คุยกับปราชญ์เกษตร เลี้ยงหมูหลุม ราคาดีกว่าท้องตลาด 2 เท่า เนื้อที่ได้จะอร่อย และเก็บไว้ได้นานกว่า...

เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน และพาชุมชนเดินหน้าไปพร้อมกัน สำหรับ นายสุพจน์ สิงห์โตศรี อดีตสัตวบาลประจำฟาร์ม ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ปี 2565 กับไอเดียเลี้ยง “หมูหลุม” หรือ การเพาะพันธุ์ขายเนื้อ ขายลูกสุกร ซึ่งเชื่อกันว่า “ภูมิปัญญา” การเลี้ยงแบบนี้มีที่มาไกลจาก “เกาหลี” ซึ่งเป็นการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ ดูแลธรรมชาติ ทำให้หมูไม่เจ็บป่วย ไม่ต้องพึ่งยาปฏิชีวนะ และนี่เองคือหัวใจของราคาขาย 2 เท่า ก็มีคนซื้อ

จาก “สัตวบาล” ป่วยเพราะ “หมู” ก่อนเจอทางสว่าง

นายสุพจน์ เล่าว่า จริงๆ แล้วเริ่มต้นมาประมาณเกือบ 20 ปีแล้ว โดยเมื่อประมาณสัก 30 ปีที่แล้ว ทำงานเป็นสัตวบาล และไปฉีดยาหมู ตามเล้าหมูต่างๆ และต่อมาก็พบว่าสุขภาพเริ่มมีปัญหา ไอตลอด ก็มาค้นพบว่าสาเหตุมาจากกลิ่นก๊าซยูเรียที่เกิดจากฉี่ และมูลหมู ส่งผลให้เราเกิดอาการป่วย ไอไม่หยุด กระทั่งทางต้นสังกัดที่เราทำงานที่สัตวบาลก็มีคำสั่งย้ายให้เราทำงานที่โรงงานอาหารสัตว์ ปัญหาการไอจึงดีขึ้น และค่อยๆ หาย

กระทั่งในปี 2548-2549 เราก็ไปเจอ “หมูหลุม” ซึ่งเราไม่เคยรู้จักมาก่อนว่าคืออะไร ชาวบ้านมาตามภรรยามาทำคลอดหมู สิ่งที่เราเจอ พบว่า การทำหมูหลุมนั้นไม่มีแมลงวัน ไม่มีน้ำเสีย หลุดออกนอกระบบเลย เมื่อได้เห็นดังนั้นจึงรู้สึกว่า “นี่แหละ...คือทางรอดของเรา”

...

4 ข้อ หลักการเลี้ยงหมูหลุม

นายสุพจน์ เผยว่า ความจริงฟาร์มหมูที่เราไปเจอนั้นห่างจากบ้านเราแค่ 500 เมตร และก็พบว่าเขากำลังจะเลิกกิจการ โดยคิดว่าเขามีปัญหาอยู่ 4 อย่าง ประกอบด้วย

1.พันธุ์หมู : ที่เขาใช้ประสบปัญหาคลอดลูกยาก ซึ่งปกติแล้ว เกษตรกรจะเลี้ยงหมูพันธุ์ดูร็อค ซึ่งหากมีลูกสวยๆ ก็จะเอามาเป็นพ่อพันธุ์ ซึ่งหมูพันธุ์นี้จะโตเร็ว แต่จะคลอดลูกลำบาก เพราะเนื้อเยอะ กระดูกเชิงกรานเล็ก

2.อาหาร : ชาวบ้านเขายังไม่รู้จักโภชนาการอาหารของหมู ก็เป็นการให้อาหารแบบปกติ ซึ่งการเลี้ยงหมูนั้นจำเป็นต้องให้อาหารครบ 5 หมู่ แต่สัดส่วนที่ให้จะแตกต่างกัน ห่างเป็นลูกหมู และหมูที่โต

“ความโชคดีของเรา คือ ตอนที่ทำงานสัตวบาล เรามีโอกาสย้ายไปโรงงานอาหารสัตว์ เราจึงรู้สูตรการผสมอาหารด้วย โดยจะมีคาร์โบไฮเดต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ โดยระยะเติบโตของหมูต้องการอาหารไม่เหมือนกัน เช่น หมูเล็ก ต้องการโปรตีน และพลังงานสูง เช่น อยากให้ทั้ง 2 อย่างสูง ก็ต้องใช้กากถั่วเพิ่มขึ้น หากเป็นหมูใหญ่ ก็จะใช้เยื่อใยสูง เช่น ปลายข้าวโพด ถือเป็นการลดต้นทุน”

3.การจัดการ : คือ วางแผนการจัดการเพื่อให้หมูออกลูกได้ทุกรอบ ตามความต้องการ เริ่มตั้งแต่ผลิตลูก ขุนหมู รวมไปถึงการจัดการการขาย และแก้ปัญหาเรื่องโรคต่างๆ ไปด้วย

4.การตลาด : เลี้ยงโต ได้เนื้อแล้วจะขายที่ไหน

สร้างวิสาหกิจชุมชน เพื่อ “รวมพลัง”

ปราชญ์เกษตรดีเด่น ปี 2565 เผยว่า หลังจากเราถอดบทเรียนแล้ว เราจึงตัดสินใจเลี้ยง “หมูหลุม” และรวมตัวกับชาวบ้านใกล้เคียงทำเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้าง “อำนาจต่อรอง” กับพ่อค้า ป้องกันการจะมากดราคา ขึ้นทะเบียนหมูหลุม ทำเป็นไลน์ผลิต 10 แห่ง ภายในตำบล และร่วมกันวางแผนการเลี้ยงหมูของแต่ละไลน์การผลิต หากช่วงไหนมีหมูออกได้เยอะก็จะรวมกันเพื่อสร้างพลังในการขายลอตใหญ่ๆ ส่งผลให้ได้ราคาดี

ปราชญ์เกษตรจากดินแดนฟาร์มหมูราชบุรี ยอมรับว่า แค่รวมตัวยังไม่พอ เราจึงเดินหน้าเชือด ชำแหละเอง จากนั้นเอาเนื้อมาทำตลาดเป็น “เขียงหมูชุมชน” ข้อดีของการมีเขียงเอง คือ ป้องกันราคาตก ถึงแม้ในตลาดจะราคาลดลง แต่เราก็ยังเลี้ยงต่อไปได้

“หากเราไม่เผยแพร่องค์ความรู้ มันก็จะอยู่แค่ตรงนี้ ฉะนั้นเราจึงตัดสินใจเผยแพร่ความรู้เพื่อกระจายให้ไปถึงพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ดังนั้นเราจึงเปิดสอนให้กับผู้สนใจในพื้นที่ต่างๆ ใครมาดูงาน ก็ถ่ายทอดความรู้ ซึ่งเราจะสอนตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ ผสมอาหารหมู และวิธีการทำเขียงชุมชน”

...

ที่มา “หมูหลุม” และ “เคล็ดลับ” การใช้งาน

ทีมข่าวฯ ถามว่า เอาภูมิปัญญา “หมูหลุม” มาจากไหน ปราชญ์เกษตรดีเด่น ปี 2565 เผยว่า คนถ่ายทอดความรู้นี้บอกว่า เขาได้ไปเรียนรู้ที่เชียงราย จากอาจารย์โชคชัย สารากิจ โดยทราบมาว่าท่านเป็นอันดับต้นๆ ของการเผยแพร่องค์ความรู้นี้ โดยได้รับมาจากประเทศเกาหลี โดยใช้จุลินทรีย์เป็นหลัก บวกกับวัสดุรองพื้น

ภายใน 1 หลุม ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง สัดส่วนเป็นอย่างไร นายสุพจน์ เผยเคล็ดลับว่า 1 หลุม จะมีขนาด 4 คูณ 4 เมตร ขุดหลุมลึกไป 90 ซม. แบ่งเป็น 3 ชั้น แต่ละชั้นเนี่ยเขาก็จะใส่วัสดุรองพื้นอย่างเช่นแกลบ เศษใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง ดินแดง น้ำหมักผลไม้ ราดทั้งสามชั้น เพื่อสร้างจุลินทรีย์

“แต่เมื่อนำความรู้นี้กลับมา รู้สึกว่าการทำ 3 ชั้นดังกล่าวน่าจะเป็นวิธีการทำปุ๋ย ซึ่งมันอาจจะไม่เหมาะ ดังนั้นเราจึงดูความสามารถหมูในการขุดดินได้มากน้อยแค่ไหน คำตอบของคำถามนี้คือ 60 ซม. แต่เรามาพิจารณาเรื่องความจำเป็นในการขุด เพราะเล็งเห็นว่าหากฝนตกน้ำจะไหลเข้าหลุมได้”

สุดท้ายตัดสินใจไม่ขุดหลุม แต่เลือกใช้วิธีการก่ออิฐบล็อก ก่อขึ้น 80 ซม. ใช้วัสดุรองพื้น 60 ซม. จากนั้นทำรั้วระบายอากาศให้ดีอีก 50 ซม. เพื่อป้องกันการโดดออก ซึ่งพบว่าวิธีการนี้คือ “ดีที่สุด”

สำหรับวัสดุรองพื้น ประกอบด้วย แกลบ ก้อนเห็ดที่ทิ้งแล้ว ราดด้วยจุลินทรีย์ ในคอก 4 คูณ 4 เมตร ใช้จุลินทรีย์ 2 ช้อน/10 ลิตร โดยใช้น้ำจุลินทรีย์ 40 ลิตร เท่ากับ 8 ช้อน ทิ้งไว้สัก 1 สัปดาห์ ค่อยนำมาใช้ ซึ่งนอกจากจะได้หมูหลุมแล้วยังได้ปุ๋ยด้วย ซึ่งก็นำมาขายได้อีกต่อ

...

“คอนเซปต์ของผมคือ การผลิตลูกหมู แม่พันธุ์หมู โดยใช้พื้นที่ 2 คูณ 3 หรือ 2 คูณ 4 เมตร/หมู 1 ตัว ภายในหมู 1 ตัว 1 ปี จะได้ปุ๋ย 6 ตัน ขายได้กิโลกรัมละ 2 บาท เราจะได้ค่าอาหารแม่หมูทั้งปี นี่คือข้อได้เปรียบในการเลี้ยงแม่พันธุ์ของเกษตรกร หากมีตลาดรองรับการขายปุ๋ย เท่ากับว่าคุณได้ลูกหมูมาฟรีๆ เฉลี่ยปีละ 20-30 ตัว/แม่หมู 1 ตัว นี่คือกำไร..”

ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน บอกว่า เมื่อได้ลูกหมูมาแล้วก็เลือกว่าจะขาย หรือจะขุน หากจะเลี้ยง “ขุนหมู” ก็ใช้เวลา 8 เดือน ฉะนั้นต่อตัวจะได้ปุ๋ยต่อตัวประมาณ 500 กก.

นอกจากนี้ หากเราจะเพิ่มมูลค่าปุ๋ย ก็อาจจะแปรรูปด้วยการอัดเม็ดทำเป็นวัสดุปลูก ก็จะทำให้เราลดราคาอาหารลงได้อีก ซึ่งช่วยได้เพิ่มเติมอีกประมาณ 30% ของค่าอาหารหมูทั้งหมด

เพิ่มมูลค่า 5 เท่า มีกำไรเพิ่ม 30% หมูทุกตัวไม่พึ่งยาปฏิชีวนะ

ปราชญ์เกษตร เผยว่า การคิดและนำมาแปรรูปต่างๆ ทั้งเรื่องนำของที่มีมาใช้ประโยชน์สูงสุด ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของสิ่งที่มีประมาณ 5 เท่า มีกำไรเพิ่มขึ้น 30%

“สิ่งที่น่าทึ่ง คือ เราไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลย เรียกว่า Zero เพราะหมูเราแข็งแรงมาก สวัสดิภาพสัตว์ดี เพราะพื้นที่ที่เลี้ยงมันนุ่มมาก ขาเขาจะไม่เจ็บเลย ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นในการฉีดยาปฏิชีวนะเลย และเวลาคลอดลูกหมูออกมา “ข้อเข่า” เขาก็ไม่เป็นแผล”

ทั้งนี้ คอกหมูทั่วไปมักจะถูกเลี้ยงด้วยพื้นสแลทเหล็ก สแลทปูน หรือโลหะ เวลาหมูจะกินนมแม่ก็ต้องคลานเข่า คลานศอกไปกิน ทำให้เกิดแผล เมื่อมีแผลก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ฉะนั้นสำหรับหมูหลุมจะไม่มีแผล นอกจากนี้ยังไม่ต้องใช้ไฟฟ้าในการสร้างความอบอุ่น และที่สำคัญการเลี้ยงแบบนี้ใช้น้ำน้อยกว่าระบบฟาร์ม 10 เท่า ทำให้ประหยัดต้นทุนได้

...

ไม่ฉีดยาปฏิชีวนะมีผลกับเนื้อหมูอย่างไร ทีมข่าวฯ สงสัย ปราชญ์เกษตร ระบุว่า หมูในระบบฟาร์ม คือ การเลี้ยงแบบ “ผิดธรรมชาติ” ทั้งหมด เพราะเขาสร้างพื้นไม่เหมาะ เช่น พื้นปูน หมูเวลาหัดยืนก็มีแผลที่เล็บและกีบหมูจะมีการเสียหาย เกิดแตก อักเสบ ต้องให้ยา หากยืนมากจะเกิดอาการเกร็ง ก็จะไปสร้างกล้ามเนื้อที่เหนียว สะโพก ขา สันหลัง

“เวลาเรากินขาหมูในระบบอุตสาหกรรมทั่วไปเรารู้สึกว่าอร่อย โอเคแล้ว แต่ความจริง ไม่ใช่... เพราะเนื้อจะแตกต่างกับหมูหลุม จะมีความนุ่มกว่า และไม่เหม็นคาว เนื้อหมูหลุมจึงเป็นที่ต้องการมากในร้านอาหาร”

เมื่อถามว่า “หมูหลุม” ในประเทศไทยผลิตได้ปีละกี่ตัวเข้าสู่ตลาด เมื่อเทียบกับระบบอุตสาหกรรม นายสุพจน์ บอกว่า ของศูนย์ฯ ผลิตได้ 2,000 ตัว/ปี ทั้งประเทศก็ราว 20,000 ตัว/ปี ส่วนระบบอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ตัวเลขกลมๆ ประมาณ 20 ล้านตัว/ปี เรียกว่าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของหมูหลุม กับ หมูอุตสาหกรรม มีไม่ถึง 0.01%

หมูหลุม VS หมูอุตสาหกรรม คุณภาพต่างกันมาก

“คุณภาพหมูมันต่างกันมาก เมื่อชำแหละแล้ว “หมูหลุม” จะอยู่ในอุณหภูมิปกติได้นานกว่า เพราะไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในหมู โมเลกุลต่างๆ ในหมูก็ไม่เปลี่ยนแปลง แตกต่างเพราะการเลี้ยงแบบผิดธรรมชาติในระบบอุตสาหกรรม และหากเก็บรักษาที่ช่องฟรีซ เมื่อเอามาใช้รสชาติก็จะไม่เปลี่ยน”

ปราชญ์เกษตรยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ หากเราเอาหัวไชเท้าที่มาจากเกษตรอินทรีย์ ใส่โหลไว้ หัวไชเท้านั้นจะไม่เขียว มันสามารถปลูกกลับมามีชีวิต 

เนื่องจากผลิตน้อย แสดงว่าราคาจะสูงกว่าท้องตลาด ปราชญ์เกษตรยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นเพราะเราต้องทำราคาคูณด้วยสอง เทียบกับราคาตามท้องตลาด ซึ่งของเราถือเป็น “ตลาดเฉพาะกลุ่ม” (niche market) อยู่แล้ว และบางครั้งเวลาอยากได้เนื้อส่วนไหน ผู้บริโภคอาจต้องรอ

สำหรับตลาดที่จะซื้อได้ คือ “ตลาดสุขใจ” ลูกค้าส่วนมากที่มาจากกรุงเทพฯ ไม่บ่นเรื่องราคาเลย เพราะเข้าใจ นอกจากนี้ก็หาซื้อได้ใน เลมอนฟาร์ม มีประมาณเกือบ 20 สาขา และร้านอาหาร หรือโรงแรมใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ บ้างที่เราส่ง

สิ่งที่อยากแนะนำคือ เรื่องของทุน คำว่า “ทุน” ไม่ได้หมายถึง “เงิน” แต่มันคือ “ความรู้” นี่คือสิ่งที่ต้องมี เพราะ “ความรู้เป็นทุน” เรามีความรู้เรื่องอาหาร การจัดการ ตลาด สายพันธุ์ และอีก 4 เรื่องที่แนะนำข้างต้นนี่คือใช้ได้เลย.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ