คุยกับผู้ออกแบบ 'เสื้อ-กางเกงไก่ชน' จุดเริ่มต้นจาก AI สู่การพัฒนาเป็นของดีที่น่าซื้อ พร้อมเปิดแนวคิด ถ้าจะสร้างความยั่งยืนให้ของประจำจังหวัด ต้องเริ่มจากเห็นคุณค่า เข้าใจตัวตน และพัฒนาสิ่งที่มี...

"ความยั่งยืนต้องเริ่มจากภายใน 

เมื่อเข้าใจจุดที่เราอยู่ ใส่ใจกับสิ่งรอบตัว เราจะไปได้ไกล"

ณิชากร เกิดเปี่ยม - ผู้ออกแบบกางเกงไก่ชน

หลังจากที่ จ.นครราชสีมา ปิ๊งไอเดีย! ทำ 'กางเกงแมวโคราช' ออกจำหน่าย หวังเป็นจุดขาย สร้างอัตลักษณ์และรายได้ ก็ทำให้หลายจังหวัดเริ่มหันมาสนใจผลิตกางเกงลายของตัวเอง

'พิษณุโลก' คืออีกหนึ่งเมืองที่ไม่ตกกระแส เพราะหลังจาก 'อาจารย์ณิชากร เกิดเปี่ยม' หรือ 'อาจารย์เมย์' จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของแบรนด์ วสุก์ (VASU) ได้ออกแบบ 'กางเกงไก่ชน' และผลิตออกจำหน่าย ก็สร้างความฮือฮาจนคนแห่จับจอง ของหมดไวกว่าที่คิดไว้ซะอีก…

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอพาคุณผู้อ่านไปล้วงลึกเรื่องราว 'กางเกงไก่ชน' ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากศูนย์ สู่การตกผลึกเป็นแนวคิดสร้างความยั่งยืนให้กับลายผ้าประจำจังหวัด 

...

ณิชากร เกิดเปี่ยม (ซ้าย) และ ภูสิต สมจิตต์ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก (ขวา)
ณิชากร เกิดเปี่ยม (ซ้าย) และ ภูสิต สมจิตต์ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก (ขวา)

กางเกงไก่ชน จุดเริ่มต้นจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) : 

อาจารย์เมย์ เล่าย้อนจุดเริ่มต้นของการออกแบบ 'กางเกงไก่ชน' ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า ช่วงแรกเห็นคนเริ่มพูดถึงปัญหาของกางเกงช้าง และเริ่มมีคนแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ว่า "ทุกจังหวัดน่าจะมีลายกางเกงเป็นของตัวเอง" จนกระทั่งโคราชทำกางเกงแมวออกมาจำหน่าย และโซเชียลก็แชร์กางเกงลายปู จนเกิดเป็นกระแส ทำให้เราซึ่งจบการออกแบบลายผ้ามาโดยตรง และสอนเรื่องนี้อยู่ รู้สึกว่าอยากทำบ้าง 

ผู้ออกแบบกางเกงลายไก่ชน เล่าเสริมว่า เมื่อปีที่แล้วเราตั้งครรภ์ ทำให้มีเวลาว่างประมาณหนึ่ง จึงได้ลงคอร์สเรียนเกี่ยวกับ AI เพื่อจะได้รู้ว่าเครื่องมือใช้อย่างไร และการเรียนครั้งนั้นทำให้เราดูออกว่างานไหนใช้ AI ในการออกแบบ ซึ่งกางเกงปูที่มีการแชร์ต่อกัน นั่นก็ไม่ใช่ของประจำจังหวัด แต่เขาใช้ AI ในการออกแบบ เพื่อดูว่าถ้าผลิตออกมาอยากจะได้ประมาณนี้ เพียงแต่ว่าหลายคนอาจจะดูไม่ออก

"เราเลยลองใช้ AI ในการออกแบบดูบ้าง โดยใช้ลายไก่ชน เพื่อจะดูว่าลายไก่จะสู้ลายอื่นได้ไหม พอได้ลองนำไปแชร์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ผลปรากฏว่ารูปถูกแชร์ออกไปถึงหลักพัน"

อาจารย์เมย์ กล่าวว่า ตอนนั้นเราไม่ได้ตั้งรับ และไม่ได้คิดจะผลิตออกมาเป็นสินค้า อีกทั้งยังเขียนข้อความระบุไว้ว่า "ใช้ AI ในการออกแบบ" แต่กลายเป็นว่าคนเข้าใจว่าภาพนั้นเป็นของจริง จึงมีคนติดต่อเข้ามาเยอะมากว่า "ทำขายหรือยัง ต้องการสินค้า"

ภาพจาก AI ไม่สามารถนำมาผลิตเป็นผลงานจริงได้ :  

แม้ว่าเริ่มแรกลายไก่ชนจะถูกออกแบบด้วย AI แต่อาจารย์เมย์ไม่ได้นำลายนั้นมาใช้ผลิตสินค้า โดยอาจารย์ได้อธิบายเหตุผลให้เข้าใจว่า…

"ตอนที่เราออกแบบลายกางเกงจาก AI มันไม่สมบูรณ์ มีผิดๆ เพี้ยนๆ ค่อนข้างมาก บางครั้งออกมาเป็นรูปอะไรก็ไม่รู้ อย่างลายรุ่น PREMIUM ที่เป็นไก่ที่มีสีม่วง ตอน AI ร่างแบบออกมา ขาก็บิด ตัวก็เบี้ยว ทำให้ไม่สามารถนำแบบมาใช้ได้ เลยทำให้เรารู้ว่า การใช้ AI ออกแบบ แล้วหวังความสมบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องใส่ข้อมูลที่ต้องการอย่างละเอียด ระบุทุกอย่างให้ชัดเจน เช่น รูปแบบ สไตล์ ขนาด"

...

อ.ณิชากร กล่าวต่อว่า อีกอย่างคือเราเป็นดีไซเนอร์มาก่อน เรารู้ว่าภาพที่ AI ออกแบบไม่สามารถผลิตได้แน่นอน เนื่องจากไม่ได้มาตรฐานความละเอียดของงานพิมพ์ และองค์ประกอบต่างๆ ก็ไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ถ้าต้องการใช้ลายจาก AI ทุกอย่างต้องเขียนและวาดใหม่เองทั้งหมด อีกทั้งยังต้องปรับโครงสร้าง เพื่อให้สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ ถือว่าเป็นงานที่หินพอสมควร

AI คือเครื่องมือทำให้งานเร็วขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้งานสำเร็จ  :  

ในคาบเรียนของอาจารย์เมย์ มีนิสิตถามเราว่า การใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเหมือนการขโมยงานคนอื่นหรือเปล่า? 

อาจารย์แสดงความคิดเห็นกับเราว่า โลกกำลังก้าวไปข้างหน้า เราในฐานะนักออกแบบ ถ้าไม่ปรับตัวก็มีโอกาสจะสูญหายไปเหมือนกับของบางอย่าง อย่างไรก็ตาม อ.เมย์ ไม่ได้สนับสนุนให้นิสิตหรือทุกคนใช้ AI ในการรังสรรค์ผลงาน โดยไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง เพราะอาจารย์เล่าคำตอบสำหรับคำถามของนิสิตคนนั้นให้เราฟังว่า

"ปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้ช่วยทุกอย่าง และไม่ได้เป็นทั้งหมดของนักออกแบบ สุดท้ายแล้วการจะรังสรรค์ผลงานออกมาชิ้นหนึ่ง ผู้ออกแบบยังต้องเข้าใจองค์ประกอบศิลป์ ความชำนาญในการใช้สี ใช้แสง การจัดวาง สิ่งเหล่านั้นจำเป็นที่จะต้องเกิดจากการเรียน ซึ่งคนที่เรียนด้านออกแบบจะมีคลังความรู้ในสายงานอาร์ตมากกว่าคนที่เรียนศาสตร์อื่นๆ"

...

อ.ณิชากร แสดงความคิดเห็นต่อว่า ในการเรียนสายออกแบบจะต้องมีการหาตัวอย่างจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์และใช้อ้างอิงว่าภาพในหัวจะออกมาในคอนเซปต์ไหน ดังนั้น การออกแบบใน AI เป็นเหมือนการร่างภาพ 

"สำหรับเรา AI คือเครื่องมือที่ทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น แต่ไม่ใช่เครื่องมือที่ทำให้งานสำเร็จ ภาพไก่ที่ได้จากการออกแบบของ AI สุดท้ายเราก็ต้องมาเขียนใหม่ทั้งหมด ทั้งการเรียงของขน การเรียงลาย การประดิษฐ์ลาย ดังนั้น AI จึงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการทำงาน แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของงาน แต่ถ้าใช้ AI ออกแบบแล้วนำงานมาส่งเลย อันนี้เป็นการขโมยแน่นอน"

"ตอนออกแบบลายของแบรนด์ เราศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับไก่เยอะมาก หาภาพประกอบจากหลายแหล่งข้อมูล จนกระทั่งตกผลึกเป็นผลงานแบบที่เห็นในปัจจุบัน"

นั่นหมายความว่า ลายกางเกงไก่ชน ที่ทุกคนได้เห็น มีภาพจาก AI เป็น 1 ในแรงบันดาลใจเท่านั้น ส่วนลายที่เห็นปรากฏบนชิ้นงานจริง เป็นลายที่ผ่านการคิด รังสรรค์ และออกแบบใหม่ นั่นเอง…

...

'ไก่ชนเวย์โปรตีน' ลายกางเกงของดีพิษณุโลก : 

อ.เมย์ เล่าถึงแรงบันดาลใจและที่มาของ 'ลายไก่ชน' ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า จังหวัดอื่นๆ เป็นลายแมว ลายปลา หรือเป็นของที่โด่งดัง ทำให้เราหันมามองว่า ในพิษณุโลกมีอะไรที่ดังบ้าง ก็พบว่ามีพระนเรศวร กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) 

"ถ้าจะนำวัดมาทำลายกางเกงก็ไม่เหมาะสม หรือถ้าเป็นพระนเรศวรก็ไม่เหมาะสมอีก เราจึงมามองสิ่งรอบตัวพระนเรศวร ซึ่งก็จะมีช้างกับไก่ชน แต่ช้างก็ไม่ได้แล้ว จึงตัดสินใจทำลายไก่ชน"

หลังจากนั้น อ.ณิชากร จึงเริ่มศึกษาลักษณะและสรีระของไก่ชน แต่โครงสร้างไก่ที่ได้มา เป็นไก่ชนตัวผอมๆ หลังจากได้ลองร่างออกมาเป็นลายผ้า ภาพไม่สวยอย่างที่คิด เพราะลายออกมาเหมือนหมาไทยตัวเล็ก 

"เราจึงศึกษาต่อไปจนทำให้พบว่า ไก่ชนเป็นไก่ที่พระนเรศวรใช้ชนไก่ (ตีไก่) ซึ่งตอนที่ไก่จะตีกับตัวอื่นๆ เขาจะพองขนขึ้นมาเยอะมาก ทำให้เราเอาลักษณะตอนที่เขาพองขนมาเขียนเป็นแบบลายผ้า"

"นอกจากนั้น เราพยายามทำให้ลายมีลูกเล่นเข้ากับปัจจุบัน คือ นักมวยไทยสมัยก่อนจะไม่ได้ดูล่ำๆ เหมือนกับสมัยนี้ เราเลยเปรียบไก่ชนกับนักชกปัจจุบัน ทำให้หุ่นไก่ดูมีกล้าม เหมาะกับการต่อสู้ เหมือนกับไก่ชนที่กินเวย์โปรตีนเข้าไป"

อ.เมย์ เล่าพร้อมหัวเราะเล็กๆ เชิงขบขันผ่านปลายสายว่า มีคนส่งข้อความมาหาว่า "ลายสวยนะครับ แต่ไม่ซื้อเพราะมันไม่ใช่ไก่ชน ตัวเราก็ยังไม่เคยได้ชี้แจงออกไปว่า นี่แหละคือไก่ชน เพียงแค่เราขยายขนให้ดูฟูๆ ดูเยอะๆ"

นอกจากลายไก่แล้ว ในผืนผ้ายังมี 'ลายดอกปีบ' ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย

ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ตั้งแต่ยังไม่จำหน่าย : 

อาจารย์ณิชากร เล่าว่า ในช่วงที่ออกแบบลายแรกเรียบร้อย มีคนแนะนำว่า ก่อนจะออกสื่อให้นำลายไปจดลิขสิทธิ์ เราก็ทำตามคำแนะนำ แต่พอ 2 วันหลังจากจดลิขสิทธิ์ ก็นำผลงานนั้นมาออกสื่อ ซึ่งออกไปแวบๆ ไม่ได้ถ่ายชัดมาก ปรากฏว่าลายนั้นหลุดแล้ว บางร้านในติ๊กต่อกกับเฟซบุ๊ก ไลฟ์ขายผ้าที่มีลายของเรา

"เราติดต่อเข้าไปคุยกับทนาย เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ ข้อมูลที่เราได้รับมา คือ ทางทนายกับทีมกฎหมายบอกว่า เราต้องไปหาว่าแหล่งผลิตนั้นอยู่ที่ไหน ใครผลิตให้ และถ้าคนที่ไลฟ์บอกว่า 'ไม่รู้ว่าเป็นลายลิขสิทธิ์' เราก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ หรือถ้าเราได้ข้อมูลทั้งหมดมา ก็ต้องถูกส่งให้ตำรวจ แล้วตำรวจจะหารือกันต่อว่า ทีมไหนจะลงพื้นที่ไปดำเนินการได้"

"แต่ในมุมของผู้ประกอบการ ถ้าขั้นตอนดำเนินการกฎหมายซับซ้อน อาจจะทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ตลอดไป อย่างเราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นต้นตอ รู้แค่ว่ามีคนขายของจากงานออกแบบของเรา แล้วถ้าคนขายอ้างว่า ไม่รู้ว่าเป็นลายลิขสิทธิ์ เขาก็จะไม่ผิด แบบนี้ความตระหนักเรื่องลิขสิทธิ์จะไม่เกิด"

อย่างไรก็ตาม ลายที่ผลิตปัจจุบันไม่ใช่ลายเดียวกับที่ออกสื่อครั้งนั้น เนื่องจากเมื่อได้ตรวจสอบอีกครั้ง อ.เมย์ พบว่าลายแรกมีปัญหาด้านองค์ประกอบศิลป์ จึงนำกลับมาแก้ใหม่ แล้วจดลิขสิทธิ์อีกรอบหนึ่ง แปลว่าลายไก่ชนของพิษณุโลก มีลิขสิทธิ์คุ้มครองหมดแล้ว

ของดี มีคุณภาพ คนยังต้องการ : 

การออกแบบและผลิตงานครั้งนี้ อ.ณิชากร ตั้งใจว่าอยากสร้างความแตกต่างให้กลุ่มกางเกงในตลาด เพราะบางคนอาจจะคิดว่าคุณภาพของกางเกงช้าง หรือกางเกงประจำจังหวัด ต้องราคา 190 บาท หรือ 120 บาท บางคนก็เข้าใจไปถึงว่าต้องราคาแค่ 40 บาทด้วยซ้ำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว 'ผลิตภัณฑ์ไทย' สามารถทำราคาได้มากกว่านั้น

เนื้อผ้าของกางเกงลายไก่ชนรุ่น BASIC ใช้เป็นเนื้อผ้าสปันไทย ซึ่งจะระบายอากาศได้ดี และมีความต่างกับกางเกงลายช้างของจีนที่ใช้เนื้อผ้าสปันจีน อ.เมย์ อธิบายความต่างว่า สปันจีนจะเหมือนผ้าขาวบางที่ทอห่างเพื่อให้ประหยัดเส้นด้าน แต่สปันของไทยเป็นเส้นด้ายขนาดกลาง และทอแน่น 

"อีกเหตุผลที่เราตัดสินใจเลือกใช้ผ้าสปันไทย เพราะ ถ้าเลือกผ้าสปันจีน ทางโรงงานบอกว่าจะต้องส่งลายไปผลิตที่เมืองจีนเท่านั้น และเขาไม่รับปากว่าลายของเราจะหลุดหรือไม่ เราจึงตัดสินใจไม่เอา และเลือกผลิตในไทยดีกว่า อีกเหตุผลหนึ่งคือ เราอยากให้เป็นงานฝีมือคนไทยด้วย เพราะคนไทยก็มีฝีมือเรื่องนี้ ไม่แพ้ชาติใดในโลก"

ในส่วนของรุ่น PREMIUM เลือกใช้ผ้าแจ็คการ์ด (Jacquard) เพราะต้องการยกระดับกางเกงและเสื้อลายประจำจังหวัดขึ้นไปอีกขั้น อ.เมย์ เล่าว่า ตอนเลือกผ้านี้ ลองส่งลายให้โรงงานพิมพ์ ปรากฏว่างานออกมาสวยมาก แต่ต้นทุนสูงมากเช่นกัน ต้นทุนเนื้อผ้าอยู่ที่ 400 บาท ค่าตัดเย็บ 100 บาท ยังไม่รวมค่าอื่นๆ เราเลยลองคิดกับตัวเองว่าถ้าขายราคาสูงขึ้นคนจะซื้อไหม แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจขายกางเกงในราคา 590 บาท ส่วนเสื้อ 690 บาท

"ตัดสินใจลองสักตั้งว่าจะมีคนสนใจไหม ผลสรุปออกมาว่ายอดของแบบ BASIC ขายหมดเกลี้ยง ส่วนกางเกงแบบ PREMIUM ตั้งไว้ว่าจะผลิตสูงสุด 1,200 ตัว แต่ก็แอบคิดว่าคนจะสั่งถึง 500 ตัวไหม สุดท้ายแล้วยอดสั่งจริงคือ 1,000 ตัว เราปิดรับจองก่อน เนื่องจากรอพรีออเดอร์ครบไม่ได้ เพราะมีแผนที่ต้องตัด ต้องผลิต จึงตัดที่ 1,000 ตัว ซึ่งพอลูกค้าได้รับแล้ว คนชอบเนื้อผ้าแบบพรีเมียมมากกว่า ส่วนใหญ่บอกว่าสมการรอคอย"

จากกระแสข่าวที่มีการเปิดเผยว่า "กางเกงช้างในไทยส่วนใหญ่มาจากประเทศอื่น" เราจึงสงสัยว่าทางอาจารย์กลัวว่าจะโดนเลียนแบบผลงานและสินค้าหรือไม่?

อ.เมย์ บอกว่า ช่วงแรกก็มีหวั่นใจบ้าง มีการพูดคุยกับคนที่ออกแบบลายกางเกงช้างต้นฉบับ แต่ หลังจากได้ผลิตและขายสินค้า ทำให้เห็นว่าผลตอบรับดี ยังมีอีกหลายคนที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ มีอีกหลายคนที่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ ซึ่งมันทำให้เรายืนยันที่จะทำในแบบที่เราทำ ทำให้เรามั่นใจที่จะออกลายใหม่ในอนาคต

ไม่คิดแข่งกับกางเกงช้าง ไม่หวั่นกระแสหาย : 

ทีมข่าวฯ สอบถามปลายสายว่า ในเมื่อมีกางเกงช้างที่ดังอยู่แล้ว จะทำให้กางเกงไก่ชนกลายเป็นที่รู้จักได้อย่างไร และตอนนี้กางเกงประจำจังหวัดยังมีกระแสอยู่ แต่ในอนาคตหากกระแสหมดไปจะทำอย่างไร?

อ.ณิชากร ตอบเราว่า เรามองว่ากางเกงช้างก็จะมีฐานลูกค้าของเขาอยู่แล้ว ซึ่งจากการพูดคุยกับเจ้าของผู้ผลิตกางเกงช้าง พวกเราต่างมองตรงกันว่าทั้งสองไม่ได้แข่งขันกัน เพราะผู้บริโภคย่อมมีสไตล์การแต่งตัวที่ต่างกัน 

"เคยมีโอกาสได้คุยกับคนขายกางเกงช้าง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะบอกว่า เขาขายได้แต่สีมืดๆ ทึมๆ สีดำ หรือสีโมโนโทน แต่ของเราจะเน้นความสนุก เพราะพิษณุโลกเป็นเมืองที่สนุกและผู้คนใจดี เราถ่ายทอดผ่านสีสันและลายไก่ชน อย่างตอนเปิดตัวสีแดง กระแสการตอบรับดีมากๆ เราจึงไม่ได้จะเอาตัวเองไปแข่ง หรือเปรียบเทียบกับใคร เพราะกลุ่มลูกค้าของเราต่างกัน"

อาจารย์เมย์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้เข้าใจว่ามันกำลังเป็นกระแส เป็นช่วงที่ทุกคนกำลังเร่งทำ แต่สำหรับลายของพิษณุโลก เราตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่ได้มีแค่ลายเดียว เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าถ้ายังมีการเดินต่อไป ผลิตลายใหม่ออกมา ผลิตของที่ดีให้ผู้บริโภค ยังไงก็ยังไปต่อได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันจะต้องมีช่วงที่ยอดขายลดลง ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติของธุรกิจ 

"เราไม่ได้ตั้งใจทำให้แบรนด์นี้อยู่แค่ในช่วงเวลาเดียว เราพยายามทำให้คนเข้าใจและรู้จักพิษณุโลก เมย์คิดว่าถ้าทำให้มันดี พยายามเอาเรื่องราวต่างๆ มาเล่า ใส่ความรัก ความเข้าใจ ลงไปในพื้นที่ที่เราต้องการจะสื่อสาร คิดว่ายังไงคนก็ไม่ลืม"

ความยั่งยืนต้องเริ่มจากเห็นคุณค่า เข้าใจตัวตน และพัฒนาสิ่งที่มี : 

เมื่ออาจารย์ยืนยันกับเราว่าไม่หวั่นเรื่องกระแส แล้วมีแนวทางอย่างไรบ้างที่จะทำให้ 'ของประจำจังหวัด' อยู่ได้อย่างยั่งยืน?

"ความยั่งยืนต้องเริ่มจากภายใน เริ่มจากที่เรารู้จักตัวเอง เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่มีอยู่ เมื่อเข้าใจจุดที่เราอยู่ และใส่ใจกับสิ่งรอบตัว เราจะไปได้ไกล" ผู้ออกแบบลายไก่ชนกล่าวกับเรา 

อ.เมย์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทย แต่ละท้องถิ่น แต่ละเมือง มีเรื่องเล่าให้เราค้นหาอีกจำนวนมาก อย่างของพิษณุโลก ในอนาคตเราวางแผนไว้ว่าจะมีลายอื่นออกมา เช่น ลายสุนัขบางแก้ว เรายินดีที่จะให้หมากับไก่มาเจอกันในกางเกง โดยยังคงรูปแบบของความสนุก ขี้เล่น และมีสีสัน เมื่อเราเข้าใจสิ่งที่มีในท้องถิ่นแล้ว เราก็ต้องให้คุณค่ากับคนในท้องถิ่นด้วย

"เราผลิตผลงานนี้ขึ้นมาด้วยใจ เพราะจุดเริ่มต้นเราทำเพื่อพิษณุโลก เราไม่ได้ทำเพื่อคนทั้งประเทศ เราอยากทำให้คนในจังหวัดภูมิใจกับของดีที่มีอยู่ ต่อจากนั้นขยายไปสู่คนจังหวัดอื่นๆ ในประเทศ จนไปสู่ต่างประเทศ มีคนถามเราว่า ทำไมไม่ถ่ายรูปนายแบบกับนางแบบที่พิษณุโลก แต่กลับไปถ่ายที่กรุงเทพฯ ก็เพราะเราตั้งใจจะนำเสนอให้คนเห็นว่า ที่พิษณุโลกมีผ้าลายนี้ เราภูมิใจนำเสนอ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ใส่ผ้าลายไก่ชนได้"

อาจารย์ณิชากร มองว่าพิษณุโลกมีประชากรอยู่หลักแสนคน พวกเขาเป็นกลุ่มหลักที่จะเป็นกระบอกเสียงทำให้คนรู้จักพิษณุโลก 

"อย่างผ้าลายไก่ชน สมมติว่ามีคนใส่เดินไปข้างนอก ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ แล้วมีคนมาถามว่า ซื้อที่ไหน แบรนด์อะไร แล้วพวกเขาภูมิใจที่จะบอกว่า 'นี่คือลายผ้าประจำจังหวัดฉัน' พวกเขาก็จะเห็นคุณค่าของตัวเอง ช่วยกันสนับสนุน ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน"

อาจารย์เน้นย้ำแนวคิดนี้ว่า เราไม่ได้อยากให้คนรู้จักแค่แบรนด์ของเรา แต่เราอยากให้คนรู้จัก 'พิษณุโลก' เพราะสิ่งที่ต้องการสื่อสาร ไม่ใช่แค่ไก่ชน แต่อยากให้คนมองเห็นแล้วนึกถึงพิษณุโลก

อย่างป้ายของแบรนด์ ก็จะมีชื่อแบรนด์ แล้วเขียนว่า เธอ…เราอยู่พิษณุโลก ส่วนด้านหลังที่เป็นป้ายเสื้อ ก็เขียนว่า "Made in Phitsanulok Thailand" ซึ่งในอนาคตเขาอาจจะตัดป้ายนี้ทิ้งก็ได้ แต่ยังไงเขาก็อ่านแน่ๆ ส่วนป้ายข้างหลังคอ ก็ใส่ข้อความทั้งไทยและอังกฤษว่า "เมดอิน พิษณุโลก ไทยแลนด์"

อาจารย์ณิชากร เกิดเปี่ยม กล่าวทิ้งท้ายว่า เราสร้างสิ่งนี้มาเพื่อให้คนพิษณุโลกภูมิใจกับสิ่งที่มี เราไม่ได้ขายแค่ประเทศไทย แต่เราขายว่าในประเทศไทยมีพิษณุโลกอยู่ด้วย

ภาพ : VASU

อ่านบทความที่น่าสนใจ :