“เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” จากเจ้าของธุรกิจเงินล้าน ย่านทองหล่อ เข้าใจลึกซึ้งหลังเจอวิกฤติน้ำท่วม 54 กับทางรอดด้วยวิถีเกษตรพอเพียง ...

“เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”  

นี่คือคำกล่าวของ “หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร” หรือ บิดาแห่งการเกษตรไทย และถึงแม้ประเทศไทย จะเป็น “อู่ข้าว อู่น้ำ” แหล่งอาหารสำคัญของโลก แต่ครั้งหนึ่งในปี 2554 “เรา” หลายๆ คน ก็ได้รู้ซึ้งถึงคำนี้ เพราะหาซื้ออาหารไม่ได้ 

รวมถึง นายธนะกฤษฏิ์ พงษ์เกษมชูวงศ์ เจ้าของ สวน ๙-๑๐..เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเคยเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โตหลายแห่ง ก่อนจะเจอจุดพลิกผันทำให้เข้าหาวิถีเกษตร และเริ่มเข้าใจว่า คำว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” จากประสบการณ์ชีวิต 

จบรัฐศาสตร์ ไม่อยากเป็นลูกน้องใคร ขายโทรศัพท์มือถือจนรวย! 

ธนะกฤษฏิ์ เล่าเบื้องหลังชีวิตให้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ฟังว่า ผมเองเป็นคนที่ต้องทำงานไป เรียนไป ซึ่งการทำงานก็เป็นลูกจ้าง ลูกน้องเขา เมื่อเรียนจบและทำงานได้สักระยะ เกิดความรู้สึกว่า “ไม่อยากเป็นลูกน้องใคร...” เพราะมันขาดอิสระ ก็เลยเก็บเงินได้สักก้อนหนึ่ง และเริ่มเปิดร้านขายอุปกรณ์มือถือ 

เราทำงาน เป็นลูกน้องเขาก่อน โดยได้เริ่มต้นทำงานในตำแหน่ง PC หรือ Product Consultant (พนักงานแนะนำสินค้า) ในห้างแห่งหนึ่งใจกลางเมือง จากนั้นก็ค่อยๆ เก็บเกี่ยวความรู้ไปเรื่อยๆ จากนั้นก็เริ่มเปลี่ยนจากพนักงาน มาทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ ที่เกี่ยวกับการขายอุปกรณ์มือถือ กระทั่งเรียนรู้ ได้ศึกษา การซื้ออุปกรณ์โทรศัพท์ เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆ กระทั่งเริ่มเปิดร้านของตัวเอง” 

...

นายธนะกฤษฏิ์ ยอมรับว่า ขายของดีมาก กิจการค่อยๆ เติบโต จาก 1 สาขา ขยายไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น 7 สาขา 

“เงินเข้ามาเยอะมาก หลักแสน หลักล้านบาท แต่สิ่งที่พบ คือ รู้สึกว่า 'ไม่มีความสุข' แม้จะมีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างประเทศ มีกิจการที่เติบโต แต่ก็มีปัญหาต่างๆ มากมายเข้ามา ทั้งเรื่องลูกน้อง ปัญหาธุรกิจ เรียกว่า แทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย” 

พี่กฤษฏิ์ เล่าและยอมรับว่า แม้ช่วงนั้นจะเริ่มเบื่อแล้ว แต่เราก็ยังจะเดินหน้าขยายกิจการต่อ มีคิดทำร้านนวด รวมถึงไปเปิดร้านอาหาร เงินเข้าเยอะ ก็ใช้หมุนออกไป กระทั่งเริ่มมีการกู้เงินเพื่อลงทุนอีกประมาณ 1.2 ล้านบาท 

วิกฤติน้ำท่วมปี 2554 ทำให้เข้าใจ “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” 

เจ้าของสวน ๙-๑๐..เศรษฐกิจพอเพียง ยอมรับว่า จุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่งของชีวิต คือ ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554  

“ช่วงนั้นผมมีการลงทุนทำร้านอาหารญี่ปุ่นในทำเลทอง “ทองหล่อ” ซึ่งเปิดก่อนปี 2554 มาสักระยะ โดยทำตลาด ลงโฆษณานิตยสารญี่ปุ่น เริ่มเป็นที่รู้จักบ้างแล้ว แต่ยังไม่ถึง 1 ปี ก็เจอน้ำท่วม ปรากฏว่า กระทบกับทางร้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มี “วัตถุดิบ” จะขาย เรียกว่า เงินทุนที่ลงไปก็จมหมด แถมยังเป็นหนี้ด้วย”

พี่กฤษฏิ์ ยอมรับว่า ก่อนที่จะเปิดร้านอาหารญี่ปุ่น ก็ได้ลงทุนทำร้านนวดด้วย ลงทุนไปเรียนที่วัดโพธิ์ ทำหลายอย่าง เงินหมุนเข้ามาก็ไม่พอ จึงมีการ “กดเงิน” จากบัตรเครดิต เรียกว่า เต็มวงเงิน 5 ใบ โดยหมุนไปมา เป็นหนี้อยู่ 1.2 ล้าน 

“เมื่อเจอเหตุแบบนี้ สิ่งที่เรามี คือ “ที่ดิน” ซึ่งเป็นมรดก ที่ จ.บุรีรัมย์ และเราก็เคยซื้อไว้ส่วนหนึ่ง จึงคิดหันกลับมาทำเกษตร โดยหวังว่าจะดำเนินรอยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง”

เริ่มต้นเกษตร เรียนรู้หลักการ อ.ยักษ์ หาทางรอดด้วยตนเอง 

เนื่องจากเป็นหนี้สินอยู่ราว 1.2 ล้าน จึงต้องหาวิธีเอาตัวรอด นายธนะกฤษฏิ์ จึงใช้วิธีการไปกู้เงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อมาปลดหนี้บัตรเครดิต และเงินทุนส่วนหนึ่ง...

ก่อนจะเริ่มต้น ได้ไปเรียนวิชาเกษตรกับ “อาจารย์ยักษ์” (วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเกษตรธรรมชาติ) 

ตอนที่เรียน มันจะมีช่วงสุดท้ายที่ อาจารย์จะปล่อยให้นักเรียนอยู่กับธรรมชาติ โดยเขาจะไม่ให้อาหาร แต่ต้องเอาตัวรอดจากธรรมชาติ และหาอาหารด้วยตัวเอง ด้วยที่ผมเป็นคนต่างจังหวัด เคยจับปลา ปลูกข้าว ปลูกพืชมาบ้าง ผมก็เอาตัวรอดได้ แต่เมื่อหันไปมองเพื่อนที่ทำงานกรุงเทพฯ ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาเลย เขาทำไม่ได้ 

“เรายังโชคดี ที่มีดินอยู่บ้าง ฉะนั้น จึงได้เริ่มต้นทำเกษตร...” 

“น้ำ” คือ หัวใจสำคัญกับการเกษตร 

เจ้าของสวน ๙-๑๐..เศรษฐกิจพอเพียง เผยว่า หากเราต้องการทำเกษตร หัวใจสำคัญ คือ “แหล่งน้ำ” 

“ในที่ดินผมไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีระบบชลประทาน ลักษณะเป็นโคก ดินทราย ที่สำคัญช่วงนั้นไม่มีเงินทุน เมื่อไปปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร เขาก็บอกว่ามีงบสนับสนุน 2,500 บาท เพื่อจะขุดสระให้ แต่...ต้องลงชื่อเข้าคิว เวลานั้นผมรอไม่ได้ แต่เนื่องจากเนื้อที่ผมเป็นเนินดิน จึงไปถามคนอื่นว่าเขาซื้อขายดินกันอย่างไร จึงมีคนบอกว่า มันจะมีคนรับขุดดินให้ฟรี แต่ก็แลกกับดินที่เอาไป”

เมื่อมีข้อเสนอลักษณะนี้ พี่กฤษฏิ์ ยอมรับว่าเป็นข้อเสนอที่ดี เท่ากับว่ามีคนมาขุดดินให้ แต่เขาก็ต่อรองว่า งั้นขอคันรถละ 20 บาทละกัน ซึ่งคนรับขุดดินก็ยอม...เพราะเขาก็นำไปขายได้  

...

“ตอนนั้นไม่รู้อะไรเลย แต่ก็ขอให้ขุดสระให้ 8 เมตร ซึ่งถือว่าลึกมาก เมื่อมีน้ำแล้ว ก็นำเงินที่ได้ส่วนหนึ่งไปซื้อเมล็ดพันธุ์ บางอย่างก็ขอคนอื่นบ้าง โดยทำแบบไม่มีหลักการ ใช้หลัก “คนขี้เกียจ” นึกขยันก็ปลูก ขี้เกียจก็หยุด แต่ก็ปลูกไปเรื่อยๆ หลายอย่าง แบบผสมผสาน นอกจากนี้ ก็ยังมีเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมูหลุม จากนั้นก็เอาผลผลิตที่ได้ มาเป็นอาหารสัตว์ ส่วนปุ๋ยเราก็ไปเดินเก็บขี้ควาย คนที่เขาเลี้ยงควายพาเดินแล้วมันขี้ตามทาง” พี่กฤษฏิ์ กล่าวและว่า 

การปลูกต้นไม้ จะปลูกเป็นหลุมๆ ใช้ “กล้วย” เป็นหลัก และรอบๆ ก็จะมีพริก มะเขือ ฟักทอง รวมๆ กัน 1 หลุม ส่วนปุ๋ยบำรุงดิน เราก็ไปเดินเก็บขี้ควายที่เขาเลี้ยงตามทาง เราก็ไปตามเก็บทำปุ๋ยหมัก 

“สิ่งที่เราร่ำเรียนมานั้น คือ พื้นฐานการเกษตร แต่เมื่อเรามาลงมือทำ เราได้ประยุกต์ เพราะการเกษตรไม่ใช่เรื่องที่ตายตัว” 

มีผลผลิต ก็ต้องคิดถึง “การตลาด” 

นายธนะกฤษฏิ์ กล่าวว่า หลังจากปลูกพืชได้สักระยะ ก็เริ่มมีผลผลิต เราก็ต้องคิดถึงการตลาด ซึ่งเราได้ปลูกพืชไว้หลายอย่าง แต่สิ่งที่โตเร็วที่สุด คือ “ถั่วงอก” 

นายธนะกฤษฏิ์ เล่าว่า เขาใช้วิธีการเดินไปตามร้านอาหารต่างๆ โดยเฉพาะ “ก๋วยเตี๋ยว” เพื่อนำไปขายตรง ซึ่งก็มีคนสนใจ เราจึงติดต่อไว้และขายของ นอกจากนี้ เขายังถามผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ถ้าเรามีอะไรเราก็สามารถขายเขาได้ โดยที่เราไม่ต้องไปตั้งแผง เสียเงินค่าเช่าด้วย  

“เราเริ่มต้นจากพืชก่อน เมื่อเริ่มมีรายได้ ก็ต่อยอดด้วยการเลี้ยงสัตว์ ติดโซลาร์เซลล์

การเลี้ยงสัตว์ ต้องไม่พึ่งพา “หัวอาหาร” 

...

พี่กฤษฏิ์ ยอมรับว่า ช่วงที่เลี้ยงสัตว์แรกๆ นั้น รู้สึกว่าตัวเองทำผิดพลาด เพราะไปหวังพึ่ง “หัวอาหาร” เพราะหากเรายังหวังพึ่งสิ่งเหล่านี้ เราก็ตกเป็นทาสเขาอีกแล้ว ฉะนั้น เราจึงแก้ปัญหาด้วยการทำอาหารเลี้ยงสัตว์ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่าง ปลา เราก็เอาขี้วัวมาทำอาหาร ผสมกับน้ำหมัก หากปลาตัวเล็ก เราก็เอามาตากแห้ง บดให้เป็นปลาป่น นอกจากนี้ก็ไปซื้อโครงไก่มาบด ผสมเป็นหัวอาหารให้ปลากิน 

“รายได้ในตอนนั้น มาจากการที่เราเพาะพันธุ์ปลาขาย โดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อหัวอาหาร นอกจากนี้ เรายังขายพันธุ์ไม้ด้วย และหลังจากทำได้สักระยะ ก็เริ่มมีหน่วยงานภาครัฐมาดูงาน”

สำหรับการทำเกษตรผสมผสาน เจ้าของสวนเกษตรพอเพียง เผยว่า แต่ละปีมีเงินเข้ามาราว 2-3 แสนบาท โดยที่เรามีรายจ่ายไม่มาก เพราะในชีวิตประจำวันเราแทบไม่ได้ซื้ออะไรเลย ยกเว้นสิ่งที่เราทำไม่ได้ เช่น ซอส น้ำปลา น้ำตาล ที่เหลือเราทำได้หมด เราก็ทำเอง 

“แม้แต่ข้าว เราก็แบ่งที่ไว้ปลูกด้วย แต่ก็ปลูกของเรา คือ ปลูกแบบหลายพันธุ์อยู่ในแปลงเดียว โดยชูสตอรี่ว่า การได้กินข้าวหลากหลายพันธุ์ คือ การได้สารอาหารที่ครบถ้วน หากเรากินแต่ข้าวขาวที่ถูกขัดสีไปแล้ว เราอาจอดได้วิตามินจากข้าว” 

ช่วงแรก ที่ปลูกข้าวคนทักว่าทำไมทำแบบนี้ ปรากฏว่าขายดี จนไม่พอขาย... 

หลักการแบ่งพื้นที่ และคำแนะนำ 

ทีมข่าวฯ ถามถึงหลักการในการแบ่งพื้นที่ เจ้าของสวน ๙-๑๐..เศรษฐกิจพอเพียง เผยว่า ที่ดินทั้งหมดมี 8 ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 2 ไร่ ปลูกป่า เกษตร 2 ไร่ ที่พักอาศัย 1 ไร่ และที่เหลือเป็นน้ำ เรียกว่า น้ำประมาณ 40% ของพื้นที่ และที่สำคัญ คือ การเลี้ยงปลาของเรา เราเลี้ยงในนาข้าวเลย 

...

“เราได้ไอเดียจากการเลี้ยงปลาในนามาจากที่เราไปช่วยเพื่อนจับปลาในสระ เนื่องจากเพื่อนเขาสูบน้ำออก เราเห็นในดินนั้นมีตะกอน ขี้เลน ขี้ปลามากมาย ปรากฏว่าดินที่อยู่ก้นสระมันดีมาก ด้วยเหตุนี้จึงเอามาทดลองทำ ปรากฏว่า “ข้าว” ที่ปลูกแบบ 10 กว่าสายพันธุ์ในแปลงเดียวเจริญงอกงาม ทั้งที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย จนเป็นหลักสูตร “ทำนาไม่ไถ ไม่ใส่ปุ๋ย” จนกลายเป็นที่รู้จัก 

ทีมข่าวถามทิ้งท้ายว่า หากจะให้แนะนำมือใหม่ที่คิดจะเริ่มต้นทำเกษตรจะบอกอะไร พี่กฤษฏิ์ แนะนำว่า หากจะทำจริงๆ ต้องถามใจก่อน ว่าอดทนกับมันแค่ไหน เพราะการเกษตรไม่สามารถปลูกแล้วได้กินเลย พืชมีทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เราต้องศึกษาพืชแต่ละชนิดให้ดีก่อน ฉะนั้นการปลูกพืชจำเป็นต้องวางแผนด้วยครับ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ