อดีตนักสังคมสงเคราะห์ ทิ้งชีวิตเมืองหลวง ผันตัวสู่ 'ครูอาสาบนดอยสูง' ปักหลักที่อมก๋อย หวังให้เด็กและชาวดอยมีคุณภาพชีวิตดีกว่าเดิม ด้วยแนวคิด 'ความสุขและคุณค่า ส่งต่อให้กันได้'...
ท่ามกลางโลกวุ่นวายและเต็มไปด้วยการแข่งขัน มนุษย์ต่างพยายามแสวงหาพื้นที่ที่จะทำให้รู้สึกว่าพวกเขาได้เป็นตัวเอง 'พิชญาน์นันต์ สรรพสุภัคกุล' หรือที่คนอมก๋อยคุ้นเคยกันดีในชื่อ 'ครูนิ้วนาง' เจ้าของเพจ Niewnang On The Mountain l ครูอาสาบนดอยสูง เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยพยายามค้นหาสิ่งนั้น และวันหนึ่งเธอก็ได้พบ
พื้นที่ที่ทำให้ 'ครูนิ้วนาง' ได้เป็นตัวเอง คือการได้อยู่ 'บนดอย' และใช้วิชาความรู้ที่เล่าเรียนมา เพื่อพัฒนาเด็ก และผลักดันคุณภาพชีวิตที่ดี ให้เกิดขึ้นกับคนดอย แม้ที่ผ่านมาจะต้องยากลำบากแค่ไหน แต่เธอยังเชื่อด้วยใจอันเต็มเปี่ยมว่า "ที่ที่เหมาะกับเรา เราจะสร้างคุณค่าให้คนอื่นได้ นอกจากนั้นยังทำให้เห็นว่าเราเองก็มีคุณค่า"
...
ตัดสินใจลาออก เพื่อเดินทางค้นหาประสบการณ์ใหม่ :
หลังจบการศึกษา คุณนิ้วนางทำงานเป็น 'นักสังคมสงเคราะห์' ในองค์กร NGO แห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ งานของเธอต้องคลุกคลีอยู่กับ 'ชุมชน' และ 'เด็ก' เช่น เด็กขอทาน เด็กเร่ร่อน เด็กชุมชนแออัด
"เราชอบทำงานกับเด็ก เรามีแพชชันในชีวิตว่าอยากจะช่วยเหลือเด็กๆ" คุณนิ้วนาง กล่าวกับทีมข่าวฯ
"ตอนทำงานเราทำเต็มที่ แม้เราจะได้อยู่กับเด็ก ทำแบบที่เราชอบ แต่ทำไปสักพักไม่ถึงปี ก็ยอมรับว่ายังไม่เจอกลุ่มเด็กที่เรารู้สึกว่าตรงกับความสามารถที่มีอยู่ ใจมันรู้สึกว่าไม่ใช่พื้นที่ของเรา รู้สึกไม่เป็นตัวเอง"
คุณนิ้วนางตัดสินใจ 'ลาออก' และเริ่มคิดว่าอยากออกเดินทางไปเรียนรู้ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อค้นหาว่าเด็กหรือ 'ชีวิต' แบบไหน ที่เหมาะกับสิ่งที่เธออยากทำ "ตอนนั้นไม่มีเป้าหมายชัดเจนจะไปที่ไหน แต่เป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวเอง"
การเดินทางครั้งแรก เริ่มขึ้นประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมา โดยที่ 'พิชญาน์นันต์' ตัดสินใจไป 'เชียงใหม่' เธอบอกว่า ทุกอย่างเริ่มจากตัวคนเดียว จากความไม่รู้ แต่อยากไปหา 'ประสบการณ์ชีวิต' หาสิ่งที่ชอบและอยากทำจริงๆ
ครูอาสาครั้งแรกในชีวิต :
"พอถึงเชียงใหม่ เราเห็นว่ามีครูคนนึงเปิดรับ 'ครูอาสา' ที่อมก๋อย จึงตัดสินใจไปลองทำ เพราะคิดว่าน่าจะทำให้ได้เห็นชุมชน และชีวิตเด็กๆ ที่นั่นว่าเป็นอย่างไร"
จากคุณนิ้วนาง สู่ 'ครูนิ้วนาง' เธอเล่าประสบการณ์ 'ครูอาสา' ครั้งแรกในชีวิต ตลอด 1 เดือน ณ ชุมชนแมะแตะแหละกุย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ให้เราฟังว่า…
ตอนนั้นใช้ชีวิตโดยไม่มีไฟฟ้า ไร้สัญญาณโทรศัพท์ และขาดการติดต่อจากโลกภายนอก ส่วนสถานศึกษา ไม่ได้เป็นห้องเรียนแบบจริงจังตามที่เห็นในเมือง แต่เป็นเหมือนศูนย์การเรียนขนาดเล็ก และจะไม่ได้สอนเหมือนโรงเรียน สพฐ. ที่สอนเป็นคาบ หรือเป็นรายวิชา ผู้สอนบนดอยจะหยิบจับอะไรง่ายๆ เน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เน้นการทำงานฝีมือ และการใช้ทักษะ
...
"เราเริ่มจากการสอนเด็กประถม แต่เป็นเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ สอนตั้งแต่พื้นฐานพยัญชนะ เพื่อให้เขาอ่านออกเขียนได้ ตอนแรกค่อนข้างตื่นเต้น เพราะสื่อสารกันไม่เข้าใจ เด็กพูดแต่ภาษาถิ่น ส่วนเราพยายามใช้ท่าทาง หรือแม้แต่วาดรูปเพื่อสื่อสาร"
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เด็กได้เรียนกับครูอาสาคนนี้ แต่เธอก็ได้เข้าถึงวิถีชีวิตชาวบ้าน ไม่ว่าจะจับปลา หาปู เดินขึ้นเขา ลุยลำธาร และอีกสารพัด ทำให้ครูนิ้วนางได้เรียนรู้ความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างแท้จริง
"ตลอด 1 เดือน ที่แมะแตะแหละกุย ทำให้เราค้นพบว่า นี่แหละคือชีวิตที่เราตามหา เราอยากอยู่กับเด็กๆ แบบนี้ เราชอบชุมชนลักษณะแบบนี้ เราอยากเรียนรู้บนดอยให้ลึกกว่านี้"
อยากอยู่เชียงใหม่ให้นานขึ้น และการหวนสู่ 'นักสังคมสงเคราะห์' :
หลังจากโบกมือลาแมะแตะแหละกุย ครูนิ้วนางกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นเธอก็ได้กลับไปยัง 'อมก๋อย' อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้ไปในฐานะครูอาสา แต่ไปเป็น 'อาสาสมัคร' ร่วมกับคนอื่น ผู้หญิงคนนี้ทั้งช่วยทำถนน แบกหิน และทำทุกอย่างที่เธอทำไหว
...
คุณนิ้วนาง เล่าว่า ตอนที่ขึ้นไปครั้งนั้น ได้เจอกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง เมื่อได้พูดคุยก็เริ่มรู้สึกชื่นชอบ และอยากเรียนรู้วิถีชีวิตพวกเขาให้มากขึ้น จึงขอติดรถชาวบ้านไปยังหมู่บ้าน
"พอเราเข้าไปในหมู่บ้าน เราเจอกับโรงเรียนที่เพิ่งสร้างได้ไม่นาน จึงเข้าไปขอครูใหญ่ว่า เราอยากมาช่วยสอนที่นี่ โดยไม่รับเงินเดือน ขอเพียงแค่ที่พักและอาหารก็พอ"
การพูดคุยครั้งนั้น ทำให้เธอได้กลับมาเป็น 'ครูอาสา' อีกครั้ง โดยรอบนี้ได้เป็นครูถึง 2 ภาคเรียน หรือประมาณ 8 เดือน เรียกได้ว่า "อยู่จนรู้สึกผูกพัน"
"ตอนที่ไปอยู่ นางรู้สึกอินกับชุมชนมาก เราอินกับเด็ก อินกับชาวบ้าน อินกับชุมชน คงมาจากนิสัยส่วนตัวของเราอยู่แล้ว พอเราไปอยู่ที่ไหน เราก็อยากจะศึกษา อยากเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา เราจึงพยายามฝังตัวเองให้กลมกลืนไปด้วย" ครูนิ้วนางกล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
...
หลังจากได้สอนที่โรงเรียนแห่งนี้ ครูนิ้วนางเริ่มคิดว่า "ทำอย่างไรถึงจะอยู่เชียงใหม่ได้นานกว่านี้?"
เธอบอกกับเราว่า ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบได้ไม่นาน งานไม่ได้ทำ รายได้ก็ไม่มี จึงตัดสินใจเข้าไปหางานในตัวเมืองเชียงใหม่ และได้ทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ด้าน NGO อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็เป็นการทำงานเกี่ยวกับเด็ก และรับผิดชอบด้านทุนการศึกษา
"งานนี้ทำให้เรามีโอกาสได้เดินทางเยี่ยมชุมชนบนดอยหลายจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน เชียงราย ฯลฯ จึงทำให้ได้เก็บข้อมูลชุมชนไปในตัว"
สร้างเพจเฟซบุ๊ก หวังสื่อสารชีวิตบนดอยสูง :
ประสบการณ์จากการเดินทางในพื้นที่ที่ต่างกันออกไป ทำให้นักสังคมสงเคราะห์หญิงคนนี้ได้เจอความหลากหลาย เธอจึงตัดสินใจสร้างเพจขึ้นมา เพื่อหวังว่าจะเป็นตัวกลางช่วยสื่อสาร ให้โลกได้รับรู้ถึงการมีอยู่ และคุณภาพชีวิตของคนบนดอย
ครูนิ้วนาง เล่าย้อนความทรงจำครั้งนั้นว่า เริ่มทำเพจครั้งแรกประมาณปี 2560 ตลอดระยะเวลา 1 ปีช่วงนั้น เดินทางด้วย ทำงานประจำด้วย ทำเพจด้วย และได้เริ่มเปิดรับ 'อาสาสมัคร' ครั้งแรก
"ครั้งแรกที่เปิดรับอาสาสมัคร นางรับแค่ประมาณ 3 คน ครั้งนั้นนางใช้เงินเดือนส่วนตัวมาสนับสนุนกิจกรรมทุกอย่าง รวมถึงสนับสนุนการกินอยู่ของอาสาสมัครด้วย"
ลาออกจากงาน ทำอาสา และทริปอาสาเต็มตัว :
ครูนิ้วนางเริ่มอยากจริงจังกับงานอาสา และการทำทริปอาสา เธอจึงลาออกจากงานประจำมาได้ประมาณ 4 ปีแล้ว เพื่อลงมาทำงานตรงนี้เต็มตัว ช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลง นิ้วนางพาอาสาสมัครออกทริปอยู่บ่อยครั้ง
โดยการเดินทางในแต่ละครั้ง จะเปิดรับอาสาสมัครผ่านทางเพจ และทำการคัดเลือกผู้เข้าร่วมด้วยตัวเอง ในแต่ละครั้งจะมีอาสาสมัครร่วมเดินทางประมาณ 20-30 คน
เมื่อไม่ได้ทำงานประจำแล้ว รายได้ทำกิจกรรมมาจากไหน?
ครูนิ้วนางบอกกับเราว่า การทำกิจกรรมเป็นไปในรูปแบบ 'จัดทริป' โดยอาสาสมัครจะชำระเงินเข้าร่วม และเธอจะนำเงินนั้นเอามาใช้ในการทำทุกอย่าง ทั้งการจัดกิจกรรม ค่าอาหารของผู้เข้าร่วม และก็ถือเป็นรายได้ของเธอไปในตัว แม้ว่าจะไม่ได้มากมาย แต่ก็อยู่ได้แบบพอประมาณ
เน้นสร้างการเรียนรู้ น้อยสร้างความผูกพัน :
หลังจากทำไปได้ระยะหนึ่ง นิ้วนางก็พบกับชุมชนหนึ่งในพื้นที่ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เธอรู้สึกอยากพัฒนาที่แห่งนี้ จึงตัดสินใจที่จะใช้เวลาอยู่ที่นี่เป็นหลักกระทั่งปัจจุบัน เธอบอกกับทีมข่าวฯ ว่า
"เมื่อก่อนเราไปหลายพื้นที่ แต่ 3 ปีหลังที่ตัดสินใจใช้เวลาอยู่ตรงนี้ นางก็จะพาครูอาสาขึ้นมาบนดอย อยู่แค่บริเวณ 2-3 ชุมชน ที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่เราอยู่ เพื่อจะได้ทำกิจกรรมแบบต่อเนื่อง โดยมีนางเป็นตัวเชื่อมอาสาในทุกครั้ง"
ผู้ก่อตั้งครูอาสาบนดอยสูง เล่าต่อว่า เราไปในพื้นที่ชุมชนเดิมซ้ำๆ เราเป็นหลักในการพยายามเชื่อมความรู้สึกเด็กๆ ไว้ เราเป็นคนที่คอยเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอยู่ตลอด และจะคอยถามเด็กๆ ว่าแต่ละรอบที่พี่อาสาเข้ามาหา เด็กได้อะไรไปบ้าง
"เราจะคุยกับอาสาสมัครตั้งแต่แรก ถึงรูปแบบกิจกรรมที่เข้าไปทำ และลักษณะการสอน เราพยายามไม่ให้สร้างความผูกพันกับเด็กในพื้นที่ เพราะถ้าพี่ๆ ต้องลากลับ อาจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก"
'อาสาสมัคร' ส่วนเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตเด็กดอย :
ครูนิ้วนางเปรียบเปรยว่า เด็กดอยเหมือนอยู่ในแก้วแคบๆ แต่ทุกครั้งที่มีพี่อาสาสมัครเข้ามา พี่ก็จะหย่อนประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เด็ก เข้าไปช่วยเติมความคิด ความฝัน และจินตนาการ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
"ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ปกติเด็กจะรู้จักแค่อาชีพตำรวจ หมอ หรือพยาบาล แต่เมื่อพี่อาสาสมัครเข้ามา ก็จะมาเล่าเรื่องราวอาชีพอื่นๆ ทั้งจากประสบการณ์ตรง และจากคนรอบข้าง เช่น นักบิน นักวาดรูป นักดนตรี ฯลฯ มันจึงเหมือนเป็นการเปิดโลกการรับรู้ใหม่ให้เด็กดอยได้อย่างดี"
ครูนิ้วนางบอกว่า ปัจจุบันนี้บางเดือนก็อาจจะไม่ได้จัดทริปอาสา แต่ออกเดินทางคนเดียว เพราะส่วนตัวก็มีการทำกิจกรรมชุมชน ร่วมกับชาวบ้านและเด็กในพื้นที่อยู่แล้ว แต่ถ้าเดือนไหนรู้สึกอยากจัดกิจกรรมพิเศษให้กับเด็ก หรือว่ามองว่ามีพื้นที่ที่อยากให้ช่วยพัฒนา 'ครูอาสาบนดอยสูง' ก็จะทำการเปิดรับสมัคร
ความแตกต่างของชีวิตคนดอยและคนเมือง :
ตลอดระยะเวลาของการทำงานตรงนี้ ทำให้นิ้วนางได้เห็นความแตกต่าง 'ชีวิต' ของ 'คนดอย' และ 'คนเมือง'
ครูนิ้วนางยกความแตกต่างของ 'เด็ก' ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า แม้เด็กในเมืองจะยากจน แต่ยังถือว่ามีโอกาสมากกว่าเด็กบนดอย เพราะเด็กดอยมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ห่างไกลเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้โอกาสเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานเป็นเรื่องยาก และจะยากเข้าไปอีก เมื่อเป็นการเข้าถึงเรื่องการศึกษา
"เด็กดอยบางคนมีโอกาสเรียนแค่ในศูนย์การเรียนรู้ ถ้ามีถึงแค่ ป.6 ก็จะจบอยู่แค่นั้น บางคนมีความฝันอยากจะทำ แต่ก็ไม่ได้เรียนต่อ"
ผู้ก่อตั้งครูอาสาบนดอยสูง สะท้อนเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า หลายครั้งครูอาสาบอกว่า เด็กมาคุยด้วยว่าจะทำอย่างไรดี เขาอยากเรียนต่อแต่ไม่มีทุนการศึกษา รวมถึงบางคนพ่อแม่ก็เป็นห่วง เพราะลูกอาจจะพูดภาษาไทยไม่ชัด จึงกลัวเรื่องการปรับตัวและใช้ชีวิต
"พอเป็นแบบนี้ ทำให้เด็กหลายคนไม่สามารถเป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็นได้ ท้ายที่สุดก็ต้องวนลูปแบบเดิม จบ ป. 6 แต่งงาน มีครอบครัว จึงทำให้เหมือนว่าเด็กเสียโอกาสทางการศึกษา
แต่พื้นที่บนดอยไม่ได้เสียแค่เรื่องการศึกษา ยังมีเรื่องสาธารณสุขที่เข้าไม่ถึง ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ลูกศิษย์ของเราก็เสียชีวิต เพราะไปหาหมอไม่ทัน คุณภาพชีวิตหลายๆ อย่างที่มันควรจะเป็นมันก็ขาดไปด้วย"
ความเปลี่ยนแปลงตลอด 7 ปีที่อยู่อมก๋อย :
"อยู่อมก๋อยมา 7 ปี แต่พื้นที่ก็อาจจะยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร"
ครูนิ้วนางบอกว่า ถ้าพูดถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่าปัญหาเชิงลึกยังไม่ได้ถูกแก้ไข แต่บางช่วงที่เขาขาดแคลนสิ่งของจริงๆ เราก็ประสานงานนำสิ่งของเข้าไปให้ อย่างปีล่าสุดพยายามผลักดันให้เด็กได้มีโอกาสได้ออกไปเรียนต่อ และในอนาคตมองว่าอยากสนับสนุนเรื่องทุน
"ตอนนี้อาจจะยังเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยชาวบ้านยังรู้สึกอุ่นใจ ที่มีคนยังเห็นพวกเขาอยู่ พยายามช่วยเหลือ พยายามสนับสนุน เราเองก็พยายามนำความรู้ใหม่ๆ ไปช่วยเขา
เช่น แต่ก่อนเวลาเด็กป่วยเขาจะรักษาเด็กด้วยวิธีเดิมๆ อาจจะสวดมนต์ หรือไหว้ตามความเชื่อ เราก็ช่วยให้ความรู้ในส่วนของการปฐมพยาบาล หรือแนะนำว่าควรจะไปทางไหนต่อ ซึ่งการที่เราอยู่กับคนในชุมชนนาน ทำให้พวกเขาเชื่อในคำแนะนำ คำพูดของเรามีน้ำหนัก เป็นโอกาสให้พวกเขาสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้"
เธอบอกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะช่วยเด็กหรือชุมชน ถ้าเรายังไม่ได้มองการแก้ปัญหาโครงสร้างเชิงลึก มัวแต่มองผิวเผิน แก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ ก็คงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปได้มาก
คุณภาพชีวิตคนดอยที่อยากเห็น และคุณค่าจากการทำงาน :
ครูนิ้วนางบอกว่าในอนาคต อยากให้ปัจจัยพื้นฐานเข้าถึงคนบนดอยมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา เพราะถ้าทุกอย่างดี เชื่อว่าคุณภาพชีวิตของทุกคนจะดีขึ้น
"ใครจะไปรู้ว่าในอนาคต ถ้าเด็กดอยเหล่านี้ได้รับการศึกษา ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต วันหนึ่งเขาอาจจะกลายเป็นบุคคลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและช่วยขับเคลื่อนประเทศ"
'พิชญาน์นันต์ สรรพสุภัคกุล' ตกตะกอนความคิดทิ้งท้ายการสนทนาว่า การมาทำตรงนี้ เป็นเรื่องของคุณค่าในชีวิต เมื่อเรามีความรู้หรือความสามารถด้านไหน แล้วเราไปอยู่ในที่ที่เหมาะกับเรา เราจะสามารถสร้างคุณค่าให้คนอื่นได้ นอกจากนั้นยังทำให้เห็นว่าเราเองก็มีคุณค่า
"นางเกิดมาเพื่ออยากใช้ชีวิตทำให้คนอื่นมีความสุข และนางก็จะมีความสุข อยากใช้ชีวิตต่อไป"
อ่านบทความที่น่าสนใจ :