คุยกับคนเลี้ยงผึ้งจิ๋ว ชันโรง เชียงใหม่ จากความรักสู่อาชีพ เผยผลผลิตขายได้เดือนหลักแสนบาท...

“คนเลี้ยงผึ้ง” เป็นอีก 1 อาชีพ ที่ขึ้นชื่อว่า “รายได้ดี” และสินค้ามีมูลค่าสูง เรียกว่าเป็นเกษตรเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง 

แต่นอกจาก “ผึ้ง” ทั่วไปที่ให้น้ำหวานแล้ว ยังมี “ผึ้ง” อีกชนิด ที่สามารถสร้างรายได้อย่างงดงาม และใช้ต้นทุนในการเลี้ยงไม่มาก ซึ่งวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอแนะนำให้ได้รู้จักกัน... 

นิว วราวุฒิ บุญชูช่วย เจ้าของ “วราวุฒิฟาร์ม” ฟาร์มชันโรง ในพื้นที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ หนุ่มผู้รักในการเลี้ยงแมลง... 

สัตว์เศรษฐกิจ กับอาชีพ “ชันโรง” 

นิว เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการเลี้ยง “ชันโรง” ของผมนั้น เริ่มตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยตอนนั้นที่เรียนอยู่ที่ ม.แม่โจ้ จะมีการสอนในการเลี้ยงสัตว์หลายแบบ รวมไปถึงการเกษตรทั่วไป เราเลือกเรียน วิชา “อารักขาพืช” เพราะสาขานี้เกี่ยวข้องกับ “แมลง” ซึ่งส่วนตัวแล้วเราเป็นคนชอบแมลง และอยากจะทำอาชีพเกี่ยวกับแมลง โดยเฉพาะ “แมลง” เศรษฐกิจ อาทิ ชันโรง ครั่ง ผึ้งพันธุ์ จิ้งหรีด หนอนแมลงวัน 

...

เราได้ไปศึกษาข้อมูลแมลงเหล่านี้ กระทั่งถูกใจ ที่ “ชันโรง” เพราะมีความแตกต่างจากแมลงเศรษฐกิจทั่วไป เพราะเราไม่ต้องหาอาหารให้เขาเลย เขาจะออกไปหากินของเขาเอง และก็เข้ามาทำรัง โดยที่เราหารังให้เขา...

นิว วราวุฒิ อธิบายว่า “ชันโรง” ก็เป็นผึ้งตระกูลหนึ่ง หรือจะเรียกว่า “ผึ้งจิ๋ว” แต่ความแตกต่างคือ  มันจะไม่ต่อยเรา เพราะมันไม่มีเหล็กใน โดยในสมัยก่อน เขาจะไม่นับ “ชันโรง” เป็นผึ้ง เขาจะเรียกว่า “ชันโรง” เฉยๆ เท่านั้น แต่ปัจจุบันการเรียกก็เปลี่ยนไป เขาเรียกว่า ผึ้งชันโรง 

วิถีชีวิต ผึ้งจิ๋ว “ชันโรง” 

กูรูผึ้งชันโรง เล่าว่า แมลงตัวจิ๋วเหล่านี้ อาศัยกระจายอยู่ตามป่าในประเทศไทย ฉะนั้น การที่จะนำเขามาเลี้ยง ก็ต้องนำมาจากในป่า ทั้งนี้ ชันโรง จะมีมากกว่า 70 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์เพาะเลี้ยงได้ บางสายพันธุ์เพาะเลี้ยงไม่ได้ สำหรับสายพันธุ์ที่เลี้ยงได้ จะมีราว 10 กว่าชนิด 

สายพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงได้ อาทิ สายพันธุ์ขนเงิน ถ้วยดำ รุ่งอรุณ หรือ หลังลาย สำหรับสายพันธุ์ที่นิยมมากที่สุด คือ สายพันธุ์ขนเงิน เนื่องจากถิ่นอาศัยมันกระจายไปทั่วประเทศ ขณะที่สายพันธุ์รุ่งอรุณ จะอาศัยในพื้นที่ภาคเหนือ ถิ่นกำเนิดอยู่ป่าทางเหนือ ฉะนั้น สายพันธุ์นี้มักจะอยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเล ราว 300-500 เมตร ฉะนั้น พื้นที่ที่เลี้ยงได้คือ เหนือ อีสาน ไม่เหมาะกับภาคใต้  

“สายพันธุ์ที่ผมเลี้ยง คือ ขนเงิน กับรุ่งอรุณ ส่วนวิธีการเลี้ยงก็ไม่ได้ต่างกันเลย เพียงแต่เราทำที่อยู่ที่เหมาะสมให้กับมัน เพียงแต่ชันโรง ถ้าเคยอยู่พื้นที่นี้ก็จะคุ้นเคยและเจริญเติบโตเร็วกว่า”

วิธีการเลี้ยง และการขยายรัง  

นายวราวุฒิ เล่าต่อว่า อาหารของ ชันโรง จะเป็นน้ำหวานจากดอกไม้และละอองเกสรมาเป็นอาหาร ฉะนั้น หากต้นไม้ ดอกไม้ หรือผลไม้ มีเกสร เช่น ลำไย มะม่วง มะพร้าว ลิ้นจี่ หรือมะกอก เหล่านี้ออกดอก ก็จะเป็นแหล่งอาหารของชันโรง ฉะนั้น การวางแผนก็ควรปลูกพืชที่ออกดอกทั้งปี เราก็จะได้ผลผลิตทั้งปี นอกจากนี้ การเลี้ยงชันโรง เขายังช่วยทำหน้าที่ผสมเกสร ทำให้ได้ผลผลิตดีด้วย 

การเลี้ยงชันโรงในกล่อง ซึ่งเป็นกล่องที่เราทำขึ้น โดยในแต่ละกล่อง ควรเลี้ยงไว้ประมาณ 3,000-10,000 ตัว ซึ่งไม่ควรให้มีมากกว่านี้ หากมีมากเกินไป จำเป็นต้องแยกขยายรัง โดยให้ไข่อ่อน และไข่แก่ บางส่วนขยายออกไปในรังใหม่ 

วิธีการเลี้ยง เราจะเลี้ยงไว้ในกล่อง อุปกรณ์อาจจะมีขาตั้ง กล่องเลี้ยงเจาะรู ทำทางเข้าออก และหลังขา สาเหตุที่ต้องมีขาตั้ง เพราะชันโรง เขาไม่ถูกกับน้ำ ฉะนั้น จึงต้องไว้กล่องให้สูงหน่อย โดยมีหลังขาปิด เพื่อกันน้ำ 

...

“จุดเด่นของการเลี้ยงชันโรงนั้น จะไม่อพยพ หรือย้ายรังหนี อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น แม้พืชอาหารน้อยมันก็อยู่อย่างนั้น” 

สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงที่ยากที่สุด คือ ระหว่างการแยก ขยายรัง คือ ต้องไม่ให้รังมันล่มสลาย เราต้องระมัดระวังในการหาที่วางรังอย่างเหมาะสม เพราะเขาจะอ่อนไหวต่อน้ำมาก มันมีโอกาสเกิดเชื้อรา และก็ไม่สามารถปล่อยให้โดนแดดโดยตรงได้ เพราะหากโดนแดดมาก น้ำผึ้งก็จะละลายอีก และหากน้ำผึ้งชันโรงละลายแล้ว ขาของผึ้งชันโรงก็จะติดน้ำหวาน และจากนั้นจะทำให้ชันโรงตายได้ 

ดังนั้น สิ่งที่เราทำ คือ การทำโรงเรือนแบบกันแดด กันฝนอย่างดี จากนั้นค่อยเอากล่องไปวางไว้ ซึ่งของผมนั้นเลี้ยงไว้ประมาณ 1,000 รัง โดยกระจายในสวนญาติๆ และนอกจากนี้ก็ให้เกษตรกรคนอื่นๆ เลี้ยง  

...

ผลผลิต จาก “ชันโรง” รายได้ต่อเดือนเกือบแสน 

นายวราวุฒิ บอกว่า ผลผลิตที่เราได้ คือ น้ำผึ้งชันโรง ยางชันโรง สามารถเอาไปสกัดเป็น Propolis (โพรพอลิส) ที่ใช้ในทางการแพทย์ หรือนำไปทำสบู่ก็ได้ หรือเวชสำอาง ครีมนวดผม ส่วนน้ำผึ้งจากชันโรง จะไปทำสบู่เหลว ลูกอมน้ำผึ้ง เป็นต้น รวมไปถึงเกสรของชันโรง ซึ่งเหล่านี้ล้วนมีราคา หากเราเลี้ยงผึ้ง เราจะได้ไขผึ้ง แต่ชันโรงนั้น จะไม่มีไข แต่เขาจะให้ยางชันโรง โดยหากเป็นน้ำหวานชันโรง จะขายกิโลกรัมละ 1,600 บาท หรือถ้าทั่วไปเขาจะขายที่ 1,000-2,500 บาท สำหรับการเก็บน้ำผึ้งชันโรง จะเก็บปีละ 2 ครั้ง 

นายวราวุฒิ ยอมรับว่า รายได้จากการเลี้ยงชันโรงนั้นค่อนข้างงาม โดยจากการขายรังชันโรง ประมาณเดือนละกว่า 50,000-60,000 บาท ซึ่ง 1 รัง ของชันโรง จะมีประมาณ 2,000 ตัว โดยขายราคารังกล่องละ 1,600 บาท ขณะที่รายได้จากน้ำผึ้งชันโรง ก็เดือนละ 20,000-30,000 บาท รวมๆ กันก็เกือบ 1 แสนบาทต่อเดือน นอกจากนี้ เรายังเลี้ยงหนอนแมลงวัน 

สำหรับคำแนะนำ นายวราวุฒิ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า การเกษตรในปัจจุบันนั้นมีทางเลือกมากมาย และหลากหลายมาก เราสามารถเลือกสิ่งที่เราชอบ หรือทดลองทำดูได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมากๆ ที่สำคัญ คือ ช่องทางการขายก็มีมากกว่าแต่ก่อน หากเรามีสินค้าที่ดี เราจะไม่จำเป็นต้องไปวิ่งหาตลาด แต่ตลาดจะกลับมาหาเราเอง... 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ที่มาภาพ : ชันโรงเชียงใหม่ by วราวุฒิฟาร์ม 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...