คุยกับ รศ.ดร.สมชาย กูรูเศรษฐศาสตร์การเมือง ชำแหละร่างงบฯ ปี 67 ชี้เศรษฐกิจไทยมีจุดอ่อน ที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหา ...

ถือเป็นการ “คิกออฟ” ในการบริหารประเทศอย่างเต็มตัว สำหรับ การแถลงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้ผู้นำที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย โดย เมื่อวันที่ 3 ม.ค.67 โดยการตั้งงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 2.53 ล้านล้าน รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361 ล้านบาท, รายจ่ายลงทุน 717,722 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320 ล้านบาท 

หากจำแนกเป็นรายกระทรวง จะมี 5 อันดับสูงสุด ดังนี้ คือ 

• กระทรวงมหาดไทย 353,127 ล้านบาท

• กระทรวงศึกษาธิการ 328,384 ล้านบาท

• กระทรวงการคลัง 327,155 ล้านบาท

• กระทรวงกลาโหม 198,320 ล้านบาท

• กระทรวงคมนาคม 183,635 ล้านบาท 

ถามว่า การจัดงบประมาณในครั้งนี้ เป็นอย่างไร มีข้อดี ข้อเสีย ข้อสังเกต อย่างไร มุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือสนองตอบการเมืองมากเกินไปหรือไม่ ประเด็นนี้ ต้องถามกับ กูรูการเงิน การคลัง โดยทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายคุยกับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จะมาชำแหละให้ท่านผู้อ่านได้รับฟังกัน 

รศ.ดร.สมชาย มองการจัดร่างงบประมาณรายจ่าย ปี 67 ครั้งนี้ว่า เป็นการมุ่งแก้ปัญหาทั้ง 2 ด้าน คือ ทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจ เพราะหน้าที่ของรัฐบาลคือการแก้ไขปัญหาทั้ง 2 เรื่อง เพราะหากเกิดปัญหาเศรษฐกิจจะส่งผลต่อการเมือง ดังนั้นทั้ง 2 เรื่องจึงสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว 

...

สำหรับงบประมาณ 5 อันดับ ที่กระทรวงต่างๆ ได้ไปนั้น เรามองที่อันดับกระทรวงต่างๆ เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากลงลึกในรายละเอียดของร่างงบฯ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ งบของกระทรวง และ งบบูรณาการ และแยกย่อยออกมาเป็น 2 คำถาม คือ ตอบโจทย์หรือไม่ และเพียงพอหรือไม่ 

งบประมาณ 2567 ตอบโจทย์หรือไม่...? 

นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ชี้ว่า สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ งบประมาณที่ถูกจัดสรรนี้ “ตรงเป้าหมาย” ในการพัฒนาประเทศหรือไม่ เนื่องจากงบประมาณ คือ “เครื่องมือ” ในการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงตามภูมิรัฐศาสตร์โลก และด้านอื่นๆ 

“หากมองในมุมของประเทศเรา พบว่าเรามี “จุดอ่อน” สำคัญ คือ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ต่อเนื่องยาวนานมา 20 ปีแล้ว โดยในช่วง 12 ปีหลัง คือ ปี ค.ศ. 2010-2022 ประเทศไทยมีเศรษฐกิจขยายตัว 2.6% ส่วนภาพรวมในอาเซียนมีการขยายตัว 4.3% เรียกว่า ประเทศไทย มีการขยายตัวรั้งท้าย ในอันดับ 9 ชนะประเทศเดียวคือ บรูไน” 

อาจารย์สมชาย บอกว่า สิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา คือ ขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ประเทศเติบโต ตรงนี้เอง คือ สิ่งที่ พรรคการเมือง ต้องจัดสรรงบประมาณต้องพุ่งเป้าแก้ไขเรื่องนี้ โดยอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ภารกิจ 1. ปัญหาการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ 2. เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และ 3. การแก้ปัญหาด้านความยากจน 

รศ.ดร.สมชาย กล่าวกับทีมข่าวฯ ว่า หากเราไปดูงบประมาณในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะ กระทรวงศึกษาฯ ซึ่งได้งบมาเป็นอันดับ 2 คล้ายๆ กับทุกยุคทุกสมัย 

ถามว่าเรื่องนี้ไม่โอเคตรงไหน คำตอบ คือ เราดูผลการศึกษาประเทศเราเป็นอย่างไร ผลการทดสอบของนักเรียนชั้นมัธยม ที่วัดจาก 3 วิชา คือ คณิต วิทยาศาสตร์ และการวิเคราะห์ ผลปรากฏว่า ประเทศไทยเป็นอย่างไร คือ อยู่อันดับ 70 กว่าๆ จากการสอบวัดระดับโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ตาม OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาจัดขึ้น ประเทศเวียดนาม เคยอันดับ 30 กว่า เวลานี้ขึ้นเป็นติดอันดับ 1 ใน 10 แล้ว แปลว่าอะไร บางเรื่องแม้จะจัดงบประมาณไป แต่สิ่งที่ออกมาไม่ได้ตรงกับเป้าหมายเลย 

...

งบบูรณาการ คือ การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ซึ่งมีกว่า 5 แสนล้าน ถือว่าเยอะมาก แต่คุณภาพของบุคลากรไทยที่วัดด้วย “ผลิตภาพ” ผลปรากฏว่า ผลิตภาพแรงงานจีน เหนือกว่าไทย 3 เท่า สิงคโปร์เหนือกว่า 10 เท่า เวียดนามก็เหนือกว่า ดังนั้น เมื่อดูจากงบประมาณเหล่านี้ จึงได้คำตอบว่า ไม่ได้ตอบโจทย์ของเนื้อใน 

งบประมาณ 2567 เพียงพอหรือไม่...?

ประเด็นเรื่องงบไม่เพียงพอนั้น อาจารย์สมชาย มุ่งไปที่งบขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น งานวิจัยและพัฒนา ซึ่งงบบูรณาการนี้มี 3 แสนกว่าล้าน ซึ่งถือว่า “ต่ำ” เพราะประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี คิดเป็นเพียง 1% กว่าๆ ของ GDP ซึ่งความจริงแล้ว ต้องใช้งบประมาณกว่า 5% ของ GDP 

“ถ้าดูร่างงบนี้ฯ แปลว่าไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาให้ประเทศไทย ขยับตัวในการแก้ปัญหาจุดอ่อน ขีดความสามารถให้กลับมา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก”

กูรูด้านเศรษฐศาสตร์มองว่า มีบางเรื่องที่จัดงบให้ถูกที่ถูกทาง เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่งบที่เอามาใช้ส่วนนี้จะไม่ได้ลดความยากจนลง เพียงแต่สามารถช่วยให้ประชาชนรอดได้ สิ่งที่จะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ต้องมีมาตรการเสริมสร้างรายได้มากกว่ารายจ่าย ซึ่งเกี่ยวข้องกับขีดความสามารถในการแข่งขัน บุคลากร รวมถึงการใช้เทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้ในร่างงบประมาณก็ไม่ได้เด่นชัด... 

...

เศรษฐกิจไทย อาจโตถึง 3.5 ห่วงหนี้สาธารณะ 

รศ.ดร.สมชาย ประเมินว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวถึง 3.2 จากปีที่ผ่านมา คือ 2.4 ดังนั้น หากรัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจจะขยายตัวถึง 3.5 ตรงนี้ยังไม่รวมมาตรการ “เงินดิจิทัล” แต่ถ้ารวม มาตรการเงินดิจิทัล ก็อาจจะเพิ่มขึ้นอีก 0.5-0.8 ดังนั้น หากปีนี้เศรษฐกิจไทยโตขึ้น 3.2 จริง บวกดิจิทัลได้ก็ทำให้อาจโตถึง 4% 

เวลานี้ เงินดิจิทัล ขึ้นอยู่กับการตีความกฎหมายของกฤษฎีกา ส่วนในทางการเมือง เขาก็บอกแล้วว่า อย่างไรก็ต้องทำ เพราะได้สัญญาประชาคมไว้ ตอนนี้สิ่งที่ต้องดูคือ ผ่านกฎหมายหรือไม่ แต่สิ่งที่วิเคราะห์คือ ทำแล้วจะส่งผลกับเสถียรภาพทางการคลังหรือไม่ อย่าให้มีรายจ่ายอื่นที่ส่งผลกับหนี้สาธารณะ ซึ่งนโยบายดิจิทัล หากทำก็จะส่งผลให้หนี้สาธารณะของเราจะเพิ่มขึ้นจาก 62% เป็น 64% แล้ว ต้องควบคุมไม่ให้ขยายขึ้นไปอีก 

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ การดำเนินมาตรการในเชิงโครงสร้าง สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยบอกว่าเรายังมีรายได้เพื่อมาลดรายจ่าย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน 

...

เมื่อถามว่า การจัดงบประมาณนี้ มุ่งเอาใจการเมือง หรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รศ.ดร.สมชาย ตอบว่า ในการทางเมืองเขาก็ต้องทำ เพราะเขาคือ พรรคการเมือง แต่ปัญหาคือ พรรคการเมืองก็มี 2 แบบ คือ การเอาใจระยะสั้น แต่บางครั้งต้องบอกกับประชาชนว่าต้องทำระยะยาวด้วย โดยต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า อย่าทำอะไรแล้วเสียเสถียรภาพทางการคลัง 

“สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ 2 เรื่อง คือ 1. ทำในทางการเมือง แม้จะทำเพื่อเอาใจชาวบ้าน แต่ข้อ 2. ก็ต้องทำ คือ ทำความเข้าใจว่าสิ่งที่ทำก็ไม่ควรเกินเลยจนทำให้เสียเสถียรภาพ แล้วประเทศมีปัญหา หรือส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ระยะกลาง หรือ ระยะยาว เหมือนกับบางประเทศที่เคยเกิดขึ้น”

สิ่งที่เป็นห่วง คือ โลกเรามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งเรื่องรัสเซีย ยูเครน ปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง มันมีเรื่องที่จำเป็นต้องบริหารจัดการ แม้จะมี “งบกลาง” 6 แสนล้าน มารองรับ แม้หนี้สาธารณะเกิน 60% ไปแล้ว แต่มีเพดานอยู่ที่ 70% รัฐบาลจะบอกว่าบางประเทศเกิน 100 ไปแล้วก็ไม่เป็นไร แต่รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงมาตรการต่างๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาขีดความสามารถ เพื่อบอกกับประชาชนว่า เราไม่ได้มีแค่รายจ่ายอย่างเดียว แต่มีรายรับที่จะเข้ามาพัฒนาการลงทุน การท่องเที่ยว หรือขีดความสามารถ นี่คือสิ่งที่น่าห่วงสำหรับปัญหาภายในประเทศ ส่วนภายนอกประเทศ เป็นสิ่งไม่แน่นอน 

ทีมข่าวฯ ถามทิ้งท้ายว่า จะให้คะแนนการจัดร่างงบประมาณ 2567 ของรัฐบาล เต็ม 10 ให้เท่าไร อาจารย์สมชายบอกว่า การจัดร่างงบประมาณของทุกๆ รัฐบาล มีปัญหาทั้งนั้น แล้วเศรษฐกิจไทย เตี้ยลงทุกปี แปลว่ามันยังไม่พัฒนาขีดความสามารถของไทย แต่เป็นกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราว ดังนั้น ถามว่าควรได้คะแนนเท่าไร ผมขอไม่ให้แล้วกัน ขอดูฝีมือการบริหารก่อน...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ