น ส่วนคนที่หวังและอยากเป็นจริงๆ เชื่อว่ามีไม่ถึงหมื่น บางคนมาสมัครเพราะเพื่อนขอให้มาสมัคร โดยเฉพาะ “รอบแรก” การเลือกกันเองในกลุ่ม
ฉะนั้น หากจะคิดค่าเฉลี่ยว่า ทุกวิชาชีพ สมัคร อำเภอละ 5 คน ทุกอำเภอ จะต้องได้ 50,000 คน ดังนั้น เมื่อดูตัวเลขแล้ว บางอำเภอ อาจจะเหลือแค่ผู้สมัคร 2-3 คน ในบางสาขาอาชีพ
ขณะเดียวกัน หากต้องการได้ อาจเลือกสมัครใน กทม. เพราะ 1 วิชาชีพ ได้เกือบ 10 คน เอาเพื่อนมาสัก 5 คน ช่วยกันโหวตไปมา ก็จะได้ 2-3 คน ดังนั้น หากเป็นคนดัง มาลงสมัครใน กทม. โอกาสจะได้จึงน้อย หากเจอวิธีการแบบนี้
เรื่องแบบนี้ ยากที่จะกล่าวหากันว่า “ฮั้ว” ด้วย เพราะ ถือเป็น “สิทธิ” ที่ใครจะลงคะแนนอย่างไรก็ได้
...
20 กลุ่มอาชีพ...ที่แท้คือสมัครได้เกือบทุกอาชีพ
สำหรับ การกำหนด 20 กลุ่มอาชีพนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ มองว่า จริงๆ แล้วได้เกือบทุกอาชีพแหละ เพราะที่สุดแล้ว ข้อที่ 20 จะระบุไว้ว่า “อาชีพอื่นๆ” ก็แปลว่า คนที่เป็นอดีตข้าราชการ อดีตหมอ อดีตเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ก็สมัครได้ เรียกว่าเป็นการ “เปิดช่อง” ให้กับคนได้เข้ามา
หรือเป็นการเปิดให้กับ “ผู้ที่ไม่มีคนรับรอง”
เพราะการจะสมัครในอาชีพไหน จำเป็นต้องมีคนรับรองว่า ทำงานด้านนั้นมา 10 ปี อย่าง “ขายก๋วยเตี๋ยว” จะมีใครเซ็นรับรองให้คุณว่า “ขายก๋วยเตี๋ยว” มา 10 ปี ฉะนั้น “อาชีพอื่นๆ” จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เข้ามาสมัครโดยไม่ต้องเซ็นรับรอง
“ส่วนตัวแล้ว ที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือ “อาชีพสตรี” เพราะคนที่อยู่ตรงนี้ 20-30 ล้าน คนจะเลือกกันอย่างไร มีหลายสิบล้านคน ทำไมไม่มี “ผู้ชาย” บ้างล่ะ”
เจตนารมณ์ในการเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการให้เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมือง แล้วในความเป็นจริงทำได้หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ ให้ความเห็นว่า ทำได้ยากมาก ที่ผ่านมา มีความพยายามในการสร้างกระแส ให้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เข้ามาสมัครให้เยอะที่สุด ซึ่งหากมีการสมัครแบบนี้สักครึ่งหนึ่งก็มีโอกาสจะได้เป็น
“คนที่คิดเหมือนเรา มาสมัครเยอะ ก็มีโอกาสได้มากกว่า”
แบบนี้เรียกว่าเป็น “อิงแอบ” การเมืองแบบอ้อมๆ หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ ชี้ว่า “เป็นสิทธิ” เขาบอกแล้วว่า ไม่ผิดกฎหมาย การเดินสายให้คนเข้ามาสมัคร ใครก็ทำได้ ไม่ได้บอกว่า ให้สมัครในนามพรรคการเมืองการเมืองหนึ่ง
สิ่งที่คาดหวังกับการเลือก สว. ครั้งนี้อย่างไร พล.อ.เลิศรัตน์ มีข้อกังวลว่า บุคคลที่จะเข้ามา จะต้องมีคุณภาพ ใน 3 อย่าง คือ เรื่อง “นิติบัญญัติ” เพราะอำนาจหน้าที่ สว. จะต้องมีความรู้เพื่อ “ถ่วงดุล” ในการออกกฎหมาย
ฉะนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า ใน 200 คนที่ว่า... จะมีความรู้ด้านกฎหมาย จะได้สัก 10-20% หรือไม่ จากจำนวน 200 คน ซึ่งการรับสมัครมีคนกลุ่มอาชีพนี้อยู่ ซึ่งได้เพียง 10 คนเท่านั้น ที่สำคัญคือ ไม่ได้ระบุว่าเป็น “นักกฎหมาย” เพียงแต่ทำงานเกี่ยวข้องกับกฎหมาย เรียกว่าเป็นพนักงานในระบบยุติธรรมก็ได้
“ข้อกังวลของผม คือ การร่างกฎหมาย ที่มาจากสภาผู้แทนฯ ร่วมกัน หากไม่มีความรู้ หรือศึกษามาก่อน ไม่มีทางที่จะสามารถให้ความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ในการออกกฎหมายได้ ฉะนั้น กฎหมายอาจถูกควบคุมโดย สส. เสียเป็นส่วนใหญ่
อีกข้อ...การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่เป็นกลุ่มก้อน หรือต่างคนต่างที่มา
ประเด็นสุดท้าย การให้ความเห็นชอบกับ “องค์กรอิสระ” มีโอกาสที่กลุ่มคนเหล่านี้อาจถูกหว่านล้อมให้ไปอยู่กลุ่มใด กลุ่มหนึ่งหรือไม่ เมื่อเข้ามาแล้ว...และที่สำคัญ คือ การเลือก สว. ครั้งนี้ไม่มีการกำหนดคุณวุฒิ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
“ในโลกนี้ ไม่มี สว. ที่ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี การทำงานในวุฒิสภา ไม่ใช่เป็นใครก็ได้ เพราะอำนาจหน้าที่เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ 3 ข้อข้างต้น สิ่งที่ทำ คือ มุ่งเน้นจากการคัดเลือกจากอาชีพต่างๆ ที่หลากหลาย แต่เราต้องคำนึงถึง “วุฒิ” และ “ความสามารถ” ในการปฏิบัติงาน ตรวจสอบและถ่วงดุลด้วย” พล.อ.เลิศรัตน์ ทิ้งท้าย
อ่านบทความที่น่าสนใจ