เจาะปัญหา 4 มีนา กะเทยผ่านศึก ไทย VS ฟิลิปปินส์ “ผู้การฯ วิสุทธิ์” แฉเบื้องหลัง แรงงานฟิลิปปินส์ฝังตัวมานานแล้ว ทั้งนักร้องและการให้บริการ เชื่อรากปัญหาคือผลประโยชน์ เผยมีเงินส่งกลับประเทศปีละ 2 พันล้าน
4 มีนา วันกะเทยผ่านศึก!
กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต เมื่อกลุ่มกะเทยไทย รวมตัวเอาคืน กะเทยฟิลิปปินส์ ที่มาหากินในย่าน #สุขุมวิท11 หลังจากทั้ง 2 กลุ่มมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน โดยฝ่ายไทยได้เพลี่ยงพล้ำ โดนรุมยำก่อน จึงนัดแนะวันที่ 4 มีนา เพื่อเอาคืน และกลายเป็นภาพความวุ่นวายที่เกิดขึ้น โดยที่ตำรวจโดนลูกหลงไปด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ผู้การฯ วิสุทธิ์ วานิชบุตร ซึ่งเคยเป็นมือปราบการค้ามนุษย์ และรู้เรื่องราวเบื้องหลัง แหล่งสถานบันเทิงย่านสุขุมวิทเป็นอย่างดี
ผู้การฯ วิสุทธิ์ เล่าว่า เรื่องของเรื่องคือ กลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์ หากินในที่แห่งนี้มาอย่างยาวนานแล้ว เรียกว่าเป็นการบอกต่อ จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งสุขุมวิทซอย 11 นั้น ก็เป็นย่านสถานบันเทิงมายาวนานแล้ว และย่านผับบาร์ นั้นต้องมีนักร้อง และนักร้องร้อยละ 90 คือ ฟิลิปปินส์ เนื่องจากมันร้องเพลงเพราะ ภาษาอังกฤษดี เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
“สาเหตุที่ คนฟิลิปปินส์มาหากินในเมืองไทยเยอะ เพราะประเทศมันก็เศรษฐกิจไม่ดี รากฐานส่วนมากยังเป็นคนยากจนอยู่ ถ้ามันเป็นคนรวยอยู่แล้ว มันคงไม่เดินทางมาทำงานแบบนี้ ซึ่งบางคนเข้ามาทำงานถูกต้อง บางคนก็เข้ามาถูกต้อง แต่อยู่จนเลยวีซ่า และก็รู้ว่านี่คือ ประเทศไทย สน.ไหน อยู่ในพื้นที่แบบนี้ก็อ้วนสบาย..”
...
ซอยค้ากาม หาได้ทุกเพศ...
ผู้การฯ วิสุทธิ์ กล่าวว่า ซอยนั้นมีแต่นักท่องเที่ยวฝรั่งทั้งนั้น ซึ่งก็มีการซื้อบริการทางเพศ โดยซื้อได้ทุกเพศ ชาย หญิง เด็ก กะเทย ต่างด้าว ที่ผ่านมา เคยมีการร้องเรียนผ่านสถานทูตอังกฤษ ซึ่งในอดีต เคยมีคดีชาวต่างชาติถูกทำร้าย หมายความว่า บางครั้งฝรั่งที่จะมาซื้อบริการ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นผู้หญิง ซึ่งบางคนไม่ได้ค้าบริการ แต่พาฝรั่งไปรูดทรัพย์ก็มี
ผู้การฯ วิสุทธิ์ เล่าอย่างออกรส ว่า ฝรั่งมันไม่รู้นี่หว่า...บางคนมันดัดเสียงคล้ายผู้หญิงมาก เขาก็ไม่รู้ ซึ่งบางคนเขาไม่ชอบผู้ชาย เขาชอบผู้หญิง บางกรณีพาเข้าห้อง เปิดมาแล้ว เจอจุ๊กกรู๊ บางคนแปลงเพศแล้ว เขาก็ดูออก สมัยก่อนก็ซื้อกัน ประมาณ 100 US กลมๆ ก็เป็นเงิน 3,500 บาท ในซอยนานา ถือว่าเด็กๆ เลย ที่มีมากคือ พัทยา ทั้งชายหาด วอล์กกิ้งสตรีท
“การที่รวมตัวกลุ่มกัน บุกถล่มกันระหว่างกะเทยไทย กับ ฟิลิปปินส์ กลายเป็นเรื่องดี สำหรับตำรวจ จะได้เข้าใจการเคลียร์เลย จับดูใครถูก ใครผิด ใครเข้ามาแบบผิดกฎหมาย”
กะเทยฟิลิปปินส์ หน้าคม คล้ายไทย สปีกอังกฤษคล่อง แย่งฐานลูกค้า
ผู้การฯ วิสุทธิ์ เชื่อว่า สาเหตุที่ กลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์ มีปัญหากับคนไทย เพราะ คนฟิลิปปินส์ หน้าตาคม เข้ม สวย จมูกโด่ง นัยตาแขก สวย และผิวคล้ายคนไทย ที่สำคัญคือ ภาษาอังกฤษดีกว่า เพราะฟิลิปปินส์ เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ได้เปรียบทางภาษากว่าเราเยอะ
“คนไทยภาษาอังกฤษสู้ฟิลิปปินส์ ไม่ได้ อีกทั้งฐานลูกค้าในซอยนั้นก็มีแต่ฝรั่ง แล้วสเปกฝรั่ง ชอบคนผิวเข้ม สวย ดังนั้น การที่ต่างคนต่างหากิน แต่ภาษาเขาดีกว่าเลยสู้ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าแต่กะเทย ยังหมายถึงทุกคน ชาย หญิง ที่มาหากินในเมืองไทย”
ดังนั้น รากของสาเหตุที่มีการตะลุมบอนกันนั้นไม่ใช่เรื่องอื่น ปัญหามาจากการ “แย่งแขก” กัน และที่ผ่านมา เมื่อมาทำงานกันแล้วก็มักจะมีการตั้งกลุ่มแก๊งกัน ยกตัวอย่างในพัทยา มีแก๊งต่างประเทศมารวมกลุ่มกันนับสิบแก๊ง แก๊งแขก รัสเซีย ฟิลิปปินส์
“แก๊งฟิลิปปินส์ เน้น ทำงานในด้านการบันเทิง ซึ่งบางส่วนก็เป็นการค้าประเวณี ซึ่งแน่นอนอยู่แล้ว เมื่อมาอยู่รวมกัน ก็รักกัน พอมีเรื่องก็รวมตัวกัน ก่อเหตุทะเลาะวิวาท เมื่อมันรู้ข่าวว่าจะลุยมันก็รวมตัวกัน ช่วยกัน มันถือเป็นการวมตัวของชนชาติเดียวกัน”
ทะเลาะกันแบบนี้ดี จะได้ให้ตำรวจร่วมกันจับกุมเลย ตำรวจ รวมกับ ดส. จากนั้นก็มาตรวจสอบ การกระทำความผิดในประเทศไทย สมัครใจก่อการทะเลาะวิวาท ตามจับให้หมด ตรวจสอบวีซ่า ถ้าผิดก็ส่งกลับหมด เรื่องนี้เป็นเรื่องง่ายๆ จัดการไม่ยาก แต่รากปัญหา มันคือ การแย่งผลประโยชน์กันเท่านั้น..” ผู้การฯ วิสุทธิ์ กล่าว
...
แรงงานฟิลิปปินส์ โอนเงินกลับ ปีละ 2 พันล้าน!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีการตรวจสอบข้อมูลแรงงาน และรายได้ของชาวฟิลิปปินส์ ที่มาทำงานในประเทศไทย พบว่า จากข้อมูลขของกรมการจัดหางาน ณ เดือนมกราคม 2567 พบว่า แรงงานฟิลิปปินส์ เดินทางมาทำงานถูกกฎหมายในไทย จำนวน 20,498 คน แบ่งเป็นมาตรา 59 ทั่วไป 18,966 คน มาตรา 62 ส่งเสริมการลงทุน 1,532 คน
ส่วนข้อมูลการเงิน ในการโอนจากไทย กลับประเทศฟิลิปปินส์ โดยธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Philippinas) ตั้งแต่ปี 2014-2022 พบรายละเอียดว่า...
ปี 2014 : 13.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (477 ล้านบาท)
ปี 2015 : 11.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (404 ล้านบาท)
ปี 2016 : 12.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (438 ล้านบาท)
ปี 2017 : 52.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,881 ล้านบาท)
ปี 2018 : 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,757 ล้านบาท)
ปี 2019 : 67.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,407 ล้านบาท)
ปี 2020 : 73.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,638 ล้านบาท)
ปี 2021 : 61.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,200 ล้านบาท)
ปี 2022 : 62.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,220 ล้านบาท)
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์รายงาน