คุยกับ 'รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์' วิเคราะห์ 4 ปัจจัยทำราคาทองพุ่ง ภูมิรัฐศาสตร์, เศรษฐกิจ, ความไม่พอใจต่อสกุลดอลลาร์ และเศรษฐกิจจีนกำลังแย่ ชี้ ไทยยังไม่เข้าใกล้วิกฤติต้มยำกุ้ง แนะระยะสั้นราคาทองยังผันผวน แต่หากหวังเก็บระยะยาว ยังกินกำไรได้อีกนาน!

หากใครได้ติดตามข่าวช่วงนี้ จะพบว่าข่าว 'ราคาทอง' กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากราคากำลังพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีท่าทีจะลดลงง่ายๆ จนกระทั่งราคาแตะสี่หมื่นบาทในที่สุด!!!

ตัวอย่างราคาทองย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน ถึง 9 เมษายน 2567 อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ ทองคำราคา.com โดยยึดตามเวลาล่าสุดที่ทางเว็บไซต์ได้บันทึกไว้ พบว่า

5 เมษายน 2567 เวลา 17.15 น.

ทองแท่ง-รับซื้อ 39,700.00 บาท / ขายออก 39,800.00 บาท 

ทองรูปพรรณ-รับซื้อ 38,991.52 บาท / ขายออก 40,300.00 บาท

6 เมษายน 2567 เวลา 09.21 น.

ทองแท่ง-รับซื้อ 40,150.00 บาท / ขายออก 40,250.00 บาท 

ทองรูปพรรณ-รับซื้อ 38,431.52 บาท / ขายออก 40,750.00 บาท

7 เมษายน 2567 - ไม่ปรากฏข้อมูล

...

8 เมษายน 2567 เวลา 17.06 น.

ทองแท่ง-รับซื้อ 40,550.00 บาท / ขายออก 40,650.00 บาท 

ทองรูปพรรณ-รับซื้อ 38,825.32 บาท / ขายออก 41,150.00 บาท

9 เมษายน 2567 เวลา 17.14 น.

ทองแท่ง-รับซื้อ 40,500.00 บาท / ขายออก 40,600.00 บาท 

ทองรูปพรรณ-รับซื้อ 39,764.68 บาท / ขายออก 41,100.00 บาท

แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ 'ทอง' พุ่งสูงขึ้นขนาดนี้!? ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจสถานการณ์นี้ให้มากขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์ จากการวิเคราะห์โดย 'รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์' นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง 

4 ปัจจัยทำราคาทองพุ่งสูง : 

"มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ราคาทองพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นี่คือคำถามแรกที่ทีมข่าวฯ ได้เรียนสอบถามอาจารย์สมชาย ซึ่งกูรูของเราได้วิเคราะห์ออกมาว่า มี 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ภูมิรัฐศาสตร์, เศรษฐกิจ, ความไม่พอใจต่อสกุลดอลลาร์ และเศรษฐกิจจีนกำลังแย่ 

รศ.ดร.สมชาย เริ่มต้นอธิบายว่า มีหลายปัจจัยประกอบกัน แต่ทั้งหมดเกิดจากความไม่แน่นอน และการซื้อทองก็เหมือนเป็นการป้องกันความไม่แน่นอน เริ่มต้นที่เรื่องของ 'ภูมิรัฐศาสตร์' ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณียูเครนกับรัสเซีย กรณีที่เกี่ยวข้องกับตะวันออกกลาง หรือกรณีอิสราเอลกับฮามาส ต่างก็เกี่ยวข้องกับความไม่แน่นอน 

ยิ่งอิสราเอลไปเล่นงานอิหร่าน และอิหร่านประกาศชัดว่าจะมีการแก้แค้น ทุกอย่างก็ผันผวน ซึ่งอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาทองขึ้น คราวนี้เมื่อมีเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ขึ้นมา มันก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่อง 'เศรษฐกิจ'

"โดยปกติในอดีตเวลาดอกเบี้ยขึ้น ราคาทองจะลง เพราะว่าทองไม่มีผลตอบแทน คนก็เลยหันไปเล่นดอกเบี้ย แต่ช่วง 3-4 ปีให้หลัง เกิดปรากฏการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงไป ปรากฏว่าแม้ดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลง แต่ราคาทองขึ้นตลอดเลย อย่างตอนนี้เริ่มมีข่าวว่าดอกเบี้ยจะลง ประกอบกับความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์ คนก็หันมาเล่นทองมากขึ้น ทำให้ราคาทองพุ่งสูงขึ้น"

...

อาจารย์สมชาย กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 3 คือ ประเทศต่างๆ กำลังไม่ไว้ใจและไม่พอใจเงินดอลลาร์ ทำให้มีการแห่ขายเงินดอลลาร์ ในกรณีนี้ธนาคารกลางหลายประเทศ จึงเริ่มขายเงินสำรองที่เป็นดอลลาร์และหันไปซื้อทองแทน เพราะต้องการลดความเสี่ยงที่เกิดจากภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับความไม่พอใจส่วนตัวด้วย

ส่วนเรื่องที่ 4 เกิดจาก เศรษฐกิจของจีนกำลังย่ำแย่ พอจีนแย่ก็ทำราคาหุ้นในประเทศตกไป 30% จีนเลยต้องหาผลตอบแทนเพิ่ม ส่วนหนึ่งก็คือมาซื้อทอง จีนซื้อทองกันเยอะมาก ทั้งประชาชนและธนาคารกลาง 

"ตอนนี้จะเรียกว่าจีนตุนทองก็ว่าได้ เพราะผู้ซื้อมีทั้งธนาคารกลาง และประชาชนคนจีน ส่วนของประชาชนคนจีนทั่วไป เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า เขาชอบซื้อทอง ชอบลงทุน ก่อนหน้านี้เขาเน้นซื้อหุ้น ซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ตอนนี้สิ่งที่กล่าวมาเข้าขั้นแย่ทั้งหมด เขาเริ่มมองหาแนวทางทำเงินใหม่ เลยหันมาเก็บทอง ส่วนธนาคารกลางของจีน ต้องการลดการถือครองดอลลาร์ ที่อยู่ในเงินสำรอง และหันมาพึ่งพาตัวอื่น หนึ่งในนั้นก็คือซื้อทอง"

นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวเสริมว่า มีอีกหลายประเทศที่ธนาคารกลางกำลังพยายามลดเรื่องดอลลาร์ เช่น อินเดีย หรืออย่างรัสเซียก็หันมาใช้เงินหยวนแทน

...

ทอง = สิ่งป้องกันความไม่แน่นอน : 

4 ปัจจัยข้างต้น ประกอบเข้าด้วยกัน กลายเป็นตัวสนับสนุนให้ราคาทองพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กูรูของเราเน้นย้ำว่า ปัจจัยหลัก คือ 'ภูมิรัฐศาสตร์' ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงมากตลอดเวลา ภายใต้สถานการณ์ลักษณะนั้น ทองจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ใครต่อใครต้องการ 

อาจารย์สมชาย กล่าวว่า พูดง่ายๆ ทองเป็น Against insanity เป็นการป้องกันภัยจากความไม่แน่นอน ในระยะหลังภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้นบ่อยมาก เพราะฉะนั้นทางออกคือหันมาหาของสำรองเพื่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งทองเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะอย่างน้อยที่สุด ตั้งแต่ในอดีตคุณค่าทองไม่ลดลง มันอาจมีลดบ้างครั้งคราว แต่โดยปกติราคาจะขึ้นเรื่อยๆ 

เศรษฐกิจไทยกำลังแย่? : 

ขณะที่ราคาทองกำลังพุ่งสูง เริ่มมีกระแสข่าวออกมาว่า นี่ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะมันกำลังแสดงให้เห็นว่า 'เศรษฐกิจไทยกำลังแย่' ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงสอบถามอาจารย์สมชายว่า สองเรื่องนี้สัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร?

...

กูรูเศรษฐศาสตร์ขานรับตอบกลับทันที "ไม่ครับ อันนี้ไม่เกี่ยว" ก่อนอธิบายจากการวิเคราะห์ให้ฟังว่า…

ในกรณีนี้ เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ไม่ได้สะท้อนอยู่ที่มีทองมากเท่าไร เพียงแต่ทองอาจจะสะท้องสถานการณ์ขณะนั้น ยกตัวอย่าง สถานการณ์ผลตอบแทน เช่น ในอดีต ถ้าทองขึ้น ดอกเบี้ยจะอยู่ในขาลง แต่ถ้าราคาทองลง ดอกเบี้ยกำลังอยู่ในขาขึ้น แต่ระยะหลัง ดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลง ทองก็ขึ้นตลอด

"เพราะฉะนั้น ลักษณะของทองเพียงแต่สะท้อนเรื่องสถานการณ์ และภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรา ในกรณีนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ แต่ถ้าจะดูว่าเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไหม ก็ต้องไปดูว่าสถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวข้องกับเรามากน้อยขนาดไหน"

ราคาทองพุ่ง ส่อแววเศรษฐกิจคล้ายต้มยำกุ้ง? : 

นอกจากกระแสเศรษฐกิจไทยกำลังแย่ หลายคนยังมีความกังวลว่าสถานการณ์ปัจจุบันคล้ายกับ 'วิกฤติทางการเงิน 2540' หรือ 'วิกฤติต้มยำกุ้ง' 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมชาย มองว่า "เป็นไปไม่ได้ คนละเรื่องเลย"

ต้องเล่าก่อนว่า 'วิกฤติต้มยำกุ้ง' เกิดจาก เรามีการลดค่าเงินบาทลงจาก 26 บาทต่อ ดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น 50 กว่าบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และที่ลดก็เพราะว่าเราปล่อยเสรี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวดอลลาร์ ค่าเงินเลยลอยตัว

"ทีนี้เมื่อลอยตัวแบบนั้น ทำให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกู้เงินเป็นดอลลาร์ ต้องจ่ายเงินบาทเพิ่มอีกเท่าตัว คราวนี้ก็เจ๊งกันเป็นแถบ ธนาคารที่ปล่อยกู้ก็ล้มกันเยอะมาก จึงเริ่มนำไปสู่สาเหตุของการเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง"

อาจารย์สมชาย เลกเชอร์ประวัติวิกฤติทางการเงิน 2540 ต่อไปว่า ข้อ 1 'ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยแย่' ดูได้จากที่เรามีเงินสำรองประมาณ 38,000 พันล้านบาท แต่มีหนี้ต่างประเทศถึงหลักแสนล้าน ซึ่งครึ่งหนึ่งของหนี้ต่างประเทศ เป็นหนี้ระยะสั้นประมาณ 49,000 พันล้านบาท หมายความว่า เรามีเงินสำรองในประเทศน้อยกว่าหนี้ระยะสั้น เศรษฐกิจบ้านเราก็เลยเจ๊ง!

ข้อ 2 'ใช้จ่ายเกินตัว' ดูได้จากทางเศรษฐศาสตร์ ดุลบัญชีเดินสะพัด -7.9% แต่โดยปกติถ้า -5% ก็อันตรายแล้ว เพราะนั่นหมายความว่าประเทศนั้นใช้จ่ายเกินตัว นี่เลยเป็นอีกสาเหตุหลักทำให้เกิดวิกฤติ ส่วนตอนนี้เงินบัญชีเดินสะพัดของเราติดลบนิดหน่อย แต่ปีนี้อาจจะเป็นบวกด้วยซ้ำ

ข้อ 3 'เกิดจาก BIBF' (Bangkok International Banking Facility : ระบบวิเทศธนกิจ) เพราะโลกเปิดเสรี บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไปก่อหนี้ต่างประเทศ เป็นรูปของเงินดอลลาร์ แม้ว่าดอกเบี้ยมันถูก แต่พอเอาเข้าจริงๆ เมื่อกู้มาแล้วแต่เงินบาทลอยตัว ก็เจ๊งไปหมดเลย

กูรูเศรษฐศาสตร์และการเมือง สรุปว่า แต่ตอนนี้เรามีเงินรำรองในประเทศประมาณ 2 แสนล้าน มีหนี้ต่างประเทศประมาณแสนกว่าล้าน ถือว่าน้อยกว่าเงินสำรอง และหนี้ระยะสั้นเป็น 1 ใน 3 เพราะฉะนั้นสถานการณ์ตอนนั้นกับตอนนี้ ถือว่าคนละเรื่องกันเลย

ราคาทองระยะสั้นยังไม่แน่นอน : 

ทีมข่าวฯ สอบถามอาจารย์ต่อไปว่า คาดว่าสถานการณ์ทองจะเป็นอย่างไรต่อไป?

รศ.ดร.สมชาย มองว่า ต้องยอมรับว่าตอนนี้ราคาทองขึ้นมาเยอะมาก ถ้ามองในระยะสั้น จะมีช่วงหนึ่งที่ราคาตกแน่นอน ซึ่งเกิดจากการเกร็งกำไร แต่ถ้ามองในระยะกลางและยาว ทองยังถือเป็นของที่มีขาขึ้นอยู่เรื่อยๆ 

ที่เป็นแบบนั้น เพราะว่า ปัจจุบันความไม่แน่นอนของโลกมันสูงขึ้นเรื่อยๆ ภูมิรัฐศาสตร์สั่นคลอนตลอดเวลา และนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคนที่กำลังคิดจะถือครองทอง และมองถึงเรื่องกำไร ผมมองว่าค่อนข้างโอเคเลย ตอนนี้เก็บไว้ก่อนได้ 

"แสดงว่าถ้าในอนาคตความรุนแรงของภูมิรัฐศาสตร์เบาลง ราคาทองก็อาจจะตกใช่หรือไม่?" ทีมข่าวฯ ถามกูรูด้วยความสงสัย

คำตอบของคำถามนี้ คือ อาจเป็นไปได้ แต่สุดท้ายก็จะมีปัจจัยอื่นผสมเข้าไปอีก เช่น ตอนนี้ที่หลายประเทศเมินเงินดอลลาร์ ถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่เข้าไปผสม แสดงว่าเราต้องดูปัจจัยเสริมช่วงนั้นๆ

"พูดง่ายๆ ว่า หากใครจะถือครองทองต้องระวังระยะสั้น เพราะมันจะขึ้นลงวูบวาบ แต่ถ้าคุณซื้อทองแท่ง แล้วมีเงินหนาเก็บเอาไว้ เป็นปีๆ คุณไม่ต้องกังวลอะไร มีโอกาสกินกำไรได้อีกนาน เพราะภูมิรัฐศาสตร์ก็มีแนวโน้มที่อันตรายขึ้นทุกที" อาจารย์สมชายวิเคราะห์สถานการณ์

ไทยยังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง : 

รศ.ดร.สมชาย มองว่า ตอนนี้ต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ มีความผันผวนเกิดขึ้นตลอดเวลา เศรษฐกิจไทยก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ดังนั้น รัฐบาลต้องบริหารกันดีๆ  

"ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจเราขยับตัวอยู่แค่อันดับ 9 ของอาเซียน เป็นแบบนี้เฉลี่ยประมาณ 13-14 ปีแล้ว"

"ตั้งแต่ 2010-2023 เศรษฐกิจเราขยายตัวแค่ 2.6% ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ขยับตัวกันที่เกือบ 4% ของเราชนะแค่บรูไน มันแสดงให้เห็นว่า เราปรับตัวไม่ทัน นับวันการเติบโตของไทยจะต่ำลงเรื่อยๆ"

เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาชนทั่วไปมีแนวทางรับมืออย่างไรบ้าง?

กูรูเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า เรารับมือได้โดยปรับเรื่อง 'การศึกษา' ซึ่งก็ยังต้องพึ่งพารัฐบาล เนื่องจากตอนนี้คนไทยวิเคราะห์ไม่เก่ง แม้คนเรียนจบเยอะ แต่เน้นจำนวนไม่เน้นคุณภาพ ซึ่งถ้าเราวิเคราะห์ไม่เก่ง ยังเน้นการใช้อารมณ์ ใครพูดอะไรก็เชื่อ เราจะไม่มีนวัตกรรม และตามคนอื่นไม่ทัน

"เราต้องปฏิรูปการศึกษาให้ตรงประเด็น ปรับการเรียนการสอนให้ทันสมัย เน้นวิเคราะห์ พูดง่ายๆ ตอนนี้รัฐบาลยังแตะไม่ตรงประเด็น พูดแต่เรื่องปฏิรูป ต้องใช้เวลานานมาก เพราะต้องเน้นคุณภาพการศึกษา"


อ่านบทความที่น่าสนใจ :