"เสาร์ 5" ตามตำราโบราณ หมายถึง วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินไทย ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 เม.ย. 67 โดยสายมูเชื่อว่าเป็นฤกษ์ ที่เสริมแรงครู ทำให้มีพิธีปลุกเสกเครื่องรางตามความเชื่อมาตั้งแต่อดีต ขณะเดียวกันก็แฝงนัย ข้อห้ามสำคัญที่หลายคนเข้าใจผิดมาตลอด ซึ่งถ้าสายมูพลาดปีนี้ต้องรออีก 10 ปีข้างหน้า
“อัมรินทร์ สุขสมัย” ผู้ศึกษาด้านโหราศาสตร์และไสยเวท กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า เสาร์ 5 เป็นคติความเชื่อตามตำราโบราณด้านไสยเวทอิงกับความรู้ด้านโหราศาสตร์ ซึ่งวันเสาร์ 5 หมายถึง วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินไทย ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 เม.ย. 67
“วันเสาร์ 5 ตามตำราโบราณถือเป็นวันแรงที่พระเกจิมักใช้วันนี้ในการทำพิธีกรรม เป็นวันที่เกิดขึ้นได้ยาก ในชีวิตคนหนึ่งคนอาจเกิดขึ้นแค่ 2 ครั้ง หรือครั้งเดียว จะเห็นว่าวัตถุมงคลที่เป็นฤกษ์เสาร์ 5 พระเกจิ 1 รูป อาจทำได้เพียง 1-2 ครั้งในชีวิต เพราะเป็นวันที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เพราะกว่าฤกษ์เสาร์ 5 จะเวียนมาอีกครั้งต้องใช้เวลา 10-20 ปี แต่มีกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นฤกษ์เสาร์ 5 โดยอิงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ แต่ไม่ใช่เดือน 5 ตามปฏิทินไทย”
...
ฤกษ์เสาร์ 5 ความหมายด้วยวันเสาร์เป็นวันแข็ง การขึ้น 5 ค่ำ เป็นการอาศัยกำลังของดาวพฤหัสบดี ที่เป็นวันครู ส่วนเดือน 5 ตามแบบไทย มีความหมายถึงครู และตำราโบราณดาวพฤหัสบดี ถือเป็นครูของดาวนพเคราะห์ ดังนั้นดวงดาวที่เป็นตัวแทนครู จะเข้าไปลดทอนดวงดาวที่ทำให้ดวงชะตาสูญเสีย หรือดาวเคราะห์ที่ให้โทษ
ทางไสยเวท การทำพิธีกรรมในวันเสาร์ ถือเป็นวันแข็ง และพอขึ้น 5 ค่ำ ก็ได้อิทธิพลของวันครู บวกกับเดือน 5 แบบไทยที่เป็นวันครู จึงเหมาะที่จะประกอบพิธีกรรม เช่น ปลุกเสกวัตถุมงคล เชื่อว่า จะเพิ่มพูนฤทธิ์ให้ทบทวีมากขึ้น ซึ่งในอดีตใช้วันนี้ในการปลุกเสกเครื่องลาง เน้นความคงกระพัน แคล้วคลาด มากกว่าการเสริมเสน่ห์ หรือโชคลาภ
ยุคปัจจุบัน ฤกษ์เสาร์ 5 ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นทำพิธี เพื่อให้เกิดความคงกระพัน มาเป็นการเสริมสิริมงคลด้านการงาน มหาเสน่ห์ การค้าขาย และโชคลาภ แต่การประกอบพิธีกรรมในวันนี้ยังมีความเชื่อว่าจะทำให้พิธีมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าวันอื่น เป็นการเพิ่มคุณของวิชาให้มากขึ้นด้วยฤกษ์เสาร์ 5
ฤกษ์เสาร์ 5 ในวันเสาร์ที่ 13 เม.ย. 67 ตามตำราความเชื่อว่าการประกอบพิธีต่างๆ เริ่มตั้งแต่พระอาทิตย์เริ่มขึ้น ไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน แต่ในทางไสยศาสตร์การประกอบพิธีกรรมบางครั้งใช้เวลายาวนาน เช่น ระหว่างทำพิธีเข้าสู่วันใหม่ จะมีการต่อฤกษ์ โดยผู้ประกอบพิธีมีการต่อมนต์ ที่ทำให้พิธียังไม่จบสิ้น
“ปกติฤกษ์เสาร์ 5 เป็นพิธีกรรมไสยศาสตร์ ไม่เกี่ยวโยงกับฤกษ์ปกติทั่วไป แต่ด้วยโลกปัจจุบันที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้หลายแห่งมีการจัดพิธีให้คนทั่วไปเข้าไปร่วมได้ เช่น พิธีพุทธาภิเษก มีการจัดขึ้นในวัด หรือสำนักต่างๆ และบางที่มีการเสริมชะตาหรือดวงในช่วงฤกษ์เสาร์ 5”
ข้อห้ามสำคัญในวันฤกษ์เสาร์ 5 ห้ามประกอบพิธีกรรมบูชาดาวเสาร์ เพราะเป็นดาวให้โทษ ไม่เคยให้คุณ ถ้ายิ่งไปบูชาในวันแรงยิ่งเพิ่มโทษ คติความเชื่อนี้สืบทอดมาจากอินเดีย ทำมาอย่างเคร่งครัด ถึงขนาดห้ามมองดาวเสาร์ เชื่อว่าจะให้โทษมากกว่าให้คุณ สิ่งสำคัญอย่าลืมว่าเรื่องคาถาอาคมเปรียบเสมือนมีด ที่ให้คุณกับคนใช้ในการนำไปใช้ปาดเพื่อใช้งาน แต่ขณะเดียวกันคมมีดก็สามารถปาดเนื้อเราได้
...
ที่ผ่านมามีพระเกจิหลายท่านใช้ฤกษ์เสาร์ 5 ปลุกเสกวัตถุมงคล เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา เช่น หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
ฤกษ์เสาร์ 5 ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ถึงอย่างไรควรมีสติในการใช้ชีวิต ไม่ควรเชื่องมงาย จนส่งผลกระทบต่อชีวิตตัวเองและครอบครัว.