ศาลปกครองระงับการกำหนดใบสั่งจราจรของตำรวจ ทำให้มีประกาศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงแนวทางปฏิบัติที่ในช่วงสุญญากาศ โดยให้ ตร.ใช้ดุลพินิจ เปิดให้ผู้ถูกออกใบสั่งโต้แย้งได้ กำหนดค่าปรับให้เหมาะสมกับพฤติการณ์กระทำผิด ประเด็นนี้ทำให้ประชาชนกังวล ถึงปัญหาที่ตามมาในการบังคับใช้ใบสั่งของตำรวจ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มีคำสั่งด่วนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศ กรณี คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนประกาศ ตร. เรื่องกำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 โดยระหว่างนี้ ให้ตำรวจผู้ปฏิบัติงาน ใช้ดุลพินิจ เปิดให้ผู้ถูกออกใบสั่งโต้แย้งได้ และให้ใช้ดุลพินิจรอบคอบ กำหนดค่าปรับอย่างเหมาะสม
จากความกังวลถึงช่วงสุญญากาศ ของใบสั่งจราจร ที่ประชาชนอาจสับสนใจการทำงานของเจ้าพนักงาน ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า จากการสอบถามไปยังผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการยืนยันให้มีการปฏิบัติตามแนวทางเดิม สิ่งที่ตามมาหลังจากนี้ คือ ถ้ามีผู้กระทำผิดกฎจราจร พร้อมต่อสู้ในชั้นศาล จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของศาลระยะยาว
...
“การระงับของศาล ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การออกแบบใบสั่งจราจร ตัวข้อความในใบสั่งไม่ตรงกับกฎหมายหลัก เนื่องจากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดเกณฑ์ขึ้น โดยประเด็นหลักที่ศาลสั่งโมฆะคือ ตามกฎหมายให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งได้ แต่ในใบสั่งกลับระบุว่า ต้องให้ไปชำระค่าปรับภายในกี่วัน โดยไม่มีการระบุว่าสามารถโต้แย้งได้”
ขณะที่จำนวนค่าปรับ กฎหมายหลักมีการกำหนดอัตราค่าปรับ แล้วให้เจ้าพนักงานใช้ดุลยพินิจ แต่ในใบสั่งมีการระบุตัวเลขมาเลย ทำให้มีความรู้สึกว่า เป็นการปิดประตูการโต้แย้งของผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากที่ผ่านมาตำรวจมักมีคำครหาในการใช้ดุลยพินิจเกินเหมาะสม และอาจใช้เป็นเครื่องมือหากิน
ในช่วงสุญญากาศ การบังคับใช้กฎหมายใบสั่งและค่าปรับ ยังมีการบังคับใช้อยู่แบบเดิม แต่ตอนนี้มีปัญหาอยู่ที่ใบสั่ง ดังนั้น ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติอุทธรณ์ผ่าน เกณฑ์ค่าปรับที่กำหนดไว้ก่อนหน้านั้นจะชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ใบสั่งที่ออกช่วงนี้ต้องชะลอไว้ก่อน
การทำผิดกฎจราจรจะมีปัญหาระหว่างนี้ คือ การทำผิดที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง เช่น การตรวจจับความเร็ว ที่วันเกิดเหตุเจ้าของรถอาจไม่ได้ขับ แต่คนอื่นเป็นผู้ขับ ดังนั้นก่อนจ่ายค่าปรับ ต้องมีการพิสูจน์ว่า วันดังกล่าวใครเป็นคนขับ เพราะในช่วงระหว่างการพิจารณาของศาลขณะนี้ มีการกระจุกตัวในการพิจารณามาก ทำให้หลังจากพิจารณาของศาลเสร็จสิ้น จะมีผู้ถูกกล่าวหาตามใบสั่งดังกล่าว และขึ้นศาลพร้อมกันจำนวนมาก
การคอร์รัปชันใบสั่งมีมาโดยตลอด แต่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทุกรายจะทำ แต่ถ้าประชาชนระมัดระวัง ขับขี่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะไม่เป็นช่องว่างในการขูดรีด ซึ่งตามกฎหมายจราจร เปิดช่องให้สามารถโต้แย้งได้ เว้นแต่คนที่ทำผิดกฎจราจรแล้วมาโต้แย้ง หากมีการพิสูจน์ในชั้นศาลแล้วผิดจริง โทษก็จะหนักมากขึ้น ดังนั้นใครที่จะคิดโต้แย้งต้องคิดให้ดี เพราะถ้าคนที่ต้องใช้ใบขับขี่เป็นหลัก ก็อาจถูกเพิกถอนใบขับขี่ได้
กรณีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยายามปิดรูรั่ว ในการพิจาณาค่าปรับตามดุลยพินิจ จึงมีการกำหนดเกณฑ์ขึ้นมา แต่ต่อจากนี้ก็ต้องรอศาลพิจารณา ซึ่งหวังว่าจะออกมาในแนวทางที่มีประโยชน์กับประชาชนสูงสุด.