ลิขสิทธิ์ 'มิกกี้ เม้าส์' ชวนรู้สิทธิ และขอบเขตของการใช้ ก่อนจะทำผิดกฎหมาย ด้าน ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ มอง 'ดิสนีย์' อาจซุ่มดำเนินการเรื่อง 'เครื่องหมายการค้า' ไว้แล้ว...

ย้อนไปเมื่อปี 1928 'มิกกี้ เม้าส์' (Mickey Mouse) ตัวการ์ตูนแสนโด่งดังจากค่าย 'ดิสนีย์' (The Walt Disney Company) ได้ออกสู่สายตาชาวโลก ผ่านภาพยนตร์สั้นเรื่อง 'Steamboat Willie' (เรือกลไฟวิลลี่) จนกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ Pop Culture ของสหรัฐอเมริกามายาวนานกว่า 95 ปี

แต่ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานเกือบศตวรรษ ทำให้เจ้าการ์ตูนหนูตัวนี้ได้กลายเป็น 'สมบัติสาธารณะ' ตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนเกิดเป็นกระแสว่า "เราสามารถนำ มิกกี้ เม้าส์ มาใช้ได้โดยที่ไม่ผิดกฎหมายแล้ว"

อย่างไรก็ตามต้องอย่าลืมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดิสนีย์ ได้ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงรูปแบบของ มิกกี้ เม้าส์ มาโดยตลอด และเรื่อง 'หมดลิขสิทธิ์' ครั้งนี้ก็มีเพียง มิกกี้ เม้าส์ จากภาพยนตร์สั้น Steamboat Willie เท่านั้น ที่ลิขสิทธิ์หมดอายุ และหมดความคุ้มครอง แต่เวอร์ชันอื่นๆ นับจากนั้นยังคงอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ The Walt Disney Company เหมือนเดิม 

...

ก่อนที่จะดีใจจนนำ มิกกี้ เม้าส์ ไปสร้างรายได้หาเงินเข้ากระเป๋า ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และ 'คุณศิรพัทธ์ วัชราภัย' ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา อยากจะให้อ่านสกู๊ปนี้ให้จบสักนิด เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้คุณกลายเป็นคนทำผิดกฎหมายโดยที่ไม่รู้ตัว

'ศิรพัทธ์ วัชราภัย' ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา
'ศิรพัทธ์ วัชราภัย' ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา

'ลิขสิทธิ์' ประเทศสหรัฐอเมริกาเบื้องต้น : 

คุณศิรพัทธ์ กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว 'ลิขสิทธิ์' จะมีมาตรฐานของโลกอยู่ สิ่งที่ได้รับการคุ้มครอง และวิธีการคุ้มครองนั้นส่วนใหญ่จะไม่ต่างกันสักเท่าไร รวมถึงของประเทศไทยด้วย แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือระยะเวลาการคุ้มครอง อย่างของประเทศไทยให้คุ้มครองต่ออีก 50 ปี หลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต 

สำหรับ 'สหรัฐอเมริกา' จะให้ความคุ้มครองมากกว่าของไทย โดยจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 'สร้างสรรค์แบบส่วนตัว' จะได้รับการคุ้มครองตั้งแต่วันที่เริ่มสร้างไปจนเสียชีวิต และหลังเสียชีวิตนับไปอีก 70 ปี ส่วนอีกแบบหนึ่ง คือ 'สร้างสรรค์ในฐานะลูกจ้าง' หมายความว่า บุคคลซึ่งสร้างสรรค์ผลงานให้กับบริษัทที่สังกัดอยู่ จะส่งผลให้งานนั้นมีอายุความคุ้มครองทั้งหมด 95 ปี นับตั้งแต่วันที่เผยแพร่ 

'มิกกี้ เม้าส์' Steamboat Willie สิ้นอายุคุ้มครองลิขสิทธิ์ : 

สำหรับตัวการ์ตูน มิกกี้ เม้าส์ ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ เน้นย้ำว่า หมดลิขสิทธิ์แค่เพียงเวอร์ชันแรก นั่นก็คือจากเรื่อง Steamboat Willie โดยเวอร์ชันนั้นสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1928 ซึ่งผู้สร้างอยู่ในฐานะของลูกจ้างบริษัท เมื่อเข้าหลักเกณฑ์นี้ มิกกี้ เม้าส์ เวอร์ชันดังกล่าวจึงได้รับความคุ้มครอง 95 ปี 

...

"เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1928 บวกไป 95 ปี ก็จะมาตกอยู่ที่ปี 2023 เพราะฉะนั้น ลิขสิทธิ์จึงหมดไปตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 ทุกคนสามารถใช้ มิกกี้ เม้าส์ เวอร์ชัน Steamboat Willie ได้ โดยที่ไม่ผิดกฎหมายใด"

มิกกี้ เม้าส์ จากภาพยนตร์สั้น Steamboat Willie
มิกกี้ เม้าส์ จากภาพยนตร์สั้น Steamboat Willie

ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่ท้าทายคือผู้ใช้จะต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า มิกกี้ เม้าส์ ที่จะนำไปใช้นั้นเป็นรูปแบบของปี 1928 จริงๆ อย่าลืมว่า มิกกี้ เม้าส์ เป็นการ์ตูนที่โด่งดัง และมีการผลิตออกมาหลายรูปแบบ ดังนั้นของที่ใหม่กว่าปี 1928 จะยังคงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา 

การจะนำมาใช้จึงต้องระมัดระวังให้ดี ซึ่งแต่ละเวอร์ชันจะมีความแตกต่างกัน ในฐานะผู้จะนำมาใช้จึงต้องทำการตรวจสอบดีๆ ผมเองก็คงไม่สามารถบอกได้ว่าตัวไหนจะเกี่ยวกัน หรือไม่เกี่ยวกัน ซึ่งรายละเอียดบางอย่างอาจจะเป็น 'ความลับ' ของทางบริษัทด้วย

...

ดิสนีย์ อาจจดเครื่องหมายการค้า เตรียมรับมือหมดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว : 

ทีมข่าวฯ สอบถาม ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ เมื่อมีตัวการ์ตูนหมดลิขสิทธิ์เช่นนี้ ผอ.คิดว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อบริษัทบ้าง…

คุณศิรพัทธ์ แสดงความคิดเห็นว่า บริษัทใหญ่อย่างดิสนีย์คงต้องมีมาตรการรับมือเรื่องนี้อยู่แล้ว อย่างแรกเลย "เขาไม่ได้มีเวอร์ชันเดียว" เขาจึงมี มิกกี้ เม้าส์ รูปแบบอื่นๆ ไว้ใช้ประโยชน์ได้อีก อีกหนึ่งอย่าง คือ ดิสนีย์ไม่ได้มีการ์ตูนตัวเดียว แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่จะสามารถใช้หาประโยชน์ไปได้เรื่อยๆ 

ส่วนอีกวิธีหนึ่ง บริษัทดิสนีย์อาจจะไปจด 'เครื่องหมายการค้า' ไว้กับสำนักงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละประเทศ แต่ ถ้าเป็นเครื่องหมายการค้า จะมีเพียง 'มิกกี้ เม้าส์' ตัวเดียวไม่ได้แล้ว จะต้องเป็น 'มิกกี้ เม้าส์' ที่เป็นโลโก้ของสินค้า 

อย่างไรก็ตามเรารู้กันอยู่แล้วว่าบริษัทดิสนีย์ผลิต และจำหน่ายสินค้าที่มีตัวการ์อยู่แล้ว เช่น แก้ว เสื้อยืด หมวก ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านั้นบริษัทก็อาจจะจดเครื่องหมายการค้าไว้อยู่แล้ว ซึ่งก็หมายความว่า ต่อให้ 'มิกกี้ เม้าส์ เวอร์ชันปี 1928' จะหมดความคุ้มครองไป แต่พวกเขาอาจจะจดมิกกี้ เม้าส์เวอร์ชันนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้ผลิตสินค้าไว้แล้วก็ได้

...

ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ข้อมูลต่อว่า เครื่องหมายการค้าสามารถต่ออายุความคุ้มครองได้เรื่อยๆ ตราบใดที่ผู้ผลิตยังคงใช้งาน และทำเรื่องต่ออายุ นั่นแสดงว่าดิสนีย์ก็ยังมีแนวทางที่จะหาประโยชน์จาก มิกกี้ เม้าส์ Steamboat Willie ในรูปแบบอื่นๆ ได้อยู่ดี 

แล้วถ้าดิสนีย์จดเครื่องหมายการค้า เจ้า มิกกี้ เม้าส์ Steamboat Willie ไว้แล้ว แต่ถ้ามีคนนำไปใช้อีก แบบนี้จะมีความผิดหรือไม่?

ด้าน คุณศิรพัทธ์ ให้ความเห็นว่า ก่อนอื่นต้องดูว่าคนที่นำไปใช้นั้นทำไปใช้อย่างไร เพราะ 'เครื่องหมายการค้า' ต้องใช้อย่าง 'เครื่องหมายการค้า' จึงจะเท่ากับมีความผิด เพราะนั่นจะทำให้ผู้บริโภคสับสนแหล่งที่มาของสินค้า 

"เช่น เสื้อตัวนี้ หรือแก้วกาแฟใบนี้ ใครเป็นผู้ผลิตกันแน่ เป็นของดิสนีย์ หรือว่าเป็นของใคร ถ้าสร้างความสับสนจะมีความผิด แต่ถ้านำไปใช้แบบ 'การ์ตูน' เช่น วาดรูป ผลิตการ์ตูน ฯลฯ โดยที่ไม่เกี่ยวกับสินค้าอื่นใด ก็ 'น่าจะ' ไม่ผิดอะไร สุดท้ายแล้วก็ต้องดูเป็นกรณีไป ซึ่งมีรายละเอียดที่ยิบย่อย และซับซ้อน"

โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า : 

แล้วถ้าคนไทย 'ละเมิดลิขสิทธิ์' หรือ 'เครื่องหมายการค้า' จะมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง? 

คุณศิรพัทธ์ ตอบคำถามเรื่องนี้ว่า โดยปกติแล้ว 'เจ้าของสิทธิ์' จะเป็นจัดการ และดูแล หากเจ้าของสิทธิ์เป็นคนต่างประเทศ หรืออยู่ต่างประเทศ จะมีการจ้างผู้แทนเพื่อดำเนินการ เช่น สำนักงานกฎหมาย หรืออาจจะเป็นตัวแทนในประเทศต่างๆ 

หาก 'ผู้ดูแลสิทธิ์' มองว่ากรณีไหนเป็นการละเมิด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ ที่ตรวจพบว่ามีการละเมิด ถ้าเจอในประเทศไทยก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายไทย กล่าวโดยง่ายคือ พบความผิดที่ประเทศไทย ให้ใช้กฎหมายของประเทศนั้น

สำหรับกฎหมายประเทศไทย หากคุณ หรือบุคคลใด 'ละเมิดลิขสิทธิ์' จะมีความผิดดังนี้ 

การ 'ละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วไป' ปรับ 20,000 ถึง 200,000 บาท แต่ถ้า 'ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า' (การผลิตออกมาจำหน่าย) จะมีโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 4 ปี ปรับ 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในส่วนของ 'เครื่องหมายการค้า' หาก 'เลียนแบบ' จนทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด จะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้า 'ปลอม' จนเหมือนเป๊ะ! จะมีโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ ระบุว่า ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนตามกฎหมาย แต่มีบริการ 'ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท' หากคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายต้องการ

ระวัง!!! จะละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น : 

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้นเป็น 'เครื่องเตือน' เล็กๆ ให้ทุกคน 'อย่าประมาท' คุณต้องดำเนินการทุดกอย่างให้รอบคอบ เพราะอาจจะไปละเมิดลิขสิทธิ์ได้ โดยที่คุณก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจ 

ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ กล่าวแสดงความห่วงใยว่า การที่จะนำผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาใช้ ควรจะระมัดระวังให้ดี เพราะส่วนใหญ่แล้วงานเหล่านั้นมีลิขสิทธิ์ ต้องอย่าลืมว่า 'อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์' ยาวนานมาก 

อย่างของประเทศไทย ก็ตลอดช่วงชีวิตอายุคนสร้างสรรค์ ไปจนหลังเสียชีวิตอีก 50 ปี เพราะฉะนั้นโอกาสที่งานต่างๆ ยังคงมีลิขสิทธิ์อยู่ ย่อมเป็นไปได้มาก โอกาสที่คุณจะเจอผลงานที่หมดลิขสิทธิ์แล้วเป็นไปได้ยาก ถ้าหากจะเจอ งานงั้นน่าจะต้องมีมาแล้วนานมากๆ

"เวลาเห็นงานอะไรที่น่าสนใจ ขอให้ระมัดระวังการนำไปใช้ แต่หากต้องการนำผลงานนั้นมาต่อยอด ก็ควรติดต่อขออนุญาตให้ถูกต้อง หรือจะให้ดีที่สุดควรลองสร้างสรรค์ผลงานตัวเองขึ้นมา บางทีเราอาจจะมองว่าผลงานของเราดูไม่สร้างสรรค์ หรือซับซ้อน แต่วันหนึ่งอาจจะดังขึ้นมา และสร้างรายได้ให้กับเราในอนาคต อย่าง มิกกี้ เม้าส์ 1928 ลายเส้นไม่ได้หวือหวาอะไรเลย แต่วันหนึ่งก็ดังขึ้นมาได้"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :