"ฝันสลาย ตรอมใจ เหมือนตายทั้งเป็น" เปิดใจวัยรุ่นเคย 'เมาแล้วขับ' จากนักกีฬาประจำจังหวัด ผู้ปรารถนาอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ สู่วันที่ฤทธิ์สุราพรากร่างกาย ชีวิต และความฝัน ไปตลอดกาล
"ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ วันนั้นผมจะไม่ไปดื่ม ผมจะเชื่อคำเตือนคำพูดของแม่ ที่ไม่อยากให้ผมออกจากบ้าน เพราะการที่ผม 'เมาแล้วขับ' มันได้พรากความฝันของผม พรากการเล่นฟุตบอลและสเกตบอร์ดที่ผมรัก พรากชีวิตที่สะดวกสบาย"
ข้อความข้างต้นเป็นบทสนทนาบางช่วง ระหว่างทีมข่าวฯ กับ 'ปัณณ์พลิศร์ ฤกษ์หิรัญตระกูล' หรือ 'เฟรม' อายุ 24 ปี นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติไทย ซึ่งเราได้ชวนเขามาเปิดใจถึงเรื่องราวชีวิตผ่านซีรีส์สกู๊ป 'เพราะเมาแล้วขับ' เพื่อหวังให้เป็นเครื่องเตือนใจแก่ทุกคน และสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมไทยให้หันมาใส่ใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้น
สำหรับซีรีส์สกู๊ป 'เพราะเมาแล้วขับ' เมื่อ EP.1 ทีมข่าวฯ ได้พาผู้อ่านทุกคนไปพบกับเรื่องราวของ 'อดิศักดิ์ ขาวบู่' ซึ่งเป็นผู้สูญเสียจากคนที่เมาแล้วขับ แต่กรณีของ ปัณณ์พลิศร์ เขาคือผู้สูญเสียจากการที่ตนเองเมาแล้วขับ
อ่านเพิ่มเติม : เพราะเมาแล้วขับ EP.1 เปิดชีวิตเหยื่อ ต้องกำพร้าแถมพิการตั้งแต่ 3 ขวบ
เรามาดูกันว่า 'เมาแล้วขับ' ได้พรากอะไรไปจากชีวิตของเด็กผู้ชายวัยรุ่นคนหนึ่งบ้าง
...
"ผมหลับขณะกำลังขี่มอเตอร์ไซค์" :
เหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของ ปัณณ์พลิศร์ ไปตลอดกาล เกิดขึ้นเมื่ออายุ 18 ปี ณ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเอง เฟรม เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า วันนั้นผมไปงานวันเกิดเพื่อนคนหนึ่ง พอดื่ม (แอลกอฮอล์) สังสรรค์กันจนถึงประมาณตีสี่ ผมก็ได้ขอตัวขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้าน ทั้งที่รู้ว่าตัวเองอยู่ใน 'อาการเมา' และมีฝนตกลงมาเล็กน้อย ผมขี่รถออกจากบ้านเพื่อนไปได้ระยะหนึ่ง พอพ้นไฟแดงได้แป๊บเดียว ผมก็หลับขณะกำลังขี่มอเตอร์ไซค์…
"ผมจำได้ว่าพอหลุดจากไฟแดงแป๊บนึง ผมก็หลับ ภาพตัดเลยครับ 'หลับแบบหลับเลยนะครับ ไม่ใช่การหลับใน' คนที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ถนนมีทั้งหมดสี่เลน ผมขับรถอยู่เลนขวาสุด จู่ๆ ผมก็หักรถไปเลนซ้ายสุด จนมอเตอร์ไซค์เข้าไปชนกับท้ายรถกระบะที่จอดอยู่"
เฟรม เล่าต่อว่า ตอนที่รถมันเปลี่ยนเลน ผมไม่รู้ตัวเลยนะ แต่ตอนที่มอเตอร์ไซค์เข้าไปชนท้ายรถกระบะ จังหวะที่มันดัง 'ปึ้ง!' ผมตื่นเลย รู้ตัวอีกทีร่างก็กระเด็นมานอนอยู่ท้ายรถกระบะ ส่วนขาไปพาดอยู่ที่ขอบรถ ผมไม่สลบ แถมสติกลับมาครบทุกอย่าง
"ผมพูดตรงๆ ว่า ตอนแรกไม่ได้คิดว่าตัวเองจะพิการ คิดแค่ว่าสะโพกหลุดเฉยๆ เพราะท่อนล่างชาและขยับไม่ได้ จะยกขาออกจากขอบกระบะก็ทำไม่ได้อีก เหมือนสมองไม่ยอมสั่งการ เลยพยายามดิ้นช่วงตัวให้ขามันหล่นลงมา"
เฟรม เปิดใจกับทีมข่าวฯ ต่อว่า ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรจริงๆ ส่วนสติก็อยู่ครบ เลยหยิบโทรศัพท์จากกระเป๋ากางเกง โทรให้เพื่อนมาช่วย พอเพื่อนมาถึงเขาก็โทรหากู้ภัยเพื่อนำตัวผมส่งโรงพยาบาล ด้านคู่กรณีก็งงๆ ว่าผมมาได้ยังไง เพราะเขาจอดรถอยู่เฉยๆ ซึ่งไม่ได้เปิดไฟด้วย แต่ถึงเขาเปิดไฟ ผมก็มองไม่เห็น "เพราะว่าผมหลับ"
"หมอให้เวลา 2 ปี" :
เฟรม เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า ผมไปถึงโรงพยาบาลแห่งแรกประมาณตีห้า แต่เขายังไม่ได้ทำการรักษาให้ เพียงแต่แจ้งว่าต้องไปอีกโรงพยาบาลนึง เนื่องจากมีประกันอยู่ที่นั่น ก็เลยนอนรอทั้งที่ปวดเอวมากๆ ตั้งแต่ประมาณตีห้าจนถึงแปดโมงเช้า
พอได้ย้ายไปอีกโรงพยาบาลแล้ว ทีมแพทย์ก็จับผมเข้าเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) ตรวจหาความเสียหายของร่างกาย จำได้ว่าตอนนั้นนอนอยู่โรงพยาบาล 4 วัน เข้าเครื่อง MRI เกือบ 20 ครั้ง เพราะเคสของผมมันค่อนข้างไม่ปกติเท่าไร
"กระดูกผมไม่แตก ไม่หัก ไม่ร้าว แต่เท่าที่จำจากแพทย์บอกได้ คือ เส้นประสาทช้ำ เส้นเลือดแตกทำให้เลือดออกมาก กระทั่งเส้นประสาทไปจมอยู่ในเลือด จนทำให้มันขาดออกซิเจน ส่งผลให้ภายในสั่งการไม่ได้ หากเรียกแบบทั่วไปก็คล้ายกับไขสันหลังช้ำ"
...
แม้อาการของ ปัณณ์พลิศร์ จะดูหนักมาก แต่เขาบอกกับเราว่า "ผมไม่ได้รักษาอะไรต่อ" ทำให้ทีมข่าวฯ สงสัยว่าเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น เฟรม จึงอธิบายว่า ตอนแรกหมอบอกว่า 'จะผ่าตัด' แต่เมื่อได้วินิจฉัยเพิ่มแล้ว เขาบอกว่า ไม่ผ่าดีกว่า เพราะมีเปอร์เซ็นต์อันตรายสูง เสี่ยงที่อาการจะหนักกว่านี้ ซึ่งตัวเฟรมเองก็เลือกจะเชื่อฟังคำแพทย์ครับ เพราะไม่ได้มีความรู้ด้านนี้ และไม่อยากให้ร่างกายเป็นหนักไปมากกว่านี้
เมื่อทีมข่าวฯ ถามว่า แสดงว่าตอนนั้นรู้แล้วใช่ไหมว่าตัวเองจะเดินไม่ได้อีก เฟรม ให้คำตอบว่า เอาจริงๆ ตอนนั้นผมก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเดินไม่ได้ ตอนออกจากโรงพยาบาลก็ยังสงสัยว่า 'จะรักษายังไงต่อ' เพราะตัวเองก็ยังขยับขาไม่ได้ และยังต้องใส่สายปัสสาวะ
"หมอไม่เคยพูดออกจากปากว่าผมจะเดินไม่ได้ ผมไปตามหมอนัดทุกครั้ง แต่ครั้งสุดท้ายที่ไปหา เขาบอกกับผมว่า 'ให้เวลา 2 ปี ถ้าได้แค่ไหนก็แค่นั้น' ซึ่งผมงงว่าต้องไปยังไงต่อ เพราะไม่ได้มีการรักษาอะไรเพิ่ม มีแค่การนัดมากายภาพอยู่บ้าง แต่ตัวผมเองก็ไม่ได้ไปกายภาพตามนัดทุกครั้ง ด้วยการเดินทางตอนนั้นที่ไม่สะดวก และทางบ้านก็ต้องทำงานกัน"
...
"ช่วงนั้นเหมือนตายทั้งเป็น" :
หลังจากที่ไม่ได้ทำการรักษาต่อ และหมอบอกให้เวลา 2 ปี ทำให้เฟรมพอจะสันนิษฐานได้ว่า เขาอาจจะกลับมาเดินไม่ได้อีก จึงเลือกที่จะเก็บตัวอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ด้วยสภาพจิตใจที่ห่อเหี่ยว และสิ้นหวังกับชีวิต…
"ช่วง 2 ปีแห่งความว่างเปล่า 2 ปีที่เดินไม่ได้ ผมนอนอย่างเดียว ไม่อยากกิน ไม่อยากคุย เรียกง่ายๆ ว่าตรอมใจ" ปัณณ์พลิศร์ กล่าวเปรยถึงความท้อแท้ของชีวิตช่วงนั้น
"ความทรมานช่วงนั้น ทางร่างกายไม่เท่าไร แต่ทางจิตใจผมย่ำแย่มาก เหมือนคนตายทั้งเป็น ความคิดผม ณ ตอนนั้นคือ 'อยู่ไปก็เป็นภาระครอบครัว' แถมแม่ยังต้องมาเหนื่อยเพิ่มอีก เหนื่อยจากงานแล้วยังต้องมาคอยดูแลผมอีก"
เฟรม เล่าต่อว่า ตอนนั้นผมอยากนอนอย่างเดียว ไม่คิดดูแลตัวเอง ไม่คิดทำอะไร ความคิดแย่ๆ วนเข้ามาในหัวตลอด อยากฆ่าตัวตายอย่างเดียว สมองมันไม่คิดบวกเลย คราวนี้พอความคิดเราแย่ มันเลยแสดงความ Toxic ออกมาทางอารมณ์และคำพูด ผมชอบโวยวายและทำตัวหงุดหงิดอยู่บ่อยครั้ง
"ผมนอนอย่างเดียวจริงๆ ครับ นอนมองเพดานด้วยความสิ้นหวัง ไม่ลุกไปไหนเลยตลอด 2 ปี เหมือนคนเป็นอัมพาต กินบนที่นอน ถ่ายบนที่นอน ฉี่บนที่นอน ไม่ได้อาบน้ำ แปรงฟันล้างหน้าบนที่นอน มีแม่เป็นคนคอยเช็ดตัวให้ ชีวิตไม่เอาอะไรแล้ว ปล่อยตัวเองสุดๆ นอนจนเป็นแผลกดทับ ทำให้แม่ต้องมาคอยทำแผลให้อีกทุกวัน"
...
"เราพลาดในการทำสิ่งที่รัก" :
เฟรม เปิดใจกับทีมข่าวฯ ว่า ที่ตัวเองรู้สึกหดหู่มาก เพราะเคยใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและสนุกสนาน เนื่องจากเดิมทีแล้วเป็นคนที่ชอบเล่นกีฬา และชอบกิจกรรมนันทนาการเป็นอย่างมาก ก่อนสูญเสียการเคลื่อนไหวช่วงล่าง เขาจริงจังกับการเล่นฟุตบอล จนได้เป็น 'นักกีฬาประจำจังหวัด'
"ช่วงนั้นผมสูง 180 เซนติเมตร หนัก 65 กิโลกรัม แล้วฟุตบอลมันคือความฝันของผม ผมเล่นมาตั้งแต่ ป.4 ตั้งเป้าหมายในใจว่าอยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ แล้วอีกอย่างคือผมชอบการเล่นสเกตบอร์ดมากๆ"
ปัณณ์พลิศร์ กล่าวต่อว่า ตอนแรกที่รู้ว่าเดินไม่ได้ ยอมรับว่าไม่ได้รู้สึกอะไรมาก ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะไม่ได้เล่นบอลแล้ว เพราะยังมีความหวังว่าจะกลับมาเดินได้ จนวันหนึ่งเหมือนเรายอมรับตัวเองได้ว่า "ต้องนั่งรถเข็นแล้ว เดินไม่ได้แล้ว เป็นคนพิการ" ทำให้ทุกครั้งที่เห็นสนามฟุตบอล เห็นคนเล่นฟุตบอล เห็นรองเท้าฟุตบอล ใจมันก็รู้สึกสั่นๆ เหมือนจะร้องตลอด พูดตรงๆ ว่าเสียใจหลายอย่างมาก เราพลาดในการทำสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ สิ่งที่เราทำได้
"ไม่อยากให้แม่ต้องนั่งดูแลเฟรมไปตลอดชีวิต" :
ทีมข่าวฯ ยอมรับว่า ขณะที่กำลังฟังเรื่องของเฟรม เราก็รู้สึกสะเทือนใจอย่างบอกไม่ถูก นี่คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์จะเป็นอย่างไรหากต้องใช้ชีวิตอยู่กับความสิ้นหวัง… อย่างไรก็ตาม วันนี้เฟรมอาการดีขึ้นมากแล้ว เขาจึงมีพลังกายและพลังใจที่จะโทรคุยกับทีมข่าวฯ ได้ เราจึงสอบถามปัณณ์พลิศร์ต่อไปว่า จุดไหนที่ทำให้คิดว่าอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว?
เฟรม ตอบแทบจะทันทีว่า "จุดที่เห็นแม่ลำบากเพราะเราครับ"
จริงๆ ผมต้องบอกว่า ช่วงที่ผมนอนตรอมใจ มันกินระยะเวลาเกือบ 3 ปี เพราะผมอยู่แบบนั้นตั้งแต่อายุ 18 ปี จนถึงอายุ 20 ปี ช่วงที่ผมคิดแย่ๆ ทำตัวไม่ดี แต่พอมองไปรอบตัว ครอบครัวไม่เคยซ้ำเติมผมเลย พวกเขาดูแล และสนับสนุนผมดีมาก คอยให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา ส่วนเพื่อนๆ ก็คอยมาเยี่ยม มากินข้าวด้วย มานั่งพูดคุยเหมือนตอนที่ผมยังเดินได้ปกติ
"บวกกับว่าช่วง 2 ปีนั้น แม่ขอให้ผมสวดมนต์ก่อนนอนตลอด ผมก็ไม่อยากขัดเขา เลยสวดทุกวัน ผมสวดมนต์จนรู้สึกว่าใจตัวเองมันดีขึ้นเรื่อยๆ ความคิดบวกมันเริ่มกลับเข้ามาในหัว ผมเริ่มคิดดีขึ้น จนความคิดแย่ๆ มันเริ่มหายไป"
ปัณณ์พลิศร์ เล่าความรู้สึกที่ยังชัดเจนในใจและความทรงจำให้เราฟังต่อว่า ตอนที่พลังบวกมันกลับเข้ามา ทำให้ผมเริ่มรู้ตัวว่า จะอยู่ต่อไปแบบนี้ไม่ได้ เพราะแม่เหนื่อยกับผมมามากแล้ว ตัวเฟรมเองก็ต้องโตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนแม่ก็แก่ลงทุกวัน เฟรมไม่อยากนอนบนเตียงเฉยๆ แล้วให้แม่ของเราที่แก่ขึ้น ต้องมาคอยนั่งดูแลไปตลอดชีวิตเขา เขาควรได้ใช้ชีวิตของเขา และเราก็ควรได้ใช้ชีวิตของเรา เฟรมเลยเริ่มอยากหันมาดูแลตัวเอง
หลังจากนั้นเฟรมทำอย่างไรต่อ?
"เฟรมบอกแม่ว่า พาเฟรมกลับไปกายภาพหน่อย เฟรมไม่อยากอยู่แบบนี้แล้ว แม่เขาก็งงว่าเกิดอะไรขึ้นกับเฟรม ทำไมจู่ๆ ถึงอยากกลับไป เฟรมก็เลยบอกไปว่า 'ไม่ไหวแล้ว ไม่อยากอยู่แบบนี้' ซึ่งแม่ดีใจมากที่เฟรมยอมกลับไปทำกายภาพ"
"กายมันเหนื่อยก็จริง แต่ใจรู้สึกดีมาก" :
นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติไทย เล่าให้ฟังว่า วันที่กลับไปกายภาพวันแรก บอกตรงๆ ว่า กายมันเหนื่อยก็จริง แต่ใจรู้สึกดีมาก ที่เราได้เจอผู้คน ได้ออกมาสูดบรรยากาศข้างนอก หลังจากที่อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ มาหลายปี แต่ผมทำกายภาพได้แค่ 2 ครั้ง ชีวิตก็เริ่มหันไปอีกทาง เพราะพี่นักกายภาพเขารู้จักกับ 'ลุงบี' (ภัทรพันธุ์ กฤษณา ประธานเครือข่ายเมาแล้วขับ และนายกสมาคมวีลแชร์บาสเกตบอลไทย)
"ตอนนั้นผมทำกายภาพปกติ จู่ๆ พี่นักกายภาพเขาถามขึ้นมาว่า 'อยากกลับมาเล่นกีฬาไหม' แต่ในใจเราก็งงว่า จะเล่นกีฬาได้ไงในเมื่อเป็นแบบนี้ เพราะตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามีกีฬาคนพิการด้วย พี่นักกายภาพเขาไปคุยรายละเอียดกับพี่สาว แล้วพี่มาอธิบายให้ฟังว่า เป็นกีฬาบาสเกตบอล แล้วเขาก็ถามเราว่าอยากเล่นไหม แต่ต้องไปอยู่ห่างบ้านนะ"
เฟรม กล่าวความรู้สึกว่า ตอนนั้นเราก็คิดมากเพราะเป็นคนพิการ ถ้าต้องออกจากบ้านไปก็กังวลว่าใครจะช่วยเหลือเรา เพราะเรายังดูแลตัวเองไม่เป็นเลย แต่อีกใจนึงมันมีความคิดว่า "ต้องเอาตัวเองออกไปก่อน จะเป็นยังไงก็ตายเอาดาบหน้า ให้ตัวเองหลุดพ้นจากการนอนในห้องสี่เหลี่ยมก่อน"
หลังจากการตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้ปัณณ์พลิศร์ได้เข้าสู่วงการวีลแชร์บาสเกตบอลไทย ครั้งแรกที่เขาได้เจอกับสมาชิกคนอื่นๆ ณ กกท.หัวหมาก เขายอมรับว่าเข้าไปแบบงงๆ แม้เห็นกลุ่มรุ่นพี่เล่นกันอย่างสนุกสนาน แต่ก็มีคำถามในใจมากมาย
"คือผมมองดูเขาเล่นกัน ก็ได้แต่สงสัยว่าเขาเล่นกันยังไง เล่นบนวีลแชร์ได้ยังไง มันปั่นยังไง เพราะเราไม่รู้อะไรเลย แต่ด้วยความที่เรารักกีฬามาก่อน มันก็เลยเป็นแรงพลักดันเล็กๆ ที่ทำให้เราอยากลองพยายามอีกครั้งหนึ่ง กลัวแค่ไหนก็อยากจะลองทำให้ได้"
ปัจจุบันนี้ เฟรมก้าวเข้าสู่การเป็น 'ทีมชาติ' ครอบครัวของเขาดีใจและภูมิใจที่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนกลับมาสดใสได้อีกครั้ง ส่วนเฟรมเองก็เผยความรู้สึกว่า "ดีใจมากที่ได้เล่นกีฬา ดีใจที่ดูแลตัวเองได้โดยไม่เดือดร้อนครอบครัว"
"ทุกครั้งกลับบ้านได้ปกติ แต่ครั้งนั้นไม่ถึงบ้าน" :
มาถึงตรงนี้… คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยคล้ายกับเราว่า ทำไมรู้ตัวว่าเมาแต่ยังเลือกขี่รถกลับเอง?
ปัณณ์พลิศร์ ให้คำตอบว่า ต้องเท้าความก่อนว่า โดยปกติแล้วผมเป็นคนที่เรียนไปด้วย และทำงานพาร์ตไทม์ไปด้วย ทุกครั้งที่มีนัดสังสรรค์ พอเลิกงานแล้วก็จะไปดื่มกับเพื่อนต่อ ผมทำแบบนั้นเป็นประจำ ซึ่งทุกครั้งกลับบ้านได้ปกติ แต่ครั้งนั้นไม่ถึงบ้าน
"วันนั้นผมยอมรับว่าตัวเองเพลียจากงานอยู่แล้ว แต่ก็ยังเลือกจะไปดื่ม หากถามว่าดื่มเยอะไหม ก็ต้องตอบว่าเยอะพอสมควร มันเลยกลายเป็นว่าผมทั้งเพลีย ทั้งง่วง พอเจอฤทธิ์แอลกอฮอล์เข้าไป ก็กลายเป็นว่าทุกอย่างแย่ไปหมด"
"ถ้าย้อนเวลากลับไปวันนั้นได้ เฟรม อยากทำอย่างไร?" เราถามปลายสาย แม้รู้อยู่เต็มอกว่ามันไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง…
เฟรม ตอบว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะไม่ออกจากบ้าน ผมจะไม่ออกไปดื่ม ผมจะเชื่อคำเตือนของแม่ เพราะวันนั้นเลิกงานเสร็จผมกลับไปเปลี่ยนเสื้อที่บ้านก่อน แล้วแม่เตือนแล้วว่า "อย่าไปเลย" แต่ผมก็ไม่ฟัง
"สุดท้ายแล้วผมก็ 'เมาแล้วขับ' สิ่งนั้นจึงได้พรากความฝันของผม พรากฟุตบอล และสเกตบอร์ดที่ผมรัก พรากการเดินแบบคนปกติ และพรากชีวิตที่สะดวกสบายไปจากผม"
ก่อนบทสนทนาแห่งชีวิตจะจบลง ปัณณ์พลิศร์ ฤกษ์หิรัญตระกูล กล่าวทิ้งท้ายเป็นเครื่องเตือนใจ ในฐานะที่ตนเคยพลาดมาก่อน ฝากผ่านทีมข่าวฯ ถึงทุกคนว่า คนที่เจอปัญหาแบบเฟรม เฟรมอยากให้ก้าวผ่านมันไปให้ได้ ในเมื่อตัวเราทำพลาดไปแล้ว อยากให้คิดบวกเยอะๆ อย่าจมกับความคิดจนตัวเองรู้สึกแย่
"อีกเรื่องที่อยากฝากคือ การดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ไม่ใช่เรื่องดีเลย จะดื่มมากหรือน้อยก็ไม่ควรขับ ถ้าคุณดื่มแล้วคิดจะขับ เฟรมอยากให้คิดเยอะๆ เพราะบางทีมันอาจไม่ได้สูญเสียแค่เรา แต่คุณอาจทำให้คนอื่นสูญเสีย หรือครอบครัวคุณเองอาจจะต้องสูญเสียไปด้วย"
ภาพ : ปัณณ์พลิศร์ ฤกษ์หิรัญตระกูล
อ่านบทความที่น่าสนใจ :