สาวอาข่ารุ่นใหม่ ทิ้งชีวิตในเมืองกลับขึ้นดอย ใช้ความรู้นิเทศศาสตร์-การสื่อสาร พัฒนาชุมชน สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ให้ชีวิตมีสุขอย่างยั่งยืน...


"เรารู้สึกว่าความเรียบง่าย คือ ความสุขที่แท้จริงของเรา"

หลายคนเลือกบอกลา 'บ้านเกิด' ของตัวเอง มุ่งหน้าเข้าเมืองศิวิไลซ์ ด้วยแรงปรารถนาในใจที่แตกต่างกันออกไป บางคนมีฝันที่อยากทำตามให้สำเร็จ บางคนเบื่อชีวิตและการเป็นอยู่ที่บ้านเกิด หรือบางคนเข้าเมืองหางานทำ มุ่งหวังสร้างรายได้ส่งกลับให้ครอบครัว

แต่ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว สาวรุ่นใหม่อย่าง 'มิวสิค-สุธาทิพย์ ทรัพย์เรือนชัย' หลังจบการศึกษาจาก ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในวัย 22 ปี เธอปฏิเสธการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ เลือกกลับไปใช้ชีวิตบนดอย เป็นสาวอาข่าตามชาติกำเนิด ที่หมู่บ้านขุนสรวย ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 

การเลือกกลับมาใช้ชีวิตที่ 'บ้านเกิด' ของมิวสิค เธอมีแรงมุ่งมั่นในใจอันล้นเปี่ยม ที่อยากจะพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน คนในพื้นที่ ให้ทุกอย่างดีขึ้น โดยอาศัยใช้องค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมา ถ่ายทอดวิถีชีวิตบนดอย ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่มีชื่อว่า 'อาบูซูลู สาวอาข่า' จนทำให้หลายคนตกหลุมรัก และเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวแห่งวิถีชีวิตที่หาไม่ได้ในเมือง

...

แม้จะไม่ได้เดินทางขึ้นดอยไปพบเธอ แต่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายตรงจากตึกสำนักงานริมฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต ไปยังจังหวัดเหนือสุดในสยาม ณ หมู่บ้านขุนสรวย เพื่อพูดคุยกับสาวอาข่ารุ่นใหม่คนนี้ ตลอดระยะเวลาของการสนทนา มิวสิคพูดคุยกับเราด้วยภาษากลาง ติดสำเนียงท้องถิ่น และน้ำเสียงสดใส ที่ทำให้เราพอจะนึกสีหน้าของเธอออก 

ระหว่างคุยนั้นก็มีเสียงไก่ขัน และเสียงคนในบ้าน แทรกเข้ามาเป็นระยะ เป็นข้อบ่งบอกได้ว่า วันนี้ทีมข่าวฯ และมิวสิคโชคดี ที่สัญญาณบนดอยชัดเจน ไม่เช่นนั้นเธออาจจะต้องเดินทางเข้าเมืองกว่า 20 กิโลเมตร เพื่อตามหาสัญญาณโทรศัพท์คุยกับเรา

อาบูซูลู สาวอาข่า :

หลายคนอ่านก็อาจจะงงๆ ว่า 'อาบูซูลู' คำแปลกหู 4 พยางค์นี้คืออะไร?

มิวสิคบอกกับทีมข่าวฯ ว่า อาบูซูลู เป็นภาษาของชาวอาข่า 'อาบู' แปลว่า เด็กผู้หญิง ส่วน 'ซูลู' แปลว่า คนที่กระฉับกระเฉง 'อาบูซูลู' จึงแปลได้ประมาณว่า เด็กผู้หญิงที่กระฉับกระเฉง ซึ่งนั่นเป็นคำที่พอจะอธิบายชีวิตโดยรวมของมิวสิค ที่เธอชอบหาสิ่งต่างๆ ทำไปเรื่อยๆ เพราะเธอไม่ชอบอยู่เฉยๆ

ชีวิตเรียบง่าย คือ ความสุขที่แท้จริง :

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีก็เกิด โควิด-19 พอดี มิวสิคจึงเลือกกลับมาอยู่ที่บ้าน เพื่อดูแลคุณพ่อคุณแม่ และสานต่อการทำสวนเกษตรอินทรีย์ และเธอยังหวังจะช่วยพัฒนาชุมชนชาวอาข่าบ้านเกิดแห่งนี้ให้ดีขึ้นด้วย 

มิวสิค บอกว่า ส่วนตัวชอบใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ชอบความวุ่นวาย ตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่ที่เชียงใหม่ ก็ได้สัมผัสกับชีวิตในเมืองมามากแล้ว จึงทำให้เรารู้ตัวว่า เราชอบที่จะอยู่กับธรรมชาติ เรารู้สึกว่าความเรียบง่ายคือความสุขที่แท้จริงของเรา

ทุกวันนี้เราเริ่มชินกับการอยู่บนดอยและธรรมชาติไปแล้ว เลยไม่อยากกลับไปอยู่ในเมือง มีคิดถึงเพื่อนบ้าง แต่เราก็ยังแชตหากันได้ บางคนที่ไม่เคยอยู่กับธรรมชาติ อาจจะมองว่าเราลำบาก ไม่มีความสุข แต่ที่จริงแล้วเรามีความสุข จึงเลือกแบบนี้ 

อย่างเรื่องอาหารการกิน ทุกอย่างเราปลูกเอง เลี้ยงเอง ทำเอง แล้วก็กินเอง มันทำให้รู้ว่าปลอดภัยและสะอาด หากตอนนี้ยังอยู่ในเมือง ก็คงต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ เพราะต้องซื้อทุกอย่าง แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย

...

อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด :

"หมู่บ้านหนูเป็นชุมชนที่ดั้งเดิ๊ม…ดั้งเดิม" มิวสิคลากเสียงคำว่า 'ดั้งเดิม' เพื่อเน้นย้ำความเก่าแก่ชุมชนของเธอ ซึ่งความดั้งเดิมนี้เอง ที่ทำให้เธอรู้สึกอยากกลับมาพัฒนาชุมชน ให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อาบูซูลู เล่าให้เราฟังว่า "ตอนที่เราตัดสินใจกลับมาอยู่บนดอย ในชุมชนไม่มีคนรุ่นใหม่เลย ยกเว้นมิวสิคคนเดียว เราเหมือนเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงชุมชนได้ เลยได้นำแนวคิดต่างๆ ที่อยากพัฒนาชุมชนไปปรึกษาผู้นำชุมชน ว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นได้บ้าง เพราะบางอย่างอาจจะรอแต่รัฐบาลหรือหน่วยงานไม่ได้ 

ดังนั้น เวลามีการประชุมมิวสิคจะยกมือถาม รวมถึงเสนอเรื่องต่างๆ เท่าที่จะทำได้ อะไรที่เรามองว่าพอทำได้ ก็พยายามเสนอออกไป เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกัน"

อย่างไรก็ตาม การเสนอแนวความคิดของคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางผู้ใหญ่ดั้งเดิม มิวสิคยอมรับว่า บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากพอสมควร เพราะบางอย่างอาจจะขัดต่อความคิดของพวกเขา ทำให้บางเรื่องก็เข้าใจกัน แต่บางเรื่องก็อาจจะไม่เข้าใจกัน

...

"ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการทำถนน การเดินทางลำบาก ถนนยังเป็นลูกรัง เราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนเรียนจบแล้วก็ยังเหมือนเดิม เราคิดว่าถ้าอนาคตถนนยังเป็นแบบนี้หมู่บ้านและชุมชนยังไม่ดีขึ้น ลูกหลานก็คงลำบาก เราเลยเสนอให้มีการปรับปรุงถนนขึ้นมาบ้าง

แต่ทางผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเขามองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรมป่าไม้ ต้องขออนุญาตก่อน แต่ในความคิดของเรา เราไม่ได้อยากให้เขาเทคอนกรีตหรือปูน เพราะเราเข้าใจอยู่แล้ว ถ้าทำแบบนั้นต้องดำเนินเอกสารและขอทางการ แต่สิ่งที่อยากให้ทำคืออยากให้ใช้รถไถปรับหน้าดินให้เสมอกัน เพื่อให้เดินทางสะดวกขึ้นก็เท่านั้น

ทำให้ตอนแรกยังไม่มีการปรับปรุงใดๆ ไม่มีสื่อและไม่มีใครเข้าถึง มันก็ยังเป็นถนนลูกรังอยู่อย่างนั้น เราพยายามทำคลิปลงสื่อโซเชียลของตัวเอง ให้เขาเห็นถึงความลำบากของการเดินทาง เผื่อทางหน่วยงานเห็นจะได้มาช่วย

แล้ววันหนึ่งคนเห็นกันมากขึ้น อบต. ก็เห็นคลิปเรา จึงนำหินคลุกมาช่วยแก้ไขบางจุดที่ลำบากให้ดีขึ้น ทำให้เราเห็นว่า แม้จะยังไม่ได้เป็นถนนแบบที่ตั้งใจไว้ทั้งหมด แต่สิ่งที่พยายามสื่อสารออกไปก็มีผลบ้างแล้ว"

...

การต้องพยายามต่อสู้กับความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ไม่ทำให้รู้สึกท้อบางหรือ? ทีมข่าวฯ ถามสาวอาบูซูลู

"บางทีก็รู้สึกท้อ แต่ยังมีคนให้ความสนใจและให้ความร่วมมือ จึงทำให้เรามีกำลังใจที่จะทำต่อไป เราคิดว่าบางคนที่ยังไม่เข้าใจ อาจจะเพราะว่าเขายังไม่เห็นมันเป็นรูปธรรม เราเชื่อว่าถ้าลงมือทำ แล้วเขาเห็น วันนึงพวกเขาอาจจะเข้าใจมากขึ้น

อีกอย่างคือ คนในชุมชนก็ยังรัก สามัคคี ช่วยเหลือกัน การเห็นไม่เหมือนกันในบางเรื่อง ถือเป็นเรื่องปกติ และเราเข้าใจได้ เพราะยังมีอีกหลายเรื่อง ที่เราช่วยกันทำแล้วมันก็ส่งผลดี" มิวสิคกล่าว

จุดเริ่ม… ที่บ้านยังไม่เข้าใจ จะทำไปทำไม!? :

โซเชียลมีเดีย การถ่ายคลิป การทำวิดีโอ หรือเทคโนโลยีต่างๆ ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวและไม่ใช่สิ่งที่คนบนดอยมองว่าสำคัญสักเท่าไร เพราะพวกเขายังมีวิถีชีวิตดั้งเดิมที่อยู่ได้ และมีความสุขในทุกๆ วันไปกับธรรมชาติ 

แต่สำหรับ 'อาบูซูลู' สาวอาข่ารุ่นใหม่ เธอมองเห็นถึงประโยชน์ของโซเชียลมีเดีย และพลังแห่งการสื่อสาร เมื่อกลับมาอยู่บ้าน เธอจึงเริ่มทำคลิป และถ่ายทอดชีวิตอาข่าลงโลกโซเชียล มิวสิคบอกว่า "ตอนแรกๆ ที่เราจะเริ่มทำคลิปคนในครอบครัวยังไม่เข้าใจ ว่าทำไปเพื่ออะไร" นั่นจึงทำให้เธอต้องพิสูจน์!

ปีแรกที่มิวสิคกลับมาอยู่ที่บ้าน สวนลิ้นจี่ประมาณ 10 ไร่ที่มีอยู่ให้ผลผลิตเยอะมาก เธอจึงใช้โอกาสนี้ โพสต์ขายลิ้นจี่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังจากโพสต์ขายได้ไม่นาน ก็หมดเกลี้ยง! ชนิดที่ว่าไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ที่บ้านของเธอตกใจและตื่นเต้นมาก ว่าทำไมขายได้ 

"เราจึงบอกเขาว่า นี่คือประโยชน์ของการมีเฟซบุ๊ก การทำเพจ การทำคลิป มันสามารถขายของได้ด้วย สร้างรายได้ให้กับเรา โดยไม่ต้องผ่านคนอื่น หลังจากนั้นพวกเขาจึงเริ่มเข้าใจเรามากขึ้น"

เปิดเพจ-ทำคลิปสร้างรายได้ ต่อยอดช่วยเหลือคนในชุมชน :

มิวสิค บอกว่า ช่วงแรกนอกจากที่บ้านแล้ว คนในชุมชนก็งงๆ และชอบถามว่าถ่ายคลิปไปทำไม แต่การนำองค์ความรู้มาช่วยชุมชนที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ การทำเพจ และทำคลิปนี่แหละ  

เพราะนั่นเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งที่ทำให้ทุกคนได้เห็นชุมชน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมบนดอย และเราก็นำสินค้าในชุมชนมาโฆษณาขายในเพจด้วย ทำให้ครอบครัว และชาวบ้านบางคนที่มีของขาย เขาก็มีรายได้

"อย่างที่เราทำเองก็มีกาแฟ ชา ยาหม่องขิง ฯลฯ ช่วงนี้เป็นฤดูเกี่ยวข้าวก็มีข้าวดอย แบ่งจำหน่ายและแบ่งไว้กินที่บ้าน เพราะว่าลูกค้าหรือว่า FC อยากลองกิน เลยแบ่งขาย ที่บ้านเราทำเองทุกขั้นตอน เป็นข้าวซ้อมมือไม่ได้ใช้เครื่องสีข้าวเป็นการตำแบบโบราณ ทำไม่เยอะเน้นเกรดพรีเมียมและคุณภาพ

คุณตาคุณยายบางคนทำงานสวนไม่ไหว ก็ไปหาหวายหรือไม้ไผ่มาสานตะกร้า เขาก็มาขอให้เราช่วยขาย เราก็ช่วยโปรโมตให้ พอขายได้เราก็เอาตังค์ให้เขาพวกเขาดีใจกันมาก เคยขายได้ 300 บาทก็ดีใจแล้ว เพราะสำหรับพวกเขาอยู่ได้เป็นอาทิตย์

จริงๆ แล้วคนบนดอยเป็นคนที่อึดและทนมาก ทุกคนสู้งานกันหมด เพียงแต่ว่าองค์ความรู้อาจจะยังไม่ได้เข้าถึงพวกเขามาก จึงทำให้ทำอะไรได้ไม่เต็มที่ พอไม่มีความรู้เลยทำให้ต้องไปพึ่งคนนู้นคนนี้ การที่เรามาทำตรงนี้จึงเหมือนช่วยคนในชุมชน คนอาข่าด้วยกัน"

สุขใจไร้สารเคมี :

อีกสิ่งหนึ่งที่มิวสิครู้สึกภูมิใจ และมองว่าเป็นอีกก้าวจากความพยายามเล็กๆ ของเธอ คือ ชุมชนของเธอลดการใช้สารเคมีลงได้มาก

อาบูซูลู เล่าว่า แต่ก่อนครอบครัวป่วยบ่อย คุณแม่เองก็เข้าโรงพยาบาลบ่อยที่สุดในหมู่บ้าน ช่วงแรกๆ ที่เป็นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอนานวันเข้าจึงเริ่มหาสาเหตุ และพบว่าเกิดจาก 'สารเคมี' เมื่อรู้ถึงต้นตอของปัญหา มิวสิคก็ขอให้ที่บ้านเลิกใช้สารเคมี และพยายามส่งต่อแนวคิดนี้ สู่บ้านอื่นในชุมชน เพราะอยากให้ทุกคนสุขภาพดีกันถ้วนหน้า

แม้ว่าตอนแรกคนนอกบ้านดูจะไม่เชื่อสิ่งที่เธอพูดสักเท่าไร แต่เมื่อบ้านของเธอสุขภาพดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยเช่นเคย คนในชุมชนจึงเริ่มทำตาม และผลลัพธ์ก็ถือว่าไปได้ดีเลยทีเดียว!

"พูดตรงๆ ว่า แต่ก่อนคนบนดอยใช้ยาและสารเคมีเยอะมาก ซึ่งตอนนี้ลดการใช้สารเคมีกันมากขึ้นแล้ว คนในชุมชนจากที่เคยใช้สารเคมี ก็เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพที่หมักกันเอง คนที่เอาของมาให้เราช่วยขาย เราก็เน้นไปเลยว่า ถ้าอยากให้เราช่วยต้องไม่พ่นยา พวกเขาก็ทำตาม

อย่างปีที่แล้ว ก็ช่วยขายส้มที่ไม่ได้ใช้สารเคมีได้มากกว่า 300 กิโลกรัม เราคัดของเอง แพ็กเอง ขับรถประมาณ 50 กิโลเมตร ลงมาส่งเอง เราเชื่อว่าถ้าทำแบบคุณภาพยังไงก็ไปต่อได้เรื่อยๆ เกษตรอินทรีย์อาจจะได้น้อยหน่อยแต่คุณภาพดี การขายของอะไรก็แล้วแต่ที่มีคุณภาพ มิวสิคมองว่ายังไงก็ไปได้อีกนาน"

ถ่ายทอดวิถีชีวิต รักษาวัฒนธรรม เชื่อมใจคนอาข่าไกลบ้าน :

หากใครเคยดูคลิปของมิวสิค จะเห็นว่าการตัดต่อ การลงเสียง หรือมุมกล้อง ไม่ได้มีความพิเศษกว่าคนทั่วไป แต่สิ่งที่พิเศษที่มิวสิคภาคภูมิใจเป็นอย่างมากคือ 'ความเป็นธรรมชาติที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมากมาย'

"การถ่ายทอดวิถีชีวิตและธรรมชาติ ผ่านตัวตนของเราแบบธรรมชาติ อาจจะดูธรรมดา แต่มิวสิคมองว่ามันคือความจริง ซึ่งคนก็น่าจะชอบสิ่งที่เป็นความจริง และคนอาจจะชอบที่ได้เห็นเสน่ห์ของอาข่าจากสิ่งที่เราทำด้วย 

เช่น บางทีเราใส่ชุดที่เป็นลายปักของชนเผ่า มันอาจจะดูธรรมดาถ้าคนในชุมชนมอง แต่คนที่ไม่ได้อยู่กับเรา เขาชอบในวัฒนธรรมแบบนี้ ซึ่งมันก็ดูไม่ธรรมดาในสายตาของพวกเขาด้วย"

แล้วใครเป็นตากล้องมือฉมัง ให้กับอาบูซูลูมิวสิคกันล่ะ?

คำตอบก็คือ 'คุณแม่' ของเธอนั่นเอง!

มิวสิค เล่าว่า การทำคลิปของเธอ จะปรึกษาตากล้องประจำตัวด้วย ว่าจะไปถ่ายหรือทำคอนเทนต์อะไรดี เพราะบางทีคนที่อยู่มานาน ก็มีมุมมองที่น่าสนใจเหมือนกัน และการทำคลิปก็คือการทำงาน และใช้เวลาร่วมกัน เป็นเหมือนการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มากขึ้นไปอีก

"เบื้องหลังของพวกเราไม่มีสคริปต์ใดๆ เลย เห็นอะไรก็ถ่ายเก็บไว้ มิวสิคไม่เคยบังคับว่าแม่ต้องทำแบบไหน หรือต้องพูดอะไร อย่างที่ทุกคนเห็นเราพูดกับแม่ เราก็ไม่ได้ปรุงแต่ง ชีวิตปกติก็คุยกับแม่แบบนั้นอยู่แล้ว"

ทีมข่าวฯ ถามมิวสิคว่า จะทำแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ แล้วทำไมถึงยังอยากทำอยู่?

"ก็คงจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะเรายังมีความสุข ยังรักกับสิ่งที่เป็นและสิ่งที่ทำ ก็ยอมรับว่าบางทีเหนื่อยและท้อ แต่โดยรวมคือความสุข พอมีความสุขทุกอย่างความเหนื่อยก็หายไป ทุกวันนี้คิดว่าการทำให้คนดูมีความสุข ก็เหมือนกันประสบความสำเร็จอย่างนึง"

มิวสิคกล่าวส่งท้ายอย่างน่าประทับใจไว้ว่า "เพื่อนบางคนที่ห่างหายกันไปนาน หลังจากได้เห็นคลิปแบบนี้ก็ติดต่อกลับมาพูดคุยกันมากขึ้น มันจึงเหมือนเป็นการส่งต่อเรื่องราวของคนดอย และเชื่อมความสัมพันธ์ของชาวอาข่าทุกคนให้กลับมาหากันอีกครั้งหนึ่ง 

ลึกๆ ในใจของเรา เรารักบ้านเกิด และอยากรักษาความสวยงามของวัฒนธรรมอาข่า ให้อยู่คู่แผ่นดินต่อไป ถ้าวันหนึ่งต้องถูกทิ้งไปโดยไม่มีใครเหลียวแล จนไม่เหลือให้ลูกหลานได้เห็น คงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย วันนี้เราจึงทำทุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้"


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ภาพ : อาบูซูลู สาวอาข่า

อ่านบทความที่น่าสนใจ :