"เคยด้อยโอกาส และเห็นเพื่อนลำบาก เพราะไม่มีวุฒิการศึกษา" 2 จุดประกายความคิดให้ชีวิตเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ สู่การเป็น 'นักศึกษาครู' ผู้มุ่งหวังส่งต่อโอกาส เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียนบนเกาะสมุย และพื้นที่ห่างไกล

"ถ้าการศึกษาเปลี่นชีวิตคนคนหนึ่งได้

แล้วทำไมจะเปลี่ยนชีวิตคนอื่นไม่ได้"

- กรวิชญ์ จันทร์ทอง -

มีคนเคยบอกไว้ว่า "การศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตได้" เรื่องราวของ 'ปอนด์ - กรวิชญ์ จันทร์ทอง' อายุ 21 ปี ที่กำลังจะได้อ่านต่อจากนี้ ก็น่าจะพอเป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันว่า "คำกล่าวนั้นเป็นจริง"

กรวิชญ์… เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับโอกาสจากการศึกษา เพราะหลังจบระดับมัธยมจากโรงเรียนเกาะสมุย เขาก็ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ทำให้ปัจจุบัน ปอนด์กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 สาขาการศึกษาประถมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

...

แต่กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ ถนนแห่งชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ปอนด์ต้องฝ่าฟันอุปสรรค และก้าวข้ามความลำบากมาตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เรื่องราวต่อจากนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ คาดว่าน่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในชีวิต และอาจทำให้หลายคนเห็นคุณค่าของการศึกษามากขึ้น

จุดเริ่มต้นเห็นความสำคัญของการศึกษา : 

ปอนด์เล่าย้อนอดีตให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า พื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี คนในชุมชนส่วนใหญ่จะไม่เรียนต่อ และเลือกประกอบอาชีพเป็นชาวประมง ซึ่งเพื่อนคนหนึ่งของเขาก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะคิดว่าออกไปแล้วอาจจะสบายกว่าเรียนต่อ แต่โลกแห่งความจริงกลับไม่ง่ายดั่งใจหวัง…

"หลังจากทำงานได้ประมาณ 2 ปี เพื่อนบอกว่าชีวิตของเขาเหนื่อยและลำบาก ชีวิตไม่ได้ง่ายเหมือนตอนเด็ก ภาระเยอะและงานหนัก ไม่คุ้มกับเงินที่ได้รับ มีรายได้แค่บางเดือน เพราะการทำงานไม่เคยแน่นอน บางช่วงออกหาปลาไม่ได้ ก็ไม่มีเงินใช้ ส่งผลให้ไม่มีเงินเก็บ จึงคิดอยากจะเปลี่ยนอาชีพ แต่พอไม่มีวุฒิการศึกษา ทำให้การหางานเป็นเรื่องยาก"

กรวิชญ์ กล่าวต่อว่า ยังมีอีกหลายคนที่ในพื้นที่ ที่เจอเหตุการณ์คล้ายกับเพื่อน แต่สำหรับเพื่อนของผม พอชีวิตกลายเป็นแบบนั้น ทำให้เขาตัดสินใจกลับมาเรียนอีกครั้ง โดยเลือกเข้าเรียน กศน. (ปัจจุบันคือ สกร.)

นอกจากนั้น ปอนด์ยังบอกกับเราว่า ตนเองและน้องสาวที่อายุห่างกัน 5 ปี เคยเป็นเด็กด้อยโอกาสมาก่อน ปอนด์ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพตั้งแต่ ม.1-ม.6 เพราะหลังจากที่แม่เสียชีวิต ความสัมพันธ์ของพ่อและลูกก็เริ่มเปลี่ยนไป พ่อไปทำงานที่ไกลจากบ้าน การติดต่อเริ่มน้อยลง จนวันหนึ่งก็แทบขาดหาย

"ผมเหลือตัวเองกับน้องสาว ถึงจะมีญาติอยู่บ้าง แต่หลังจากแม่เสีย ก็ไม่ค่อยได้ติดต่อกับยาย ยังพอมีอาที่เขาเอ็นดูพวกผม เลยมาคอยช่วยเหลืออยู่เรื่อยๆ แต่ชีวิตประจำวัน พวกเราก็เหมือนเหลือกันแค่ 2 คน ยังดีที่มีบ้านของแม่ให้พวกเราอยู่"

...

เหตุการณ์ทั้งหมดนั้น ทำให้ปอนด์ได้เห็นว่า 'การศึกษาสำคัญ' ต่อชีวิตมนุษย์ ปอนด์คิดกับตัวเองว่าจะตั้งใจเรียนให้เต็มที่ และเขาก็ได้เริ่มคิดอยากเป็นครู เพราะอยากกลับมาพัฒนาชุมชน และเปลี่ยนความคิดคนในพื้นที่ให้เห็นความสำคัญของการศึกษา

นอกจากนั้น เขาอยากมีส่วนช่วยพัฒนาชีวิตเด็กๆ ที่ด้อยโอกาส ให้ได้รับโอกาสเหมือนที่เขาเคยได้รับจากคนอื่นๆ ซึ่งเรื่องราวแห่งโอกาสในชีวิตปอนด์ จะเริ่มต้นนับจากนี้…

ทำงานหาเงินใช้เลี้ยงชีพ : 

กรวิชญ์เล่าชีวิตการทำงาน เมื่อครั้งยังเรียนมัธยมให้เราฟังว่า ช่วง ม.1-ม.3 รับจ้างทำงานที่ร้านค้าทั่วไปซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก มีหน้าที่ช่วยจัดของ จัดขนม หรือหากใครมาจ้างทำงานอื่นๆ ถ้าทำไหวก็พร้อมไปทุกเมื่อ

นอกจากนั้น ยังไปทำงานที่ร้านอาหาร คอยช่วยเหลืองานต่างๆ ได้รับเงินเป็นรายวัน วันละประมาณ 300 บาท หรือบางวันอาจจะมากกว่า และบางครั้งก็มีทริปจากลูกค้าด้วย ปอนด์บอกว่าช่วงนั้นยังอยู่ ม.ต้น ร้านจึงยังให้ทำงานไม่เท่าไร แต่ถ้าวันไหนที่ต้องช่วยร้านล้างจาน ก็อาจจะอยู่ถึงดึกแต่ไม่ดึกมาก เพราะเขาเห็นเราเป็นนักเรียนและยังเด็กอยู่

...

"ช่วงนั้นมีอาเข้ามาคอยช่วยเหลือด้วยครับ อาลงทุนให้ผมลองเลี้ยงแพะ ช่วยสอนวิธีเลี้ยง หาซื้อยามาให้แพะ เพราะอาคิดว่าเผื่อผมจะมีรายได้จากตรงนี้ ส่วนผมก็ได้ศึกษาวิธี และลองเรียนรู้ไปด้วยตัวเองเรื่อยๆ การเลี้ยงแพะไม่ได้สูญเปล่าเลยครับ เพราะหลังจบ ม.ปลาย ผมขายแพะที่มีทั้งหมด และเอาเงินนั้นมาเป็นทุนก้อนแรก ตอนเข้าเรียนปี 1"

เมื่อเข้าสู่ช่วง ม.ปลาย ปอนด์ย้ายไปทำงานที่โลตัส โดยมี 'คุณครูขนิดา กูลฤทธิ์' ซึ่งคอยให้กำลังใจเขาอยู่เสมอมา ช่วยให้ปอนด์ได้เข้าทำงานที่นี่ ปอนด์ได้รับเงินเป็นรายเดือน ประมาณเดือนละ 5,000-6,000 บาท หากทำโอทีด้วย รายได้จะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 9,000 บาท 

"เหนื่อยมาก… แต่ต้องสู้" : 

เมื่อทีมข่าวฯ ถามปอนด์ว่า ทำงานตั้งแต่เด็กแบบนี้ท้อบ้างไหม เขาตอบกลับทันท่วงทีว่า "ท้อเหมือนกันนะครับพี่"

นักศึกษาคณะครุศาสตร์ เผยชีวิตช่วงมัธยมให้เราฟังว่า ตอน ม.ปลาย ผมเลิกเรียนกลับมาถึงบ้านประมาณสี่โมงเย็น พอห้าโมงเย็น ก็ต้องออกไปทำงานต่อแล้ว ถ้าวันไหนทำโอทีก็อาจจะได้เลิกงานตี่สี่หรือตีห้า ได้กลับมานอนแป๊บเดียว ก็ต้องตื่นไปเรียนต่อ หรือบางวันก็ไม่ได้นอนเลยครับ 

...

"ผมยอมรับว่าเหนื่อยมาก แต่สุดท้ายผมก็ต้องสู้ ผมต้องไปต่อ คิดกับตัวเองมาตลอดว่าเราต่องมีแรงฮึด เพราะยังมีน้องที่ต้องดูแล ถ้าไม่ทำงานจะหารายได้มาจากไหน ไม่ทำก็ไม่มีกิน ไม่มีจ่าย ใครจะคอยเอามาให้เราได้ตลอด"

แล้วช่วงที่ต้องไปทำงานและเรียนต่อ น้องสาวอยู่กับใคร?

ปอนด์ บอกว่า น้องสาวอยู่ที่บ้าน ผมจะรบกวนให้คนแถวบ้านช่วยดู ส่วนตอนนี้ผมมาอยู่หอ ก็เลยรบกวนให้ยายมาอยู่กับน้อง ซึ่งยายก็ยอมมาอยู่ด้วย และได้คนแถวบ้านคอยช่วยดูทั้งสองคนอีกที

ทีมข่าวฯ ถามว่า "เงินที่ได้รับมาบริหารอย่างไร พอใช้หรือไม่"

"พอครับ" ปอนด์ตอบ

กรวิชญ์ เล่าต่อว่า พอมีใช้และมีเก็บบ้าง ไม่ได้มากมายอะไรครับ แบ่งสัดส่วนเป็นใช้จ่ายค่าอาหาร ส่วนที่ไปโรงเรียนทั้งของผมและของน้อง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาหารที่เรากินกันผมจะซื้อวัตถุดิบมาทำกินเอง เพราะว่าจะประหยัดกว่า ส่วนค่าน้ำ ค่าไฟ ก็จ่ายเองทั้งหมด ค่าไฟประมาณ 200-300 บาท ต่อเดือนครับ เรามีเครื่องใช้ไฟฟ้ากันนะครับ แต่ไม่ค่อยได้ใช้สักเท่าไร

โอกาสที่เคยได้รับจากคุณครู และผู้เกี่ยวข้อง : 

ด้วยสปิริตของนักสู้ ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และอุปสรรคที่เข้ามาท้าทาย ทำให้คุณครูและผู้เกี่ยวข้องหลายคน ต่างหยิบยื่นโอกาส รวมถึงส่งความปรารถนาดีให้ปอนด์และน้องสาวเสมอมา 

กรวิชญ์ เอ่ยขึ้นว่า ชีวิตผมมีครูคอยช่วยเหลืออยู่ตลอด ถ้าไม่มีครูผมจะไม่มีโอกาสดีๆ ในชีวิต อย่าง 'คุณครูพรรณศิริ เรืองจันทร์' คุณครูประจำชั้น ม.1 เป็นครูคนแรกที่เห็นถึงความลำบากของผม และท่านก็คอยช่วยซัพพอร์ตเรื่องต่างๆ ของผมครับ อีกทั้งครูยังไปช่วยขอยกเว้นค่าเทอม ทำให้ผมกับน้องสาวไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนั้น

นอกจากนั้นยังมี 'คุณครูปิยนุช จิตนุพงค์' ได้เข้าไปช่วยคุยกับ 'ป้าเยาว์' และ 'ป้าดาว' ซึ่งเป็นแม่ค้าที่ขายข้าวที่โรงอาหาร ทำให้ผมและน้องสาวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทานข้าวกลางวันเลยครับ ผมรู้สึกเกรงใจมากๆ เลยพยายามไปช่วยล้างจานเล็กๆ น้อยๆ แต่ป้าแกไม่ค่อยให้ผมทำอะไร แกอยากให้ผมได้พักผ่อน เก็บแรงที่มีไว้ไปทำงานและเรียนหนังสือ

ได้รับทุนศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย สานฝันอาชีพครู : 

นักศึกษาคณะครุศาสตร์ เผยความรู้สึกว่า ถึงจะอยากเป็นครูมากแค่ไหน แต่ช่วง ม.ปลาย เคยคิดว่า อาจจะทำงานต่อไปเลย ไม่เรียนต่อแล้ว เพราะคงหาเงินไปเรียนต่อไม่ได้จริงๆ….

ในช่วงที่ความฝันจะดับลง ไม่ว่าคิดอย่างไร หรือมองทางไหนก็ดูไร้หวังไปซะหมด ปอนด์ก็มีโอกาสได้รู้จักกับโครงการ 'ครูรัก(ษ์)ถิ่น' เป็นโครงการที่ให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ผู้มีใจรักวิชาชีพครู และมีศักยภาพการเรียนรู้ ได้มีโอกาสศึกษาจนจบปริญญาตรี หลังจากนั้นให้กลับมาพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านเกิด และพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองต่อไป ดำเนินงานโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย

ปอนด์เล่าว่า ผมได้รู้จักกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และเคยได้รับทุนการศึกษาต่างๆ เพราะมี 'คุณครูเยาวรัตน์ ประสานเชื้อ' คอยช่วยเหลือมาโดยตลอด และยังมี 'คุณครูจิราพร คงเพชร' ที่คอยให้คำปรึกษา ช่วยสนับสนุน และผลักดันให้ผมได้รับทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นครับ

"ตอนที่ครูมายื่นเสนอ ผมไม่ลังเลเลย เพราะเป็นทุนอาชีพครู ครูบอกว่าถ้าผ่าน จะได้เป็นครูจริงๆ ผมเลยทำให้เต็มที่ เพราะคิดว่าตัวเองพลาดทุนนี้ ก็น่าจะไม่มีเงินและโอกาสแล้ว สุดท้ายผมทดสอบทุกอย่างผ่าน และได้เข้าค่ายของ กสศ. ทำให้ความแน่วแน่ที่จะเป็นครูก็ยิ่งมากขึ้น"

ทำให้ตอนนี้ 'กรวิชญ์ จันทร์ทอง' ถือเป็นนักศึกษารุ่นที่ 2 ของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เขาได้รับเงินเดือนจากโครงการนี้ และได้รับเงินรายเดือนด้วย ซึ่งปอนด์บอกเราว่า ได้บริหารจัดการเงินส่วนนั้น เพื่อให้ตัวและน้องสาวใช้จ่าย และทำให้เขาไม่ต้องทำงานเพิ่ม มีเวลาพัฒนาตัวเองเพื่อเตรียมเป็นครู

หลังจบ ป.ตรี กลับไปเป็นครู ร.ร.ประถม ที่เคยเรียน : 

เราถามปอนด์ว่า ทำไมถึงเลือกเรียนครูประถม เขาตอบว่า เป็นทุนของครูรัก(ษ์)ถิ่น เพราะถ้าทุนของ กสศ. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จะเป็นการศึกษาประถมวัยอย่างเดียว

"พอได้มาเรียนแล้ว ก็รู้สึกชอบ บรรยากาศตอนเรียนเป็นกันเอง เพื่อนทุกคนทำงานร่วมกันเสมอ ส่วนอาจารย์ก็คอยแนะแนวและให้ความรู้อย่างเต็มที่"

กรวิชญ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ผมไม่ได้มองว่าเราจะเป็นครูประถม หรือระดับชั้นไหน เพราะผมมีสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว คืออยากพัฒนาผู้เรียนให้ได้ตามที่คิดไว้ อยากให้เด็กเห็นคุณค่าการศึกษา ถ้าเปลี่ยนความคิดเด็กได้ พวกเขาน่าจะเห็นคุณค่าของการศึกษาจริงๆ 

ประมาณ 2 ปีนับจากนี้ปอนด์จะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี แล้วจะกลับไปเป็นครูที่ 'โรงเรียนวัดนาราเจริญสุข' ต.ลิปะน้อย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่เขาเคยเรียนเมื่อตอนประถม 

กรวิชญ์ จันทร์ทอง มองว่า อีกอย่างคือ การได้กลับไปสอนในโรงเรียนที่เคยอยู่ มีข้อดีมากๆ มันน่าจะช่วยให้เขาเข้าถึงคนในชุมชนได้ง่ายขึ้น เพราะหลายคนเคยพูดคุยกัน เคยเจอกัน

จะไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค : 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถามปอนด์ว่า "ถ้ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด จะทำยังไง?"

นักศึกษาครูกรวิชญ์ มองว่า ถ้าไม่เป็นอย่างที่คิด หรือมีอุปสรรคจริงๆ ก็ต้องตั้งใจและจะไม่ท้อ ผมเชื่อว่าถ้าผมตั้งใจจริงๆ ไม่ว่าอะไรก็สามารถทำได้ ผมเป็นคนที่เชื่อว่า แม้ตอนนี้เรายังทำไม่ได้ แต่ถ้าเราพยายาม เราอาจจะซื้อใจเขาได้

"ผมอยากเป็นครูที่สามารถเข้าถึงชุมชนได้อย่างทั่วถึงด้วย เพราะจะได้รู้สภาพชุมชน และสภาพปัญหาต่างๆ ถึงเราจะเป็นครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง แต่ถ้ารู้จักชุมชนและเข้าถึงผู้คนแล้ว อะไรก็อาจจะง่ายขึ้น นอกจากนั้นผมจะเป็นครูที่ดีของเด็กๆ เผื่อผมได้ลงไปเยี่ยมบ้านเด็ก พวกเขาจะไว้ใจผม และแนะนำผมให้ผู้ปกครองได้รู้จัก และถ้าผู้ปกครองไว้ใจผมแล้วการพัฒนาเด็กๆ จะง่ายขึ้นเช่นกัน"

กรวิชญ์ จันทร์ทอง บอกว่า อย่างไรก็ตามถ้ามันต้องเจอเรื่องยาก ผมก็จะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ผมได้แรงบันดาลใจมาแล้ว เลยอยากช่วยเด็กคนอื่น เพื่อให้พวกเขาได้รับโอกาสบ้าง

การศึกษาช่วยเปลี่ยนอนาคต : 

สำหรับนักศึกษาครูคนนี้ เขามองว่า "การศึกษาช่วยเปลี่ยนอนาคตได้จริงๆ"

กรวิชญ์ จันทร์ทอง ยกตัวอย่างเพื่อนของเขาให้เราฟังว่า ผมเคยถามเพื่อนว่าหลังจากได้กลับไปเรียนต่อที่ กศน. (สกร. ในปัจจุบัน) ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เพื่อนบอกผมว่า ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปทางที่ดีขึ้น ตอนนี้เขาได้เป็น พนักงาน รปภ. ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเกาะสมุย ไม่ต้องทำงานเหนื่อยเท่าเมื่อก่อน มีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น

"ผมเลยคิดว่า ถ้าการศึกษาเปลี่นชีวิตคนคนหนึ่งได้ แล้วทำไมจะเปลี่ยนชีวิตคนอื่นไม่ได้"

ปอนด์ กล่าวต่อว่า การศึกษาก็เปลี่ยนชีวิตผมเหมือนกัน ถ้าผมไม่คิดที่จะเรียนรู้ คงไม่มีครูมาช่วยสนับสนุนผม ถ้าผมไม่ตั้งใจที่จะเอาทุน ผมก็คงมาไม่ถึงจุดนี้ และอาจจะไม่ได้เป็นครู ผมอาจจะต้องทำงานที่ลำบากกว่านี้ หรือเหนื่อยกว่านี้ 

"สำหรับผมแล้ว วุฒิการศึกษา เป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตการทำงาน อย่างน้อยถ้าเรามี เราอาจจะได้งานดีๆ ที่เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าที่เป็น" ปอนด์ แสดงความคิดเห็นกับเรา

อยากเห็นอนาคตการศึกษาไทยดีขึ้น : 

ก่อนการสนทนาจะจบลง ทีมข่าวฯ ถามนักศึกษาครูว่า อยากเห็นอนาคตการศึกษาไทยเป็นอย่างไร? 

น้องปอนด์ตอบว่า ผมอยากให้ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง มันอาจจะไม่หายไปก็จริง แต่อยากให้ลดน้อยลงกว่านี้ อยากให้เด็กที่ด้อยโอกาส ได้เรียนมากขึ้น อยากให้มีโรงเรียนในพื้นที่เล็กๆ เหมือนบางโรงเรียนที่มีเด็กน้อยโรงเรียนจะถูกยุบ แต่ผมมองว่าถึงเด็กจะน้อย เด็กก็ยังสำคัญ และเป็นอนาคตของชาติ อยากให้ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง 

"ส่วนคนที่ยังมองว่าการศึกษาไม่สำคัญ อยากบอกว่าในอนาคตมันสำคัญมากๆ เพราะเมื่อมีความรู้ มีทักษะ เราจะสามารถนำพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราได้ การเรียนไม่ได้เรียนแค่ในหนังสือ เพราะยังมีการเรียนรู้จากครูอาจารย์ ที่เราสามารถนำทักษะชีวิตที่เขาสอนมาปรับใช้ได้"

ส่วนอนาคตของปอนด์และน้องสาว เขามองไว้ว่า…

"ผมอยากให้น้องได้รับการศึกษาสูงสุดเท่าที่จะทำไหว ตอนนี้ผมเรียน ปี 3 น้องเรียน ม.5 ถ้าผมจบแล้ว น้องก็จะได้ต่อปริญญาตรี ผมก็จะเป็นรอยต่อให้น้องได้พอดี มีความสุขมากครับที่คิดว่าน้องจะได้เรียนต่อ เพราะน้องก็มีเป้าหมายของน้องอยู่แล้ว ผมรักน้อง เรามีกันอยู่แค่นี้ ต้องทำให้เต็มที่ น้องคือครอบครัวคนเดียว ที่เราต้องประคับประคอง"

ภาพ : กรวิชญ์ จันทร์ทอง (ปอนด์)

อ่านบทความที่น่าสนใจ :