จับตาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รองประธานอีคอนไทย เชื่อ ขึ้นแน่ แต่อาจไม่ถึง 400 บาท และอาจไม่ทันเป็นของขวัญปีใหม่ ที่นายกฯ เคยประกาศไว้...  

ใกล้จะสิ้นปี 2566 แล้ว...หลายคนเริ่มมองหา “ของขวัญปีใหม่” สำหรับคนไทย จะมีอะไรที่อยากได้ นอกจากความมั่นคงในชีวิต อาชีพที่มีหลักประกัน และรายได้ที่ไม่ขัดสน 

เมื่อเร็วๆ นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เคยประกาศว่า อยากจะให้ของขวัญปีใหม่กับแรงงานไทย ด้วยค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท (ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำใน กทม. อยู่ที่ 353 บาท) ถ้าทำจริง เท่ากับจะได้เพิ่ม ราว 50 บาท แม้ตัวเลขดังกล่าวจะดูไม่เยอะ แต่...หากบริษัทไหนใช้แรงงานมาก ก็ถือว่า ไม่น้อย 

นอกจากค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ยังเตรียม “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” โดยนายกฯ นิด บอกว่า “มีแผนจะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ แต่ต้องดูช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม” และได้มอบหมายให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ ในฐานะ ประธานกรรมการข้าราชการพลเรือน ไปเร่งรัด สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานงบประมาณ สำนีกงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความเหมาะสม เป็นไปได้ รวมถึงกรอบระยะเวลาด้วย 

...

อย่างไรก็ตาม จากข่าวล่าสุด การขึ้นค่าแรง เป็น 400 บาท ชักไม่แน่ว่าจะได้แล้ว และยิ่งได้รับคำยืนยันจาก เจ้ากระทรวงแรงงาน อย่าง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการว่า ค่าแรงขึ้นแน่...แต่ไม่ใช่ 400 บาททั่วประเทศ เพราะต้องพิจารณาอัตราเงินเฟ้อด้วย นี่คือ การส่งสัญญาณหรือไม่..?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติชุดที่ 20 มองว่า การขึ้นค่าแรง ถือเป็นนโยบายหาเสียงหนึ่งของพรรคเพื่อไทย และเพื่อไทย ก็เป็นแกนนำรัฐบาล ฉะนั้น ส่วนตัวคิดว่า ยังไงการเพิ่มเงินเดือน เขาก็เดินหน้าแน่นอน การเพิ่มเงินนี้ไม่ใช่แค่แรงงาน เขาผลักดันการขึ้นเงินเดือนราชการด้วย ซึ่งติดปัญหาด้วยการไปศึกษาก่อน ว่าจะขึ้นได้แค่ไหน... 

นายธนิต อธิบายว่า การจะขึ้นค่าแรงใช่ว่านายกฯ จะทำได้ทันที เพราะต้องไปหารือกับกลุ่มไตรภาคี และเช้าวันนี้ (6 พ.ย.) รมว.แรงงาน ท่านก็เพิ่งให้สัมภาษณ์อีกครั้ง โดยใช้คำว่า “400 บาท” คือ “เป้าหมาย” แต่จะขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับ “ไตรภาคี” และล่าสุด ก็พบว่า มีคำสั่งจากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับค่าจ้าง

“เวลานี้ ไม่มีใครกล่าวถึงเงิน 400 บาท ฉะนั้น ในความเห็นส่วนตัว เชื่อว่าน่าจะปรับขึ้นค่าแรงแน่...แต่มันเท่าไร? และที่สำคัญ คือ พรรคที่คุม ก.แรงงาน ไม่ได้มาจากเพื่อไทย และหากสังเกตดีๆ ประเด็นเรื่อง “เงินดิจิทัล” พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค นี่เขานิ่งเลย ไม่ออกมากล่าวถึง เพราะหากทำดิจิทัลสำเร็จ พรรคอื่นที่เขาไม่ได้ชูเรื่องนี้เขาก็อาจจะเสียคะแนนนิยมให้เพื่อไทย นโยบายเหล่านี้ ถือเป็นการชิงคะแนนเสียงด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะครบ 4 ปีหรือไม่”

เมื่อถามว่า เพื่อไทย เคยหาเสียงไว้ จะขึ้นค่าแรง 600 บาท ป.ตรี 25,000 บาท จะสัมพันธ์กับการขึ้นค่าแรงหรือไม่ นายธนิต ตอบว่า ตอนนั้นเขาหาเสียง และตอนนี้เขาไม่ใช่รัฐบาลพรรคเดียว เรื่องนี้มันก็คือทางออกทางหนึ่ง ได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่ตอนนี้เขาไม่ได้คุม ก.แรงงาน ถึงเวลาจริงสามารถปฏิเสธได้ ที่สำคัญคือ เหล่าพรรคการเมืองทุกพรรค ก็มีนายทุนทุกพรรค ต่างคนต่างมีธุรกิจ จำเป็นต้องใช้คนทั้งนั้น 

เบื้องหลัง การหารือของ “ไตรภาคี”

นายธนิต เล่าย้อนว่า เดือนที่แล้ว คณะกรรมการไตรภาคี ได้มีการประชุมเรื่องนี้ และผลที่ออกมา คือ จะใช้ “เงินเฟ้อ” ย้อนหลัง 3 ปี (2564-2566) เพื่อเฉลี่ยคำนวณเป็นตัวเงินขึ้นค่าแรง ซึ่งในปี 2565 เงินเฟ้อขึ้นถึง 6% แต่โดยเฉลี่ย 3 ปี แล้วไม่ถึง 3% อย่างไรก็ดี อัตรานี้ หารือแล้วยังไม่ “ตกผลึก” 

“ปี 64 ยังอยู่ในช่วง โควิด เงินเฟ้อ จึงต่ำ ขณะที่ ปีนี้ 2566 เงินเฟ้อ ต่ำลงจากปี 2565 เพราะมีฐานที่สูงและด้วยความโชคดีของประเทศ ที่เป็นเมืองอาหาร ส่งผลให้ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่มาก ขณะที่ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า รัฐบาลก็คอยพยุงอยู่ ส่งผลให้เงินเฟ้อปีนี้ไม่เกิน 1% เมื่อมาคิดเฉลี่ย 3 ปี จึงคิดว่าน่าจะอยู่ที่ 3% หากจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะขึ้นเท่าไหร่ โดยมาคำนวณจาก GDP ซึ่งปีนี้ก็โตน้อย อย่างเก่งไม่เกิน 2.5% เมื่อเป็นอย่างนี้ ภาพรวมคือ เศรษฐกิจไม่ดี ความสามารถของนายจ้าง ไม่ไหว... เต็มที่ก็บวกอีก 2-3% เป็น 5-6% หากค่าแรงเดิม 352 บาท ก็จะได้ขึ้นราว 17-20 บาท คำถามคือ ทำไมต้องขึ้น เป็น 400 บาท เท่ากับ 17%” 

...

ที่สำคัญคือ การหารือ คณะกรรมการในส่วนต่างจังหวัด ที่ผู้ว่าฯ เป็นคนแต่งตั้ง บางจังหวัดยังพบปัญหา บางจังหวัดยังไม่มีการแต่งตั้ง บางจังหวัดแต่งตั้งแบบไม่มีที่มาที่ไป ซึ่งทั้งหมดนี้ มันอยู่ที่คณะกรรมการในส่วนต่างจังหวัดด้วย และถึงวันนี้ยังไม่มีการพิจารณากันเลย 

ขึ้นค่าแรง อาจไม่ทันช่วงปีใหม่ 

รองประธาน อีคอนไทย ประเมิน ว่า การขึ้นค่าแรงครั้งนี้อาจจะไม่ทันเป็นของขวัญปีใหม่ด้วยซ้ำ เพราะนี่เดือนพฤศจิกายนแล้ว ยังไม่ตั้งต้นอะไรเลย... 

“ผมคาดการณ์ว่า อาจจะขึ้นค่าแรงได้ในเดือนพฤษภาคมปีหน้าเลย เพราะกรรมการในส่วนต่างจังหวัดยังไม่เรียบร้อย ต้องส่งเรื่องให้ส่วนกลางอีก และยังมีปัญหาเรื่องการเมืองมาผสมอีก อาทิ คนที่ดูแล ก.แรงงาน มองว่าไม่จำเป็นต้องรีบร้อน บวกกับเวลาทำงานเวลานี้ เต็มที่ก็ 30 วัน เนื่องจากในเดือนธันวาคมก็หยุดกันอีก 

ฉะนั้น หากจะขึ้นค่าแรง คงต้องกำหนดเปอร์เซ็นต์ แล้วไปบวกกับฐานเดิม ทุกอย่างก็จบ...แก้ปัญหาเรื่องรายจังหวัดด้วย คำถามคือ ปีที่แล้วขึ้น 5% ทำไมปีนี้ต้องขึ้น 17% 

...

ข้อดี ข้อเสีย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในช่วงเศรษฐกิจเปราะบาง 

การขึ้นค่าจ้าง ค่าแรงขั้นต่ำ มันต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของนายจ้าง และลูกจ้าง ที่ผ่านมา เรามีไตรภาคี เป็นตัวกำหนด โดยดูที่ GDP, เงินเฟ้อ, ความสามารถลูกจ้าง-นายจ้าง ซึ่งทุกอย่างมีกติกาที่เขียนไว้เป็นกรอบการทำงานอยู่แล้ว หากคุณเลือกจะ “นอกกรอบ” อาจเป็นเรื่อง “ผิดกฎหมาย” เพราะเขาไม่ให้อำนาจนายกฯ หรือ พรรคการเมือง กำหนดกลไกค่าจ้าง 

“ปีนี้สภาพเศรษฐกิจแย่มากนะ และปีหน้าจะหนักกว่านี้ ด้วยเหตุนี้ นายกฯ ถึงเสียงอ่อน... การส่งออกปีนี้ยังติดลบอยู่ ปีหน้าก็ไม่รู้ว่าจะดีกว่าปีนี้ไหม การที่จะขึ้นเงินแบบวูบวาบ ในสภานการณ์อ่อนแอ ซึ่ง รมว.แรงงาน ก็พูดเองว่า สำรวจแล้ว ครึ่งหนึ่งอาจอยู่ไม่ได้ ส่วนตัวผมก็มองว่า อาจจะพูดดูมากไป แต่หากขึ้นจริงมันอาจจะกระทบการจ้างงานใหม่ โดยเฉพาะแรงงานที่กำลังจะจบมา กว่า 5 แสนคน” 

การขยับค่าแรงขั้นต่ำ เท่ากับปรับฐานทั้งระบบ! 

รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ย้ำว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำหรือ กระชากค่าครองชีพ มันเท่ากับการปรับฐานเงินทั้งประเทศ เพราะแรงงานต่างชาติที่เข้ามาก็จะได้หมด คนไทย บางคนทำงานเกิน 400 บาท ไปแล้ว ก็ต้องปรับฐานหนีไปอีก 

...

“การจะปรับเป็น 400 แปลว่า แรงงานต่างชาติแบบไร้สกิลจะได้ด้วย สิ่งที่จะสะเทือน คือ กลุ่มแรงงานเดิมที่ได้มากกว่า ที่เคยได้ 400 กว่าบาท ก็ต้องขยับฐานอีก เรื่องนี้ทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว ว่าการปรับในลักษณะนี้จะสะเทือนทั้งฐาน ต่างด้าวบางคนเป็นหัวหน้าช่าง แบบนี้จะขยับไปอีก”

การขยับค่าแรง กับการย้ายฐานการผลิต 

นายธนิต มองประเด็นนี้ว่า หากมีย้ายฐานการผลิต ส่วนมาก จะไม่ได้มาจากค่าแรง แต่การเพิ่มค่าแรงนั้น จะทำให้เขาไม่เพิ่มการลงทุนในประเทศ ยกตัวอย่าง คือ หากคุณซื้อบ้านไว้ แล้วคุณจะย้ายหนี เพราะเขาขึ้นค่าส่วนกลางหรือไม่ เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้... เพราะการย้ายหนีมันไม่คุ้มค่า แต่ถามว่า หากต้องการหลังใหม่ คุณก็เลือกที่จะไม่ซื้อ 

การลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศต่างๆ นั้น มีอยู่ 3 ปัจจัย ไล่เรียงลำดับคือ 

1.ผลิตภาพแรงงาน 

2.ต้นทุนทางภาษี FTA (เขตการค้าเสรี) หรือ GSP สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ซึ่งประเทศไทย ทางยุโรปมองว่าเจริญแล้ว เขาไม่ให้ 

3.ค่าแรงขั้นต่ำ 

“ของผลิตที่เวียดนาม เขาได้ FTA และ GSP รวมๆ กันแล้วกว่า 10% แต่ประเทศไทย ถูกเก็บเต็ม ดังนั้น การไปลงทุนในเวียดนาม จึงดูชัด ซึ่งการเลือกจะลงทุนนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ “คน” และตลาดในประเทศไทย เป็นตลาดที่กำลังเข้าสู่คนสูงวัย แตกต่างจากเวียดนาม ตลาดคนหนุ่มสาว หรือ ฟิลิปปินส์ หากส่งออกแล้ว สามารถขายในประเทศได้เยอะ มันจะดูคุ้มค่า ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย มีประชากรกว่า 300 ล้านคน เมื่อมองบ้านเรากลายเป็นสังคมสูงวัย ไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอย”

ปัญหาสำคัญ คือ ไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หรือ มีการส่งเสริมที่ไม่เป็นรูปธรรม เช่น ควรส่งเสริมเรื่องการใช้เทคโนโลยี การใช้นวัตกรรม เราควรจะเปลี่ยนรูปแบบในการขาย อย่าขายของถูกๆ อย่าขายข้าว หรือ ยางเป็นตัน เราต้องรู้จักแปรรูปให้มากๆ จากนั้น “ค่าแรง” สูงๆ จะตามมาเอง...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ