'ส่งลูกไปเรียนแต่กลายเป็นคอนเทนต์ครู' ผอ.สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ชี้ จะผิดกฎหมายหรือไม่ต้องพิจารณาอย่างละเอียด ฝากครูคำนึงถึงจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และความเหมาะสม เด็กไม่อยากเป็นคอนเทนต์ทุกคน วอนใส่ใจเรื่อง Digital footprint 

"สงสัยว่าต้องส่งลูกเรียนโรงเรียนระดับไหน ถึงจะไม่กลายมาเป็นคอนเทนต์ครู"

ประโยคคำถามเพียงหนึ่งประโยค ที่ถูกโพสต์ลงบนโลกออนไลน์เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นแรงกระเพื่อมให้บรรดาผู้ปกครอง หันมาสนใจเรื่องนี้ เพราะหลายคนเจอเหตุการณ์คล้ายกัน คือ ส่งลูกไปเรียน แต่กลับมีคลิปปรากฏในบัญชีโซเชียลมีเดียของ 'ครู'

ผู้ปกครองเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า 'ความเป็นส่วนตัว' ของบุตรหลานตนเองอยู่ไหน แล้วที่ครูทำแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ การกระทำของครูเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือเปล่า?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความเข้าใจ เรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นนี้ให้มากขึ้น ผ่านการสนทนาและวิเคราะห์โดย 'รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์' ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล รองศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต 

...

ลักษณะคอนเทนต์ที่ครูชอบถ่ายเด็ก : 

เบื้องต้น รศ.คณาธิป แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องลักษณะนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่งเลย เพราะเป็นความซับซ้อนของพฤติกรรม และกฎหมายเองก็มีปัญหา แต่ต้องเท้าความก่อนว่า พฤติกรรมนี้มีอยู่แทบทุกอาชีพ เพราะเท่าที่เห็น พวกเขาจะเอางานในอาชีพตนเองมาทำเป็นคอนเทนต์ ถ้าเราดูในภาพรวมก็ไม่ใช่แค่ครู แต่ทุกคนพยายามแจ้งเกิด ดังนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องมันก็ยังมีแยกย่อยไปตามแต่ละอาชีพด้วย 

"ส่วนบรรดาคุณครูทั้งหลายที่ทำคอนเทนต์ จะมีการแบ่งเป็น 2 กรณี คือ ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับอาชีพตนเอง เช่น ทำงานต่างๆ ส่วนอีกกรณี คือ ถ่ายเด็กลง เพราะกระแสสังคมคนเบื่อเรื่องเครียด แต่อยากดูสิ่งที่น่ารักกับตลก แล้วลักษณะนิสัยของเด็กจะเข้าข่ายเรื่องนี้"

ผอ.สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล แบ่งลักษณะคอนเทนต์ที่ครูถ่ายเด็กออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

1. พฤติกรรมเด็กประจำวันในโรงเรียน ที่เป็นเชิงบวก เช่น ทำกิจกรรมต่างๆ ร้องเพลง กินข้าว กินขนม

2. เนื้อหาที่เด็กเขียน รวมไปถึงผลการเรียน เช่น เขียนคำตอบตลก ผลการเรียนดี

3. พฤติกรรมของเด็กที่ไปเกี่ยวข้องกับเด็กคนอื่น แต่เป็นเชิงลบ เช่น ทะเลาะเบาะแว้ง 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ : 

หลังจากแบ่งลักษณะคอนเทนต์ที่ครูชอบถ่ายเด็ก ให้เข้าใจเบื้องต้นแล้ว รศ.คณาธิป กล่าวต่อว่า ต้องมาดูว่าในทางกฎหมายการถ่ายเหล่านั้นจะผิดได้อย่างไรบ้าง ซึ่งกฎหมายแรกที่คนมักจะถึงนึกถึง คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะเกี่ยวข้องกับการโพสต์และแชร์ 

"โดยหลักแล้ว องค์ประกอบความผิดที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็คือ มาตรา 14 ซึ่งหากครูโพสต์เรื่องที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่ได้ปลอมแปลงอะไรขึ้นมาก็จะไม่ผิด แต่ถ้าปลอมแปลง จัดฉาก หรือเสริมแต่งเข้าไป เช่น เด็กเขียนข้อความอีกแบบ แต่ครูเติมแต่งอีกแบบ อันนี้กลายเป็นเท็จ จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย"

ผอ.สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล เลกเชอร์ต่อว่า อีกอันหนึ่ง คือ มาตรา 16 เป็นเรื่องตัดต่อภาพคนอื่น แต่มาตรานี้มันก็ต้องตัดต่อจนให้เกิดความเสียหาย หรืออับอาย แต่ถ้าครูเอาเด็กมาใส่ฟิลเตอร์แล้วหน้าใสขึ้น อันนี้ก็อาจจะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดอีก

"ส่วนนี้เลยพอจะสรุปได้ว่า โดยทั่วไปเราเห็นครูถ่ายคลิปเด็กลงโซเชียล มักจะไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะไม่ได้มีการปลอมแปลงข้อมูล หรือตัดต่อจนเกิดความเสียหาย"

...

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) : 

เข้าสู่กฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่ รศ.คณาธิป มองว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA "คนมักจะเอาไปตีความผิดกันเยอะมาก และชอบเอามาใช้ในกรณีหมิ่นประมาท ซึ่งมันไม่ใช่" อ.คณาธิป กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

"กฎหมายตัวนี้ไม่ได้คุ้มครองแค่ตอนเผยแพร่เท่านั้น แต่คุ้มครองตอนเก็บข้อมูลด้วย เพราะโดยหลักแล้วจะต้องขออนุญาตคนอื่นก่อน แต่มีข้อยกเว้นเยอะแยะมากมาย คือ ถ้าการเก็บภาพถ่าย วิดีโอ หรืออะไรต่างๆ เป็นไปเพราะวัตถุประสงค์ส่วนตัว ที่ไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจการค้า ถือว่าเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่ความผิด แม้ว่าคนที่ปรากฏในนั้นจะไม่ยินยอมก็ตาม"

"เพราะฉะนั้น เรามาดูกันว่าการที่ครูถ่ายคอนเทนต์เด็ก แล้วจะผิด PDPA ไหม" ผอ.สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัลกล่าว พร้อมยกตัวอย่างอธิบายให้เข้าใจว่า

กรณีที่ 1 ครูทำคอนเทนต์โดยไม่มีข้อมูลส่วนบุคคล ก็ไม่เกี่ยวกับ PDPA เพราะไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เช่น ครูบางคนถ่ายส่วนตัว เพราะอยากให้คนอื่นรู้ว่าเป็นครู เลยอาจจะถ่ายขณะกำลังสอน แต่เห็นแค่หลังของนักเรียน หรืออาจจะเอาสติกเกอร์มาแปะหน้าเด็กหมด แบบนี้ก็ถือว่าไม่มีข้อมูลส่วนบุคคล หรือถ่ายรูปการบ้านเด็ก ซึ่งที่เด็กเขียน แล้วนำมาโพสต์โดยไม่ระบุชื่อ ก็ถือว่าไม่มีข้อมูลที่ระบุตัวบุคคลได้ 

กรณีที่ 2 ครูโพสต์แบบระบุตัวบุคคลได้ เช่น ถ่ายรูปติดหน้าเด็ก หรือถ่ายรูปการบ้านแล้วระบุข้อความว่า 'ของน้องคณาธิป ทองรวีวศ์ ป.5' อย่างนี้ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก 

"แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งไปบอกว่าครูทำผิด PDPA" รศ.คณาธิป กล่าวขึ้นมา

"ต้องมาดูมาตรา 4 (1) ต่อว่า ถ้าครูทำเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนบุคคล เช่น โพสต์ติ๊กต่อกส่วนตัว ไม่ได้ทำเพื่อการค้า หรือวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ก็อาจจะไม่ผิดมาตรา 4 (1) อีกเช่นกัน"

...

กรณีที่อาจผิด PDPA : 

ผ่านมาแล้ว 2 กรณี หากอ่านกันมาถึงตรงนี้ ก็คงรู้สึกคล้ายๆ กันว่า ครูทำอะไรก็ไม่ผิดเลย เหมือนมีทางหนีทีไล่เสมอ แต่ รศ.คณาธิป กล่าวว่า "กรณีที่ 3 นี้สำคัญมาก"

ผอ.สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ขยายความว่า ถ้าครูคนนั้นโพสต์คลิป แล้วใส่หมวกหลายใบ หมายความว่า แง่หนึ่งเป็นครู แง่หนึ่งเป็นดาวโซเชียล แล้วได้รับเงินหรือค่าคอมมิชชั่น แบบนี้เข้าข่ายความผิด

"ยกตัวอย่างครูถ่ายคลิปน่ารักๆ ของนักเรียน แล้วคลิปเกิดเป็นกระแส ไปช่วยดันยอดการเข้าถึง ทำให้คนเข้ามาดูบัญชี ครูเริ่มรู้สึกกลายเป็นเซเลบ เอาของเข้ามาขาย รับค่าโฆษณาต่างๆ ประดุจเป็นอินฟลูเอนเซอร์ แล้วก็ถ่ายคลิปเด็กอีก เพื่อหวังให้เกิดกระแสเหมือนที่ผ่านมา"

"ถ้าลักษณะแบบนี้ อันนี้ครูจะไม่ได้รับการยกเว้นแล้ว ครูจะผิด PDPA ได้ เพราะไม่ได้ทำเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้ห้ามไปซะทีเดียว เพียงแค่ต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครองเด็กก่อน"

อย่างไรก็ตาม รศ.คณาธิป แสดงความคิดเห็นว่า ถึงการกระทำของครู อาจจะไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือ PDPA แต่ถ้าระเบียบโรงเรียนห้ามทำ ครูก็อาจจะผิดก็ได้ ขึ้นอยู่กับระเบียบของแต่ละโรงเรียน เพราะโรงเรียนมีอำนาจตรงนั้น

...

ผู้ปกครองขอให้ลบคลิปหรือภาพได้หรือไม่? : 

ทีมข่าวฯ สอบถามว่า ถ้าผู้ปกครองอยากให้ลบรูป หรือคลิปที่ถ่ายติดบุตรหลานตนเอง แบบนี้สามารถทำได้หรือไม่?

ผอ.สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ตอบว่า เราต้องไล่ไปตามกฎหมายว่า ผู้ปกครองจะอาศัยให้ลบตามหลักอะไร ถ้าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็ร้องให้ศาลสั่งลบออกจากระบบได้ หรือตาม PDPA ถ้าศาลจะสั่งลบได้ ก็ต้องมาดูว่าภาพนั้นขัดต่อกฎหมาย PDPA อีกหรือเปล่า 

"ถ้าถ่ายรูปเด็กมาแล้วผู้ปกครองไม่ยอม แต่ครูอ้างว่าสิ่งที่ทำไปเข้ามาตรา 4 (1) ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ส่วนตัว มันก็ถือว่าไม่ผิดตั้งแต่แรก สิทธิที่จะขอให้ลบมันก็ไม่ตามมา แต่ถ้าครูถ่ายด้วยเหตุผลทางธุรกิจ อันนี้ก็ต้องขอความยินยอม เพราะถ้าไม่ขอ ผู้ปกครองสามารถร้องให้ลบ หรือเรียกค่าเสียหายได้"

กระทรวงศึกษาธิการ ควรห้ามครูถ่ายเด็ก!? : 

จากกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ปกครองหลายคนมองว่า กระทรวงศึกษาธิการ ควรออกกฎห้ามครูถ่ายเด็กเป็นคอนเทนต์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงสอบถามผู้เชี่ยวชาญปลายสายว่า คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้?

ผอ.สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล แสดงทรรศนะว่า ปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา ไม่ได้มีข้อใดที่ห้ามเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ถ้าจะให้ทำมันก็สามารถทำได้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการก็มีอำนาจออกกฎ

"ถามว่าควรจะทำแบบนั้นไหม โดยหลักแล้วต้องดูว่าจำเป็นไหม แต่โดยส่วนตัวมองว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นมันเยอะ และมีความซ้ำซ้อนมากแล้ว แต่ถ้าจะออกจริงๆ ก็สามารถออกได้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการ มีกฎหมายการศึกษา สามารถกำหนดให้โรงเรียนออกกฎระเบียบได้"

รศ.คณาธิป กล่าวต่อว่า แต่ถ้า 'ห้ามถ่าย' ต้องดูต่อว่าจะเกิดอะไรกับระบบการศึกษาบ้าง เพราะปัจจุบันต้องใช้การถ่ายภาพค่อนข้างเยอะมาก ดังนั้น ถ้าจะมีการออกกฎห้าม ก็ต้องออกข้อยกเว้นให้ชัดเจน แต่ส่วนตัวไม่ค่อยอยากให้ห้าม เพราะอาจจะมีปัญหาการตีความ และเรื่องสิทธิเสรีภาพตามมาอีก

รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์
รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์

ครูควรพิจารณาการกระทำให้เหมาะสม : 

รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ ฝากถึงคุณครูทุกคนว่า เรื่องครูที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเด็ก ผมอยากจะให้พิจารณาความเหมาะสม เพราะเด็กก็ถือว่าศิษย์ของคุณ ครูอาจจะคิดว่าถ่ายไว้เพราะน่ารัก โพสต์ลงไปในแง่บวก และมักจะมองว่าไม่เป็นไร แต่ในแง่ของเด็ก เขาก็มีสิทธิของเขา บางกรณีครูอาจทำผิดก็ได้

"โดยหลักการแล้ว มันอยู่ที่จริยธรรมวิชาชีพ และความเหมาะสมของครูด้วย ครูบางคนที่ดังจากเด็กก็พยายามระมัดระวัง นี่ก็เป็นตัวอย่างของจริยธรรม เพราะอย่าลืมว่ารูปน่ารัก หรือคอนเทนต์เชิงบวกก็ไม่ได้ดีเสมอไป เด็กบางคนก็ไม่อยากดัง"

"คอนเทนต์ที่ครูทำทุกตัว มันจะกลายเป็น Digital footprint ที่คงอยู่ตลอดไป วันหนึ่งในอนาคตเด็กเขาอาจจะไม่อยากเห็นพวกนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นครูต้องคำนึงถึงการกระทำของตัวเองมากๆ"

ภาพ : iStock

อ่านบทความที่น่าสนใจ :