เกษตรผสมผสานที่รวยได้ คุยกับ “ลุงนิด” หมอดินลพบุรี 77 ปี ไร้โรค ทำเกษตรผสมผสาน ตะไคร้-ชะอม ไร่ละแสน ได้จับเงินล้านทุกปี...

ถ้าเวลานี้คุณอายุเกือบ 80 ปี มีเงินเก็บหลายล้านบาท สามารถแบ่งเงินให้ลูก คนละ 2 ล้าน พร้อมแบ่งที่ดินกว่าหลายสิบไร่ให้ได้ทุกคน คุณจะมีความสุขไหม... และนี่คือต้นแบบเกษตรกรที่กินอยู่พอเพียง ที่คำว่า “พอเพียง” นั้น ไม่ได้หมายถึง อยู่อย่างคนจน แต่อยู่อย่างใช้จ่ายได้อย่างไม่ขัดสน มีเงินเก็บ และเรียกว่า “รวย” ได้ในฉบับของตัวเอง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับวิถี “เกษตรยั่งยืน” สัปดาห์นี้ ขอเสนอเรื่องราวของ “ลุงนิด” สมพร ดาวลอย “หมอดิน” จ.ลพบุรี วัย 77 ปี ผู้นำความรู้ของศาสตร์พระราชา “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ แต่เรียกตัวเองว่า “คนรวย”

ทำนามาทั้งชีวิต ไม่เคยคิดทำเกษตรผสมผสาน

ลุงนิด เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนก็ทำนาปรังมาทั้งชีวิต ไม่เคยคิดจะทำเกษตรผสมผสานเลย แม้เราจะได้ยินพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านเคยสอน ก็เหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เพราะเราก็พอมีรายได้จากนาปรัง จึงไม่ได้สนใจ กระทั่งมาเจอวิกฤติน้ำท่วม ท่านสอนว่า ทำอย่างไรจะลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย...

“หลังปี 54 ก็มีการเร่งระบายน้ำออก เราอาศัยน้ำจากเขื่อนหลัก ภูมิพล สิริกิติ์ เมื่อเขาเร่งระบายน้ำจนหมด ทีนี้ก็มีน้ำใช้เหลือน้อย การจะทำนาปรังจำเป็นต้องใช้น้ำเยอะ แต่ทีนี้จึงทำไม่ได้ ประกอบกับมีที่ดินที่เป็นดอนเยอะ ก็เลยเริ่มทดลองปลูกพืชผสมผสาน กับเนื้อที่ดิน 1 ไร่ 2 งาน โดยเริ่มจากผักสวนครัวทั่วไป เช่น กะเพรา ตะไคร้ และเมื่อเราไปเจอแม่ค้าจากตลาดไท มารับซื้อผักแถวบ้าน เราจึงเข้าไปติดต่อและถามว่าเขาอยากได้อะไร...”

...

นี่คือจุดเริ่มต้นของการปลูกพืชเกษตรผสมผสาน และขายผักพืชต่างๆ ส่ง “ตลาดไท” ตามรอยพระดำรัสพ่อหลวง คือ “ปลูกไว้กิน หากเหลือกินก็ให้ขาย”

ที่มาภาพ : เว็บไซต์ อบต.บ้านข่อย
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ อบต.บ้านข่อย

จุดเริ่มต้น กับรายได้เล็กน้อย...

ลุงนิด เล่าว่า หลังจากเริ่มทำสักระยะ ก็เริ่มมีรายได้เข้ามาเล็กน้อย โดยที่เราสามารถลดรายจ่ายได้ด้วย ไม่ต้องไปหาซื้อผักมากิน เพราะในสวนเรามีแทบทุกอย่าง พริก ผัก ต่างๆ ปลูกไว้กินได้.. บวกกับเราได้ความรู้จากการได้ไปศึกษาดูงานในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากเราทำงานท้องถิ่นด้วย จึงถือโอกาสเก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้จากเกษตรกรคนอื่นๆ

กระทั่งถูกเสนอชื่อให้เป็นตัวอย่างเกษตรพอเพียง เนื่องจากเราไปศึกษาหาความรู้ ถูกเสนอชื่อให้เป็น “หมอดิน” ประจำ ต.สี่คลอง อ.เมือง จ.ลพบุรี โดยหลังจากน้ำท่วมหนักปี 54 เราก็เริ่มทำจริงจังในปี 2556 และในปี 2558 เราเริ่มทำอย่างจริงจัง และเริ่มมีคนมาดูงานในพื้นที่ของเราบ้าง...

จุดกำเนิด ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเขียงสองแสน

หลังจากทำจริงจัง ลุงนิดเริ่มสร้างรายได้จากพืชผลทางเกษตรหลายชนิด แต่ที่โดดเด่น คือ การปลูกตะไคร้ ที่สามารถสร้างรายได้ต่อปี 1 ไร่ 1 แสน ประจวบเหมาะว่ามีทีมนายก อบต. เขาเดินทางเข้ามาคุย และอยากจะเสนอชื่อเราเข้าประกวดโครงการเศรษฐกิจพอเพียง รองนายกคนหนึ่งหันมาเห็น “เขียง” วางอยู่ เราก็ทิ้งไว้เฉยๆ และปีนั้นเราสร้างรายได้จากตะไคร้ ได้ 2 ไร่ 2 แสน จึงเป็นที่มาศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เขียงสองแสน...

เนื่องจาก “ลุงนิด” มีที่ดินจำนวนมาก นับร้อยไร่ (เพราะหากมีเงินจะซื้อที่ดิน) ที่ดินจึงมีทั้งที่ลุ่มและที่ดอน หากเป็นพื้นที่ลุ่ม จะใช้ทำนาปลูกข้าว หากเป็นที่ดอน จะนำมาใช้ในการทำสวน

“ตะไคร้” ไร่ละแสน ปลูกครั้งเดียว ได้ 3 เท่า

สำหรับเคล็ดลับการปลูกตะไคร้ของลุงนิด เจ้าตัวมั่นใจว่าแตกต่างจากคนอื่น เนื่องจากได้ผลผลิต 3 เท่า เคล็ดลับ คือ ปลูกครั้งเดียว ตัดได้ 3 ครั้ง โดยวิธีการนี้ได้มาจากการทำนา ก่อนอื่นคือ เอา “ตะไคร้” ที่ตัดไว้แล้วสัก 1 คืบ มาแช่น้ำไว้ก่อน 1 สัปดาห์ เหมือนเลี้ยงให้ออกรากสักนิด จากนั้นเมื่อมีรากแล้ว เราก็เอาไปดำลงไปในดินเหมือนดำนา

...

ส่วนดินที่ปลูกต้องทำร่องน้ำไว้ด้วย เวลาเรารดน้ำ เรารดน้ำให้ท่วม ส่วนน้ำที่เป็นส่วนเกินมันก็จะไหลออกไปทางร่องน้ำ อย่าปล่อยให้น้ำขัง

“การปลูกตะไคร้ เรารู้ว่าเขาไม่ชอบน้ำมากเกินไป หรือช่วงหน้าฝน ฝนตกลงมาเยอะ เราต้องไประบายน้ำออก การปลูกตะไคร้จะไม่ค่อยมีศัตรูพืช เพราะมันมีกลิ่นแรง สัตว์ แมลงไม่ชอบ มีเพียงอย่างเดียว คือ หนู หากมีการอพยพหนีน้ำ มา มันอาจจะมากัดกินได้”

ตั้งแต่เริ่มปลูก 1 ชุดแรก จะใช้เวลา 6 เดือนในการเจริญเติบโต เราจึงตัดครั้งแรก วิธีการตัดคือต้องตัดให้เนียนกับดิน 1 กอ จะได้ 4-5 กก. จากนั้นก็ปล่อยให้มันเจริญเติบโต คราวนี้จะใช้ระยะเวลา 4 เดือน เราตัดรอบสอง และรอบสามก็ใช้เวลา 4 เดือน เท่ากับ 1 รอบ 14 เดือน เราได้ผลผลิต 3 เท่าต่อการปลูกเพียงครั้งเดียว... ได้เงินไร่ละ 1 แสน

ลุงนิด เล่าว่า การปลูกตะไคร้นั้นก็มีผลเสีย คือ จะทำให้ดินจืด เมื่อได้ระยะเวลาสมควร ก็ต้องบำรุงดินด้วยการหว่านปอเทืองไว้ เพื่อให้ดินมันปรับตัวสัก 1-2 ปี แต่หากไม่ปลูกตะไคร้ เราก็ปลูกชะอมขาย วิธีการไม่ได้ต่างกันมาก เพียงแต่ชะอมนั้นใช้น้ำน้อยกว่า และอย่าปล่อยให้น้ำขังเช่นกัน รายได้ก็ดีเท่าๆ กับตะไคร้ คือ ไร่ละ 1 แสนบาท

...

ทั้งสวน คือ เกษตรอินทรีย์

นายสมพร ระบุว่า เนื่องจากว่าเราเป็น “หมอดิน” ด้วย เราจึงรู้วิธีการปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมด ผลผลิตบางอย่างที่เคยทำในอดีต อย่าง “พุทรานมสด” นั้น จะใช้แต่อินทรีย์ไม่ได้ เนื่องจากเอาไม่อยู่ เราจึงตัดสินใจเลิกปลูก เนื่องจาก “หนอน” มันเจาะกินในลูกพุทราเลย มันดูแลยาก การที่เราจะใช้เคมี ก็กลัวว่าจะให้โทษกับคนกิน เราจึงตัดสินใจเลิก

การบำรุงดินของเราจะใช้ปุ๋ยคอก เนื่องจากลูกสาวเลี้ยงวัวอยู่เยอะมาก นับร้อยตัวที่ จ.นครสวรรค์ ดังนั้น เราจึงเอาขี้วัวมาใช้ นอกจากนี้ ก็ใช้ใบตะไคร้ หยวกกล้วย มาหมกๆ ไว้ ผสมสารเร่ง พด.1 เมื่อหมักเรียบร้อย เราก็นำดินเหล่านี้มาใส่ในสวนและนาของเรา...

เป็นเกษตรกร ก็รวยได้ หลักคิดและวิธีการเก็บเงิน

ลุงนิด บอกว่า ทุกวันนี้มีความสุขมาก ใครว่าการเป็นเกษตรกรไม่รวย เรื่องนี้ไม่จริง เพราะทุกวันนี้มีเงินเก็บหลายล้านบาท ที่ดิน 170 ไร่ ก็แบ่งให้ลูกๆ รวม 3 คน เหลือที่ดินของตัวเอง 20 กว่าไร่ นอกจากนี้ ยังให้เงินลูกไปคนละ 2 ล้านบาท ให้ไปทำทุนกัน

...

“วันนี้ ผมอายุ 77 ปีแล้ว ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ทำสวน ทำไร่ ก็มีแค่ 2 คนตายาย หลักคิดของเรา คือ หากมีรายได้เข้ามา ต้องเก็บไว้อย่างน้อย 30% หากมี 1,000 บาท ก็เก็บใส่กระป๋องไว้ 300 บาท”  

ลุงนิด สมพร บอกว่า เรารู้จักหลักการเศรษฐกิจพอเพียงช้าไป หากเรารู้เร็วกว่านี้ก็อาจจะมีเงินมากกว่านี้ แต่...แค่นี้ก็มีความสุขมากแล้ว

“ส่วนคนที่คิดอยากจะปลูกพืช ก็ขอให้ศึกษาพืชแต่ละชนิดก่อน ว่าชอบน้ำ ชอบดินแบบไหน และทดลองปลูกให้หลากหลาย ทำร่องน้ำระบายไว้ด้วย เพราะพืชผักเกือบทุกชนิด ไม่ชอบน้ำขัง เวลาฝนตก มีน้ำขัง 1-2 ชั่วโมง ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยต้องทำทางให้น้ำไหลออก ส่วนใครอยากขายจริงๆ สิ่งแรกต้องรู้ก่อนว่าจะขายใคร ต้องหาตลาดให้ได้เสียก่อน ลุงเองก่อนจะทำก็ไปถามก่อนว่าเขาอยากได้อะไร ขายที่ไหน ก่อนจะลงมือ เกษตรกรอย่างเราเก่งเรื่องการปลูกพืชอยู่แล้ว แต่ตลาดนั้นก็สำคัญ ต้องหาให้ได้ก่อน”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ