วิกฤติโควิด จากพ่อค้าเสื้อผ้า หันมาทำฟาร์ม เพาะเลี้ยงหมูป่าพันธุ์หายาก รับเลี้ยงไม่ยาก แต่ไม่ง่าย รายได้งาม หมูลูกผสม ทำหมูหันอร่อย 

หมู หรือสุกร เป็นหนึ่งในงานปศุสัตว์ ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย สาเหตุเพราะคนไทย บริโภคหมูเป็นลำดับต้นๆ ของเนื้อสัตว์ 

ฉะนั้น ฟาร์มหมูในประเทศไทยจึงมีมากกว่า 2 แสนแห่ง บางปีเพียงพอต่อการบริโภค และบางปีก็ไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากหมูบ้านที่เราเคยชินแล้ว ก็มีเกษตรกรบางรายเลือกเลี้ยง “หมูป่า” ด้วย และหนึ่งนั้นก็คือ ชายที่ชื่อ “วิชาญ เศษจันทร์ เจ้าของบ้านไร่ ธนกฤตฟาร์ม ตั้งอยู่ บ.หนองขุมเหล็ก ต.ห้วยหินลาด อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด   

ใช่แล้ว...คอลัมน์เกษตร โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ในวันจันทร์นี้ คือ เรื่องเล่า การเลี้ยงดูหมูป่า 

จากคนขายแรงงาน พ่อค้า สู่อาชีพฟาร์มหมูป่า 

นายวิชาญ เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำฟาร์มหมู ก็มีอาชีพที่หลากหลาย เพราะเป็นคนไม่ได้เรียนจบสูงอะไร ไปทำงานขายแรงกายที่กรุงเทพ รายได้ก็ไม่ค่อยเพียงพอ กระทั่งช่วงชีวิตหนึ่งได้มาขาย กางเกงยีนส์ ตามตลาดนัด ซึ่งถือว่ารายได้ดี ขายมา 12 ปี พอจะมีเงินเก็บ สามารถซื้อที่ดินได้ และปลูกบ้านที่ร้อยเอ็ด 

...

กระทั่ง เจอปัญหาโควิด-19 ระบาด ทางตลาดมีคำสั่งห้ามขายของ เราเจอแบบนี้ สัก 2 เดือน ประเมินแล้ว ไม่น่าจะไหว จึงเลือกที่จะ “ไม่รอ” และตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพดีกว่า โดยเราลงทุนในการซื้อของมาขาย ครั้งละ 50,000-100,000 บาท เมื่อมันขายไม่ได้ก็เลยต้องปล่อยคืนบางส่วน มีเวลาก็เอากางเกงยีนส์ไปขายตามตลาดนัดบ้าง 

“โดยตอนนั้น ขายของไม่ได้ ก็หันกลับมาเป็นเกษตรกร ซึ่งเราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะช่วงที่ขายกางเกงอยู่นั้น พอมีเงินก็เริ่มทำไว้บ้างแล้ว”

นายวิชาญ บอกว่า ตอนแรกที่ทำการเกษตรจริงๆ คือ การปลูกต้นยางพารา ปรากฏว่า ในที่ดินของเราส่วนหนึ่งมันเป็น “ดินทราย” ทำให้ปลูกยางพาราได้ยาก จึงคิดอยากจะเลี้ยงสัตว์ โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงแพะ สาเหตุเพราะลูกชายชอบ นอกจากแพะแล้วก็เลยเริ่มฟาร์มหมูป่าไปด้วย 

ฟาร์มหมูป่า เลี้ยงไม่ยาก แต่ไม่ง่าย...

นายวิชาญ เล่าต่อว่า เราไปขอแบ่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมูป่า มาจากตายายที่รู้จักกันอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งความจริงก็เลี้ยงมาสักระยะแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มทำจริงจัง เมื่อเจอโควิดหนักๆ เราจึงเริ่มต้น ซึ่งถึงวันนี้ก็เกือบ 5 ปีแล้ว 

“ก่อนเลี้ยงหมูป่า เราไม่มีความรู้อะไรเลย แต่ก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากตากับยาย ที่เคยเลี้ยง ส่วนที่เลือกหมูป่า เพราะ “ต้นทุน” ในการเลี้ยงมันต่ำกว่าหมูทั่วไป โดยเฉพาะการกินอยู่ การดูแล ไม่จุกจิก เพราะหมูป่า หากมันรอดตอนเล็กๆ แล้ว มันจะอึดกว่าหมู่บ้านทั่วไป กินง่าย อยู่ง่าย” 

เจ้าของฟาร์มหมูป่า ในสวนยางพารา บอกว่า แม้ว่าหมูป่า จะเลี้ยงง่าย แต่ก็ให้ผลผลิตยาก ฉะนั้น เมื่อเลี้ยงหมูป่าได้สัก 2 ปี แล้ว เราจึงปรับเปลี่ยนแผน มาเลี้ยงหมูป่า เลือด 100% ด้วย และเลี้ยงหมูป่าเลือดผสมด้วย ซึ่งจะทำกำไรได้มากกว่า เพราะสามารถขายได้มากกว่า โอกาสรอดเยอะกว่า 

“ผมเลี้ยงเลือดร้อยก่อน โดยเลือกหมูป่าพันธุ์หน้ายาวมาเลี้ยง ปัญหาที่เราพบ คือ พอเป็นหมูป่าแท้ๆ เลือดหมูป่า 100% เราเจอปัญหาเรื่องการเติบโตล่าช้า เวลามันให้ลูก โอกาสรอดจะต่ำกว่า ยกตัวอย่างให้ ลูก 5 ตัว โอกาสรอดแค่ 2 ตัว เพราะเราเข้าไปยุ่งกับมันแทบไม่ได้เลยในช่วง 2 เดือนแรก เพราะมันมีสัญชาตญาณสัตว์ป่า มันจะดุมาก ส่งผลให้บางครั้งมันก็ป่วยตาย เบื่ออาหาร หรือปรับสภาพที่อยู่ไม่ได้ก็ตาย...

...

นายวิชาญ ระบุว่า เมื่อเราเจอปัญหาอย่างนี้ เราจึงเลือกที่จะเลี้ยงหมู ที่เป็นเลือดผสมระหว่างหมูป่า และหมูบ้าน ผลปรากฏว่า สุขภาพของมันดี และเชื่องกว่า และให้ผลผลิต คือ ลูกมากกว่า 

เลี้ยงหมูป่า 1 ปี มีลูก ประมาณ 2 ครั้ง แต่ละครั้ง มีอัตราการตายสูง 

เลี้ยงหมูเลือดผสม 1 ปี ให้ลูก 3 ครั้ง แต่ละครั้งได้ลูกหลายตัว และโอกาสรอดสูงกว่า

การเลี้ยงดู และราคาขาย รายได้งาม 

ในส่วนการเลี้ยงดู หมูป่า และหมูพันธุ์ผสม ก็ไม่ได้ยาก เนื่องจากในที่ดินของเรา มีการปลูกกล้วย มัน ไว้ ก็เอาอาหารที่มีมาให้ ช่วงเช้าก็ให้ หญ้า ส่วนตอนเย็นก็ให้รำ ซึ่งหากเป็นหมูป่า ให้อะไรมันก็กินหมด ทั้งพืชและสัตว์ ส่วนหมูบ้านพันธุ์ผสมก็คล้ายๆ กัน 

สำหรับการขาย หากเป็น ลูกหมูป่า จะขายตัวละ 3,000-10,000 บาท แต่เราแทบไม่มีลูกหมูขายเลย... อย่างไรก็ตาม เราก็เพาะเลี้ยงไว้ เนื่องจากสายพันธุ์แบบนี้หาไม่ง่าย 

ขณะที่ ลูกผสม ได้ลูกเยอะ ขายง่ายกว่า เวลานี้พ่อค้าแม่ค้าหมูอยากได้ลูกหมู เอาไปทำ เมนู “หมูหัน” เราจึงคิดว่า หากจะทำหมูหัน ต้องใช้ลูกหมูพันธุ์ผสม เพราะมันจะมีไขมันแทรกในเนื้อ พอมาทำแล้วจะอร่อยกว่า ขณะที่ “หมูป่า” จริงๆ มันจะไม่ค่อยมีมัน มีแต่กล้ามเนื้อ ย่างออกมามันจะแห้งๆ อร่อย”

...

นายวิชาญ ยอมรับว่า รายได้หลักของเราเวลานี้ก็มาจากการขายลูกหมู และพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมู หากเป็นลูกหมู ในช่วงเทศกาล จะขายได้ตัวละ 700 บาท แต่ถ้าไม่ใช่เทศกาล ก็ประมาณ 400-500 บาท 

“หากช่วงเทศกาล เรามีลูกหมูเยอะ แม้ราคาจะน้อยกว่า แต่ก็ขายได้มากกว่า รายรับเราก็เยอะ ที่สำคัญคือ เรามีการเพาะปลูกแหล่งอาหารสัตว์ไว้ มันก็ช่วยลดต้นทุนได้พอสมควร และเท่าที่ได้รู้ คือ ฟาร์มหมูบางแห่ง ที่เขาเลิกกิจการ เพราะเขาสู้อาหารสัตว์ไม่ไหว” 

เป็นเกษตรกร อยู่ได้ไม่ขัดสน ขอแค่ต้องรู้จักการปรับตัว 

เจ้าของฟาร์มหมูป่า และหมูพันธุ์ผสม ให้ข้อคิดสำหรับผู้ที่อยากจะทำอาชีพเป็นเกษตรกร ทำฟาร์ม หรือปลูกพืช ว่า สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากฟาร์มหมูแล้ว เรายังมีโรงสี มีบ่อน้ำ ปลูกพืชต่างๆ เรียกว่า เกือบครบวงจร อะไรสามารถนำมาลดค่าใช้จ่ายได้ เราก็นำมาใช้ อะไรจำเป็นต้องซื้อ เราก็ต้องซื้ออยู่

สิ่งสำคัญ คือ เราต้องรู้ว่า จะขายใคร เช่น เป็ด ไก่ ไข่ที่ได้จะไปขายใคร และขอว่า อย่าวิ่งตามกระแส เพราะเราจะวิ่งตามไม่ทัน ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์การเลี้ยงแพะ เวลานี้เราขายหมดแล้ว เพราะมองว่าตลาดแพะ ไม่ได้อยู่ในอีสาน ฉะนั้น เราจึงขายแพะที่เคยเลี้ยงไว้หลายสิบตัวไปจนหมด 

...

“การทำเกษตร มันทำให้เราอยู่ได้ ไม่ขาด แม้บางคนจะไม่รวย แต่ก็ไม่ขัดสน ขอแค่เราต้องรู้ และปรับตัว โดยเฉพาะช่วงที่ลงมือทำใหม่ๆ ใน 3-4 เดือนแรก เนื่องจากอาจไม่มีรายได้เลย จึงขอให้อดทน ปรับตัว ฝ่าฟันไปให้ได้ ไม่เหมือนมนุษย์เงินเดือน ที่เราเคยผ่านมา ทุกเดือนมีเงินออก” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ