คืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ความน่าสนใจและบทลงโทษที่ปรับสูงสุด 50 ล้านบาท!...

"ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นักวิชาการผู้คร่ำหวอดเรื่องปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปัจจุบันทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้าน PM 2.5 กล่าวกับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ถึงความคืบหน้าในการผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด” ซึ่งมีทั้งหมด 104 มาตรา และล่าสุดคณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติในหลักการ และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ หากแต่ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการกระจายอำนาจออกไปยังส่วนท้องถิ่น แทนที่จะรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจเอาไว้ที่ส่วนกลางเช่นที่เคยเป็นมา.... 

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้าน PM 2.5
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้าน PM 2.5

...

“ร่างกฎหมายนี้ จะมีทั้งการตั้งคณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และคณะกรรมการอากาศสะอาดระดับจังหวัดและพื้นที่เฉพาะ คือ พูดง่ายๆ อำนาจส่วนกลางจะมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในภาพใหญ่ ในขณะที่แต่ละจังหวัดจะมีอำนาจในการดูแลและบริหารจัดการเรื่องมลพิษทางอากาศในจังหวัดของตัวเองได้ด้วย ซึ่งสำหรับผมถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการนับหนึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้กับคนไทยทุกคน” 

มาตรการควบคุมมลพิษที่ลงลึกในรายละเอียดมากกว่า พ.ร.บ.รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม : 

สำหรับประเด็นที่ 2 ที่น่าสนใจจากร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ในมุมมองของ คือ “ศ.ดร.ศิวัช”  คือ เรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งจะมีการกำหนดลงลึกในรายละเอียดที่ชัดเจนมากกว่า พ.ร.บ.รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 โดยเฉพาะการควบคุมมลพิษจากแหล่งต่างๆ เช่น... 

1. มาตรการควบคุมมลพิษจากสถานที่ถาวร (Point Source) หรือ แหล่งกำเนิดมลพิษที่แก้ไขไม่ได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม

2. การควบคุมมลพิษจากการเผาในที่โล่ง เช่น การเผาเศษชีวมวล หรือการเผาป่า 

3. การควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ

4. การควบคุมมลพิษข้ามพรมแดน 

ส่วนประเด็นที่ 3 คือ จะมีการกำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษ ซึ่งจะเป็นการบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และการกำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษว่ามีเรื่องข้อจำกัดหรือเงื่อนไขอะไรบ้าง รวมถึงวิธีการในการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ

และประเด็นที่ 4 คือ บทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นการจูงใจให้เกิดอากาศสะอาด เช่น หากมีการซื้อเครื่องมือทางการเกษตรในการอัดแพ็กพวกเศษชีวมวลแทนที่จะนำไปเผาในที่โล่งแจ้ง ก็อาจจะได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักรทางการเกษตรนั้นๆ เป็นต้น   

บทลงโทษปรับ 100,000-2,000,000 บาท : 

และสำหรับประเด็นที่ 5 ที่น่าสนใจในมุมมองของผู้คร่ำหวอด PM 2.5 คือ บทบัญญัติเกี่ยวกับการรับผิดทางแพ่งกรณีที่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษทางอากาศ และบทลงโทษตามร่างกฎหมายดังกล่าวยังครอบคลุมถึงกรณี “เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศนอกราชอาณาจักรไทย” หรือผู้ที่ก่อมลพิษจากนอกประเทศจนกระทั่งแพร่กระจายเข้ามายังราชอาณาจักรไทยจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของคนไทยด้วย 

...

โดยผู้กระทำความผิด จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย และค่าใช้จ่ายในส่วนที่รัฐต้องจ่ายสำหรับการบำบัด ขจัดและเยียวยา จากความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ไม่ว่าการแพร่กระจายของมลพิษจะเกิดขึ้นจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัย และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือสงครามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงจนไม่อาจป้องกันได้

ซึ่งผู้ที่กระทำความผิด จะมีโทษปรับตั้งแต่ 100,000-2,000,000 บาท และยังมีโทษปรับอีกไม่เกินวันละ 1 ล้านบาท โดยให้โทษปรับอย่างสูงรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท

ความคืบหน้าในการทำประชาพิจารณ์ และกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย : 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้าน PM 2.5 กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้า “ร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด” นั้น เบื้องต้นจะมีการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearings) ครั้งแรกที่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2566 นี้ โดยมีหัวข้อการเสวนา คือ “เกษตรไม่เผา เธอรัก (ภู) เขา เราก็รักเธอ” เพื่อสร้างการรับรู้และขยายผลการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภาคการเกษตร 

...

ส่วนในด้านกรอบระยะเวลาในการจัดทำกฎหมายนั้น หากร่างกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีบทเฉพาะกาลภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายประสานคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดทำงานร่วมกับคณะกรรมการตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามกรอบระยะเวลานี้ 

โดยจะต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการบริหารจัดการฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดทำหลักเกณฑ์ และรายละเอียด วิธีการใช้เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์แต่ละประเภทในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่สนับสนุนและรองรับการใช้เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนภาคการผลิตและภาคส่วนต่างๆ รวมถึงปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

พร้อมทั้งให้กรมวิชาการทางการเกษตรพัฒนา ดำเนินการใช้ระบบตรวจสอบย้อนหลังกลับ สำหรับสินค้าหลัก 3 ประเภทแรก คือ ข้าว, ข้าวโพด, อ้อย รวมถึงให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ GISTDA ใช้ระบบลงทะเบียนการเผาโดยได้รับอนุญาต เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน ก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายต่อไป 

...

สารพิษแฝงใน PM 2.5 ภัยร้ายตัวจริงที่ยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้าง : 

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.ศิวัช ยังคงแสดงความกังวลในประเด็นเรื่องการให้ข้อมูลกับประชาชนเรื่องสารพิษต่างๆ ที่แฝงตัวอยู่ใน PM 2.5 ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อประชาชนชาวไทยตัวจริง หากแต่จนถึงปัจจุบันหน่วยงานราชการไทยต่างๆ ก็ยังคงมีการให้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอกับประชาชนอยู่ต่อไป... 

“ความเห็นส่วนตัวผม คิดว่า ประเด็นเรื่องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษที่แฝงตัวใน PM 2.5 ยังคงถูกพูดถึงจากหน่วยงานราชการต่างๆ น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญและถือเป็นภัยคุกคามประชาชนที่แท้จริงจาก PM 2.5 แต่แม้กระนั้น อย่างน้อยที่สุด ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดฉบับนี้ ก็ถือเป็นสัญญาณในเชิงบวกสำหรับการเริ่มต้นนับหนึ่งสำหรับพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในประเทศไทยที่เรื้อรังมาเนิ่นนานเสียที 

และในท้ายที่สุดนี้ ผมอยากให้ประชาชนทุกคนช่วยกันจับตาจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 และ วาระที่ 2 อย่างชนิดไม่กะพริบตา เพื่อร่วมกันพิสูจน์ว่าพรรคการเมืองต่างๆ มีความจริงใจในการหาอากาศที่บริสุทธิ์ให้กับคนไทยมากน้อยแค่ไหน?” ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ กล่าวปิดท้ายการสนทนา  

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน