เปิดสถิติยอดขาย ยานยนต์ไฟฟ้า 9 เดือนแรก BEV พุ่งแบบก้าวกระโดด ยอดรวม รถยนต์ จักรยานยนต์ แซง ไฮบริด แล้ว กูรูวิเคราะห์ทิศทางเทียบกับรถยนต์ระบบสันดาป...
ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจดทะเบียนใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้า ของกรมขนส่งทางบก หากมองในภาพรวม ก็คล้ายว่า คนไทย รู้สึกมั่นใจ ถึงขนาดซื้อรถยนต์ไฟฟ้า แบบใช้แบตเตอรี่ (BEV) มากกว่า “ไฮบริด” (HEV) แล้ว ทั้งที่ “ไฮบริด” มาก่อน นับสิบปี
รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญรถยนต์ไฟฟ้า วิเคราะห์ถึงสถิติ และยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ว่า แม้ยอดขายโดยรวม ยานยนต์ไฟฟ้า แบบแบตเตอรี่ (BEV) จะดูมากกว่า “ไฮบริด” แล้ว แต่ถ้าดูลึกๆ ก็ค้นพบว่าประเภทรถยนต์อย่างเดียว “ไฮบริด” ยังคงมากกว่า โดย ขายได้ 64,937 คัน ขณะที่ รถยนต์ BEV ได้ประมาณ 50,000 คัน แต่ตัวเลขที่เพิ่มจนแซงได้มาจาก จักรยานยนต์ไฟฟ้า
หากพูดถึง “ยานยนต์” คือ แซง แต่รถยนต์ ยังไม่แซง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยให้ความมั่นใจมากขึ้น กับรถยนต์ไฟฟ้า 100% ถือเป็นการก้าวกระโดด เพราะหากสังเกตจากปีก่อนๆ ยานยนต์ BEV แค่ 2 หมื่น แต่ปีนี้ 9 เดือน กระโดดไป 5-6 หมื่น
...
“ส่วนตัวมองว่า ฝั่ง จักรยานยนต์ ยังถือว่าขายได้น้อย คือ 15,935 คัน ทั้งที่สัดส่วนรถบนท้องถนนนั้น มอเตอร์ไซค์ มากกว่า รถยนต์ถึง 2 เท่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ “ทางเลือก” ของ จักรยานยนต์ไฟฟ้ามีน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับรถยนต์”
วงการยานยนต์ ทิศทางที่เริ่มเปลี่ยนไป
ในอนาคต 3-4 ปี ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์จะเปลี่ยนไปขนาดไหน รศ.ดร.ยศพงษ์ บอกว่าไม่ใช่ 3-4 ปี เวลานี้ก็เริ่มเปลี่ยนแล้ว โดยเฉพาะ “ผู้ผลิตรถยนต์” จากประเทศจีนเข้ามาเยอะ ที่สำคัญ คือ ปีหน้าจะเริ่มตั้งโรงงานในประเทศไทย ซึ่งมันเป็นการสะท้อนโฉมหน้าว่า “ใคร” จะทำ “จริงจัง” แค่ไหน
เวลานี้ อาจจะต้องอาศัยการนำเข้าอยู่ แต่เมื่อไรก็ตาม มาตั้งโรงงานประกอบ หรือ ผลิตที่นี่ “ความมั่นใจ” ก็จะเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะ การซ่อมแซม อะไหล่ ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังคือ “ราคา” ก็อาจจะไม่สูงเท่าการนำเข้า เท่าที่สังเกตเวลานี้ คือ “ราคา” ที่บ้านเราถือว่า “ถูกมาก” ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ “ชิ้นส่วน” รถยนต์ให้ไทยได้ด้วย และมันจะเป็นราคามาตรฐานเทียบเท่ากับของจีนด้วย
“หากมีซัพพลายเออร์ไทยคนใด เข้าไปร่วมธุรกิจนี้ ก็อาจจะร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในไทยได้ด้วย ในขณะที่ “ซัพพลายเออร์” ที่เคยทำงานกับค่ายรถเดิมๆ ก็ต้องรอดูต่อว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าทำกับยานยนต์ไฟฟ้าได้ ก็ถือว่าเป็นโอกาส”
ค่ายยานยนต์ไฟฟ้า กับการตั้งฐานการผลิตในไทย
รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าวว่า ถึงวันนี้ก็มีหลายบริษัทสนใจตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ที่แน่ๆ ประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว คือ BYD ที่จะไปลงทุนที่ระยอง NETA V จะไปตั้งโรงงานที่บางชัน GWM มาอยู่เมืองไทยสักพักแล้ว ส่วน “ฉางอัน” ก็เข้ามา ขณะที่ ปตท. ก็มีการร่วมทุน เพื่อประกอบรถยนต์
“เทรนด์ ยานยนต์ไฟฟ้า มันถือเป็นเทรนด์ของโลก และไทย ก็เก่งปรับตัวรับอะไรใหม่ๆ เพราะยานยนต์ EV ต้องอาศัยการยอมรับอะไรใหม่ๆ ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ให้การส่งเสริมเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะใน การปล่อยมลพิษ ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก และทำให้อุตสาหกรรมใหม่ เรียกว่าเป็นการสร้างโอกาส ตามนโยบาย 30@30 ซึ่งเป็นการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ซึ่งเรื่องนี้เริ่มในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านนายกฯ เศรษฐา ก็ยังพูดถึงอยู่”
หากมองภาพรวมๆ ก็เห็นว่า นี่เป็นการสานต่อนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมา คนในวงการก็กังวลเรื่องาร “สานต่อ” ในขณะเดียวกัน ในฐานะผู้นำประเทศ ก็ใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เห็นด้วย ถึงแม้ว่า “เทสล่า” จะยังไม่ได้มาลงทุน หรือ ผลิตในประเทศ แต่การใช้ให้เห็นก็เป็นนัยยะว่าท่านก็ส่งเสริมและทำให้ประชาชนมีความรู้สึกมั่นใจ
...
ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นของเดิม รศ.ดร.ยศพงษ์ มองว่า แม้จะสนับสนุน EV ให้ได้ 30 แต่อีก 70 ก็ยังเป็นกลุ่ม ICE (internal combustion engine) ก็คือกลุ่มเครื่องยนต์สันดาป ประเด็นมันอยู่ที่ว่า “ตลาด” ในปี ค.ศ. 2030 จะเป็นอย่างไร มีโอกาสถึงครึ่งไหม ที่จะมีการใช้จริง และอุตสาหกรรม หรือจะเกินครึ่งก็เป็นไปได้ หากมองเฉพาะในกลุ่มรถยนต์
“กลุ่มที่ควรส่งเสริมต่อ คือ รถกระบะ ขณะที่กลุ่ม รถจักรยานยนต์ นั้น มองว่า หากมี “ตัวเลือก” ก็อาจจะมากขึ้นตามมาเอง ตลาดของ จักรยานยนต์ คล้ายกับ “ตลาดรถยนต์ EV” สมัย 5-6 ปีก่อน คือ ตัวเลือกน้อย ราคาแพง แต่ถ้าต่อไปราคาถูกลง ก็คาดว่าจะดี เหมือนกับ รถยนต์”
กูรูยานยนต์ไฟฟ้า เชื่อว่า สาเหตุที่กลุ่มรถยนต์โตเร็วกว่า เพราะบริษัทที่ผลิต เป็นบริษัทระดับโลก ขณะเดียวกัน กลุ่มที่เป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้า นั้น เรียกว่าเป็นบริษัทที่เล็กกว่า โอกาสเติบโตจึงช้ากว่า และเท่าที่สังเกต ยังไม่เห็นบริษัทที่ผลิต จักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่โดดเด่นมากนัก
...
คลื่น รถยนต์ EV กระทบฝั่ง รถยนต์สันดาป
“ในอนาคต กระแสรถยนต์ EV อาจจะส่งผลกระทบไปยัง ค่ายรถญี่ปุ่น เดิม ก็ง่ายๆ ตัวเลขมันก็ชัด คือ ตลาดรถยนต์ BEV มาแป๊บเดียว ยอดเทียบเท่ากับ ไฮบริด ที่ทำตลาดมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังขายได้เท่านี้ แต่...ส่วนตัวเชื่อว่า บริษัทใหญ่ๆ เขาก็มีการทำข้อมูล เพื่อรักษาตลาดตรงนี้ยังไง...
ความยากของบริษัทใหญ่ คือ เขาจะมองว่า “คลื่น” นี้เป็นคลื่นประเภทไหน เป็นแค่ลมฝนธรรมดา เขาก็อยู่ได้ หรือ ถ้ามองว่าเป็น “พายุใหญ่” ทำให้บ้านพัง หรือ เริ่มรั่วแล้ว”
รศ.ดร.ยศพงษ์ บอกว่า วิธีการที่ดูง่ายที่สุด ก็คือ ดูยอดขายย้อนหลัง 9 เดือนของแต่ละค่าย เป็นอย่างไร ตัวเลขลดลงไหม เพราะสิ่งที่เห็นๆ คือ มีรถยนต์มาแทนที่ของเดิม ถึง 5 หมื่นคัน ถ้าในอนาคต BEV สามารถกินสัดส่วนของรถเก๋งได้สัก 10-15% คิดว่าน่าจะสะเทือน
“เวลานี้รถยนต์ไฟฟ้า ก็มีอะไรมากกว่าเดิม นอกจากความปลอดภัย ทั้งความสะดวกสบาย มีลูกเล่นอะไรใหม่ๆ ก็ใส่เข้ามา หากรถยนต์ไฟฟ้ามันห่วย ก็เชื่อว่าคนก็ไม่ซื้อ แต่ที่ซื้อเพราะอะไร... เพราะรถราคา 5-6 แสน ถึงหลักล้านก็ซื้อได้”
เมื่อถามว่าทางยุโรป เริ่มมีการตั้งคำถามกับ รถยนต์ EV จีน ทำไมถึงขายถูก ปลอดภัยหรือไม่ ได้รับเงินอุดหนุนจากจีนหรือไม่ รศ.ดร.ยศพงษ์ บอกว่า การตั้งคำถามดังกล่าว เป็นประชาชน หรือรัฐบาลตั้ง หากเป็นรัฐบาล ทำไมภาครัฐไม่ถามบ้างว่าทำไม รถในยุโรปขายแพง นี่คือคำถามในทางกลับกัน
ส่วนเรื่องเงินอุดหนุนนั้น บริษัทรถยนต์ในจีน ครึ่งหนึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ แล้วจะไม่มีรัฐบาลร่วมได้อย่างไร แต่ที่เป็นเอกชนล้วนก็มี เพราะมีบางบริษัทก็เจ๊ง เพิ่งประกาศ “ล้มละลาย”
...
“สิ่งที่เขาทำ ก็อาจจะคล้ายกับ “เทสลา” ก็ได้ ที่ช่วงแรกยอมขาดทุนๆๆ แต่พอมาถึงวันหนึ่ง เขาก็อาจจะกำไรๆๆ สิ่งที่เขาทำ อาจจะยอมขายถูก ในราคาต้นทุน แต่ภาพรวมบริษัทขาดทุน แต่พอทำไปมา ต้นทุนลดลง มารวมการบริหารจัดการเงิน ก็ได้กำไร ซึ่งกว่าเทสลา จะมีกำไร ก็ใช้เวลานับสิบปี คำถามคือ อยู่ได้เพราะอะไร มันคือการลงทุน ใช่ไหม ส่วนตัวมองว่าเป็นกลไกตลาดปกติ ซึ่งรัฐบาลจีนเขาสนับสนุนในการสร้างตลาด ทำให้มีผู้ผลิตเยอะ ทำให้มีการแข่งขันกันมาก และคนที่ทำราคาได้ดี เริ่มเข้มแข็ง จึงตีตลาดต่างประเทศ ใช่ว่าทุกค่ายจะมีกำไร แต่บางค่ายที่มีกำไร เพราะเขามีเทคโนโลยี เช่น BYD เขามีเทคโนโลยี เรื่องแบตเตอรี่ และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ