คุยกับ "กษิต ภิรมย์" ปมปัญหาพื้นที่ทับซ้อน และ "เกาะกูด" ถามเคยไปเที่ยวเกาะกูดไหม มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ซัดแรงถึงนักการเมืองที่หิวโหย...

“เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว คนไทยสามารถเดินทางไปเที่ยวเกาะกูดได้ ไม่เห็นมีปัญหาใด ฝ่ายเขมรก็ไม่ได้มีการว่าอะไร...สิบกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สิ้นสุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนถึง ประยุทธ์ และเศรษฐา เราก็ไปเที่ยวเกาะกูดกันอย่างปกติ ไม่ได้มีเรือรบ หรือเครื่องบินของกัมพูชามาขวางกั้น หรือแม้แต่คนในรัฐบาลกัมพูชา อย่าง สมเด็จฮุนเซน ฮุน มาเนต ก็ไม่เห็นพูดอะไรเลย

...แล้วอยู่ดีๆ คนในฝ่ายแวดวงการเมือง ก็เอาเรื่อง “เกาะกูด” ขึ้นมาพูด และสร้างความสับสนให้พลเมืองทั้งหลาย และคนที่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ก็ควรจะไปเที่ยวเกาะกูด แล้วเอาข้อเท็จจริงมาเล่ากับประชาชน ฉะนั้น ประเด็นเรื่องเกาะกูด ไม่ได้เป็นปัญหา”  

โควตคำพูดข้างต้น มาจาก นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับประเด็นคำถามว่า “เกาะกูด” เป็นของใคร...?

...

นายกษิต อธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ของเกาะกูด ว่า เมื่อฝรั่งเศสมาเป็นเจ้าอาณานิคม รวมถึงครอบครองกัมพูชา ในขณะที่ “ไทย” เองก็เป็นใหญ่ในสุวรรณภูมิ และพื้นที่เขมรส่วนหนึ่งก็อยู่ในอาณัติของไทย เช่น พระตะบอง ก็เคยเป็นของไทย 

“เราเคยมีคนไปปกครอง เช่น ตระกูลอภัยวงศ์ และเขตแดนส่วนใหญ่ ที่ไทยได้มาจากสงคราม ที่เราเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เราก็ได้ทุกสิ่งอย่างคืนจากฝรั่งเศส แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ก็เหมือนกับเราก็แพ้ไปด้วย เราก็ต้องคืนไปให้กัมพูชา”

พื้นที่ทับซ้อนต้องเจรจา 

นายกษิต อธิบายว่า ที่ผ่านมา ก็ยังมีพื้นที่บางส่วนที่เป็นข้อพิพาท ที่ใช้ในช่วงฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ก็มีหลายสิ่งที่ต้องกลับไปดูใหม่ เพราะบางอย่างก็ดูไม่ชัด เช่น เสาหลักแบ่งเขตแดนประเทศ ที่เคยมี 70 กว่าเสา มันก็หายไปบ้าง 

ดังนั้น เมื่อ 20 กว่าปีก่อน จึงมีการเริ่มเจรจาทำแผนที่ใหม่ บางเรื่องก็ไปที่ศาลโลก เช่น คดีปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเจรจาร่วมมือกันหลายระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี, แม่ทัพ, ระดับจังหวัด ในการค้นหาเสาแบ่งเขตแดน ซึ่งค้นหามาได้ 40 กว่าเสา 

เวลานี้อยู่ในช่วงค้างคาอีก 30 เสา ซึ่ง “เสาสุดท้ายที่อยู่ตรง จ.ตราด และทางฝ่ายเขมรเองก็ต้องมาเจรจาเพื่อลากเส้นลงไปในอ่าวไทย เพื่อดูว่าพื้นที่ไหนของใคร...ซึ่งเรื่องทั้งหมด ก็ค้างคากันอยู่ตรงนี้หลายปี 

“เท่าที่ผมทราบ คือ เขามีการเจรจากันมาโดยตลอด ในระดับเจ้าหน้าที่ แต่....อยู่ดีๆ ก็มีรัฐมนตรีมาให้สัมภาษณ์จนกลายเป็นเรื่อง 'สับสน' เรื่องนี้คนที่จะให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้คือ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะเขารับผิดชอบอยู่”

นายกษิต กล่าวว่า กรณีเรื่อง “เขตแดน” นั้น สส. หรือรัฐมนตรี ก็สามารถนำเรื่องนี้ไปคุยกันในรัฐสภาได้ แต่นี่กลับเอามาพูดสร้างความสับสน สะท้อนถึงความล้มเหลวในการเป็นนักการเมือง 

“จากเรื่องที่คุยกัน กลายมาเป็นประเด็นทางการเมือง บางทีพูดแบบไม่มีข้อมูล ตามอำเภอใจ ไม่รู้ว่ามีเจตนาอะไร แค่ไปถามกระทรวงการต่างประเทศ ก็ทราบแล้วว่า สถานะของเรื่องนี้อยู่ที่ตรงไหน...” 

กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ต้องให้ความจริงต่อสาธารณชน  

ปักปันเขตแดนให้ชัดเจน ก่อนแบ่งผลประโยชน์

นายกษิตตั้งข้อสังเกตถึงเรื่อง “พื้นที่ทับซ้อน” ที่ถูกพูดถึงในเวลานี้ว่า อาจจะมาจาก ผู้นำบางคน ที่รู้สึกหิวโหยอยากจะขุดก๊าซหรือน้ำมันใต้ทะเลออกมาใช้ โดยที่ยังปักปันเขตแดนหรือเจรจาไม่แล้วเสร็จ 

“ท่าทีของผมที่ยืนยันมาตลอด ตั้งแต่เป็นข้าราชการประจำ เป็นนักการเมือง เป็นประชาชนอาวุโส ก็คือ การปักปันเขตแดนให้แล้วเสร็จ จากนั้นค่อยแบ่งปันผลประโยชน์ ไม่ใช่ว่ายังแบ่งเขตแดนไม่เสร็จ อยู่ดีๆ จะเข้าไปเจาะพลังงานมาใช้ เหมือนคนหิวโหยมากกว่าความถูกต้อง”

...

การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เราเคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต คือ กรณีที่เราคุยกับทางมาเลเซีย นี่คือแบบอย่างอยู่แล้ว ซึ่งผลการเจรจา ผลประโยชน์ต่างๆ นั้น มันมีผลออกมาอย่างเต็มที่ ก.ต่างประเทศ, ก.พลังงานฯ ร่วมกันดูแล โดยมีตัวแทนอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ให้ถอดความสำเร็จนำมาใช้ 

ส่วนตรงไหนที่เจรจากันไม่ลงตัว ก็ขอให้เป็น “พื้นที่พัฒนาร่วม” 

การที่จะเข้าไปขุดเจาะโดยไม่มีเส้นขีดอะไรเลย เหมือนกับเป็นการเข้าไปขโมยทรัพยากรที่เป็นของคนไทยและกัมพูชา 

เมื่อถามว่า มีเสียงบางส่วนบอกว่า หากขุดเจาะมาใช้จะดีกว่าปล่อยไว้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะปักปันเขตแดนเสร็จเมื่อไหร่ นายกษิต ถามกลับเลยว่า “แล้วทรัพยากรมันจะหนีไปไหน? เมื่อมันไม่หนี จะไปห่วงอะไร ซึ่งระหว่างนี้ก็เป็นหน้าที่ของ ก.พลังงาน ที่ไปจัดหามาจากต่างประเทศ ระหว่างนั้น เร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หรือทดแทน ซึ่งมีมากมายหลายวิธี ไม่ขุดขึ้นมาเดี๋ยวนี้ ประเทศไทย หรือกัมพูชาก็ไม่ตาย ก็อยู่กันมาเป็นร้อยๆ ปีไม่เห็นจะมีปัญหา ทำไมต้องเวลานี้.. เอาของจริงมาพูดกันสิครับ” 

...

เมื่อถามว่า การที่สมเด็จฮุนเซน เดินทางเยี่ยม นายทักษิณ ถึงบ้านถือว่ามีนัยการเมืองบางอย่างหรือไม่ นายกษิต ตอบว่า “ผมอยู่การเมืองมาก่อน และไม่ใช่เด็กไร้เดียงสา และที่ผ่านมาสังคมเองก็รู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตระกูลการเมือง แต่อยากจะบอกไว้ว่า ไม่ว่าใครจะเข้ามาปู้ยี่ปู้ยำทั้งไทยและกัมพูชามิได้...

นายกษิต ทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้อยากให้ทุกฝ่ายติดตามข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันอิทธิพลเถื่อนทางการเมือง ไม่ให้ทำลายความดีงาม และผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านข่าวที่น่าสนใจ 

...