ร้อนมาเร็ว ส่อแล้งหนักหน่วง เพิ่มความเหลื่อมล้ำรุนแรง กับปัญหาเกษตรกรไทย ทั้งในพื้นที่ชลประทานและนอกชลประทาน ค่าไฟฟ้าส่อพุ่ง!....21 กุมภาพันธ์ 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า “ฤดูร้อน” มาถึงแล้ว ซึ่งถือว่ามา “มาเร็ว” ที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาแล้วยังไง…?จะมีผลกระทบอย่างไร...?ใคร...ได้รับผลกระทบมากที่สุด...?แล้ว “เรา” ต้องเตรียมตัวอย่างไร?วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะมาไขคำตอบ ทีละข้อ กับ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูร้อน มาเร็วกว่าปกติ?อาจารย์วิษณุ กล่าวว่า ฤดูร้อนมันก็มาตามปกติของมัน แต่ครั้งนี้มีสาเหตุมาจาก ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ทำให้เราเจอสภาพอากาศร้อนเร็ว และมากกว่า ค่าเฉลี่ยปกติมีการ “คาดหมาย” ว่า ความร้อนเฉลี่ย เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม (ก่อนปี ค.ศ. 1960) มันจะร้อนกว่าค่าเฉลี่ย 1.5 องศาฯ ซึ่งนี่จะเป็นครั้งแรก ที่อุณหภูมิโลกจะไปแตะถึงระดับนั้น“เดือนที่ผ่านมา (มกราคม) เราทำสถิติ คือ ร้อนที่สุดในรอบ 175 ปี และที่สำคัญคือ อุณหภูมิของน้ำทะเล จะร้อนสูงสุดในเดือนมีนาคม ดังนั้น อุณหภูมิบนพื้นผิวโลก ก็อาจจะสูงที่สุดตามไปด้วย ฉะนั้น ช่วงเวลาเดือนมีนาคมนี้ ถือเป็นช่วงที่ต้องจับตาดูให้ดี”มีนาคม มีโอกาสทำลายสถิติสภาพอากาศร้อนที่สุด...“เรื่องนี้เป็นไปได้อยู่แล้ว เพราะตอนนี้ทุกสำนักทั่วโลก ทำนายตรงกัน คือ หลังจากนี้ถึงเดือนมีนามคม จะมีอุณหภูมิสูงสุด” คำว่า “อุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย”ประเด็นนี้ กูรูด้านสภาพอากาศ อธิบายว่า อาจจะไม่ได้รู้สึกร้อนก็ได้ เพราะบางช่วงเราเจอฤดูฝน แต่เมื่อเจอในสภาพฤดูร้อน มันก็จะส่งผลให้เกิดปัญหา ในช่วง มีนาคม-พฤษภาคมแต่ถ้าสภาพอากาศร้อนกว่าเดิม เราลองจินตนาการไปถึง ตอนเที่ยงในเดือนเมษายนดู... ซึ่งสภาพคือ ร้อนตับแตกอยู่แล้ว แต่มันบวกเพิ่มไปอีก 1.5 องศาฯ (ค่าเฉลี่ย ที่อาจจะเปลี่ยนแปลง ไม่รวมกับค่าผันผวน)สภาพอากาศร้อนขึ้น 1.5 องศาฯ มีผลอย่างไรกับมนุษย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นิ่งไปสักครู่ ก่อนตอบ ว่า ปกติแล้ว จะมีการวัดค่าความร้อนแบบ (Heat Index) หรือ ดัชนีความร้อน โดยดัชนีดังกล่าวมีการคำนวณค่าต่างๆ เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ซึ่งโดยปกติแล้ว จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ ว่าไม่ควรเกินเท่าไร...ตัวอย่างดัชนีความร้อน27-32 องศาเซลเซียส : อ่อนล้า อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากมีกิจกรรมกลางแจ้ง จะเกิดปวดแสบปวดร้อนได้32-41 องศาเซลเซียส : ตะคริว เพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานานอาจเกิดภาวะลมแดด Heat Stroke 41-54 องศาเซลเซียส : ปวดเกร็ง เพลียแดด หน้ามืด ทำกิจกรรมต่อเนี่ยงเสี่ยงต่อสภาวะลมแดด Heat Stroke 54 องศาเซลเซียสขึ้นไป : เกิดสภาวะลมแดด หรือ Heat Stroke ได้ตลอดเวลา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต อาจารย์วิษณุ อธิบาย ว่า ช่วงมีนาคม-เมษายน ดัชนีความร้อน อาจจะขึ้นสูง ส่งผลต่อสุขภาพคนจำนวนมาก ในต่างประเทศ ที่เขาไม่ค่อยเจอแดด ก็อาจจะเป็น ลมแดด หรือ ช็อกได้ หรือ อย่างบ้านเราก็ต้องระมัดระวังให้กับคนสูงวัย หรือ แรงงานที่จำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น พนักงานก่อสร้าง ภาคเกษตร เป็นต้น ทางออก คือ ต้องลดเวลาทำงานกลางแจ้งลง หรือ สลับเวลาเข้าออกให้มากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อ “ผลิตภาพ” เพราะแรงงานมีอาการเจ็บป่วย โลกรวน สภาพอากาศสวิงไปมา...นอกจาก “เอลนีโญ” ที่เราเผชิญแล้ว ในช่วงปลายปี เราอาจจะกลับมาเจอ “ลานีญา” ใหม่ ซึ่งเป็นกำลัง อ่อน-ปานกลาง หมายถึง ว่า ประเทศไทย จะเจออุณหภูมิจะต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยปกติ และฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ“พูดง่ายๆ คือ โอกาสเกิดน้ำท่วมจะเป็นวงกว้างมากขึ้น เอลนีโญ กับ ลานีญา จะเกิดสลับกันไปมา โดยปกติแล้ว ปรากฏการณ์หนึ่ง จะมาทุก 2 ถึง 7 ปี/ครั้ง ความถี่ดังกล่าวไม่คงที่ ซึ่งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ลานีญา อยู่กับเรา ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติจากนั้น สลับมาเจอ เอลนีโญ ซึ่งช่วงพีกทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกือบ 2 องศาฯ ของระดับน้ำทะเล แปลว่า “รุนแรงมาก” แม้เอลนีโญ ที่เจอนี้ถือเป็นช่วงสั้นๆ นับว่ายัง “โชคดี”คำถามคือ เรายังโชคดีแบบนี้เรื่อยๆ หรือไม่...?สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ ความผันผวนของสภาพอากาศ เหวี่ยงจากร้อนจัด น้ำท่วม หรือเจอหนาว สิ่งที่เจอแบบนี้ส่งผลร้ายกับเกษตรและปศุสัตว์ความผันผวนของสภาพอากาศ = ความเจ็บป่วยและอ่อนแอของมนุษย์ และหากเกษตรกร ไม่ปรับตัว ก็ต้องเผชิญกับความเสียหายมากขึ้น ส่วนธุรกิจอื่นๆ ทุกธุรกิจ ย่อมได้ผลกระทบทั้งหมด และความเสียหายจะเพิ่มมากขึ้นในหลังจากนี้...เพราะที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานเคยเตือนมาก่อนแล้วว่า เรา ก็คือ ประเทศไทย กำลังจะเผชิญกับ “เอลนีโญ” สภาพอากาศร้อนและแล้ง โดยตอนที่เตือนนั้น คนไทยโดยมากยังไม่รู้สึกอะไร เพราะมันยังอยู่ฤดูหนาวแต่...หลังจากนี้เราจะเจอ “ของจริง” มากขึ้น ในช่วงกลางวัน หรือ ช่วงเช้า เย็น เคยสัมผัสลมหนาว แต่เวลานี้ “ลมหนาว” ได้จากเราไปเรื่อยๆมีนาคม-เมษายน จะเป็นช่วงอากาศร้อนจัด พีกสุด... โดยเฉพาะ “ภาคเกษตร” จะต้องเผชิญ การพยากรณ์ จะบอกว่า “ฝน” จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ความร้อนอาจลากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งอาจจะมีฝนบ้าง แต่น้อยฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังเผชิญหลักๆ คือ อากาศร้อน และ ความแล้ง!! และส่งผลไปถึงการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่เท่าที่ประเมิน...พื้นที่เขตชลประทาน เจอปัญหาเบาหน่อย แต่อย่าชะล่าใจที่น่ากังวล ภาคเกษตร ปลูกข้าวเกินแผนไปแล้ว เท่าที่ทราบคือปลูกเกินไปแล้ว 1-2 ล้านไร่ ในพื้นที่เขตชลประทาน ก็เลยทำให้เราต้องใช้น้ำมากกว่าปกติ หากเจอแล้งลากยาว ก็จะส่งผลกระทบพื้นที่นอกเขตชลประทาน : อาจถึงขั้นขาดแคลน เพราะเขาต้องพึ่งพาตัวเอง ด้วยการขุดบ่อสระ หรือ พึ่งพาน้ำฝน“อากาศที่ร้อนกว่าปกติ ก็จะส่งผลให้น้ำระเหยมากกว่าปกติ เช่นเดียวกัน ที่เก็บไว้อาจจะไม่เพียงพอ ปีที่แล้ว เรายังไม่เห็นภาพความขาดแคลน แต่ปีนี้เราอาจจะได้เห็น ที่สำคัญ คือ ภาคเกษตร จะเจอโรคภัยจากพืช และแมลงมากขึ้น” ในเชิงเศรษฐศาสตร์ การจัดการน้ำจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อุปสงค์ กับอุปทานอุปทาน : การจัดการน้ำให้เพียงพอ เช่น น้ำไม่เพียงพอ อาจจะขุดบ่อบาดาลเพิ่ม (ระมัดระวังการปนเปื้อน หรือ ใช้อย่างพอดี)อุปสงค์ : ให้คนได้ประหยัดมากขึ้น หรือ มีการวางแผนที่ดี เช่น ปลูกข้าวมากเกินไปในขณะที่มีน้ำน้อย เราควรปลูกพืชชนิดอื่นไหมที่ใช้น้ำน้อยกว่า เช่น พืชที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า ทำอย่างไรให้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพหรือในต่างประเทศ มีกลไกในการคิดค่าน้ำ เช่น พื้นที่ไหนน้ำน้อย จะคิดค่าน้ำแพงกว่า ฉะนั้น หากคิดถูกๆ มันก็จะไม่พอใช้“การคิดค่าน้ำแบบกลไก จะส่งผลให้คนตระหนักในการใช้น้ำมากขึ้น ว่าน้ำมีคุณค่า”ถ้าเราคิดอย่างนั้น จะกลายเป็นดราม่า ความเหลื่อมล้ำไหม... อาจารย์วิษณุอธิบายว่า สิ่งเหล่านี้มีการคำนึงเรื่อง “ประสิทธิภาพ” และ “ความเสมอภาค” ด้วย เราต้องคิดทั้ง 2 ชั้น หรือ สิ่งที่ควรเริ่มน้ำมาใช้ ควรเริ่มจากฟาร์มขนาดใหญ่หรือไม่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการช่วยระดับหนึ่ง ใช่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้น้ำเยอะ ก็ต้องช่วยด้วย“น้ำที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ถูกกว่าต้นทุนที่เราจัดหามาใช้ด้วยซ้ำ นี่เอง เป็นสาเหตุที่ในต่างประเทศเขาคิดค่าน้ำแพง”ที่ผ่านมา ตนเคยทำงานร่วมกับ วช. (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ) ในการทำโครงการรีไซเคิลน้ำ โดยมีเทคโนโลยีมาบำบัดน้ำได้ เมื่อถามว่า “เรา” (ประเทศไทย) ยังไม่เคยขาดแคลนน้ำจริงๆ หรือเปล่า ทำให้ในเชิงภาพรวมจึงยังไม่เกิดจิตสำนึกเรื่องน้ำ กูรูด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยอมรับว่า เรายังไม่เคยเจอโศกนาฏกรรมแบบนั้น ทุกครั้งที่เจอเหตุการณ์รุนแรง เราจึงค่อยมาหาทางแก้“โดยหลักการเราก็ต้องหาทางป้องกันก่อน ซึ่งเรื่องนี้ผู้กำหนดนโยบายก็ต้องคิด” แล้งนี้ภาคไหน น่าห่วงที่สุดอาจารย์วิษณุ เผยว่า โดยหลักคือ นอกเขตชลประทาน ส่วนภาคที่น่าห่วงคือ อีสาน โดยประเมินจากการพยากรณ์อากาศ อาจจะลากยาวหน่อย รองลงมาคือ ตะวันตก และ ภาคใต้ตอนบน มีความเสี่ยงที่ฝนจะมาช้ากว่าปกติมีโอกาสที่เราจะเจอแบบสมัยก่อน ที่ “แล้งหนัก” ดินแตกระแหง อาจารย์วิษณุ ยอมรับว่า เรามีโอกาสเจอแน่นอน เพราะสภาพอากาศ จะหนักหน่วงมากขึ้น ที่เราเห็นเป็นแค่บางส่วนเท่านั้น“ปีนี้ที่ต้องระวัง คือ ค่าไฟ อาจจะต้องใช้มากขึ้น และที่น่ากลัว คือ ความเหลื่อมล้ำ คนที่มีห้องแอร์ ชีวิตก็ดีไป แต่คนที่ไม่มี ก็ต้องอยู่กับความร้อนต่อไป การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Climate change มันส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหนักขึ้นเรื่อยๆ หรือ เกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทาน กับ นอกเขตชลประทาน นี่ก็คือความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง เพราะคนที่อยู่ใกล้ก็สบายๆ รายได้ดี คนที่อยู่ห่างเขตชลประทานก็เจอปัญหาไปเรื่อยๆ รายได้ก็ค่อยๆ หาย”ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน