คุยกับ “พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร” เล่าประสบการณ์ จำนำทองทำคดี เผยที่มา “งบลับ” แฉเบื้องหลัง "เงินสีเทา" ทำคดี คนรับเงินมีแต่พวกสันดาน... ฝาก 3 ข้อถึง ผบ.ตร.ใหม่

จากคดี ขอค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในประเด็น “ลูกน้อง” โดนเชื่อมโยงกับกรณีรับผลประโยชน์ เว็บพนันออนไลน์ เป็นที่มาให้ “บิ๊กโจ๊ก” ต้องออกมาแจกแจงที่มาขอค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมไปถึง “งบลับ” ที่ใช้ในราชการ และ “งบส่วนตัว” ที่ช่วยซัพพอร์ตให้กับลูกน้องทำงานในคดีต่างๆ เดือนละกว่า 1 ล้านบาท 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวกรณี ลูกน้องทั้ง 8 คนที่ถูกศาลออกหมายจับ ล่าสุดได้ยื่นประกันครบทั้ง 8 คนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลปล่อยตัว ส่วนกรณีที่ลูกน้องไปยุ่งเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์นั้น ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับตน ซึ่งเจ้าตัวจะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ได้ ว่าใช้บัญชีม้าได้อย่างไร เงินทั้งหมดมีที่มาที่ไปอย่างไร หากกระทำผิดจริงก็จะต้องรับผิดในสิ่งที่ทำ 

"มันเป็นความบ้าคลั่งของผมอย่างหนึ่ง ไม่มีใครกล้าทำ เสียสละเอาเงินส่วนตัวมาใช้ทำคดี เพราะผมอยากให้งานสำเร็จ ประชาชนคาดหวัง สุดท้ายคดีก็ออกมาดี สามารถจับคนผิดมาดำเนินคดีได้"  

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังอธิบายอีกว่า เป็นคนให้ พ.ต.ท.คริษฐ์ เป็นคนจ่าย ต่อเดือนเป็นล้านบาท แบ่งเป็นงบลับ 6 แสน ผบ.ตร.ก็รู้ ที่เหลือเป็นเงินส่วนตัว ถ้าไม่ทำแบบนี้ลูกน้องจะออกไปทำงานอย่างไร แค่สตาร์ตรถก็ต้องใช้เงิน ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่น้อยใจ เพราะโดนมาเยอะแล้ว เรามันถูกหล่อหลอมให้อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบากและเราไม่ได้มักมากในลาภผล

...

นี่คือ การอธิบายถึงเรื่อง “เงินทำงาน” และ “งบลับ” ของบิ๊กโจ๊ก

ขณะเดียวกัน กับความเคลื่อนไหวล่าสุด ณ ที่ประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2566 โดยจะมีวาระสำคัญการพิจารณาผู้ที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 14 โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในการประชุม ล่าสุด ประมาณ 16.30 น. มีรายงานว่า มติคณะกรรมการ ก.ตร. เห็นชอบแต่งตั้งให้ บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล นั่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 14 โดยมีมติ 9:2 (นายกฯ งดออกเสียง) 

ขาดงบ ใช้ทองตัวเองจำนำ ทำคดี 

จากเรื่องบลับ ความยากลำบากเพราะขาดแคลนงบในการทำงานของตำรวจ ถึง การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายตรงกับ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด และ กรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.)  

พล.ต.ท.เรวัช กล่าวถึงประเด็น “งบลับ” และความยากลำบากของตำรวจ ว่า สมัยผม พอมีคดีใหญ่เกิดขึ้น ต้องไล่ตามจับกุมคนร้าย ต้องเอา “สร้อยทอง” 5 บาท ไปจำนำ ได้เงิน 2 หมื่น (สมัยนั้น) ใช้จ่ายดูแลลูกน้อง บางครั้งไปหลายคน จะนอนโรงแรมก็ไม่ได้ ต้องไปอาศัยนอนวัด หากจับคนร้ายได้ ก็เหมารถกลับ สน. นี่คือตัวอย่างของ “ตำรวจ” ที่ไม่มีเงินทำคดี 

พอมาอีกสมัยหนึ่ง ผบ.ตร. อาจจะโยนงบให้ ผู้บังคับการจังหวัด 1 หมื่นบาท/เดือน สมมติว่าจังหวัดหนึ่ง มี 20 สถานี ก็ไม่ถึงโรงพักหรอก จะเดินทางไหนก็ใช้เงินส่วนตัวอยู่ดี นี่คือ เรื่องสำคัญ ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ควรของบประมาณไว้ใช้ทำคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ 

พล.ต.ท.เรวัช ยกตัวอย่างว่า หากมีงบ ก็ใช้วิธีการคำนวณว่า ปีนี้มีกี่คดีสะเทือนขวัญ และนำมาตั้งงบประมาณ เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายในการทำภารกิจเหล่านี้... ยกตัวอย่าง คือ ให้เบิกได้ เช่น กิโลเมตรละ 3 บาท ค่าโรงแรมได้เท่าไร เป็นต้น 

“มาบางสมัย มีงบจากลอตเตอรี่ มีการโยนงบให้โรงพัก ละ 50,000 บาท กลายเป็น ผู้กำกับบางคนก็อมเงิน! กลายเป็นว่า คนที่ทำงานก็เบิกไม่ได้อีก” 

ทำคดีดังใช้เงินส่วนตัว อาศัยนอนปั๊ม แบบทุเรศทุรัง!  

พล.ต.ท.เรวัช ได้ยกตัวอย่างการทำงานที่ยากลำบากในคดี “ศยามล” เมื่อปี 2536 ตอนนั้นไปนอนอยู่ข้างปั๊มน้ำมัน ด้วยวิธีการ “กางเต็นท์” นอน สาเหตุที่ต้องไปนอนปั๊ม เพราะมันมีห้องน้ำ และข้าวแกงให้ซื้อกิน โดยมีที่จอดรถ ซึ่งดูแล้ว “ทุเรศทุรัง” ไหม...แต่ถามว่าต้องทำไหมล่ะ ก็ต้องทำ เพราะเป็นคดีที่เราต้องจับคนร้ายให้ได้ 

...

“เงินที่เราต้องเสียไปกับการไล่ล่าคนร้าย กลายเป็นเงินส่วนตัวเราทั้งนั้น นี่แหละคือเหตุผลที่ทำไมต้องไปทำงานคนเดียว หรือ มีลูกน้องไปอีก 1 คน เพื่อเป็นการ “เซฟ” ค่าใช้จ่าย หากวันนั้นมีลูกน้องไปสัก 10 คน ค่าใช้จ่ายมันก็หนัก...”

ขอเงิน เจ้ามือหวย นายบ่อน เป็นสปอนเซอร์จับคนร้าย 

สิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ ทำให้หัวหน้าชุดบางคน เลือกที่จะไปขอเงินสปอนเซอร์ จาก เจ้าของบ่อน หรือ เจ้ามือหวย ในพื้นที่เพื่อไปใช้เป็นทุนไปตามจับคนร้าย คำถามคือ เมื่อต้องการจับคนร้าย จะไปขอเงินใครได้ 

“เท่าที่รู้คือ คนพวกนี้ก็จะให้เงินเป็นรายเดือน ยกตัวอย่างเดือนละหมื่น จะขอเพิ่มก็ยาก ซึ่งคนที่ให้ส่วนมากก็จะเป็นเจ้ามือหวย เขาก็ให้เพราะตัดความรำคาญ เหมือนเป็น “ขอทาน” แต่เรามันไม่รู้จักใคร ก็เลยต้องเอาสร้อยทองตัวเองนี่แหละไปจำนำ จากสร้อยที่ยาวๆ ถึงลิ้นปี่ หากไม่มีเงิน “ต่อดอก” ก็โดนตัดข้อสร้อยสั้นลงๆ จนติดกระเดือก ทุกวันนี้ไม่ใส่สร้อยเส้นนี้เลย แต่ก็ได้แต่นั่งมองว่า ทำไมถึงไม่แก้ปัญหาเรื่องนี้เสียที จนถึงวันนี้ รับราชการมา 42 ปี แล้ว ก็ยังไม่แก้” 

...

แล้วมันดีขึ้นบ้างหรือไม่ ทีมข่าวฯ รีบถาม พล.ต.ท.เรวัช ตอบว่า คำว่า “งบลับ” นั้น เขามีให้เฉพาะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมักไปอยู่ในกองบัญชาการสันติบาล, กองบัญชาการปราบยาเสพติด หรือ ตระเวนชายแดน แต่ขณะที่ ตำรวจภูธร แบบนี้มันไม่มี “งบลับ” 

“ความจริง มันขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา และจะใช้กับภารกิจอะไร เราเองก็ไม่อาจรู้ได้ ส่วนตัว คิดว่าไม่ควรเรียก “งบลับ” ให้เรียกงบปกติที่รัฐบาลจัดมาให้ เหมือนกับตอนที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ดำเนินการให้ตอนของบประมาณให้กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ส่งผลให้กองบัญชาการ ไม่ไปเกี่ยวข้องกับคนที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ต้องไปไถเงินสถานบริการ หรือ คนค้ายาเสพติดเพื่อมาทำงาน” 

ไม่จำเป็น “รับเงินสีเทา” คนที่รับ คือพวกสันดาน...

เมื่อปัญหาขัดสนเรื่อง “งบ” ในการทำคดี จึงมีคำถามว่า บางคนเลือกที่จะใช้ “เงินสีเทา” ในการมาเป็นทุนทำคดี เรื่องนี้มีจริงหรือไม่ พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นเลยที่ต้องใช้เงินสีเทา เพราะหากมีคดีอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องพึ่งพาตัวเองก่อน หากเราทำได้ ก็จะเจริญก้าวหน้าในอาชีพ แต่ถ้าไม่มีเงิน ก็ไปทำคดีไม่ได้ 

“ส่วนพวกที่รับเงินสีเทานั้น ถึงไม่มีคดีเกิดขึ้นมันก็รับอยู่แล้ว เพราะนี่เป็นสันดาน...พวกตำรวจแบบนี้มาอ้าง “เงินสีเทา” เพื่อทำคดี ผมไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เรื่องจริงที่เกิดขึ้นคือ คนพวกนี้บางคน ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้ตามจับใครเลย ผมลงใต้ไปตามจับ แต่ไอ้พวกนี้ไปขอเงินพวกเจ้าของบ่อน หวย อ้างว่าทำคดี แต่จริงๆ มันไม่ได้ไปไหนเลย เรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้น..”

...

เงินเดือน กับ การทำงานไม่สอดคล้องกัน 

พล.ต.ท.เรวัช ยังกล่าวถึงเงินเดือน กับการทำงานว่า อาจจะไม่สอดคล้องกัน เพราะการทำงานของตำรวจ หากเกิดเหตุ แล้วมาสอบปากคำที่โรงพัก หรือ คนร้ายมามอบตัวเอง แบบนี้มันไม่ต้องเสียเงิน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มันไม่มีเงินที่จะทำงาน ยกตัวอย่าง มีคนร้ายโดนหมายจับ คดีฆ่าคนตาย ที่ จ.แม่ฮ่องสอน แต่เกิดไปรถคว่ำที่สงขลา 

“เรื่องนี้ว้าวุ่นเลย ตำรวจเถียงกัน ต่างฝ่ายต่างอยากให้มารับ และ ไปส่ง แม่ฮ่องสอน บอกให้สงขลามาส่ง สงขลา บอกแม่ฮ่องสอน ว่านี่หมายจับคุณ คุณก็มารับ...เพราะไม่มีเงิน จะเติมน้ำมันไปส่ง กลายเป็นว่า สตช. เป็นคนตัดสินว่า เอางี้ออกงบ “คนละครึ่ง” เจอกันที่ครึ่งทาง ปรากฏว่า แค่ไปส่ง ผู้ต้องหาคนนี้คนเดียว กลับมาก็ไม่ต้องทำงานอะไรแล้ว ขณะที่รถใช้ตรวจป้องกันเหตุ ก็เอาไปใช้ส่งผู้ต้องหา 

สิ่งที่เกิดขึ้น มันส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน แล้วแบบนี้ใครเดือดร้อน...ก็คือ ชาวบ้าน รัฐบาลท่านจะรู้ไหม สำนักงบ หรือ ท่าน สส. ก็มักจะขอตัดงบ เพราะคิดว่า “งบมันเยอะ” ขอตัด 20-30% 

“อยากจะฝากไปถึงกรรมาธิการหรือ ผู้มีอำนาจ ให้ดูแลงบทำงานเหล่านี้หน่อย ตำรวจ เงินเดือน ไม่หรูอย่าง อัยการ ศาล ดีเอสไอ ปปท. ขณะที่ ปริมาณงานก็มีมาก”   

อดีตมือปราบพระกาฬ กล่าวว่า ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่รัฐให้กับตำรวจ มันไม่พอ รู้ไหม...ว่าผู้ต้องหาที่หนีในช่วงประกัน หรือ ไต่สวน มีมากขนาดไหน แถมยังปล่อยให้ไปทำชั่ว ก่อเหตุซ้ำอีก มีกี่แสนคดี เพราะตำรวจมันไม่มีเงินไปตามจับ ชาวบ้านเองก็ไม่รู้ ยกตัวอย่างง่ายๆ หากลูกคุณหนีออกจากบ้าน คุณเสียเงินกับการไปตามหาเท่าไร แต่นี่คือ คนร้าย ต้องใช้เงินตามล่าเท่าไร... ถ้าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ต้องใช้เงินเท่าไร มันควรมีงบวางไว้

พนักงานสอบสวน วุฒิเทียบเท่า อัยการ แต่เงินเดือนแตกต่าง! 

เรื่องนี้ผมต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2560 ตั้งแต่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เราบอกว่า ให้พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล ได้เงินเดือนเท่ากันได้ไหม โดยเฉพาะคนที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากัน เช่น จบนิติศาสตร์ เนติบัณฑิต ผ่านการอบรมแบบอัยการ หรือ ผู้พิพากษา ซึ่งมีจำนวนไม่กี่ร้อยคน ขอแค่ขึ้นให้พวกนี้ก่อน จะได้สร้างบรรทัดฐาน

“คำตอบของเรื่องนี้ คือ ตำรวจมีเยอะ! (เสียงสูง)”

“ก็เอาคนกลุ่มที่ว่ามานี่ก่อนสิ”

“การให้เงินเดือน อัยการ ศาล สูงเพื่อที่จะดำรงความยุติธรรม เพื่อที่จะไม่นอกลู่นอกรอย”  

ปัดโธ่!! พนักงานสอบสวน นี่คือต้นทางความยุติธรรมเลย หากไม่พร้อม คดีไม่ไปถึงอัยการ เพราะผู้ต้องหาพ้นข้อกล่าวหา คดีก็จะไปไม่ถึงศาล ความยุติธรรม มีโอกาสบิดเบี้ยว และเพราะแบบนี้พนักงานสอบสวนจึงกลายเป็นกลุ่มงานระดับต้นๆ ที่ก่อเหตุปลิดชีพตัวเอง เนื่องจากบางครั้ง “บากหน้า” ทำอาชีพนี้แล้ว กลับช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้ เพราะงานมันเยอะ พองานเยอะ ก็ส่งให้ฝ่ายสืบสวนไปทำงานต่อ ตามจับกุมคนร้าย “คนร้าย” หนีไปพื้นที่อื่น จะไปตามจับ ก็ต้องใช้เงินอีก แบบนี้จะเอาเงินที่ไหนไป และจะไปไหม 

สมมติ ว่าหนีไปหนองคาย ถามว่า พี่จะของบหน่อย จะไปดักตามจับที่หนองคาย แบบนี้เรียกว่า ไปไถเงินเขาอีก ก็โดนด่าอีก เรื่องนี้ มันเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง 

พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า การเพิ่มเงินให้ พนักงานสอบสวน อย่างเดียว ก็ถือเป็นแรงดึงดูดใจให้พนักงานสอบสวนทำงานอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ตัวผู้ต้องหามา จะเป็นคดีไปได้ไหม ของแบบนี้อยู่ ก็ต้องใช้ฝ่ายสืบสวนจับกุมด้วย เขาต้องได้งบประมาณในการทำงาน 

อดีตมือปราบพระกาฬ บอกว่า ส่วนตัวแล้ว ผมทำงาน รับราชการมา พอใจในเงินเดือนตัวเอง มันก็พอเลี้ยงครอบครัว แต่มันไม่เหลือ แต่เงินที่ไปทำงาน บ้างครั้งก็มาจากการทำไร่ของผม ทำสวนยาง กรีดยางไปขาย เพื่อเอาเงินมาทำงาน แบบนี้ไม่ไหว...ถ้าฐานะไม่ดี ก็เงียบๆ ถ้าตำรวจฐานะดีก็พอจะมีเงินทำงาน แต่ถ้าไปทำงานแล้ว ไม่เรียกลูกน้อง ใครจะอยากไปกับเรา ถ้าไปมันก็ไป แต่มันก็ด่าเรา 

การปฏิรูปตำรวจ กับ 3 ข้อถึง ว่าที่ ผบ.ตร.ใหม่ 

ทีมข่าวฯ ถามถึงการปฏิรูปตำรวจ ในมุมมอง พล.ต.ท.เรวัช เป็นอย่างไร ในฐานะ ก.ร.ตร. มองว่า ถึงเวลานี้ ส่วนตัวมองว่าก็มีการปฏิรูปตำรวจก็ถือว่าดีขึ้น โดยเฉพาะการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ที่เลือกโดย ก.ตร. ซึ่งคนที่จะมาเป็น ก.ตร. มีการเลือกตั้งเข้ามา และ ก.ตร. ก็จะไม่ฟังใครทั้งสิ้น 

“ตอนนั้น ผมก็สมัครกับเขาด้วย แต่เราไม่ได้ทำหน้าที่นั้น เราทำหน้าที่ ก.ร.ตร. มาควบคุมวินัยตำรวจ ขณะที่ ก.ตร. ควบคุมเรื่องการแต่งตั้ง ออกหลักการต่างๆ ส่วนตัวมองว่า หากตำรวจจะดีขึ้นได้ ต้องมาจาก 1.ไม่เสียเงินในการแต่งตั้งโยกย้าย 2.มีงบประมาณในการทำงาน 3.กำจัดคนชั่วที่ไม่ยอมปรับตัว ซึ่งผมจะทำหน้าที่ตรงนี้ ใครจะเกลียดตำรวจ ก็ไม่เป็นไร ขอให้องค์กรดีขึ้น เรื่องชั่วๆ ปิดผมไม่ได้ เพราะผมมีประสบการณ์ ทำงานมา 42 ปี”

โฉมหน้า ผบ.ตร.ใหม่ (หมายเหตุ ตอนสัมภาษณ์ ยังไม่รู้ผลที่ประชุม ก.ตร.) พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า อยู่ที่ท่าน นายกฯ จะเลือกใช้ใคร เพราะกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว มันต้องดูความเป็นอาวุโส ผลงาน ที่สำคัญ ก.ตร. ที่มาจาก การเลือกตั้ง 6 ท่าน เช่น พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์, พล.ต.อ.วินัย ทองสอง, พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก และอีก 3 ท่าน จะมีส่วนสำคัญในการพิจารณา 

“แม้แต่คนที่ท่านนายกฯ เสนอ หาก 6 คนนี้ไม่เห็นด้วย ก็ลำบาก เสียงจะไม่พอ ก็ต้องให้ คนที่อาวุโสสูงสุดรักษาราชการแทน” 

อยากฝากอะไรกับ ผบ.ตร. คนใหม่ พล.ต.ท.เรวัช บอกว่า น้องๆ ที่ขึ้นมา เขามีความสามารถอยู่แล้ว เราแก่แล้ว ไม่ต้องแนะนำหรอก แต่อยากจะให้ช่วยดูเรื่องกรอบงบประมาณ ทำยังไงจะไปชี้แจง สส. ได้ เพื่อให้กำลังพล 2.3 แสนคน มันขับเคลื่อนไปได้ 

“การเป็น ผบ.ตร. ก็ต้องรับแรงศรัทธา จากตำรวจด้วย เหมาะสมที่จะทุ่มเทแรงใจแรงกายให้ทำงานหรือไม่ เพราะการทำงานโดยสมัครใจ และแรงศรัทธา กับถูกบังคับให้ทำงาน ผลลัพธ์มันแตกต่างกัน” พล.ต.เรวัช กล่าวทิ้งท้าย 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ