ทุเรียนไทยส่งออกไปจีนเฉลี่ยวันละ 2 หมื่นตัน ขณะนี้ราคาทุเรียนส่งออกกำลังค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ กิโลกรัมละ 140-150 บาท นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ยืนยันว่า ไทยครองแชมป์ส่งออกในตลาดจีน หากเทียบด้านปริมาณ เวียดนามยังห่างชั้น เพราะมีพื้นที่ปลูกน้อยกว่า แต่ที่น่าห่วงคือ คุณภาพทุเรียนเวียดนาม เริ่มแซงได้ ส่วนตลาดคนไทยคาดปีนี้ จะได้กินทุเรียนถูกลงกว่าปีก่อน

สัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า สถานการณ์ราคาทุเรียนไทยที่ส่งออกไปยังจีน ตอนนี้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 140-150 บาท ขณะนี้ส่งออกไปเฉลี่ยวันละ 2 หมื่นตัน ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรรับได้ เพราะไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 120 บาท แต่ต้องรอดูช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่จะมีทุเรียนลอตใหญ่ส่งไปยังจีน หากราคาไม่ลงไปจากนี้ ก็ถือว่าเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าปีก่อน

ช่วงนี้เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนฝั่งตะวันออก แม้เจอภัยแล้ง จนทำให้เกษตรกรหลายรายต้องเร่งตัดลูกทุเรียนออก เพื่อรักษาต้นทุเรียนไว้ไม่ให้ตาย ดีกว่ามารอน้ำในจังหวะที่น้ำยังไม่มา ขณะที่กระทรวงเกษตรก็เริ่มวิตกกังวลเรื่องนี้ เพราะถ้าทุเรียนยืนต้นตาย จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร

...

ขณะนี้ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอยู่ที่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ จากผู้ปลูกทุเรียนทั้งหมด แต่ถ้าหลังวันที่ 15 พ.ค.67 ยังมีน้ำไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในวงกว้างมากขึ้น เพราะถ้าต้นทุเรียนยืนต้นตาย จะส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตทุเรียนในปีถัดไปลดลง

“ตอนนี้ผลผลิตทุเรียนในไทยให้ผลผลิตออกมาแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าภัยแล้งที่มีผลสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตอยู่ในวงจำกัดสำหรับปีนี้”

เนื่องจาก ทุเรียนทางภาคตะวันออกปีนี้ให้ผลผลิตรุ่นที่ 2 ประมาณวันที่ 5 พ.ค. เนื่องจากภาวะความร้อน ทำให้ทุเรียนที่คาดว่าจะสุกวันที่ 15-20 พ.ค. กลับสุกเร็วกว่าปกติ เป็นวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้มีทุเรียนจากสวนในภาคตะวันออก สุกเร็วกว่าปกติมาก และมีแนวโน้มจะล้นตลาดจีน

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงหากมีภัยแล้งรุนแรงคือ ทุเรียนที่ปลูกมา 10-20 ปี จะยืนต้นตาย ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐควรเร่งออกมาให้ความรู้กับเกษตรกร ในการจัดการต้นทุเรียน ในภาวะที่มีภัยแล้ง เพื่อป้องกันการปล่อยให้ทุเรียนยืนต้นตาย ซึ่งภัยแล้งตอนนี้มีทั่วทั้งภาคตะวันออก ซึ่งแต่ละพื้นที่มีการจัดการที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับสวนนั้นใกล้ หรือไกลแหล่งน้ำมากแค่ไหน"

ไทยเสียแชมป์ส่งออกทุเรียนจริงไหม?

สำหรับประเด็นที่มีการเผยแพร่ข่าวว่าปีนี้ไทยเสียแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีนให้กับเวียดนาม “สัญชัย” มองว่า ไม่เป็นความจริง เพราะข่าวที่ออกมาเป็นช่วงที่ทุเรียนไทยยังไม่ออก ในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.ที่ผ่านมา ประกอบกับช่วงนั้นทุเรียนเวียดนามเริ่มให้ผลผลิต และมีการไปสอบถามยังบริษัทชิปปิ้ง ที่อยู่บริเวณด่านชายแดนเพียงแห่งเดียว

...

“ถ้ามองการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนในปีนี้ ไม่น่าเสียแชมป์ และต่อให้อีก 10 ปี ก็ยังไม่เสียแชมป์ เพราะไทยปลูกทุเรียนมาก่อนเวียดนามหลายสิบปี แล้ววันนี้พื้นที่ปลูกทุเรียนของไทยมีการขยายไปเรื่อยๆ ขณะที่เวียดนามเพิ่งเริ่มหันมาปลูกทุเรียนเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งถ้าคิดในปริมาณของพื้นที่ปลูก ไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากกว่าเวียดนามหลายเท่า ดังนั้นถ้ามองในเชิงปริมาณ ไทยย่อมมีการส่งออกทุเรียนมากกว่าเวียดนาม และเป็นเรื่องยากที่จะเสียแชมป์"

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คุณภาพของทุเรียนไทย ที่เวียดนามเริ่มจะแซง เพราะเวียดนามมีการขนส่งที่ใกล้กว่าไทย ทำให้สามารถตัดทุเรียนที่แก่กว่าส่งออกได้อย่างรวดเร็วกว่า

ขณะเดียวกัน เวียดนามมีการรวมกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนที่เข้มแข็ง ต่างจากไทยที่ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของทุเรียนที่ส่งออก เพราะมีขบวนการลักลอบตัดทุเรียนอ่อน และหลบหนีการตรวจสอบคุณภาพของเจ้าหน้าที่ ประกอบกับตอนนี้มีล้งต่างชาติเข้ามาในไทย ซึ่งมีบางกลุ่มฉวยโอกาส ส่งทุเรียนอ่อนและไม่ได้คุณภาพ เพื่อสร้างผลกำไร โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพระยะยาว

...

เช่นเดียวกับเกษตรกรไทยบางกลุ่ม มีการลักลอบตัดทุเรียนอ่อนที่ได้น้ำหนัก เพราะอยากรีบขาย ดังนั้น ถ้ายังมีปัญหาเหล่านี้อยู่ ทุเรียนไทยที่ส่งออกไปจีน จะมีปัญหาเรื่องคุณภาพ ส่งผลต่อผู้บริโภคชาวจีนให้หันไปซื้อทุเรียนเวียดนามในเกรดพรีเมียมแทน

สำหรับคนไทยที่อยากกินทุเรียนราคาถูกปีนี้ จะเริ่มมีทุเรียนที่ราคาถูกมาจำหน่ายมากขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมามีการส่งทุเรียนไปจีนวันละ 800 ตู้คอนเทนเนอร์ และตอนนี้ส่งออกทุเรียนเฉลี่ยไปวันละ 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ เท่ากับว่าทุเรียนที่เป็นเกรดส่งออกเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีสินค้าตกเกรดมากขึ้น และจะไหลเข้ามายังตลาดเมืองไทย ดังนั้นตอนนี้เรามีสินค้าส่งออกมากขึ้น ย่อมมีสินค้าตกเกรดเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนไทยมีโอกาสได้กินทุเรียนในราคาถูกลง

ปกติทุเรียนที่มีในตลาดไทย มีราคามาตรฐานเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-80 บาท และคนไทยนิยมกินทุเรียนแก่ ซึ่งในช่วงเวลานี้ทุเรียนแก่เริ่มมีมากขึ้น ทำให้ปีนี้คนไทยจะได้กินทุเรียนที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง.