ผู้สูงอายุไทยกับการทำงาน และรายได้หลักเกษียณ เป็นปัญหาที่ภาครัฐยังตั้งรับไม่ทัน เช่นเดียวกับ ลุงอนันท์ (สงวนนามสกุล) วัย 59 ปี แม้ยังไม่ถึงเกณฑ์เกษียณอายุ แต่ถูกปฏิเสธจากนายจ้าง ทำให้ไม่มีเงิน จนต้องไปเป็นคนเร่ร่อน กินนอนในพื้นที่ถนนราชดำเนิน ก่อนได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิกระจกเงา ในโครงการจ้างวานข้า มีรายได้ประมาณเดือนละ 1 หมื่นบาท ทำให้ชีวิตมีความหวัง ไม่รู้สึกไร้ค่าอย่างที่เคยเป็น

ลุงอนันท์ เล่าถึงอาชีพพนักงานขับรถส่งของที่ทำมาเกือบครึ่งชีวิตว่า หลายครั้งคิดจะเก็บเงินเพื่อใช้ช่วงบั้นปลายชีวิต แต่ไม่สามารถทำได้ ด้วยความที่ลาออกจากที่ทำบ่อย ทำให้ไม่ได้ส่งกองทุนประกันสังคม บวกกับอายุที่เข้าสู่ช่วงวัย 50 ปีต้นๆ ไม่สามารถขับรถส่งของได้ในระยะทางไกล และเกิดการแพร่ระบาดของโควิดขึ้น เลยหันมาประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย แต่เมื่ออายุเกิน 55 ปี บริษัทรักษาความปลอดภัยส่วนใหญ่เลิกจ้าง จึงต้องกลายไปเป็นคนเร่ร่อนไร้บ้าน รออาหารแจกจากผู้ใจบุญ

ระหว่างเป็นคนเร่ร่อนที่ไร้ความหวัง มูลนิธิกระจกเงา มีโครงการจ้างผู้สูงอายุมาช่วยทำความสะอาด จึงมาเข้าร่วม และเริ่มพัฒนาศักยภาพของตนเองในการทำงาน หลังจากที่ก่อนหน้านั้นถูกปฏิเสธจากนายจ้างมาตลอด เพราะอายุใกล้วัยเกษียณ

...

ช่วงที่เป็นคนเร่ร่อนพยายามลงทะเบียนขอความช่วยเหลือ และหางานจากหน่วยงานราชการ แต่ยังไม่ได้งานทำ จนตัวเองรู้สึกท้อ กลายเป็นคนไร้ค่า พอมูลนิธิกระจกเงา เข้ามาช่วยเหลือ ก็เริ่มค่อยๆ เก็บเงิน เช่าห้องอยู่ และเริ่มเก็บเงินมากขึ้น เพราะเราเองก็อยากพัฒนาศักยภาพในการหาทุน เพื่อไปค้าขาย และไม่อยากกลับไปเร่ร่อนเหมือนเดิมอีก

กระบวนการพัฒนาศักยภาพ และรายได้ของมูลนิธิกระจกเงา เป็นกระบวนการที่เริ่มจากให้ไปทำงานง่ายๆ เช่น กวาดถนน ทำงานทำความสะอาดในพื้นที่สาธารณะ และมีเจ้าหน้าที่คอยดูว่าคนไหนมีศักยภาพ โดยจะเลือกเข้ามาทำงานในมูลนิธิฯ เพื่อดูว่ามีความถนัดด้านไหน เช่น เป็นช่างซ่อมไฟฟ้า ซ่อมบำรุง มีการให้เข้าไปทำงานในหน่วยนั้น เพื่อคัดแยกสิ่งของที่มีคนมาบริจาค ช่วงแรกมีที่พักให้ แต่หลังจากนั้นพอมีเงินเดือนประจำสามารถไปเช่าห้องอยู่เป็นส่วนตัว ถือเป็นกระบวนการคัดแยกศักยภาพของผู้สูงอายุ ที่เข้ามาทำงาน จึงแตกต่างจากหน่วยงานรัฐ ที่เข้ามาถามและให้ลงทะเบียนและรอ แต่ไม่มีกระบวนการคัดเลือกตามความถนัดที่แท้จริง

“บริษัทเอกชนในไทย มีการกำหนดอายุ 55 ว่าเกษียณ และไม่รับเข้าทำงาน ถือว่าเร็วเกินไป เลยทำให้หลายคนหมดโอกาส ทั้งที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานได้ อยากเห็นการจัดการด้านอาชีพให้กับผู้สูงอายุที่เป็นระบบมากกว่านี้ ซึ่งงานที่เหมาะสมเช่น งานที่ต้องทำประจำจุด ไม่ต้องยกของหนัก ขณะเดียวกันอยากให้เพิ่มเงินอุดหนุนผู้สูงอายุจากเดือนละ 600 บาท เป็น 3,000 บาท/เดือน จะช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างเงินดิจิทัล ที่รัฐบาลจะแจกคนละ 1 หมื่นบาท ถ้าจัดสรรมาจ่ายให้กับผู้สูงอายุรายเดือนเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดความยั่งยืนกว่าแจกทีเดียวหมด”

งานหลังเกษียณ ตัวเลือกไม่ตรงความถนัด

งานสำหรับวัยเกษียณ ถึงจะมีความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล แต่ “ปิยะพร รัชธร” อายุ 67 ปี กลับถูกปฏิเสธจากหลายบริษัท และถูกจำกัดอยู่เพียงงานจัดเรียงสินค้าและพนักงานต้อนรับ จึงเข้าร่วมโครงการ ช้าการช่าง โดยมูลนิธิกระจกเงา ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีความรู้ด้านงานช่าง ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ได้รับจากการบริจาค

ลุงปิยะพร เล่าว่า เดิมทำงานด้านดูแลเครื่องจักรอุตสาหกรรม ต่อมาก็ไปทำงานรับเหมา เพื่อมีเวลาดูแลมารดาที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ หลังจากมารดาเสียชีวิต จึงได้กลับมาทำงานประจำอีกครั้ง แต่ด้วยอายุที่มา ทำให้มีข้อจำกัดในการทำงาน โดยได้ไปทำงานในร้านรับส่งพัสดุ ซึ่งไม่นานก็ตัดสินใจลาออก เพราะอยากได้ใช้ความรู้ด้านช่างที่ตัวเองมีในการทำงาน เชื่อว่าถ้าผู้สูงอายุ ได้ทำงานที่ตัวเองถนัดจะช่วยทำให้การทำงานมีความสุข

...

อยากให้หน่วยงานภาครัฐ เพิ่มช่องทางในการทำงานที่หลากหลายให้กับผู้สูงอายุ ไม่ควรจำกัดแค่งานที่เรียงของในห้างสรรพสินค้า เพราะผู้สูงอายุหลายคนมีประสบการณ์ความถนัดเฉพาะของแต่ละคน การจำกัดงานของผู้สูงอายุที่มีเพียงไม่กี่อาชีพ เป็นการแก้ปัญหาของภาครัฐ ที่ยังมีข้อจำกัด

สำหรับผู้สูงอายุในเมือง งานที่ทำควรมีรายได้ประมาณ 10,000 บาท/เดือน สิ่งสำคัญคือสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ที่ภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือด้านอาชีพ เพื่อทำให้คนเหล่านี้มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย

ที่ผ่านมาการแก้ปัญหา ไทยพยายามตามหลังตะวันตก ที่ตอนนี้ขยายอายุเกษียณกันแล้ว แต่ไทยยังหยุดที่อายุ 60 ปี รัฐไม่ควรแก้ปัญหาเพียงรณรงค์ให้เกิดคำขวัญ แต่ควรวางระบบในเรื่องงานของผู้สูงอายุให้หลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเอกชน ที่รับผู้สูงอายุทำงานต่อให้เพิ่มขึ้นด้วย

“สิ่งที่ภาครัฐทำมาตลอด คือ มอบตำแหน่งภาระให้กับคนสูงวัย จึงอยากให้มองใหม่ หันมาวางระบบอาชีพที่หลากหลายให้กับผู้สูงอายุในสังคมไทยมากขึ้น เพื่อสักวันนึงการแก้ปัญหาเรื่องอาชีพของผู้สูงอายุ ได้ไปถูกทางเป็นผลดีต่อสังคมในภาพรวม”

...